พิราบแรงงานผนึกเครือข่ายสู่ความยั่งยืน

พิราบแรงงานผนึกเครือข่ายสู่ความยั่งยืน

 

พิราบแรงงาน จัดเวทีเสวนา ระดมความเห็น แนวทางการพัฒนาการอบรม พัฒนาเครือข่ายสู่ความยั่งยืน ชี้ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ พี่น้องแรงงาน สามารถนำความรู้ไปเขียนข่าวสะท้อนปัญหาแรงงานได้จริง พร้อมแนะ พัฒนาความรู้เพิ่มเติมการใช้อุปกรณ์สื่อสารให้เท่าทันยุคสมัย รวมทั้งข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารเพิ่มเติม รวมทั้งสร้างตัวแทนแต่ละภาคประสานเครือข่าย เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีประชุมใหญ่ “เครือข่ายพิราบแรงงาน”ประกอบด้วย นักข่าวอาชีพ แกนนำสหภาพแรงงานกว่า 50 คน รวมทั้งตัวแทนสื่อมวลชน นักวิชาการ พร้อมทั้งจัดเวทีเสวนา หัวข้อ”สื่อสุขภาวะ เปลี่ยนประเทศไทย” นอกจากนี้ยังระดมความเห็น เกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการพัฒนาการอบรม การพัฒนาเครือข่ายพิราบแรงงาน

โดย นายหัสนัย โตดี สหภาพแรงงานโรเด้นสต๊อกประเทศไทย เป็นตัวแทนเสนอว่า อยากให้มีการอบรมเทคนิคถ่ายภาพเพิ่มเติม โดยเฉพาะ นำเสนอไฟล์วีดีโอ แบบลงลึก รวมไปถึง การใช้แอพพลิเคชั่น เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก แบบลงลึก ที่เน้นการสื่อสารโดยเฉพาะ ไม่เท่านั้น การทำเพจ พิราบแรงงาน เพื่อนำเสนอข้อมูล ต้องให้ความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานเพิ่มเติมด้วย ที่ผ่านมายังมีความรู้น้อยอยู่ ส่วนการพัฒนาเครือข่าย การสร้างกลุ่มย่อยในพื้นที่ ผ่านทางการสร้างเพจย่อยในพื้นที่ ในการส่งต่อข้อความโดยเฉพาะปัญหาแรงงานเรื่องต่างๆ

นางสาวธนพร นาคโมรา สหภาพแรงงานเอ็นโดประเทศไทย เป็นตัวแทนเสนอว่า แต่ละพื้นที่แต่ละโซน อยากให้พิราบแรงงานแต่ละกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะข้อมูลต่างๆ ในสถานประกอบการ ยกตัวตัวอย่างเช่น การเลิกจ้าง ที่ผ่านมามีการแชร์ข้อมูล ที่ผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง ถึงสาเหตุที่แท้จริงในการเลิกจ้าง ทำให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างเกิดความเสียหาย เมื่อแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ มีการประสานกัน พูดคุยกัน ก็จะได้ข้อเท็จจริง ก่อนที่จะทำการสื่อสารออกไป

นายประทีป โมวพรหมมานุช สหภาพแรงงานสิ่งทอลัคกี้ 3 เป็นตัวแทนเสนอว่า ที่ผ่านมาคนเขียนข่าวข้อมูลไม่แน่น ไม่รู้จะเขียนอะไร รวมทั้งไม่มีใครคอยกระตุ้นในเพจไลน์กลุ่ม โดยเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ อยากให้ มีการอบรมทำกราฟิกเพิ่มเติม บางครั้งการเขียนข่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวอักษร แบบยาวๆ สุดท้าย อยากให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างครู ก. ครู ข และครู ค. ที่อย่างน้อยต้องมี 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง

นายพลวัตร คำหอม สหภาพแรงงานโทรลดีไซด์ เป็นตัวแทนเสนอว่า อยากให้มีการเพิ่มเติม สร้างความมั่น ใจต่อการแสดงออก ทั้งเรื่องของการพูดกับแหล่งข่าว บางครั้งอาจจะใช้คำที่ไม่เหมาะสม รวมทั้ง อยากลงพื้นที่จริง กับนักข่าวมืออาชีพ เพื่อเสริมทักษะความรู้การเขียนข่าว ที่อย่างน้อยควรมีสัก 3 เดือน ต่อ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย และอยากให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยเฉพาะ กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากปัจจุบัน การแชร์ การกดไลค์ ในข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้ผิดข้อกฎหมายได้

