6 องค์กรวิชาชีพสื่อ เล็งออกคู่มือ ‘แนวปฏิบัติทำข่าวชุมนุม’

วันที่ 16 มีนาคม 2566 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูป สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่าในวันนี้ตัวแทนจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมหารือกันทางออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์สื่อมวลชน โดยมีการพูดคุยประเด็นใหญ่ๆ 3 เรื่อง ได้แก่

กรณีสื่อภาคสนามบาดเจ็บในเหตุม็อบ APEC 

สืบเนื่องจากที่ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบกรณีสื่อมวลชนภาคสนาม 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระหว่างเหตุปะทะกับผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC 2022” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 พร้อมกับให้เยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ และสรุปบทเรียนเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก (อ่านเพิ่มเติม: องค์กรสื่อร้อง ‘ผบ.ตร.’ เร่งสอบกรณีนักข่าวเจ็บในเหตุปะทะม็อบ APEC)

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่ได้รับทราบความคืบหน้าเท่าที่ควร ที่ประชุมจึงมีข้อสรุปให้ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้ากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจะได้รับทราบว่าการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว และจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

แนวทางการทำข่าวในสถานการณ์ชุมนุม

ที่ประชุมได้รับทราบว่า ในปัจจุบันองค์กรวิชาชีพยังไม่มีคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทำข่าวในสถานการณ์ชุมนุมโดยเฉพาะ จะมีก็เพียง “แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำข่าวในเหตุการณ์ประเภทภัยพิบัติ การก่อการร้าย การจลาจล ซึ่งอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์บริบทของการชุมนุมสาธารณะ ดังที่เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา 

ตัวแทนองค์กรวิชาชีพได้หารือกันว่า หากจะมีการจัดทำคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติงานของสื่อในสถานการณ์ชุมนุม จะมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่หลายๆฝ่าย เพราะนอกจากช่วยชี้แนะการปฏิบัติตัวของผู้สื่อข่าวภาคสนามเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียในการชุมนุมแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสื่อต้นสังกัด เจ้าหน้าภาครัฐ ผู้ชุมนุม ฯลฯ ตระหนักถึงสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ชุมนุมด้วย ทั้งนี้ หากมีการจัดทำคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติ จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนฝ่ายต่างๆ มาแสดงความคิดเห็นด้วย เพื่อให้เนื้อหาครอบคลุมสมบูรณ์ที่สุด

ที่ประชุมจึงมีข้อสรุปให้ตัวแทนของแต่ละองค์กรวิชาชีพ ปรึกษาหารือกับองค์กรวิชาชีพต้นสังกัดว่า เห็นด้วยกับการจัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าวหรือไม่ และหากจะมีการจัดทำขึ้น ควรจะมีกระบวนการและเนื้อหาอย่างไร เป็นต้น 

อนาคตกระบวนการกำกับดูแลของสื่อมวลชน

จากที่ “ร่าง พรบ.จริยธรรมสื่อ” ไม่ได้เข้าบรรจุวาระของรัฐสภา ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวจึงมีสภาพ “ตก” ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนได้แสดงความเห็นว่า กลไกการกำกับดูแลและส่งเสริมจริยธรรมสื่อ เป็นเรื่องที่สำคัญและควรได้รับการผลักดันต่อไป องค์กรวิชาชีพสื่อสามารถนำเอาข้อคิดเห็นจากการถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก “ร่าง พรบ.จริยธรรมสื่อ” ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มาต่อยอดเพื่อออกแบบกระบวนการกำกับดูแลตนเองของสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญต่อทั้ง “จริยธรรมสื่อ” และ “เสรีภาพสื่อ” ไปพร้อมๆกัน ส่วนจะดำเนินการหรือมีรูปแบบอย่างไรนั้น ต้องมาพูดคุยหารือกันต่อไป

ที่ประชุมได้รับทราบว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจะมีกิจกรรมครบรอบ 26 ปี และจะจัดเสวนาเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วย จึงคาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาความคิดเห็นที่รอบด้านเกี่ยวกับอนาคตกระบวนการกำกับดูแลของสื่อมวลชนได้