หนังสือถึงรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ขอร้องให้ทุกฝ่ายใช้ “สันติวิธี” และ “การเจรจา” ช่วยกันพาประเทศไทยออกจากวิกฤต
จากกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ๑๖ องค์กร
๑๙ เมษายน ๒๕๕๓
เรียน นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต ๑๖ คน เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต ๖ คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า ๘๐๐ คนนั้น เป็นการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตที่ทำให้ประเทศไทยยิ่งถลำลึกลงไปสู่วิกฤตการณ์ของความรุนแรงและความแตกแยกมากยิ่งขึ้น ก่อนที่ประเทศไทยจะถลำลึกยิ่งไปกว่านี้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนจำนวน ๑๖ องค์กร ดังรายนามข้างท้าย ขอร้องทุกฝ่ายให้ช่วยกันเปลี่ยนเส้นทางของประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าไปสู่หายนะ โดยใช้ “สันติวิธี” และ “การเจรจา” ในการแก้ปัญหาและนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤต โดยขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้
๑. ขอให้การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตในเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนที่ผ่านมาเป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่ายว่า ความรุนแรงไม่ใช่หนทางที่จะพาประเทศไทยออกจากวิกฤตได้ เพราะทำให้ความขัดแย้งแตกแยกยิ่งรุนแรง และทำให้ความสมานฉันท์ของคนในประเทศยิ่งเกิดได้ยากยิ่งขึ้น การใช้กำลังบังคับให้ยุติการชุมนุม หรือผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่นั้น ถ้ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นหมื่นคนขึ้นไปแล้ว ประสบการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกและของประเทศไทยคือ ถึงแม้จะพยายามลงมือโดยไม่ให้มีการสูญเสีย แต่ไม่เคยมีประเทศใดสามารถทำสำเร็จได้โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อเลย แต่กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ลุกลามไปมากขึ้นทั้งสิ้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ที่มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ทราบสังกัดที่แน่ชัดเข้ามาใช้ความรุนแรงด้วยจะยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากยิ่งขึ้น การชุมนุมของ นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องหาทางคลี่คลายแก้ไข แต่ขอให้ไม่ใช้วิธีการรุนแรงและการสลายการชุมนุม เพราะจะเกิดความสูญเสียยิ่งไปกว่าที่ผ่านมา และจะยิ่งทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนถึงขนาดอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองได้ และในด้านของผู้ชุมนุมก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ให้มีอาวุธในที่ชุมนุม
๒. ขอให้ทั้งสองฝ่ายถอยคนละก้าว เพื่อเปลี่ยนเส้นทางที่กำลังพาประเทศไทยมุ่งหน้าไปสู่การแตกหักและความพังพินาศของทุกฝ่าย มาใช้ “สันติวิธี” ในการแก้ปัญหา โดยขอให้รัฐบาลถอยก้าวหนึ่งด้วยการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และ ขอให้คนเสื้อแดงถอยก้าวหนึ่งด้วยการเปลี่ยนที่ชุมนุมจากสี่แยกราชประสงค์เป็นพื้นที่อื่น หรืออย่างน้อยต้องเปิดพื้นที่ให้ห้างร้านต่างๆ ในบริเวณนั้นสามารถทำการได้ตามปกติเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการค้า ซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่มีผู้ประกอบการรายย่อยๆ พนักงาน และคนหาเช้ากินค่ำจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในขณะนี้ และควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การปะทะหรือการสูญเสีย ทุกฝ่ายควรตระหนักว่า “การเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยคือ “การเอาชนะใจประชาชน” ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลัง หรือการบังคับให้คนอื่นต้องปฏิบัติตาม การถอยก้าวหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่จะชนะใจประชาชน และจะเป็นการรุกในทางการเมือง ฝ่ายใดยอมถอยก้าวหนึ่งก่อนจะได้ความชอบธรรมในทางการเมือง และทำให้อีกฝ่ายต้องถอยด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสอีกครั้งในการหาทางออกโดยที่ไม่ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อชีวิต
