“ข่าวบันเทิงที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจ”

“ข่าวบันเทิงที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจ” [1]

                                               

                                                                       โดย ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ

                                                                  ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ

                                                                  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

            ในปัจจุบันสายข่าวบันเทิงเป็นสายข่าวที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านสูงมาก พอๆ กับความสนใจของนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์อย่างมาก ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนแทบทุกประเภทก็ให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวสายบันเทิง รวมทั้ง ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมบันเทิงก็เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สายข่าวบันเทิงก็เป็นสายข่าวหนึ่งที่ถูกสังคมจับตามองมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของศิลปินและดารา นักร้อง ในฐานะ “บุคคลสาธารณะ” (Public Figure) อยู่มาก กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่การเรียนการสอนจะต้องเตรียมความพร้อม ในแง่ความรู้ความเข้าใจ และบทบาทของผู้สื่อข่าวในการรายงานข่าวศิลปวัฒนธรรม และข่าวบันเทิงให้กับผู้ที่จะเข้าสู่วงการข่าวบันเทิงในอนาคต เพื่อมีส่วนในการปรับเปลี่ยนและเสริมสร้าง “วัฒนธรรมการรายงานข่าวบันเทิง” ให้มีความสร้างสรรค์ยิ่งๆ ขึ้นต่อไป

 

๑.  ความหมายข่าวศิลปวัฒนธรรมและข่าวบันเทิง

 

            ๑.  ข่าวศิลปวัฒนธรรม

 

            ข่าวศิลปวัฒนธรรม (Cultural News) หมายถึง การรายงานเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงศิลปวัฒนธรรม ทั้งจากองค์กรภาครัฐ องค์กรธุรกิจ รวมทั้ง ภาคประชาสังคม เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม

            ในปัจจุบันข่าวศิลปวัฒนธรรม ของหนังสือพิมพ์มักรวมอยู่กับหน้าที่รับผิดชอบของสายข่าวการศึกษา โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ประชานิยม อย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพราะเป็นสายข่าวที่แหล่งข่าวส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะแยกมาเป็นกระทรวงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2545

เดิมที่ผู้สื่อข่าวที่รับผิดชอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (วช.) กรมศิลปากร กรมการศาสนา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มักเป็นทีมเดียวกันกับผู้สื่อข่าวสายการศึกษา 

 

.  ข่าวบันเทิง

 

            ข่าวบันเทิง (Entertainment News) หมายถึง การรายงานเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการบันเทิงเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร และทำไม ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับแวดวงบันเทิงทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ และการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงการบันเทิงในและต่างประเทศ

เนื้อหาสาระของข่าวนั้น มีทั้งการแจ้งข่าวสาร  ความเคลื่อนไหวของดารา นักแสดง นักร้องหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างจากข่าวทั่วไปซึ่งมักเป็นรายการรายงานเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้น  ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจ หรือสังคม เป็นต้น และในการเขียนข่าวประเภทนี้ ผู้เขียนอาจจะแทรกความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และมักหยอกล้อ หรือติชมบุคคลในข่าวอีกด้วย

 

            ในปัจจุบันสื่อมวลชนหลายสำนัก หันมาให้ความสนใจการรายงานข่าวด้านศิลปวัฒนธรรมในทีมงานเดียวกันกับผู้สื่อข่าวสายข่าวบันเทิงแล้ว เรียกโต๊ะข่าวนี้ว่า “โต๊ะศิลปวัฒนธรรมบันเทิง” แม้บางสำนักพิมพ์ หรือสถานีโทรทัศน์บางช่องก็ยังนำเสนอข่าวศิลปวัฒนธรรมและข่าวบันเทิงแยกกันอยู่ก็ตาม

 

๒.  คุณลักษณะของข่าวศิลปวัฒนธรรม และข่าวบันเทิง

 

            โรม บุนนาค (2551) เขียนหนังสือ “แวดวงบันเทิงเมื่อวันวาน” กล่าวถึงประวัติการรายงานข่าวบันเทิงในไทยว่า ในอดีตย้อนไปราว พ.ศ.2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว มีดาราเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่มาจากเวทีละคร ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมนคร ที่มีคณะศิวารมย์, เทพศิลป์ และอัศวินการละคร ผู้สร้างภาพยนตร์ก็มีไม่กี่ราย เริ่มถ่ายทำในระบบ 16 มม.

