สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ฯ พบทูตไทยประจำเวียดนาม

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ฯ พบทูตไทยประจำเวียดนาม

ทูตไทย หนุนบทบาทสื่อมวลชน เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างไทย-เวียดนาม เผยสัมพันธ์ 2 ชาติ ร่วมมือภาคเศรษฐกิจใกล้ชิด สถิติล่าสุดไทยลงทุนในเวียดนามสูงที่สุดในโลก 3-4 แสนล้านบาท ชี้ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นจริงแล้ว คาดภายใน 10 ปี ภาคเอกชนเวียดนามผงาด

นายมานพชัย วงศ์ภักดี เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม กล่าวกับคณะสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในการเข้าพบ ณ สถานทูตไทย ในฮานอย ว่า  สื่อมีบทบาทและหน้าที่ในการเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจ ในระยะหลังความสัมพันธ์ในกรอบภาพรวมระหว่างไทยกับเวียดนาม ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ใกล้ชิด ดีมาก มีความร่วมมือในกรอบต่างๆ ทุกกรอบ ทั้งการเมือง ทวิภาคี พหุภาคี ในเวทีต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เห็นได้ชัดเจน  ส่วนด้านสังคม วัฒนธรรม อาจจะยังไม่มาก แต่ทางฝ่ายไทย ผมเห็นรายการทีวี เกี่ยวกับแนะนำไลฟ์สไตล์ ชีวิต วัฒนธรรม ประเทศต่างๆในอาเซียนมากขึ้น และคนไทยก็สนใจมากยิ่งขึ้น

แม้กระทั่งความร่วมมือทางด้านศาสนา ระยะหลังเราจะเห็นว่า มีความเติบโตของพุทธศาสนาในเวียดนาม นิกายมหายาน ทางภาคเหนือมากขึ้น  และทางรัฐบาลเวียดนามก็มีบทบาทสำคัญ เล็งเห็นความสำคัญของศาสนาในเวียดนาม โดยเปิดกว้างทุกศาสนา คริสต์ และศาสนาดั้งเดิมที่นับถือในพื้นที่ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการด้านบวก

และในรูปความสัมพันธ์กับประเทศไทย ได้ขยายตัวไป จนเรียกได้ว่า สถานทูตเองต้องมาเรียนรู้จากภาคส่วนต่างๆ ว่าความสัมพันธ์ แต่ละภาคส่วน ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง ภาคเอกชนด้วยกัน  หรือ องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ได้ร่วมมือกันด้านใดบ้าง ทั้งในระดับพหุภาคี ทวิภาคี แม้กระทั่ง ระดับประชาชน ระดับจังหวัดก็มีความร่วมมือกันมาก ซึ่งทางเวียดนามเอง จังหวัดต่างๆ ก็มีบทบาทสูง ในการผลักดันและเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการขยายความร่วมมือทางด้านการค้า เศรษฐกิจ ด้วย

+ เวียดนามมองระบบศก.ไทยยังเข้มแข็ง

ตอนนี้ ในเวียดนามมองไทยอย่างไรนั้น เขาถือว่า ไทยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งพอสมควร มีการผลิตสินค้าต่างๆ มาจำหน่ายในเวียดนาม และสินค้าต่างๆ ของไทย ถือว่ามีคุณภาพดี ทั้ง สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตผลทางการเกษตร ถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและราคาไม่ได้สูงเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไปหรือคนชั้นกลาง ในเวียดนาม ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจทีเดียว

สำหรับสินค้าจากไทย ก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วน สินค้าที่รับจ้างผลิตให้ประเทศอื่น และ สินค้าของไทย เพราะจริงๆ แล้วไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ  อย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอะ เค้าใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนต่างๆ  สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเหล่านี้่ เค้าส่งมาที่เวียดนามทุกอย่าง ตั้งแต่มอเตอร์ไซด์ เมื่อก่อน 25 ปีที่แล้ว ฮอนด้าดรีมส์ ถ้ามี 2 คัน สามารถซื้อห้องแถวในฮานอยได้ถึง 2 ห้อง

+ 2 ชาติ ไร้ปัญหา "การเมือง-ความมั่นคง"