ขณะที่ นายสุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า จากปัญหาหลังระดมความเห็นเรื่องการฝึกอบรมพิราบแรงงาน แนวทางในเบื้องต้น ทางสหภาพฯ ได้ให้เครือข่าย ครู ข. และ ครู ค.ไปคิดรูปแบบ การฝึกอบรมในกลุ่มย่อยเพื่อต่อยอด โดยที่ทางสหภาพแรงงานฯ และทางครู ก. ซึ่งเป็นนักข่าวมืออาชีพ จะคอยหนุนเสริมความรู้ ทั้งเรื่องวิชากร การฝึกทักษะ รวมไปถึง บุคลากรที่ให้ความรู้ ต่อไป ทั้งนี้ ผลการดำเนินการเรื่องการฝึกอบรม เป็นไปอย่างน่าพอใจ พิราบแรงงาน ที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถนำไปใช้สื่อสาร และถ่ายทอดไปยังเครือข่ายได้จริง ซึ่งในส่วนของเราถือเป็นการตั้งต้นเครือข่ายที่ดี จากนั้น เป็นหน้าที่ของ ครู ข. และครู ค. ซึ่งเป็นพี่น้องแรงงาน นำไปต่อยอด ขยายเครือข่ายเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ส่วน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน หรือ คปค. กล่าวว่า การจัดอบรมเครือข่ายพิราบแรงงานที่ผ่านมา ถือว่าน่าพอใจ เพราะเนื้อหาในโครงการจัดว่าดี ที่ทำให้ตัวแทนสหภาพแรงงานที่มาอบรม สามารถเรียนรู้กระบวนการทำข่าว จากนักข่าวมืออาชีพ โดยเฉพาะครู ก.ที่สามารถทำให้ ตัวแทนสหภาพแรงงาน ถ่ายทอดกระบวนการเขียนข่าวอย่างถูกวิธี เพื่อส่งสารต่อไปยังสังคม อย่างน้อยๆ พวกเขาเหล่านี้สามารถสื่อสาร ไปยังเพื่อนร่วมอาชีพแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ ภายในสถานประกอบการที่พวกเขาสังกัดอยู่ โดยไม่ต้องอาศัยสื่อหลักเหมือนที่ผ่านมา

ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน หรือ คปค. กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดเครือข่ายพิราบแรงงานที่ยั่งยืน มีอยู่ 3 เรื่องหลักคือ 1.เวลาของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่อาจน้อยไป เนื่องจากมีข้อจำกัด กรณีผู้ร่วมกิจกรรมบางคน บางกลุ่ม โดยเฉพาะ ครู ข.และครู ค.ซึ่งเป็นแรงงาน บางที่ให้มีการทำงานล่วงเวลา ทำให้ขาดความต่อเนื่องไป

2.การใช้เทคโนโลยี เพื่อทำการถ่ายทอดเนื้อหาข่าว โดยเฉพาะสื่อ โซเซียลมีเดีย ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะ ครู ข. ครู ค.ยังไม่มีความชำนาญเท่าที่ควร ซึ่งต่อไป ต้องมีการจัดอบรมให้บ่อยขึ้น เพื่อเสริมทักษะความชำนาญ และ 3.ขาดความต่อเนื่องเกี่ยวกับการประสานเครือข่ายให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบัน มีแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยานยนต์ บางคนต้องออกไปทำธุรกิจ ส่วนตัว หรือ กลับไปทำการเกษตร ทำให้ขาดการติดต่อกันไป ทำให้ขาดความต่อเนื่อง

นายมนัส เสนอในตอนท้ายว่า เพื่อความยั่งยืนของเครือข่ายพิราบแรงงาน ต่อไปจะมีการจัดตั้งตัวแทนของแต่ละโซน เพื่อทำการประสานไปยังกลุ่มย่อยต่างๆ โดยปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 8 โซน เมื่อมีการแต่งตั้งตัวแทนในแต่ละโซนในการประสานกลุ่มย่อยสำเร็จ มั่นใจว่าเครือข่ายพิราบแรงงานเกิดความยั่งยืนอย่างแน่นอน