ที่มา
https://www.facebook.com/jr.ethics?fref=ts
ชีวิตอีกด้านของดาราที่ถูกสื่อซ้ำเติม
.
6/7/58-2233> ‘แตงโม’ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดง ที่ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจากการกินยานอนหลับเกินขนาด แล้วมีภาพพยาบาลกำลังให้ความช่วยเหลือเธอบนรถเข็นของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้หญิงทั่วไปในยามปกติปรากฏบน Instagram ของผู้ที่ระบุว่าเป็นเพื่อนของเธอ พร้อมกับข้อความขออภัยแทนเพื่อน และขอให้เห็นใจเธอจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันเข้าใจได้ว่าเป็นมุมมองของเพื่อนที่มีความปรารถนาดี จึงได้ลงทั้งภาพและคลิปไว้บน Instagram ดังกล่าว
.
แต่ในมุมของสื่อ โดยเฉพาะสายบันเทิง ได้นำภาพที่ปรากฏบน Instagram มาเผยแพร่แบบได้มาอย่างไร ก็ลงไปตามนั้น โดยอ้างแหล่งที่มาของภาพและข้อความจากเพื่อนของ ‘แตงโม’ ขณะที่บางสื่อ อธิบายในเนื้อข่าวจากคลิปที่มีความยาวเพียงไม่กี่วินาทีว่ากำลังร่ำไห้โดยไร้สติ และใส่เสื้อของอดีตคนรักเอาไว้ตลอดเวลา ฯลฯ
.
เพื่อนที่ลงภาพและข้อความอาจทำร้ายเพื่อนที่กำลังเปราะบางโดยไม่เจตนา แต่การที่สื่อหยิบเอาภาพและข้อความบน Instagram มาใช้ในการเผยแพร่ จากพื้นที่ส่วนตัว ไปสู่พื้นที่สาธารณะในวงกว้างนั้น ต่างกันโดยหน้าที่อย่างสิ้นเชิง
.
แม้ด้านหนึ่ง ‘แตงโม’ เป็นนักแสดงผู้สร้างความบันเทิงให้สังคม เธอจึงเป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ (public figure) ซึ่งถึงอย่างไรเสียก็ต้องเป็นข่าว แต่ในสภาพเช่นนี้ ผู้มีสามัญสำนึกโดยทั่วไปก็คงจะรู้สึกได้ว่านี่คือการซ้ำเติมความทุกข์โศกของเธอหรือไม่
.
ผู้อื่นไม่กระไร แต่เรามีจริยธรรมวิชาชีพกำกับไว้ เราจึงไม่ใช่ผู้ทำร้ายคนและสังคม โปรดพิจารณา
.
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง
ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘
(photo: thaich.net)