ปัจจุบันนี้ ความร่วมมือ ด้านการเมืองและความมั่นคง พูดได้ว่าปัญหาหมดไปแล้วจริงๆ  ขณะนี้กองทัพเรือของสองฝ่ายกำลังคุยอยู่ที่พัทยาว่า จะมีกลไกอะไรที่เราจะร่วมมือกัน นอกเหนือจากการลาดตระเวนร่วมที่มีปีละ 1-2 หน ว่าเราจะมีความร่วมมืออะไรที่เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาประมงรุกล้ำกันทั้งสองฝ่าย ที่เกิดจากความตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง ทำอย่างไรไม่ให้สิ่งเหล่านี้มากระทบความสัมพันธ์ในภาพรวม ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ปกติทุกที่  แม้แต่ปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติดกันไปมา  ป.ป.ส.สองฝ่ายก็ร่วมมือกันเต็มที่

ล่าสุด ทางกองทัพเรือ แม่ทัพเรือก็เพิ่งมา ผบ.สส.ก็กำลังมีแผนจะมาเยือนในรอบปี เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการเมือง ความมั่นคง มันหมดไปแล้ว พูดได้เลยว่าในภูมิภาคของเรา มันหมดไปแล้วจริงๆ  แต่เป็นเรื่องของการ จะบริหารจัดการในภาคพลเรือน ภาคประชาสังคม มากกว่า ซึ่งจะทำให้เพิ่มพูนโอกาสของ การค้า เศรษฐกิจ การศึกษา

+ หนุนสื่อไทยเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน+

ผมขอหยิบยกเรื่องการศึกษา เท่าที่มาอยู่ 4-5 เดือน จะเห็นว่าสื่อมวลชนเวียดนาม จะมีเจ้าหน้าที่สื่อสารภาษาไทยได้มากกว่าสื่อมวลชนของไทย เราไม่ค่อยทราบภาษาเวียดนามเลย ถ้าเรามีสักนิด ก็จะดี และมาอยู่ที่นี่ก็ได้พบนักข่าว นสพ.เวียดนามที่มีความสามารถสูงมาก พูดภาษาอังกฤษ มาคุยที่สถานทูต เค้ามีความเข้าใจในแฟกเตอร์ต่างๆ และมีความตั้งใจที่จะเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างไทยเวียดนาม และเค้าก็รอบรู้ ได้รับการยอมรับในวงการระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัย ดัชนี ที่ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาของสื่อมวลชนเวียดนามและบทบาทของเค้า

ถ้าเราเปรียบเทียบกับจีน คิดว่าเวียดนามเค้าเปิดกว้างมากกว่าเยอะ โดยเฉพาะเรื่องโซเชียลมีเดีย ที่นี่ไม่ต้องใช้ไวเบอร์ สามารถมาถึง เค้าเปิดกว้าง มีบล็อกเกอร์ ผมถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ดีมาก ที่รัฐบาลเปิดกว้างให้ประชาชนตัวเอง และรอบโลกด้วย ที่อยากจะเรียนรู้ ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ ทัศนคติของคนเวียดนาม และเค้าก็สามารถรับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่้วโลก เหมือนกับเมืองไทย อยู่ที่นี่ก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในแต่ละวงการมาก เป็นเฮลท์ตี้ ดีเวลลอปเมนต์ จริงๆ  คิดว่าช่วยทำให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ฉะนั้น ภาพรวมในความสัมพันธ์ ถ้าจะมีที่วิตกกันในช่วงปีนี้ ที่ผมมารับตำแหน่ง ก็วิตกเรื่องการค้าปลีกของไทย อาจจะบุก ยกขบวนเข้ามาลงทุน จำนวนมาก และไปมุ่งความสนใจอยู่ในบางเซคเตอร์มากไปหน่อย และเซคเตอร์เหล่านี้ ถ้าเป็นเมื่อ 15 ปีที่แล้วภาคเอกชนเวียดนามอาจจะยังไม่มีขีดความสามารถ แต่ปัจจุบันมันผ่านไปแล้ว เค้าก็มีความมั่นใจว่าเค้าสามารถดำเนินการค้าได้เหมือนกัน

