การ์ตูนโทรทัศน์ : พื้นที่สื่อ พื้นที่เสี่ยงของเด็กไทย

การ์ตูนโทรทัศน์ : พื้นที่สื่อ พื้นที่เสี่ยงของเด็กไทย

ตลอด 24 ชั่วโมงของเดือนตุลาคม ในฟรีทีวีทุกช่อง  พบการ์ตูน 35 เรื่อง  รวมเวลาออกอากาศ 1,052 นาที / สัปดาห์  หรือเฉลี่ยเพียง 1.74% ของรายการโทรทัศน์ทั้งหมดรวมกัน  ทว่าสัดส่วนตัวเลขเพียงเล็กน้อยนี้  กลับพบความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจและวัตถุ ภาษาลามก หยาบโลน รวมถึงมีเรื่องเพศในเนื้อหาการ์ตูนแทบทุกเรื่อง โดยพบว่ามีการ์ตูนเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่เหมาะกับเด็กก่อนวัยเรียน ช่วงอายุ 3-6 ขวบ

ข้อมูลข้างต้น คือบางส่วนจากผลการศึกษาของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) เรื่อง “รายการการ์ตูนเด็กในฟรีทีวี (ช่อง 3, 5, 7, 9,  NBT และ TPBS)” โดยมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ  เมื่อวันที่ 7-8 มกราคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

เพื่อร่วมศึกษาเนื้อหาและค่านิยมที่ปรากฏในรายการการ์ตูนเด็ก ร่วมกับอาจารย์และนิสิต นักศึกษา 8 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

นอกจากนี้มีเครือข่ายองค์กรด้านเด็กอีก 5 องค์กร คือ กลุ่มระบัดใบ จังหวัดระนอง, โครงการบริโภคสร้างสรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กลุ่มไม้ขีดไฟ จังหวัดนครราชสีมา, เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ประสานงานสำนักข่าวเด็ก จังหวัดพะเยา

นายธาม  เชื้อสถาปนาศิริ  ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ  โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ กล่าวว่า  ปัจจุบันรายการการ์ตูนถูกบรรจุในผังรายการของทุกสถานีโทรทัศน์ โดยมีฐานะเป็นรายการสำหรับเด็ก ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน น่าติดตาม มีการสอดแทรกคำสอน หรือค่านิยมต่างๆ ให้กับเด็กอย่างไม่รู้ตัว  ขณะที่การ์ตูนบางเรื่องสร้างค่านิยมที่ผิด ส่งผลเสียต่อเด็ก ซึ่งอยู่ในวัยกำลังเรียนรู้พัฒนาทั้งทางร่างกาย สติปัญญา สังคม และจริยธรรม

“การ์ตูนบางเรื่องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สร้างนิสัยการใช้ความรุนแรงให้เด็กผู้ชาย จากการเลียนแบบฮีโร่ของพวกเขา  ส่วนตัวการ์ตูนบางเรื่องมีการแต่งกายวาบหวิว  ทำให้เด็กสนใจเรื่องเพศก่อนวัยอันควร รวมถึงการ์ตูนทางทีวีจากต่างประเทศ  มีบทแปลภาพยนตร์คำพูดที่ไม่เหมาะสม  กลายเป็นคำธรรมดา ที่เด็กสามารถพูดได้  ส่วนหนึ่งเพราะจำมาจากการ์ตูนนั่นเอง เมื่อการ์ตูนมีอิทธิพลต่อเด็กมาก  แต่หากพิจารณาจากพัฒนาการ  จะเห็นว่าเด็กยังไม่สามารถแยกแยะอะไรดี ไม่ดี ควรจดจำหรือไม่  จึงเป็นที่มาของการศึกษาการ์ตูนเด็ก ของมีเดียมอนิเตอร์” นายธาม กล่าว

สำหรับการศึกษานั้นใช้การบันทึกเทปออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงของฟรีทีวีทุกช่อง ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2551 จากนั้นศึกษาเนื้อหารายการด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยใช้ระเบียบวิธีศึกษาที่ออกแบบไว้  พร้อมทั้งศึกษาผ่านกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับ 8 สถาบันการศึกษา และ 5 เครือข่ายด้านเด็ก จากนั้นจึงวิเคราะห์และสรุปผล

 

  • เด็กเป็นอย่างที่เด็กดู

ถึงตรงนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วการ์ตูนที่ดีเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งอะไรที่จะมาตัดสินว่าเด็กควรดูอะไร ประเด็นนี้ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้ศึกษาเมื่อ พ.ศ.2532  ถึงลักษณะการ์ตูนที่ดีว่าควรมีลักษณะสำคัญดังนี้

1) ส่งเสริมการค้นคว้า และความคิดที่เป็นที่เป็นวิทยาศาสตร์

2) การหลีกเลี่ยงเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ วิญญาณ โชคลาง อันหาเหตุผลที่จะพิสูจน์ความจริงมิได้

