วันที่ 21 ธ.ค. 2565 ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ อันประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 คนบาดเจ็บจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565
ในการยื่นหนังสือดังกล่าว ฝั่งผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อประกอบด้วยนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ, นายชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ นส.จามาศ โฆษิตวิชญ อนุกรรมการสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ โดยมีพล.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำหรับเนื้อหาของหนังสือที่ยื่นให้ทางตำรวจประกอบด้วย 3 ข้อเรียกร้อง 1. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. ขอให้มีการเยียวยาสื่อมวลชนผู้ได้รับบาดเจ็บ และ 3. ขอให้ผู้บังคับบัญชากำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ชุมนุมให้ปฏิบัติหน้าที่โดยอยู่ในกรอบและขั้นตอนตามหลักยุทธวิธีที่เหมาะสม
ระหว่างการยื่นหนังสือ ตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันสั้นๆ สรุปความได้ดังนี้
นายธีรนัยกล่าวถึงการมายื่นหนังสือครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นการหาแนวทางให้ทางสื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ ตนหวังว่าจะได้หาวิธีที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติไม่มีต้องมีใครบาดเจ็บกัน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ได้รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดในส่วนใด และถ้าสามารถหาข้อสรุปได้ก็จะเป็นเรื่องดีกับทั้งสององค์กรด้วย
พล.ต.ต.อาชยนกล่าวว่าทาง ผบ.ตร.มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางบริหารจัดการในสถานการณ์ชุมนุมระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมด้วยเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกลาง โดยจะมีการเชิญตัวแทนของสื่อมาร่วมวางแนวทางด้วย ซึ่งต้องดูว่าที่เคยมีการวางแนวทางเอาไว้ยังมีจุดใดที่เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดปัญหา
นายธีรนัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางองค์กรวิชาชีพสื่อเคยเข้าพูดคุยกับทางตำรวจแล้วหลายครั้ง แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ชุมนุมจริงยังคงเจอปัญหาแบบเดิมๆตลอด ในส่วนนี้พล.ต.ต.อาชยนชี้แจงว่า การพูดคุยครั้งต่อไปจะมีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน
ด้านนายธีรนัยกล่าวว่า ตนอยากย้ำว่าการหารือในเรื่องนี้ต้องสมดุลกันระหว่างความปลอดภัยของสื่อมวลชน กับการที่สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ด้วย ซึ่งพล.ต.ต.อาชยนระบุว่า ทางตำรวจก็เข้าใจและตระหนักต่อเรื่องนี้เหมือนกัน
สำหรับข้อเรียกร้องในหนังสือจากทางองค์กรวิชาชีพสื่อ พล.ต.ต.อาชยนกล่าวว่า ทางตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว และหนังสือที่ยื่นมานี้จะส่งไปยังคณะทำงานด้วย ขั้นตอนต่อไป ทางคณะจะทำความเห็นเพื่อสรุปข้อเท็จจริงให้ได้โดยเร็วเพื่อชี้แจงกับผู้ที่ยื่นหนังสือมาและให้ประชาชนรับทราบด้วย
นายธีรนัยสอบถามว่า ทางตำรวจมีกรอบระยะเวลาจะสรุปข้อเท็จจริงได้เมื่อใด พล.ต.ต.อาชยนชี้แจงว่า ความคืบหน้าเป็นไปได้เยอะแล้ว ก็คงใกล้จะมีการสรุปในผลการปฏิบัติเพราะว่าในเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายขั้นตอนหลายช่วงอยู่ ตรงจุดนี้ก็ต้องทำความจริงให้ครบถ้วนไปเลยแล้วก็แจ้งกลับมา
นายธีรนัยถามด้วยว่า ทางตำรวจได้ติดต่อไปยังสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อสอบถาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ พล.ต.ต.อาชยนกล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีการสอบสวนเอาไว้แล้ว แต่ถ้าหากยังมีผู้ใดที่เห็นว่ายังขาดตกอยู่ สามารถประสานมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ตร.ได้
.
.
.
วันที่ 21 ธันวาคม 2565
เรื่อง ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เรียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ด้วยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุด APEC” ได้พยายามเดินขบวนไปยังสถานที่จัดการประชุม APEC ซึ่งต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามจำนวนหนึ่ง ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวจำนวนมากแล้วนั้น
หลังจากเหตุดังกล่าว ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวิดิโอ และคำบอกเล่าของสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ ได้ความว่า มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย:
- ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเดิมเตะซ้ำๆเข้าที่ศีรษะ และมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ช่างภาพจากสำนักข่าว Top News ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่และกระบองฟาด ขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนฟุตบาท ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อยและแว่นสายตาเสียหาย
- ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่ ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนฟุตบาธเช่นกัน ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวบาดเจ็บที่มือ
- ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters ถูกเศษแก้วจากขวดแก้วกระเด็นเข้าที่ใบหน้าขณะกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา ซึ่งวัตถุดังกล่าวลอยมาจากทิศทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างชัดเจน
สื่อมวลชนที่บาดเจ็บในทั้ง 4 กรณี ได้ทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง แสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน และไม่ได้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บยังระบุว่าไม่ได้รับแจ้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและสื่อมวลชนคอยระวังหรือหลบหลีก เมื่อเจ้าหน้าที่จะดำเนินการผลักดัน หรือตอบโต้ผู้ชุมนุม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้:
ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ และชี้แจงผลการสอบสวนให้สาธารณชนได้รับทราบโดยไม่ชักช้า
เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ดังกล่าว
กำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามหลักยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่ปลอดภัยให้แก่สื่อมวลชน การประกาศเตือนอย่างชัดเจนก่อนใช้มาตรการควบคุมฝูงชน การละเว้นพฤติกรรมรุนแรงหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นต้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่น ‘กสม.’ ตรวจสอบตำรวจ กรณีสื่อบาดเจ็บจากเหตุปะทะม็อบ APEC
ฝ่ายสิทธิ์ TJA จี้ตรวจสอบกรณีนักข่าวบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ ‘ม็อบ APEC’
สรุปสถานการณ์ สื่อบาดเจ็บจากเหตุตร.ปะทะ ‘ม็อบ APEC’
ฝ่ายสิทธิ์ TJA เตรียมยื่นหนังสือ ‘ผบ.ตร.’ กรณีสื่อบาดเจ็บในเหตุปะทะ 18 พ.ย.