            ในยุคนั้น หนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวบันเทิง ก็มีแต่นิตยสารรายเดือนและรายสัปดาห์เท่านั้น อย่าง “ดาราไทย” ของ สุรัฐ พุกกะเวส, “ผดุงศิลป์” ของ อักษร เชื่อปัญญา, “ภาพยนตร์โทรทัศน์” ของ เชิด ทรงศรี และไพรัช กสิวัฒน์, “ดารา” ของ วิเชียร สงวนไทย และสุพจน์ เกียรติทัตต์ เป็นต้น หนังสือพิมพ์รายวันในยุคนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวบันเทิงเหมือนในปัจจุบัน

            จนกระทั่ง ได้มีการออกหนังสือพิมพ์ “เอกภาพ” รายวันขึ้น โดย สมพจน์ ปิยะอุย จึงได้มีการนำเสนอข่าวบันเทิงในหนังสือพิมพ์รายวัย เรื่อยมาจนถึงยุค “สยามดารา” หนังสือพิมพ์ข่าวบันเทิงรายวันฉบับแรก ของเครือบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย

            ในปัจจุบันจุดประสงค์หลักของการเสนอข่าวบันเทิงในหนังสือพิมพ์ คือ รายงานข่าวความเคลื่อนไหวของบุคคลในวงการบันเทิงว่า  ได้ทำกิจกรรมอะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างใด อาทิ ข่าวดารานักแสดงเดินทางไปโชว์ตัวตามที่ต่างๆ ข่าวการเปิดกล้องภาพยนตร์เรื่องใหม่ ข่าวการออกอัลบั้มใหม่ของนักร้อง  ข่าวการจัดแสดงคอนเสิร์ต ข่าวการเสนอรายการโทรทัศน์หรือเกมโชว์ต่างๆ ข่าวเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์  ข่าวเกี่ยวกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ รวมถึงเรื่องราวส่วนตัวที่น่าสนใจของดารานักแสดง เป็นต้น

เนื่องจากจะมีจุดประสงค์เพื่อรายงานข่าวสารต่างๆ แล้วยังต้องการให้ความบันเทิงยังเป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดความสนใจในการติดตามข่าวสารต่างๆ จากสื่อมวลชนอีกด้วย

            ลักษณะของข่าวบันเทิงในปัจจุบันมีการรุกล้ำสิทธิของบุคคลในแวดวงบันเทิง เช่น นักแสดง นักร้อง ศิลปิน นายแบบ นางแบบ ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการที่ข่าวบันเทิงได้รับความนิยมในสายตาผู้รับสาร ประกอบกับข่าวบันเทิงมักนำเสนอเรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และผลงาน รวมทั้ง การนำเสนอข่าวบันเทิงนั้นมีทั้งข้อเท็จจริงตรงไปตรงมา และสำนวนภาษาที่เป็นความคิดเห็นของผู้สื่อข่าว นอกจากนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังเอื้อให้สื่อมวลชนรุกล้ำสิทธิของบุคคลที่ตกเป็นข่าวได้ง่ายขึ้น (รัตนวดี นาควานิช. 2551)

 

๓.  รูปแบบในการเสนอข่าวบันเทิง

 

ในการเสนอข่าวบันเทิงในหนังสือพิมพ์นั้น นอกจากต้องการที่จะแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ในวงการบันเทิงแล้ว ยังต้องการให้ความบันเทิงต่อผู้อ่านอีกด้วย จึงพบว่า ผู้เขียนข่าวมักจะสรอดแทรกความรู้สึกส่วนตัวลงไปในข่าวในรูปของการวิจารณ์ กระทบ กระเทียบ ติชม และเสนอแนะ เพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามผู้เขียน ซึ่งแตกต่างไปจากข่าวอื่นๆ เช่นข่าวการเมือง หรือข่าวอาชญากรรม ที่จะต้องเสนอแต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ ข่าวบันเทิงมักจะมีการเสนอภาพข่าวในลักษณะเพื่อประเมินคุณค่าของผลงานมากกว่าในข่าวประเภทอื่น

ยกตัวอย่าง กระแสตอบรับของประชาชนที่มีต่อภาพยนตร์ ละครหรือรายการโทรทัศน์ต่างๆ  ความนิยมในผลงานเพลงที่ออกมาว่า  ผลงานเหล่านั้นมีคุณภาพเหมาะสมและเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนหรือไม่  อย่างไร รวมทั้ง เสนอแนะวิธีการปรับปรุงคุณภาพของผลงานเพื่อความเหมาะสม