แต่ประเด็น คือ ในโลกของธุรกิจ ผมก็ชี้ว่า มันเป็นโลกของการเคลื่อนไหว เสรี ของเงินทุน หรือ management knowledge  และเทคโนโลยีต่างๆ ในการค้า เช่น ในประเทศไทย ล่าสุด จะเห็นได้ว่า มีบริษัทไก่ ของบราซิล เค้ามาเทคโอเวอร์ เตรียมจะเปิดกิจการแข่งกันเลย กับบริษัทค้าสัตว์ปีกของเมืองไทย ซึ่งทางซีพีเค้าก็บอก ดีมากเลย ที่จะทำให้เค้าสามารถ ตระหนักถึงการคงไว้ซึ่งขีดความสามารถของการแข่งขัน

สิ่งเหล่านี้ บริษัทไทย เข้ามาเทคโอเวอร์ในเวียดนาม เราก็เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วไปหมด เราไม่ได้ซื้อแต่ ไทย-เวียดนาม บริษัท ดัลเบิลเอ ที่ทำกระดาษ ก็ไปซื้อโรงงานกระดาษในฝรั่งเศส ไปซื้อโรงงานปลากระป๋อง ในสเปน โปรตุเกส และเวียดนามเองก็มีเทคโอเวอร์ในพม่า กัมพูชา ในลาว เช่นกัน แล้วก็มีการร่วมมือ ในการลงทุนระหว่าง ปตท.สผ.ของไทย กับปิโตรของเวียดนามในแอลจีเรีย เพราะสิ่งเหล่านี้ ทำให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างสองชาติ มันสายเป็นใยกันหมดแล้ว ฉะนั้้นเราจะมามองภาพใกล้ๆ ไม่ได้

 

+ คาดภายใน 10 ปีเอกชนเวียดนามผงาด

ผมเชื่อว่า อีก 8-10 ปี ข้างหน้า ภาคเอกชนของเวียดนามจะมีความเข้มแข็งมาก การเทคโอเวอร์คืน เป็นไปได้หมด อย่างตอนนี้ ที่จีนไปเทคโอเวอร์ จีอี ในสหรัฐฯ ไม่ได้ไปทำอะไร ก็ปล่อยให้บริษัทจีอี รันไปตามปกติ ผลิตเครื่องซักผ้า ตู้เย็น เหมือนเดิม หรือเทคโอเวอร์วอลโว่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด ในอาเซียนเอง บริษัทของมาเลเซีย ก็เข้ามาซื้อบริษัท มาสดา ประเทศไทยไปแล้ว ในส่วนของสายการจำหน่าย เป็นบริษัทมาเลเซีย แต่การผลิตก็ยังเป็นของมาสดา เจแปน อยู่

ถ้าเราตามดูให้ลึก ก็จะรู้ว่า ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน มันเกิดขึ้นจริงๆ โดยที่พวกเราไม่ได้ตระหนัก แล้วสิ่งเหล่านี้ ผมว่าจะเพิ่มโอกาสสำหรับเด็กรุ่นหลัง อายุ 30 ลงมา จะมีโอกาสไปทำงานประเทศต่างๆ ถือเป็น Expat  ตอนนี้มี เยาวชนเวียดนามอายุต่ำกว่า 30 ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯเยอะมาก ได้เงินเดือนเป็นแสน มาเขียนในเฟซบุ๊ค วันนี้ไปกินข้าวที่ไหน สิ่งเหล่านี้ เรามองกลับไป 20 ปีที่แล้วไม่ได้เกิดขึ้น

+ มูลค่าลงทุนของไทยในเวียดนามสูงสุดในโลก

สมาพันธ์ฯ มีคำถามว่า  ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่เริ่มย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนาม เกิดจากปัจจัยอะไรที่เกื้อหนุนในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งเค้ากำลังเป็นกังวลกันอยู่ ของเราอยู่ในกรอบของการส่งเสริมของบีโอไอเป็นส่วนใหญ่ มันแคบไป ถ้าเทียบกับที่อื่น

ท่านทูตมานพชัย กล่าวว่า  มันมีทั้งแรงดึงดูดและแรงผลักดัน ซึ่งรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า เราควรจะมาสนใจตลาดรอบบ้าน ประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการค้าและการลงทุน เพราะความคล้ายคลึงกัน ในเรื่อง วัฒนธรรม ภูมิประเทศ การบริโภค ต่างๆ สิ่งเหล่านี้่ และข้อจำกัดในประเทศเราก็มี ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งให้เค้าออกมา และทางด้านนี้เค้าก็เปิดกว้างรับการลงทุนเต็มที่ การลงทุนของไทยที่นี่ ตอนนี้มูลค่าสูงที่สุดในโลก 8.5 พันล้านเหรียญ ก็ประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ขณะที่อินโดนีเซียที่ไปลงทุนกันมานาน ก็ยังไม่ถึงพันล้านเหรียญเลย รวมแล้วทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ซีพี บ้านปู ปูนซีเมนต์ไทย ทุกคนมา concentrate อยู่ที่นี่ เพราะว่าหลายสาเหตุ