๓. ขอให้ทุกฝ่ายใช้วิธีการเจรจาและการประนีประนอมกันในการแก้ปัญหา ในการเจรจาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของคนในประเทศควรจบที่การเลือกตั้งครั้งหน้า สิ่งที่แตกต่างกันมีแต่เพียงว่าเราควรมีการเลือกตั้งเมื่อไร สภาผู้แทนราษฎรเหลือเวลาเพียง ๑ ปี ๘ เดือน ถ้าเราเลือกตั้งเร็วขึ้นและยุติปัญหาได้ ก็ควรจะเป็นหนทางที่ประเทศไทยควรเลือกมากกว่าวิถีทางที่มุ่งหน้าไปสู่การแตกหักและความสูญเสีย รัฐบาลยอมที่จะให้มีเลือกตั้งเร็วขึ้นแล้ว คนเสื้อแดงควรที่จะยอมประนีประนอมในเรื่องระยะเวลาด้วย เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และยังมีความเห็นที่หลากหลายที่ทั้งสองฝ่ายควรต้องรับฟัง ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายควรผ่อนเงื่อนไขเข้าหากัน และหากรอบเวลาที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย เพราะประชาธิปไตยนั้นไม่มีใครได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ตามที่ต้องการ พรรคการเมืองต่างๆ ในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรใช้กลไกรัฐสภาและมีการเจรจากันเพื่อช่วยหาทางออกให้กับประเทศด้วย
๔. ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการนำเสนอข้อมูลที่เป็นด้านเดียว เพราะในสถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งข้างของคนในประเทศเช่นนี้ การที่แต่ละฝ่ายต่างให้ข้อมูลด้านเดียวในการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของตนเอง จะยิ่งนำไปสู่ความเกลียดชังและความแตกแยกของคนในประเทศยิ่งขึ้น
๕. ขอให้ทหารอย่าทำรัฐประหารอีก เพราะจะยิ่งทำให้ประเทศไทยยิ่งถลำลึกลงไปในวิกฤตการณ์ยิ่งขึ้น และจะทำให้ประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายช่วยกันประคับประคองและพาเดินหน้ามาจนถึงขณะนี้จะถอยหลังไปหลายสิบปี กองทัพจากที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้กับรัฐบาลจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง และจะถูกต่อต้านจนจะนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อชีวิต ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายจนแก้ไขไม่ได้ยิ่งขึ้น นับจากนี้ไปคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาโดยใช้วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น
ขอให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนแก่สังคมไทยว่า ความรุนแรงและการแตกหักไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหา ประชาธิปไตยคือการอยู่ร่วมกันให้ได้ภายใต้ความแตกต่าง ไม่ใช่การทำลายล้างกันไปข้างหนึ่ง ถ้าสังคมไทยช่วยกันใช้สันติวิธีและวิถีทางประชาธิปไตย เราจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางของประเทศไทยจากที่กำลังเดินไปสู่หายนะ ให้กลับมาสู่เส้นทางที่จะออกจากวิกฤตการณ์โดยไม่เสียเลือดเนื้อได้ ประชาธิปไตยของประเทศไทยได้เดินหน้ามาไกลแล้ว ถ้าเราอดทนเราจะผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ ดังเช่นที่ประเทศต่างๆ ที่มีประชาธิปไตยที่มั่นคงล้วนแต่ต้องผ่านช่วงเวลาเช่นนี้ไปทั้งสิ้น และถ้าเราผ่านไปได้ คือชัยชนะของประเทศ ซึ่งเป็นชัยชนะของทุกฝ่ายและของเราทุกคน
รายนามองค์กร เครือข่ายที่ร่วมลงนาม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
ศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.)
เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง
เครือข่ายสันติวิธี
กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง
กลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง
เครือข่ายจิตอาสา
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕
เครือข่ายพุทธิกา
กลุ่มนักศึกษาใส่ใจไทย
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)
กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี
ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มูลนิธิชุมชนไท