3) เนื้อหาการ์ตูนควรมีลักษณะใฝ่สัมฤทธิ์ หมายถึง ตัวเอกของเรื่องมีชีวิตที่ต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จในบั้นปลายท้ายเรื่อง

4) มีเนื้อหาธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม การนำเสนอในลักษณะนี้ ไม่ควรจะใช้วิธีการสอนโดยตรง เพราะจะทำให้น่าเบื่อ แต่ควรแทรกไว้ในพฤติกรรมของตัวละครต่าง ๆ ไม่ว่าจะตัวเอกหรือตัวร้าย

5) ส่งเสริมให้เป็นคนมีเมตตา ปราณี รักธรรมชาติ เคารพในสิทธิหน้าที่ของมนุษย์แต่ละคน

6) นำเสนอเรื่องที่เป็นจริง มิใช่เรื่องชวนฝัน

ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้เป็นกรอบในการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ถึงสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในการ์ตูน อีกทั้งยังมีข้อมูลบางส่วนจากนักวิชาการที่ศึกษาถึงความสำคัญและความทรงพลังของโทรทัศน์ และสื่อที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก

โดย ดร.ดิมิทรี คริสทาคิส นักวิจัยชาวสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องนี้ในเว็บไซต์สถาบันวิจัยโรงพยาบาลเด็กซีแอตเติล (www.seattlechildrens.org)  เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งจากการศึกษากับเด็กชาย 184 คน อายุประมาณ 2-5 ปีที่ดูโทรทัศน์รายการที่มีความรุนแรงวันละ 1 ชั่วโมง จะมีโอกาสการเป็นคนก้าวร้าวเพิ่มขึ้น 3 เท่า มากกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ดูรายการที่มีความรุนแรง แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ปรากฏกับเพศหญิง

ดร.ดิมิทรี คริสทาคิส พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ละเลยการดูเนื้อหารายการโทรทัศน์ว่ามีความเหมาะสมกับกลุ่มอายุของเด็กหรือไม่ เด็กในช่วงนั้นไม่สามารถแยกแยะเรื่องที่เป็นแฟนตาซีออกจากความจริงได้ และจำเป็นต้องมีคนอธิบายให้ฟัง ความรุนแรงในการ์ตูนสอนเด็กว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสนุก โดยไม่ได้คิดถึงผลที่ตามมา ซึ่งต่างจากความเป็นจริงที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นหลังจากโดนกระทำรุนแรง

 

  • โครงเรื่องหลวม ลักษณะเด่นบนความด้อยของการ์ตูนไทย

ผลจากการศึกษาในการ์ตูนทางฟรีทีวีไทย 35 เรื่อง พบว่ามีการวางโครงเรื่อง (Plot) จำแนกเป็น 8 ประเภท คือ การผจญภัย,  เรื่องราวในโรงเรียน ชุมชน และสังคม, เรื่องราวในครอบครัว, เรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนฆาตกรรม, นิยายปรัมปราและนิทานพื้นบ้านไทย, ต่อสู้, มุ่งเน้นให้ความรู้เฉพาะเรื่อง และประเภทสุดท้ายเรื่องราวชีวิตประจำวันของเด็ก

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการ์ตูนไทยนั้นจะให้ความสำคัญในการวางโครงเรื่องน้อยมาก เห็นได้จากการ์ตูนบางเรื่องมักมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับแก่นเรื่อง (Theme) เช่น การ์ตูนประเภทจบในตอนจะมีการนำเสนอเนื้อหาแต่ละตอนไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรืออาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะใช้ตัวละครหลักชุดเดียวกันก็ตาม

นอกจากนี้ในการ์ตูนเรื่องยาวบางเรื่องยังให้ความสำคัญกับประเด็นปลีกย่อยมากกว่าการดำเนินเนื้อหาตามแก่นเรื่องที่วางไว้ เช่น การ์ตูนที่เกี่ยวกับวรรณคดีไทย จะให้ความสำคัญกับเรื่องความรัก เพศ มุขตลก มากกว่าเรื่องคุณงามความดีหรือความสามารถของตัวละครในวรรณคดี  ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า การ์ตูนไทยยังมีลักษณะของละครไทยอยู่นั่นเอง

หากมองตามหลักการ์ตูนที่ดี ด้านเนื้อหาการ์ตูนควรมีลักษณะใฝ่สัมฤทธิ์ จะพบว่าเป็นจุดเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่น และการ์ตูนตะวันตกที่ตัวละครหลักมีความตั้งใจจะประสบความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้ แต่ในการ์ตูนไทยกลับไม่พบเลยตลอด 1 เดือนของการศึกษา

 

  • ความรุนแรง อคติ เพศ ภาษา เป็นเรื่องธรรมดาในการ์ตูน ?

