ข้อเท็จจริง แนวทางใช้ ยา ivermectin ในผู้ป่วยโควิด

อธิบดีกรมแพทย์ ระบุ การใช้ยาไอเวอร์เม็กติน (ivermectin) รักษาโควิดไม่ใช่แนวทางการรักษาหลัก เป็นเพียงหมายเหตุ เพราะเป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ การใช้เป็นดุลพินิจของแพทย์ เพราะการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลปะ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับศิริราชฯเตรียมศึกษาวิจัยในอาสาสมัครหลักพันคน เพื่อเปรียบเทียบกับยารักษาสูตรเดิม คาดใช้ระยะเวลา 3 เดือนรู้ผล 

นายแพทย์ สมศักดิ์   อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ ถึงกรณี การรักษาคนไข้โควิด ด้วยยาไอเวอร์เม็กติน(ivermectin)  ว่า   ยา ivermatin ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและยาสหรัฐ  ในการใช้สำหรับรักษาพยาธิ   แต่มีคนเอามาลองใช้กับเชื้อโควิดในหลอดทดลอง พบว่า สามารถที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ ทั้ง RNA และ DNAไวรัส รวมถึงโควิดด้วย ในหลอดทดลอง แต่ต้องอธิบายว่า เวลามีการทดลองในหลอดทดลองสำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าการทดลองในคนจะสำเร็จ 

ขณะที่ของไทย อาจารย์แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ส่วนต่าง ๆ ได้หารือ สรุปแนวทางการรักษา ว่าการใช้ต้องขึ้นอยู่ กับดุลพินิจของแพทย์  เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในยา ivermatin เพราะบางรายงานทางการแพทย์มีการนำไปใช้ก็มีประโยชน์ แต่บางรายงานนำไปใช้กับกลายมีโทษ คือ อาการไม่ดีขึ้นบางรายมีอาการแย่ลง 

ทั้งนี้ รายงานทางการแพทย์ที่มีการศึกษาในเบื้องต้น  ยา ดังกล่าว อาจจะลดการตายของผู้ป่วยโควิดได้ เลยนำมาใส่ไว้ในแนวทางการรักษาโควิดของไทย   /  โดยเพิ่มตรงหมายเหตุในแนวทาง  ว่า  "ยา ivermectin  การสั่งใช้ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์  เนื่องจาก ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลการรักษา / ข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลอง เบื้องต้น  invermectin เสริมฤทธิ์กับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยหลักฐานชัดเจน ดังนั้นแพทย์ ควรติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการรักษาทันที"

ตามหลักการปกติ ระบบการรักษาของประเทศไทย จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ มาหารือร่วมกัน เพื่ออัพเดทองค์ความรู้การรักษาออกมาเป็นแนวทางการรักษาซึ่งทุกโรคก็มีการทำลักษณะนี้  รวมถึงโควิด-19ด้วย  สำหรับโควิด  มีการทำแนวทางการรักษามาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเชิญอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ สมาคมโรคติดเชื้อ สมาคมอุรเวชช์ฯ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มานั่งพูดคุย ดูหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าต่างประเทศมีแนวทางการรักษาอย่างไร อย่างเช่น การระบาดในช่วงแรกที่ประเทศจีน ทางทีมอาจารย์แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญส่วนต่าง ๆ ก็ดูว่าทางประเทศจีนใช้ยาหรือแนวทางใดในการรักษาผู้ป่วยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาที่ไป ว่าทำไมช่วงแรกแรกไทยถึงนำยาฟาวิพิราเวียร์ มาใช้ในผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ซึ่งทางประเทศแถบตะวันตก ไม่ค่อยใช้ยาดังกล่าว 

"พอถึงตอนนี้โควิค 19 ระบาดมาประมาณ 18-19 เดือน เราได้มีการพูดคุยจากทางผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ได้มีการอัพเดตปรับปรุงแนวทางการรักษาฉบับล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นฉบับที่ 15 โดยมีการเขียนถึงยาไอเวอร์เม็กติน แต่อยู่ในหมายเหตุ เนื่องจาก หลักฐานเชิงประจักษ์ยังไม่เพียงพอ ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์" 

