6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่น ‘กสม.’ ตรวจสอบตำรวจ กรณีสื่อบาดเจ็บจากเหตุปะทะม็อบ APEC 

วันที่ 1 ธ.ค. 2565 ผู้แทนจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าพบ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อยื่นหนังสือให้ กสม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชน

นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบและรับฟังข้อมูลเบื้องต้น ตนได้รับรายงานว่า ลักษณะอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพียงแค่ “ลูกหลง” หรือจังหวะชุลมุน แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนที่มีลักษณะขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น การใช้กระบองฟาดและรุมเตะผู้สื่อข่าว หรือการขว้างขวดแก้วจากแนวตำรวจมายังทิศทางของกลุ่มสื่อมวลชน จนทำให้มีช่างภาพบาดเจ็บบริเวณลูกตา เป็นต้น จึงสุ่มเสี่ยงว่าอาจจะเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

นายธีรนัยกล่าวด้วยว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อปกป้องสิทธิ์ของสื่อมวลชน 4 คนที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุครั้งนี้เท่านั้น แต่เพื่อปกป้องสิทธิ์ของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อทังหมด 

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก สื่อมวลชนภาคสนามทุกคน ทุกสังกัด จะได้สามารถปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างปลอดภัยและปราศจากการคุกคาม” นายธีรนัยกล่าว

นายธีรนัยเสริมว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้ กสม. ตรวจสอบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และจะมีการยื่นหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในกระบวนการของตำรวจอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งในส่วนนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานวันเพื่อนัดพบผบ.ตร. หากได้วันและเวลาที่ชัดเจนแล้ว จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบในลำดับต่อไป

.

วันที่ 1 ธันวาคม 2565

เรื่อง  ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เรียน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ด้วยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุด APEC” ได้พยายามเดินขบวนไปยังสถานที่จัดการประชุม APEC ซึ่งต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามจำนวนหนึ่ง ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวจำนวนมากแล้วนั้น 

หลังจากเหตุดังกล่าว ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวิดิโอ และคำบอกเล่าของสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ ได้ความว่า มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย: 

- ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเดิมเตะซ้ำๆเข้าที่ศีรษะ และมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

- ช่างภาพจากสำนักข่าว Top News ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่และกระบองฟาด ขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนฟุตบาท ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อยและแว่นสายตาเสียหาย 

- ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่ ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนฟุตบาธเช่นกัน ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวบาดเจ็บที่มือ

- ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters ถูกเศษแก้วจากขวดแก้วกระเด็นเข้าที่ใบหน้าขณะกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา ซึ่งวัตถุดังกล่าวลอยมาจากทิศทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างชัดเจน

สื่อมวลชนที่บาดเจ็บในทั้ง 4 กรณี ได้ทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง แสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน และไม่ได้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บยังระบุว่าไม่ได้รับแจ้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและสื่อมวลชนคอยระวังหรือหลบหลีก เมื่อเจ้าหน้าที่จะดำเนินการผลักดัน หรือตอบโต้ผู้ชุมนุม 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ  จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะองค์กรอิสระที่มีพันธกิจผดุงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุดังกล่าว ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และชี้แจงผลการตรวจสอบให้สาธารณชนได้รับทราบตามลำดับ 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

ขอแสดงความนับถือ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝ่ายสิทธิ์ TJA จี้ตรวจสอบกรณีนักข่าวบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ ‘ม็อบ APEC’

สรุปสถานการณ์ สื่อบาดเจ็บจากเหตุตร.ปะทะ ‘ม็อบ APEC’

ฝ่ายสิทธิ์ TJA เตรียมยื่นหนังสือ ‘ผบ.ตร.’ กรณีสื่อบาดเจ็บในเหตุปะทะ 18 พ.ย.