รูปแบบการเสนอข่าวบันเทิงในหนังสือพิมพ์ อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1. รูปแบบข่าว เพื่อนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปวัฒนธรรมและบันเทิง และ 2. รูปแบบคอลัมน์ เพื่อนำเสนอความคิดความเห็นของคอลัมนิสต์ (Columnist) ในการวิพากษ์วิจารณ์ ติชม ผลงานศิลปวัฒนธรรม และบันเทิง

 

 

๔.  แหล่งข่าวศิลปวัฒนธรรมและข่าวบันเทิง

 

            ๑.  แบ่งตามประเภทหน่วยงาน อาจแบ่งแหล่งข่าวสายข่าวบันเทิง ได้ดังนี้

1.  หน่วยงานภาครัฐ ที่มีอำนาจ นโยบาย และดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับ

ศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กรมศิลปากร ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมระดับจังหวัด กองงานกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กกช.) ในกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

2.  สถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่นำเสนอผลงานด้านบันเทิง

ทั้งรายการที่ผลิตเอง และรายการของผู้ผลิตรายการอื่นๆ

3.  บริษัท ผู้จัด ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ เช่น บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด

(มหาชน) บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น จำกัด บริษัท เอเชียเทเลวิชั่น จำกัด บริษัท บรอดคาสไทยเทเลวิชั่น จำกัด รวมทั้ง บริษัทผู้ผลิตละคร เป็นต้น

4.  สมาคมด้านข่าวศิลปวัฒนธรรม และข่าวบันเทิง เช่น สมาพันธ์ภาพยนตร์

แห่งชาติ สมาคมนักข่าวบันเทิง สมาคมผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นต้น

5.  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าวัฒนธรรมบันเทิง เช่น สำนักพิมพ์, ร้านจำหน่ายซีดี,

ร้านแกลอรี่ผลงานศิลปะ,โรงละคร, บริษัท ไทยทิคเก็ตเมเจอร์, บริษัทผู้จัดคอนเสิร์ต เป็นต้น

6.  สำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งรายงานข่าวบันเทิงในต่างประเทศ หรือข่าวแวดวง

บันเทิงของดาราในฮอลลีวู้ด เป็นต้น เช่น สถิติของบ็อกซ์ออฟฟิศ (Box Office)

                        7. กลุ่มสื่อภาคประชาสังคม ได้แก่ กลุ่ม มูลนิธิ องค์กร ที่เกี่ยวกับการใช้ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการรณรงค์ประเด็นเชิงสังคม เช่น เด็กและเยาวชน เพศศึกษา สื่อสร้างสรรค์ค่านิยมใหม่ และภูมิปัญญาชาวบ้าน ตัวอย่าง มูลนิธิกระจกเงา กลุ่มมะขามป้อม ขบวนการตาสับปะรด กลุ่มละครคนหน้าขาว กลุ่มละครใบ้ เป็นต้น

                        8. พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ หรือหอศิลป์ เป็นสถานที่ซึ่งศิลปินจะสลับสับเปลี่ยนเวียนกันมาแสดงนิทรรศการผลงาน เช่น ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม เป็นต้น

                        9.  กองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร หรือมิวสิควิดีโอ เป็นสถานที่ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานด้านบันเทิงมารวมตัวกันเพื่อทำงานตามหน้าที่ ซึ่งจะได้รับมอบหมาย โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของบริษัท หรือของกองถ่ายทำจะเป็นผู้ประสานงาน เพื่อให้ผู้สื่อข่าวสายบันเทิงได้สัมภาษณ์ผู้กำกับหรือดารานักแสดง

                        10.  บริษัทผู้จำหน่ายตั๋ว ซึ่งเป็นที่รวมของการจัดจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ คอนเสิร์ต ดนตรี ละครเวที เป็นต้น ได้แก่ บริษัท ไทยทิกเก็ตเมเจอร์ จำกัด, ร้านน้องท่าพระจันทร์ เป็นต้น เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อทราบความนิยมของผู้ชมได้

 

            ๒. แบ่งตามประเภทของบุคคล อาจแบ่งแหล่งข่าวสายข่าวบันเทิง ได้ดังนี้

                        1.  ผู้ผลิตรายการ (Producer) ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ประกอบด้วยหลายๆ ฝ่าย เช่น ผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบท ผู้กำกับศิลป์ ผู้อำนวยการสร้าง ผู้ประพันธ์เพลง ครูสอนเต้น เป็นต้น

