กรณีสอบอีเมลการเมืองโยงสื่อรับเงินต้องแจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้สิทธิ์คัดค้านก่อนนัดพิจารณาเดือนหน้า

รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แจงขั้นตอนปฏิบัติ
กรณีสอบอีเมลการเมืองโยงสื่อรับเงิน
ต้องแจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้สิทธิ์คัดค้านก่อนนัดพิจารณาเดือนหน้า

สภาการหนังสือพิมพ์  -  นายสุนทร  จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ทำหน้าที่แทนประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  เปิดเผยกรณีข่าวสรุปข้อเท็จจริงกรณีการส่ง     อีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ ที่สภาการหนังสือพิมพ์ตั้งขึ้นว่า  หลังจากรับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว  ที่ประชุมสภาการฯ มีความเห็นให้ดำเนินการตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ข้อ 22  กำหนดว่าหลังจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ รายงานผลการศึกษาแล้ว  จะต้องแจ้งให้กับต้นสังกัดทั้ง 5 ฉบับ  และผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 รายรับทราบภายใน 30 วัน  ซึ่งผู้ที่ถูกพาดพิงยังมีสิทธิ์ยื่นคำคัดค้าน ภายใน 20 วัน หากเห็นว่ายังมีพยานหลักฐานและเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้รับการพิจารณา   โดยหากมีการร้องคัดค้านดังกล่าว  สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการรับอุทธรณ์ เพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม  ก่อนที่จะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต่อไป

“สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่า ผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่  เพียงแต่ได้ดำเนินการขั้นตอนตามธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ  ตามที่ชี้แจงมาข้างต้นเท่านั้น  และจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปในการประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯครั้งหน้าคือ วันที่ 13 ก.ย.”  รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวสรุป

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

17 สิงหาคม 2554

//////////////////////////////////////////////////////////

รายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

1. ความเป็นมา

ตามที่มีการเสนอข่าวอีเมล 2 ฉบับ ที่ใช้หัวข้อว่า “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” ส่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 และ “ข้อเสนอ วิม‏” ส่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เผยแพร่ในเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งพาดหัวว่า “กุนซือ ‘ปู’ ซื้อสื่อที่ละ 2 หมื่น” (เอกสารแนบ 1)   โดยเนื้อหาข่าวพาดพิงถึงการทำหน้าที่ของสื่อหนังสือพิมพ์หลายสังกัด ที่เป็นองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินั้น   ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมตามข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  ดังต่อไปนี้

1. นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

2. นางบัญญัติ ทัศนียะเวช

3. รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์

4. ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ

5. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

2. วิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2554 และมีมติเลือก นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ

คณะอนุกรรมการฯ ตระหนักดีว่า เรื่องที่อยู่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ มีความอ่อนไหว และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง โดยบางครั้งสื่อมวลชนเองก็กลายส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าว จึงพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและตรงไปตรงมาในกรอบเวลาที่จำกัด โดยใช้หลายแนวทางดังต่อไปนี้ประกอบกัน

  1. เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อถูกพาดพิงตามข่าว และผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์  ซึ่งเผยแพร่ข่าวดังกล่าวต่อสาธารณะเป็นรายแรกมาให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการฯ
  2. ขอความร่วมมือไปยังทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อ ให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
  3. ขอทราบผลการตรวจสอบภายในของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดประเด็นในการตรวจสอบดังต่อไปนี้

  1. อีเมลที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร
  2. หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างไรในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฏในอีเมลหรือไม่
  3. มีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมลจริงหรือไม่

 

จากการที่คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าวจำนวน 7 คนและผู้แทนของเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ มาให้ข้อมูลตามเอกสารแนบ 2 นั้น  ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จำนวน 5 คนดังมีรายชื่อดังต่อไปนี้ ได้ให้ความร่วมมือในการมาให้ข้อมูล (ชื่อในวงเล็บคือชื่อที่ถูกพาดพิงในอีเมล)