+ นโยบายรัฐ-ปัจจัยการผลิตดึงดูดนักลงทุน +

ถ้าผมมองในปัจจัยของฝ่ายเวียดนาม คือ 1.การเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลมีความต่อเนื่อง นโยบายตอบรับการลงทุนถึงจะเปลี่ยนนายกฯ ไป เค้ายังเหมือนเดิม 2.ปัจจัยการผลิตเค้าเกื้อหนุน ในด้านของประชากร จำนวนกว่า 50-60% อายุต่ำกว่า 30 ปี ค่าแรงไม่สูงมากเท่ากับไทย แต่เค้ากำลังเพิ่มขึ้น

ผมบอกได้เลย พื้นที่ชายฝั่งที่เหมาะสมกับการทำท่าเรือน้ำลึก มีเป็นพันๆ กิโลเมตร ไม่ต้องไปกระจุกตัวเหมือนเมืองไทย ซึ่งมีอยู่ที่ มาบตาพุด ชลบุรี ระยอง เพราะพื้นที่ของเรา ที่จะทำท่าเรือน้ำลึกน้อยมาก และอีกปัจจัย เค้าได้ไปทำ FTA กับหลายประเทศ คาดว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี กับทาง EU และ TPP  ที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่มาก เพราะสามารถทำให้สินค้าที่ผลิตในเวียดนามได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษยกเว้นภาษีส่งออกมากมาย

+ เวียดนามส่งออกรองเท้าอันดับ 1 ของโลก +

ตอนนี้เป็นผลทำให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออก ตอนนี้เวียดนามส่งออกรองเท้าเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว รองเท้าทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะรองเท้ากีฬา ไนกี้ อาดิแดส รวมถึงรองเท้าหนังด้วย หลายแบรนด์เริ่มเข้ามา ยกเว้นแบรนด์ที่ทอปจริงๆ ที่ราคาแพงของยุโรป แต่โดยทั่วๆ ไปผลิตที่นี่หมด สินค้าอิเลคทรอนิกส์ โดยเฉพาะของเกาหลี เป็นรายได้หลักของเค้าเลย ที่ส่งออก พวกซัมซุง แอลจี  เพราะต้องไม่ลืมว่าช่วง 1980 กว่า กลุ่มทุนต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาในเวียดนามคือ เกาหลี  ส่วนญี่ปุ่นกำลังสาละวนกับการลงทุนในไทยช่วงนั้น

แต่ที่น่าชื่นชมคือว่า มีนักลงทุนไทย กลุ่มหนึ่งก็เคลื่อนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในเวียดนามช่วงต้นปี ทศวรรษ 1990 ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นการลงทุนของไทยในเวียดนาม มีมาเกือบ 30 ปีแล้ว และกลุ่มที่มาลงทุนกลุ่มแรก 15 ปีแรกไม่ได้กำไร เพราะ 15 ปีแรกเป็นการเข้ามาซื้อบทเรียน มาเรียนรู้ การที่จะอยู่ในวัฒนธรรม สังคม และระบบกฏหมายต่างๆ และช่วงนั้น ช่วงที่หวอ วัน เกียต เป็นนายกฯ และมีนโยบายโด๋ เหมื่อย ใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายต่างๆ นานา จังหวัดต่างๆ ก็อยากจะรับ ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เปลี่ยนกฎระเบียบกันทุกวัน  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลำบากมาก แต่หลายบริษัทไทยก็อยู่ยงคงกระพัน จนกระทั่งมีรากฐานมั่นคง เช่น ซีพี ปูนซีเมนต์ไทย เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามา พวกที่เป็นเทรดดิ้งก็มี ตัวโรงแรม เมเลีย ที่ ท่านสมบุญ ระหงษ์ มาสร้างไว้ ตั้งแต่ปี 1992-1933 มันเกิน 20 ปีแล้ว ตอนนี้ท่านเจริญ (สิริวัฒนภักดี) มาเทคโอเวอร์ไปแล้ว