                        2.  ผู้มีชื่อเสียง (Celebrities) ได้แก่ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง นายแบบ นางแบบ พิธีกร (MC : Master of Ceremony) ผู้ดำเนินรายการ (Moderator) เป็นต้น

3.  ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ ที่รับผิดชอบดูแลนโยบาย

และดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม

4.  เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของบริษัทผู้จัดรายการ หรือค่ายเพลง เป็นผู้ให้ข้อมูล

ข่าวความเคลื่อนไหวของดารา ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ทั้งเรื่องเกี่ยวกับผลงาน และความเคลื่อนไหวกิจกรรมอื่น

                        5.  ผู้สนับสนุนรายการ หรือกิจกรรมด้านความบันเทิง (Sponsorship) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทห้างร้านที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง แต่ได้เป็นผู้สนับสนุนรายการ หรือกิจกรรมต่างๆ ในด้านศิลปวัฒนธรรม และบันเทิง

                        6.  นักวิชาการ หรือผู้เชียวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านบันเทิง ได้แก่ ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยผู้ทำการวิจัย เป็นต้น

                        7.  นักภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือ “ปราชญ์ชาวบ้าน” คือ บุคคลในท้องถิ่นผู้ได้รับการยกย่องและศรัทธาจากชาวบ้าน เพราะที่มีความรู้ความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี เป็นที่ประจักษ์

 

๕.  วิธีคิดประเด็นข่าวบันเทิง

 

ประเด็นการนำเสนอข่าวบันเทิง อาจมีแนวทางให้ศึกษา ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ที่ควรนำไปปฏิบัติ และที่ไม่สร้างสรรค์พึงหลีกเลี่ยง มีต่อไปนี้

 

            1.   ประเด็นข่าวบันเทิงที่สร้างสรรค์

 

                        1)  ประเด็นข่าวเกี่ยวกับผลงาน ได้แก่ การกล่าวถึงรายละเอียดของผลงาน ของดารา ศิลปิน นักร้อง นักแสดง และประเด็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในการทำงานของดารา ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ตลอดจนประเด็นเรื่องความใฝ่ฝัน ทิศทางในอนาคตของธุรกิจหรือการสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้ง การนำเสนอเกี่ยวกับเทคนิคการผลิต

                        2)  ประเด็นข่าวทางธุรกิจอุตสาหกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และทางบันเทิง ได้แก่ การขยายองค์กร การเปิดธุรกิจใหม่ การทำธุรกิจระหว่างประเทศด้านศิลปวัฒนธรรมและบันเทิง

                        3)  ประเด็นข่าวเกี่ยวกับผลของงานที่มีต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างแรงบันดาลใจหรือการเป็นแบบอย่างที่ดี (Idol) ให้กับเด็กและเยาวชน

 

            2.    ประเด็นข่าวบันเทิงที่ไม่สร้างสรรค์ หรือสุ่มเสี่ยงผิดจรรยาบรรณ

 

                        1)  ประเด็นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในรายการข่าว หรือละครในลักษณะ “โฆษณาแฝง” (Advertorial) ทั้งนี้ ในส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับการซื้อพื้นที่การโฆษณาตามปกติในรายการซึ่งมี

สปอต (spot) ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันมีการทำให้ “สินค้าบันเทิง” เป็นข่าวกันมากขึ้น เมื่อพิจารณาแล้วผู้บริโภคเสียประโยชน์ในโอกาสที่จะได้รับชมความบันเทิง โดยไม่มีการโฆษณาแฝงในรายการ

 

                        2)  ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง

                                    2.1)  เรื่องชู้สาวดารา เช่น การแอบแต่งงาน การแอบหมั้น การแอบจดทะเบียน การมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ – เป็นทอม ดี้ เกย์ เป็นเลสเบี้ยน เป็นกระเทยแปลงเพศ (สาวประเภทสอง) การเป็นเด็กเสี่ย การขายตัว เป็นต้น

                                    2.2)  เรื่องการเที่ยวกลางคืน เสเพลของดารา นักร้อง ศิลปิน นักแสดง เป็นต้น

                                    2.3)  เรื่องยาเสพติด ของดารา นักร้อง ศิลปิน นักแสดง เช่น การค้ายาเสพติด การติดยาเสพติด การปาร์ตี้ยาเสพติด เป็นต้น