ในต่างประเทศ เช่น ที่ ประเทศอินเดียได้มีการใช้ยา invermectin ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งจากการศึกษาของประเทศอินเดีย พบว่า มีการใช้ยาในบุคลากรทางการแพทย์ และสามารถป้องกันโรคโควิด19 ได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน  รวมถึงในส่วนของผู้ป่วยหนักที่มีการใช้ยาดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน  ล่าสุด ทางรัฐบาลอินเดียได้ประกาศยกเลิกการใช้ยาชนิดนี้แล้ว   

ขณะที่ ทางประเทศแถบแอฟริกาใต้และอเมริกาใต้ ได้มีการใช้ยา invermectin เนื่องจาก ยาฟาพิราเวียร์หาได้ยาก  โดยพบว่า บางประเทศใช้แล้วได้ผลดีกับผู้ป่วย แต่บางประเทศ อาการผู้ป่วยแย่ลง 

ทั้งนี้ Ivermectin เป็นยาที่ใช้รักษาโรคพยาธิหลายชนิด ในมนุษย์ รวมถึงเหา หิด โรคตาบอดแม่น้ำ โรคสตรองดิลอยด์ ไทรชูอาซิส โรคแอสคาริซิส และโรคเท้าช้าง  ส่วนในสัตวแพทยศาสตร์ ใช้เพื่อป้องกันและรักษาพยาธิหนอนหัวใจและอะคาริซิส สามารถรับประทานทางปากหรือทาลงบนผิวหนังเพื่อการติดเชื้อจากภายนอก

นายแพทย์ สมศักดิ์ อธิบาย อีกว่า  ยา invermectin ปกติจะใช้ในคนไข้ ให้กิน 2 เม็ด 2 วัน รักษาพยาธิ แต่ในคนไข้โควิด อาจใช้นานกว่านั้น  ซึ่งอาจส่งผลต่อตับได้ 

สำหรับประเทศไทย ตอนนี้ได้มีการทบทวนผลการศึกษาจากหลายๆแห่ง และได้มีการวางแผนการศึกษาวิจัย ทดลองในมนุษย์  โดยจะร่วมกับศิริราชพยาบาล คาดว่าจะต้องใช้อาสาสมัครในผู้ป่วยโควิดหลักพัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งการศึกษาจะมีการเปรียบเทียบ ระหว่างยาฟาวิพิราเวียร์ กับยารักษาอื่น ๆ ร่วมกับยา invermectin เพื่อดูประสิทธิภาพในการรักษา ส่วนจะนำไปศึกษาทดลองในผู้ป่วยโควิดอาการระดับไหน อาจจะต้องรอความชัดเจนก่อน. 

โดยการใช้ยา invermectin ในไทยอธิบดีกรมการแพทย์  ระบุว่า  อาจจะมีแพทย์บางคนนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด แต่ยาชนิดดังกล่าว ไม่ได้เป็นยาหลักในการรักษา  โดยไทยอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย  ซึ่งตนก็ไม่ได้ แนะนำให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ แต่ให้ใช้ตามคำแนะนำหลักการและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ 

ข้อมูลจาก นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 

ระบุว่า ยาไอเวอร์ เม็คติน มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจ ปัจจุบันมีทะเบียนตำรับสำหรับสัตว์ประมาณ 200 ทะเบียน และมีทะเบียนตำรับยาที่ใช้สำหรับมนุษย์เพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย อยู่ 2 ทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 ทะเบียนจัดเป็นยาอันตราย และอยู่ในบัญชีรายการยากำพร้า ซึ่งเป็นยาที่มีการใช้ค่อนข้างน้อย 

จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ยาไอเวอร์เม็คติน ไม่พิจารณาให้ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด -19 เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาพบว่าไม่ช่วยลดอัตราการตาย การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วย  

ส่วนทางด้านองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (USFDA)  ไม่อนุมัติให้มีการใช้ยานี้ในการป้องกัน หรือการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมนุษย์เช่นเดียวกัน  

ในขณะที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็คติน สำหรับการป้องกัน หรือการรักษาโควิด-19 ในสหภาพยุโรป แต่ให้ใช้ในการศึกษาทางคลินิกเท่านั้น เนื่องจากมีผลการศึกษาระบุว่ายานี้สามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ และการใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกตินี้ อาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษที่สูงขึ้นได้ เช่น เกิดความดันเลือดต่ำ อาการแพ้ วิงเวียนศีรษะ ชัก หรือโคม่าถึงแก่ชีวิตได้ EMA จึงไม่ให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19