ส่องมาตรฐาน “สถานบันเทิง”บทเรียน-ล้อมคอก ซานติก้า ถึง เมาท์เทนบี

“สิ่งที่เขียนไว้ในกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย กับคนไปเที่ยว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบ ของคนที่จะกอบโกย ความร่ำรวย จากคนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง”

​เหตุการณ์ไฟไหม้ สถานบันเทิง “Mountain B” ริมถนนสุขุมวิท ปากซอยเขาหมอน ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เวลา 00.45 น. วันที่ 5 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา

สันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย บอกเล่าถึงประสบการณ์ ลงพื้นที่ทำข่าวกรณีเหตุสลดดังกล่าวว่า

​ แสดงให้เห็นว่า บทเรียนที่เราเคยถอด หรือมาตรการต่างๆ ที่รัฐกำหนดขึ้น ในช่วง 13 ปี หลังจากเหตุการณ์ Santika Pub ที่ออกประกาศ ของกระทรวงมหาดไทย ถ้าถูกทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่การขออนุญาต และทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ ความเสียหายหรือความรุนแรง ไม่น่าจะเดินมาถึงจุดนี้ อย่างที่เราเห็นกรณี Mountain B
ซึ่งเปิดแบบเถื่อนตั้งแต่ต้น นานหลายเดือน

​ ส่วนตัวผมมองว่ากฎกระทรวง การขออนุญาต เปิดสถานบันเทิง ดีอยู่แล้วในตัวของกฎหมาย แต่ถ้าจะขออนุญาต ตาม พ.ร.บ. สถานบริการ ก็ต้องทำให้ได้มาตรฐาน คือ 1.ประตูเข้าออก ต้องสอดคล้องกับคนในสถานบริการ ถ้าคนไม่เกิน 50 คน ต้องมีประตูจำนวน 1 แห่ง ถ้ามีคนตั้งแต่ 50 คนถึง 200 คน ต้องมีประตู 2 แห่ง ถ้ามีคนตั้งแต่ 201 คน ถึง 400 คน ต้องมีประตู 3 แห่ง
​ซึ่งผมไม่รู้ว่าความจุคนสูงสุดเท่าไหร่ แต่ประตูของผับแห่งนี้ มี 3 แห่ง ในประตู 3 แห่ง ประตูข้างหลังล็อคไว้ ส่วนประตูด้านข้าง ตำรวจพิสูจน์หลักฐานระบุว่า คล้องกุญแจไว้

หมายความว่าคืนที่เกิดเหตุ มีทางเข้าออกเพียงประตูเดียว ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยแน่นอน

​2.ความกว้างของประตูหลัก สำคัญมาก ต้องรองรับคนออกได้ครึ่งหนึ่ง ของสถานบริการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน กว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ความกว้างของประตูด้านหน้า ซึ่งเป็นประตูหลัก กว้างเพียง 2 เมตร

3.ทางหนีไฟ ถ้าความจุไม่เกิน 500 คน ทางหนีไฟต้องมี 2 แห่ง ถ้าความจุ 501 คนถึง 1,000 คน ทางหนีไฟต้องมี 3 แห่ง แต่ในผับแห่งนี้ มีทางหนีไฟอยู่ด้านขวาเวที 1 แห่ง เพราะมีคนพยายามหนี ออกทางหนีไฟ แต่เปิดประตูไม่ได้ บางคนจึงหนีไปอยู่ในห้องน้ำ และเสียชีวิต

​4. วัสดุที่ใช้ข้างใน รวมถึงพวกฉนวนกันเสียง ต้องเป็นวัสดุทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มันไหม้ลุกลามเร็ว เหมือนเหตุการณ์ Santika Pub

5.ระบบไฟ สายเครื่องเสียง ต้องเดินท่อร้อยเหล็ก

6. ต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

​7.ต้องมีผู้ดูแลระบบความปลอดภัยสถานบริการ 1 คน อายุไม่น้อยกว่า 25 ปี มีประสบการณ์ 5 ปี และ

8.กรณีที่ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ท้องถิ่น ต้องสั่งให้แก้ไขให้ปลอดภัย และถ้าไม่แก้ไข ท้องถิ่นสามารถห้ามใช้สถานที่นั้น จนกว่าจะมีการแก้ไข