                                    2.4)  เรื่องการทำศัลยกรรมร่างกายของดารา นักร้อง ศิลปิน นักแสดง เป็นต้น

                                    2.5)  เรื่องสำส่อนทางเพศ ของดารา ศิลปิน นักร้อง นักแสดง

                                    2.6)  เรื่องการทะเลาะวิวาทของดารา นักร้อง ศิลปิน นักแสดง

 

                        3) ประเด็นร้อน หรือ “ประเด็นฉาวโฉ่” (Talk of the town) เช่น นางแบบโชว์เต้านมระหว่างเดินแบบ ดาราแต่งตัวโป้ไปร่วมงานประกาศผลรางวัล, ท้องก่อนแต่ง, การทำแท้ง, ภาพคลิป, ภาพตกแต่งหรือรีทัช เป็นต้น

 

            ประเด็นข่าวที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านี้ ไม่ใช่ไม่สามารถนำเสนอได้ แต่เมื่อนำเสนอควรให้มีลักษณะและรูปแบบของการนำเสนอข่าว และการให้ประโยชน์ ในแง่ข้อคิด อุทาหรณ์ แก่ผู้อ่าน มากกว่าการนำเสนอโดยปราศจากการให้ข้อคิด

เนื่องจากแม้ข่าวประเด็นเหล่านี้มีคุณค่าข่าวสูง ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็นก็ตาม แต่เป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงการละเมิดสิทธิของบุคคล และการผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน รวมทั้ง การไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเด็กและเยาวชน

 

๖.  ศัพท์เฉพาะทางข่าวบันเทิง

1)  ปาปารัชซี่ (Paparazi) หมายถึง ช่างภาพอิสระที่แอบถ่าย โดยคอยติดตามพฤติกรรมของผู้มีชื่อเสียง และนำภาพเหล่านั้นมาเสนอขายต่อสำนักพิมพ์

2)  ผู้มีชื่อเสียง (Celebrities) ได้แก่ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง นายแบบ นางแบบ พิธีกร (MC : Master of Ceremony) ผู้ดำเนินรายการ (Moderator) เป็นต้น

3)  ไอดอล (Idol) หมายถึง ดารา ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ผู้เป็นต้นแบบของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน

4)  ผู้จัดรายการละคร หมายถึง บริษัทผู้ผลิตละครโทรทัศน์ แล้วติดต่อ หรือมีการวางไว้ล่วงหน้า สำหรับการออกอากาศในสถานีโทรทัศน์

5)  รอบปฐมทัศน์ หมายถึง การแสดงละคร คอนเสิร์ต การฉายภาพยนตร์รอบแรก บางกรณีถือเป็น “รอบสื่อมวลชน”

6)  รักโปรโมท หมายถึง คำเรียกใช้กรณีการสร้างข่าวเพื่อผลประโยชน์ทางแฝงในการประชาสัมพันธ์ละครหรือภาพยนตร์ แต่ตัวแสดงหรือดาราไม่ได้รักกันจริงๆ เพื่อให้กระแสข่าวเท่านั้น มักออกมาจากกองถ่ายทำ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

7) ตั๋วผี หมายถึง ตั๋วในการเข้าชมการแสดงละคร ภาพยนตร์ หรือคอนเสิร์ต ที่ผู้ซื้อไม่ได้ซื้อเองโดยตรงกับผู้จัดงาน แต่เป็นการซื้อผ่านจากนายหน้าอีกทีหนึ่ง มักมีราคาสูงกว่าปกติ เนื่องจากเป็นตั๋วที่หาได้ยาก มีจำนวนน้อย หรือเต็มรอบไปแล้ว แต่มีผู้มาซื้อกักตุนเอาไว้เพื่อเก็งกำไรนั่นเอง บางกรณีเป็นตั๋วปลอมไม่สามารถใช้ผ่านประตูได้เลยก็มี

#

 


[1] เอกสารประกอบโครงการห้องเรียนสาธารณะ หัวข้อ สื่อไทย ข่าวบันเทิง : รูปแบบ เนื้อหา แค่ไหนพอดี ?” วันศุกร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒, จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แงประเทศไทย สมาคมนักข่าวบันเทิง และภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ณ ห้องประชุม ๕๗๒๔ อาคาร ๕๗