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสื่อสำหรับเด็ก แต่การ์ตูนก็มีเรื่องเพศแฝงอยู่เช่นกัน โดยถูกเสนอผ่านการแต่งตัวที่วาบหวิว เน้นสัดส่วนของผู้หญิง  ทั้งยังมีลักษณะการพากย์ที่ส่อในทางเพศ ลามก สัปดน  รวมถึงมีการตอกย้ำเรื่องภาพตัวแทนของเพศหญิง ชาย กับบทบาทหน้าที่ตายตัว ผ่านภาพที่นำเสนอซ้ำ ๆ ได้แก่ความเป็นพ่อต้องสุขุม ใจเย็น ขณะที่แม่จะเป็นพวกเจ้าระเบียบ จู้จี้ ขี้บ่น หรือหากเป็นเด็กหญิงจะขี้แย  ส่วนเด็กชายจะห้าว สนุกสนาน เกเร

สิ่งสำคัญอีกประการที่แฝงอยู่ในการ์ตูนแทบทุกเรื่องก็คือ ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้กำลัง  การต่อสู้ด้วยอาวุธ  อุปกรณ์  กระทั่งทำให้ได้รับบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิต  ซึ่งอาการบาดเจ็บนั้นแยกออกเป็นลักษณะการเจ็บจริง – เสียชีวิตจริง  และบาดเจ็บแบบแฟนตาซี  คือเจ็บแล้วหายได้  หรือถูกกระทำอย่างรุนแรงแต่ไม่ตาย  หรือตายแล้วฟื้นในที่สุด  โดยพบว่ามีการ์ตูนเรื่องเดียวที่ไม่มีความรุนแรง นั่นคือ ไอน์สไตน์จิ๋ว (ช่อง 7)

รศ.กุลวรา  ชูพงศ์ไพโรจน์  อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก                มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า ความรุนแรงไม่ควรมีในการ์ตูน  เพราะเป็นสื่อสำหรับเด็กซึ่งยังไม่มีวิจารณญาณในการรับชมที่ดีพอ  และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะนั่งดูโทรทัศน์กับเด็กเป็นประจำ  การ์ตูนจึงควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับความงาม  เด็กควรเสพงานศิลป์เพื่อความอ่อนโยนของจิตใจ  ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนที่เป็นหนังสือหรือว่าโทรทัศน์ผู้ผลิตก็ต้องคำนึงถึงด้านนี้

“หลานเคยถามว่า  ที่การ์ตูนใช้พลังต่อสู้กัน หรือใช้อาวุธแทงฝ่ายตรงข้ามจนทะลุทำไมไม่ตาย  แล้วถ้าทำตามแบบนั้นจะตายไหม  หรืออยากกระโดดจากที่สูงๆ แล้วเหาะเหมือนการ์ตูนจะได้ไหม  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความพร้อมของเด็กแต่ละช่วงอายุไม่เหมาะกับการรับชมความรุนแรง

ไม่ได้ห้าม หรือต่อต้านการดูการ์ตูน  แต่ทำอย่างไรให้เด็กได้ดูอย่างพอดี  และได้ดูในสิ่งที่ดีพอ ผู้ปกครองต้องรอให้ฐานสติปัญญาของเด็กมั่นคงเสียก่อน  ให้เจริญเติบโตพร้อมสิ่งดีๆ เมื่อถึงวัยที่สมควรก็สามารถดูทีวีได้” รศ.กุลวรา กล่าว

 

  • มองเชิงบวก จะเห็นด้านดีนั้นมีอยู่

ใช่ว่าจะเห็นเฉพาะด้านลบเท่านั้น  ผลการศึกษายังสะท้อนด้านดีทั้งการ์ตูนไทย – เทศ  โดยเฉพาะการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีของการ์ตูนไทยนั้นถือว่ามีความโดดเด่น  ซึ่งหากมองในภาพรวม จะพบด้านดีของการ์ตูนอยู่หลายด้าน  อาทิ  การช่วยเหลือผู้อื่น, การเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีมิตรภาพ, รักการเรียนรู้, มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน, ขยันหมั่นเพียร, รักสิ่งแวดล้อม, มีความสามัคคี, มีความกล้าหาญ, รู้จักสำนึกผิด และยึดมั่นในความดี

นายอรุณฉัตร  คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าการ์ตูนมีด้านร้าย ความรุนแรงเสมอไป  เพราะการ์ตูนดีๆ นั้นมีอยู่  และพฤติกรรมการเลียนแบบการ์ตูนที่เข้ามาในชีวิตของเด็กแต่ละคนนั้น  สักวันหนึ่งจะหายไปตามวัยและวุฒิภาวะที่มากขึ้น  และเชื่อว่าไม่มีใครที่จะเลียนแบบการ์ตูนเสมอไป