“เหมือนเวลาเราขับรถ ถ้าเจอตำรวจตั้งด่าน สิ่งแรกที่เขาถามเรา คือมีใบขับขี่หรือไม่ และอาจจะขอดูเล่มทะเบียนรถด้วย สมมุติเราเป็นเจ้าหน้าที่ เข้าไปตรวจสอบ Pub เพราะมีคนร้องเรียนว่าเสียงดัง สิ่งแรกที่เราต้องดู คือ ใบอนุญาตขอเปิดสถานบริการ ซึ่งบัตรนี้ต้องอยู่ ณ สถานที่ประกอบการนั้นด้วย จะหายไม่ได้ ถ้าหายถือว่ามีโทษปรับ เพราะคุณทำผิดกฎหมาย”

​ถ้าใบอนุญาตหาย คุณต้องไปขอใบแทนทันที ฉะนั้นหลายคนที่สงสัยว่า เปิดได้อย่างไรโดยที่ไม่ขออนุญาต แล้วเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปตรวจ ก็ต้องขอดูใบอนุญาตก่อน ว่าถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าเขาผ่านขั้นตอนนั้นมาได้อย่างไร

​ผมเดินสำรวจดู Mountain B ใหญ่โตมาก กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร มีชาวบ้านอยู่ห่าง ประมาณ 20 เมตรหลายหลัง ร้องเรียนว่าเสียงดัง เดินจากถนนเข้ามา 30 เมตรก็เห็น ลักษณะโครงสร้างและสี โดยสัญชาตญาณ รู้ทันทีว่าไม่ใช่ร้านอาหารเพราะปิดทึบหมด เจ้าหน้าที่เองก็น่าจะรู้มากกว่าเรา เพราะเข้าไปตรวจสอบดูด้วย ขณะที่ฝั่งตรงข้ามถนน เป็นค่ายของทหารเรือ มีพื้นที่ร้านอาหารของเขา บัง Pub อยู่ ​

​ในมุมมองของผม คนที่คิดว่าจะเปิดสถานบริการ คงไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือเกิดเหตุการณ์อะไร บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าขออนุญาตตามกฎกระทรวง ก็ยุ่งยากแม้จะปลอดภัย แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก สู้ไปทำเถื่อนๆ หรือรู้จักใครที่จะมาปกป้องได้ก็จะดีกว่า และถ้าไม่มีปัญหา อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ ก็อยู่ได้เรื่อยๆไม่มีใครทำอะไรได้

​“สิ่งที่เขียนไว้ในกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย กับคนไปเที่ยว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบ ของคนที่จะกอบโกย ความร่ำรวย จากคนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง เพราะคนไปเที่ยวสถานบันเทิง คงไม่ไปตรวจสอบว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ อย่างมากก็ดูว่าทางหนีไฟอยู่ตรงไหน หรือประตูล็อคเปิดได้หรือไม่ น้อยคนที่เข้าไปแล้ว จะไปเดินสำรวจดูทางหนีทีไล่ว่าเป็นอย่างไร”

​ทั้งนี้บทลงโทษ ตามพรบ.สถานบริการฯ ถ้าเปิดสถานบริการไม่ถูกต้อง ถูกโทษปรับ 60,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่หากไปสารภาพกับศาล และสารภาพในชั้นของพนักงานสอบสวน จำคุกลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 6 เดือน ซึ่ง 6 เดือนนี้ อาจจะปรับลงใหม่ก็ได้ บางคนจึงเสี่ยงที่จะเปิด แบบเถื่อนๆมากกว่า

​ จากเหตุการณ์ไฟไหม้ Santika Pub ย่านเอกมัย ในคืนฉลองส่งท้ายปี 2551 ต้อนรับปีใหม่ 2552 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 67 ศพ บาดเจ็บกว่า 200 คน ผมได้ลงพื้นที่ ทำข่าวด้วย ความจริงแล้ว ไม่ควรจะถอดบทเรียนบ่อย เพราะไม่ควรมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เหมือนพยายาม ที่จะมีกฎระเบียบ ถอดบทเรียนตามภาษาข่าวคือ “ล้อมคอก” ถ้าล้อมคอกจริงก็ดี กรณี Mountain B มีการถอดบทเรียนกันอีก ก็ต้องถอดกันไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5