  1. นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล (“คุณโจ้”) บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น
  2. นายปรีชา สะอาดสอน (“ปรีชา”) บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวเนชั่น
  3. นายสมหมาย ยาน้อย (“พี่ป๊อป สมหมาย”) หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
  4. นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ (“พี่โมทย์”) หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
  5. นายนิรันดร์ เยาวภาว ผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้ถูกพาดพิงจำนวน 3 คนในเครือบริษัทมติชนคือ นายจรัญ พงษ์จีน (“พี่จรัญ”)  นายทวีศักดิ์ บุตรตัน (“พี่เปี๊ยก”) และนายชลิต กิติญาณทรัพย์ (“พี่ชลิต”) ไม่ได้มาให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการฯ  โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด (ดูเอกสารแนบ 3)  ส่วนหนังสือพิมพ์ข่าวสด ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดชื่อ “ชลิต” ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด และข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง (ดูเอกสารแนบ 4)  ในภายหลัง คณะอนุกรรมการฯ ทราบว่า นาย ชลิต กิติญาณทรัพย์ เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ข่าวสด   จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอทราบข้อมูลการตรวจสอบจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนอีกครั้ง พร้อมกับเชิญให้นายจรัญ พงษ์จีน  นายทวีศักดิ์ บุตรตันและนายชลิต กิติญาณทรัพย์มาให้ข้อเท็จจริง (ดูเอกสารแนบ 5) แต่ก็ได้รับการตอบกลับจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนว่า บุคลากรของกองบรรณาธิการไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีเมลดังกล่าวและไม่มีพฤติกรรมตามที่ปรากฏในอีเมลแต่อย่างใด  และเห็นว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงที่จะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอง (ดูเอกสารแนบ 6)  ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่เชิญมาให้ข้อเท็จจริงโดยตรงทั้งสามคนนั้น ก็ไม่ได้มาให้ข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการฯ และไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงตอบกลับมาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เชิญนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย มาให้ข้อมูลด้วย  ซึ่งนายวิม ก็ได้ตอบรับที่จะมาให้ข้อมูลในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554  แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวิมก็ได้แจ้งยกเลิกการมาให้ข้อมูล โดยอ้างว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มา เนื่องจากเกรงว่าผลการตรวจสอบอาจส่งกระทบในด้านลบต่อพรรคและจะขอให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน   อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ก็ได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นบางประการจากนายวิมทางโทรศัพท์ในวันดังกล่าว ดังปรากฏในเอกสารแนบที่ 7 ต่อมาเมื่อ กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง  คณะอนุกรรมการฯ ก็ได้ติดต่อไปอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้นายวิมมาให้ข้อเท็จจริง แต่นายวิมก็ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มาข้อเท็จจริง เนื่องจากได้เกิดการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวไปยัง กกต. แล้ว

3. ข้อค้นพบ

3.1 ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการให้ข้อมูลของผู้เกี่ยวข้อง

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าอีเมลดังกล่าวน่าจะส่งมาโดยใช้บัญชี (account) และรหัสผ่าน (password) ของนายวิม จริง    เนื่องจากในการสัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังเป็นข่าว นายวิมไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่อ้างว่าเป็นบัญชีที่เปิดไว้เป็นอีเมลสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนเข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรค (ดูเอกสารแนบ 8)    ทั้งนี้การให้สัมภาษณ์ของนายวิมที่ว่า อีเมลดังกล่าวเป็นอีเมลสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนเข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรคนั้น ก็ขัดแย้งอย่างแจ้งชัดกับคำกล่าวอ้างของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ว่ามีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ได้ขโมยรหัสลับในการเข้าสู่อีเมล (ดูเอกสารแนบ 9) เนื่องจากหากอีเมลดังกล่าวเป็นบัญชีสาธารณะจริงแล้ว ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขโมยรหัสลับในการเข้าไปใช้แต่อย่างใด   จึงเห็นได้ว่า ทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน น่าจะได้ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงต่อสาธารณะ

เชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเอง ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังต่อไปนี้     ประการที่หนึ่ง เนื้อหาในอีเมลส่วนใหญ่มีความเป็นเหตุผลและตรงกับข้อเท็จจริงที่บุคคลในตำแหน่งของนายวิมน่าจะรับรู้ เช่น เนื้อหาของอีเมลฉบับแรกที่ใช้หัวข้อ “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” นั้นเริ่มจากสถานการณ์การเมืองทั่วๆ ไป ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงในขณะนั้น  ทั้งนี้ เนื้อหาหลายส่วนน่าจะเป็นเรื่องที่นายวิมหรือทีมงานเท่านั้น ที่อยู่ในฐานะล่วงรู้ข้อมูลได้ เช่น เรื่อง “คุณโจ้และปรีชา ที่มาสัมภาษณ์ ที่บ้าน [ท่านพงษ์ศักดิ์] เมื่อสัปดาห์ก่อน” หรือเรื่องที่ว่า “นักข่าวต่างประเทศหลายสำนักขอสัมภาษณ์ท่านนายกฯ ทักษิณ เช่น อาซาฮี ยูมิอูริ เอพี และ ไทยพีบีเอส พร้อมที่จะสัมภาษณ์ แต่ก็รอคำตอบจากท่านอยู่”