“ความรุนแรงในการ์ตูนที่เป็นแบบธรรมะชนะอธรรมนั้นก็มีด้านดี  และแน่นอนคือทำให้เด็กเป็นคนดีมากกว่าคนไม่ดี  เพราะใครๆ ก็อยากเป็นพระเอก” นายอรุณฉัตร กล่าว

 

  • โมเดลการ์ตูนดี ทางออกที่ต้องคิดและทำร่วมกัน

นายวัลลภ  ตั้งคณานุรักษ์  กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ให้ความเห็นว่า  ควรหาโมเดลหรือชุดความรู้เกี่ยวกับการ์ตูนที่ดีมาเป็นแนวทางในการทำงานของผู้ผลิตการ์ตูน  เพื่อตอบสนองความต้องการและการรับรู้ให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย

“การ์ตูนดีที่ดูแล้วพอใจคืออะไร  อยากให้นำการ์ตูนที่บอกว่าดี หรือไม่ดีนั้นมาให้เด็กดูแล้วเปิดเวทีวิจารณ์ว่าเด็กต้องการอะไร  เราควรมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นในการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์

นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์ช่อง NBT สามารถส่งเสริมคนทำการ์ตูนด้วยการให้เวลาในการฉายฟรี  เพราะเป็นช่องของรัฐ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน  เพื่อเปิดช่องทางให้คนทำการ์ตูน  ไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นธุรกิจ”  นายวัลลภ กล่าว

ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล   หล่อตระกูล นักจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า  ผู้ผลิตการ์ตูนควรคำนึงถึงการรับรู้ของเด็กในแต่ละวัย  เพราะจะทำให้แก่นเรื่องมีความชัดเจน  อีกทั้งการสร้างความรู้ต้องสอดคล้องตรงกับประสบการณ์การเรียนรู้และวัยของเด็ก เพราะความสนุกของเด็ก 3 ขวบ กับเด็ก 10 ขวบนั้นแตกต่างกัน

ขณะที่ข้อเสนอแนะจากวิทยากรตลอดจนผู้เข้าร่วมสัมมนายังเห็นว่า  การ์ตูนที่จะนำมาออกอากาศ  ควรมีการศึกษาข้อมูลและสำรวจผู้ชมก่อน  เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้อย่างเหมาะสม คำนึงถึงพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก  ไม่ยัดเยียดเนื้อหาจนเกินไป

นอกจากนี้  ไม่ควรมีโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายหรือจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อปรากฏในรายการการ์ตูนเด็ก เช่น โฆษณาถุงยางอนามัย  โฆษณาเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ  ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ รายการการ์ตูนจะต้องมีการกำหนดเรตติ้งที่ถูกต้องตรงกับเนื้อหาที่ออกอากาศอย่างแท้จริง  ไม่ใช่มุ่งกำหนดเรตติ้งเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดเท่านั้น

 

จะเห็นได้ว่า  เมื่อการ์ตูนกับเด็กนั้นแทบแยกจากกันไม่ได้  ที่สุดแล้วการผลิตการ์ตูนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กย่อมเป็นสิ่งสำคัญ  แต่ปัจจัยที่เหนือกว่านั้นคือการทำให้ผู้ปกครองอยู่เคียงข้าง  เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างถูกทาง ท่ามกลางพื้นที่สื่อเสรี  ที่อาจแฝงพื้นที่เสี่ยงเช่นปัจจุบัน

โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)

เลขที่ 31 อาคารพญาไท ชั้น 5 ห้อง 517-518 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

โทรศัพท์ 02-246-7440, โทรสาร 02-246-7441

website: www.mediamonitor.in.th e-mail: mediamonitorth@gmail.com

** เคียงข่าว **

จำนวนการ์ตูนเด็กในช่องฟรีทีวี (สำรวจจากเดือนตุลาคม 2551) สถานีที่มีสัดส่วนรายการที่นำเสนอการ์ตูนมากที่สุด ได้แก่

  • อันดับ 1 คือ ช่อง 5       (365 นาที/สัปดาห์)    จาก   2  รายการ
  • อันดับ 2 คือ ช่อง 7       (325 นาที/สัปดาห์)    จาก  10  รายการ
  • อันดับ 3 คือ ช่อง 9       (294 นาที/สัปดาห์)    จาก   4   รายการ
  • อันดับ 4 คือ ช่อง 3       (194 นาที/สัปดาห์)    จาก   7   รายการ
  • อันดับ 5 คือ ช่องทีวีไทย (145 นาที/สัปดาห์)    จาก  5   รายการ
  • อันดับ 6 คือ ช่อง NBT    ( 25นาที/สัปดาห์)     จาก  1   รายการ