 

+ ขีดความสามารถพุ่ง ขยายลงทุนนอกปท. +

อีกไม่นานเวียดนาม ก็จะมีขีดความสามารถเข้าไปลงทุนในไทย ตอนนี้ อย่างกลุ่มแรกที่เข้าไปลงทุนคือ เวียดเจต ประมาณ 50 ล้านเหรียญแล้ว เป็นรูปของสำนักงานการบินต่างๆ ออฟฟิศ ที่เค้าจะขยายเข้าไป อีกหน่อยเราก็จะมีกลุ่มต่างๆ ซันกรุ๊ป วินกรุ๊ป คงจะไป แต่อย่าลืมว่าตลาดภายในเวียดนามใหญ่มาก 90 ล้านคน  ฉะนั้นนอกเหนือจากที่เราผลิตเพื่อการส่งออก ก็ยังสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภคเวียดนามด้วย คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่เราผลิตเป็นพวกที่บริษัทเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งไม่ได้ทำ เป็นสินค้าที่ใช้ประจำวัน แล้วจะขนส่งจากประเทศห่างไกลก็ไม่คุ้ม ก็ต้องทำกันแถวนี้ ไม่ไทย ก็เวียดนาม

ตอนนี้อาจจะมีจุดข้อด้อยอย่างหนึ่งในเวียดนาม คือที่่ดินราคาแพงมาก ปัจจัยการผลิต เพราะเค้ามีประชากร 90 ล้าน แต่พื้นที่ในประเทศมีแค่ 1 ใน 3 ของไทย  ทำให้ราคาที่ดินแพง บ้านจัดสรรแพงมาก คิดว่าการขยายตัวของคนชั้นกลางเร็วมาก

สมาพันธ์ฯ ถามว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำ ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่จะไปเพิ่มน้ำหนักอะไรให้ตรงไหน มากขึ้น ลดน้อยลง บ้าง

ท่านทูตมานพชัย กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ภาคใต้เค้ามีความเชี่ยวชาญเรื่องการค้ามากกว่า เพิ่งคุยกับทางบริษัทบ้านปู บอกว่า ภาคใต้ถ้าเรานับจากปี 1975 เป็นปีสิ้่นสุดสงครามเวียดนาม ถึงปี 1990 ที่ท่านนายกฯหวอ วัน เกียต แถลง โด๋ เหมื่อย มัน 15 ปีแล้ว แปลว่าเศรษฐกิจสังคมนิยมเวียดนาม โดยเฉพาะภาคใต้ มีช่วงแค่ 15 ปี เอง พอปี 1991-1992 มันเริ่มปรับมาสู่ระบบ การค้าเสรี ทุนนิยมแล้ว เพราะฉะนั้น หมายความว่า ช่วงสะดุดของการพัฒนาการเศรษฐกิจเวียดนาม และเหตุต่างๆที่เค้าเผชิญ แต่ขีดความสามารถค้าขายของคนภาคใต้ก็ยังอยู่  อันนี้เป็นจุดที่ทำให้การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ภาคใต้เค้าสามารถดึงดูดได้มากกว่า

แต่ระยะหลัง เราจะเห็นได้ว่า รัฐบาลเริ่มดึงเงิน ทรัพยากรกรต่างๆ มาพัฒนาด้านเหนือ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จะเห็นว่าดีขึ้น ผมไม่ได้กลับมาเวียดนาม 22 ปี มาถึงมีเทอมินัลใหม่ เพิ่งเปิดใช้เมื่อ 2 ปี มีทางด่วนไปจังหวัดต่างๆ อีกหน่อยถนนเค้าจะไปได้เร็วมาก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาภาครัฐบาลมุ่งหวังจะดึงระดับการพัฒนาให้ขึ้นมาเช่นกัน แต่ด้านการเกษตร ต้องยอมรับว่าได้เปรียบด้านภูมิอากาศ เค้าผลิต อย่างข้าว ก็ได้มากกว่า มะพร้าว ทางใต้ดีมาก บริษัท อร่อยดี มาตั้งโรงงาน คุณภาพกระทิ ที่ออกมาดีมาก