นอกจากนี้ บทบาทของนายวิมตามอีเมลดังกล่าวที่ช่วยแจ้งประเด็น เช็คประเด็นจากสื่อมวลชน สร้างประเด็นหรือภาพกิจกรรม ประสานสื่อมวลชน ตลอดจนเตรียมประเด็นแถลงข่าวให้ผู้บริหารของพรรค ก็น่าจะสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของนายวิมในฐานะรองโฆษกพรรค และตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ในอีเมลฉบับที่ 2 ของนายวิม ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 มีเนื้อหาว่า “ผมจะให้คุณปูพูด [เรื่องนโยบายกีฬา] ของพรรค ในวันพรุ่งนี้”  ก็ปรากฏว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แถลงนโยบายกีฬาของพรรคในวันที่ 25 มิถุนายน 2554 จริง ดังปรากฏเป็นข่าวในวันที่ 26 มิถุนายน 2554

ประการที่สอง ภาษาที่ใช้ในอีเมลทั้งสองฉบับกลมกลืนกันเหมือนเขียนด้วยคนเดียว วิธีเรียกชื่อสื่อมวลชนในอีเมลดังกล่าว เช่น พี่จรัญ พี่ชลิต พี่ป๊อป สมหมาย คุณโจ้ และปรีชา ก็สอดคล้องกับวิธีที่นายวิมใช้เรียกบุคคลเหล่านั้นในการให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ทางโทรศัพท์

ประการที่สาม ข้ออ้างของนายวิม ที่กล่าวว่า อีเมลดังกล่าวได้เปิดไว้เพื่อให้ใช้โดยสาธารณะสำหรับสื่อมวลชน และผู้สื่อข่าว เข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรค  ไม่น่าจะสมเหตุสมผล เนื่องจากผิดปรกติวิสัยในการใช้อีเมลของคนทั่วไป เพราะหากจะเปิดอีเมลไว้ใช้เป็นสาธารณะ ก็น่าจะใช้ชื่อบัญชีกลางๆ ไม่ใช่ชื่อบัญชีของตน     นอกจากนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการฯ ขอรหัสผ่านของอีเมลดังกล่าว ก็ปรากฏว่า นายวิมไม่ได้ให้  ทั้งๆ ที่จากคำพูดของนายวิม ซึ่งเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ เขาได้ให้รหัสผ่านแก่สื่อมวลชนจำนวนมาก  การสอบถามนักข่าวที่ทำข่าวประจำพรรคเพื่อไทยของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ยังยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยได้จัดคอมพิวเตอร์ในการใช้งานอย่างเป็นระบบ การจะเข้าไปใช้ต้องมีการ์ด และนักข่าวไม่สามารถใช้อีเมลของนายวิมได้ตามที่กล่าวอ้าง

ประการที่สี่ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงหลายคนที่มาให้ถ้อยคำเชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง โดยจำนวนนี้บางรายได้โทรศัพท์ไปหานายวิมและนายวิมได้กล่าวคำขอโทษ โดยจากคำขอโทษดังกล่าวทำให้บุคคลนั้นเชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง

ประการสุดท้าย ในการสนทนากับคณะอนุกรรมการฯ  ในทางโทรศัพท์  นายวิมกล่าวว่า “ไม่แน่ใจ แต่ทางพรรคน่าจะลบ [อีเมลดังกล่าว] หรือไม่ก็บล็อก [บัญชีอีเมล] ไปแล้ว”   ทั้งที่ไม่ควรมีเหตุผลต้องลบเพื่อทำลายหลักฐานดังกล่าวเนื่องจากนายวิมเองก็เคยกล่าวว่า  “ทีมกฎหมาย [ของพรรคเพื่อไทย] จะต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากเรื่องนี้”  นอกจากนี้ เนื่องจากบัญชีอีเมลดังกล่าวเป็นของนายวิมเอง ซึ่งต้องใช้เป็นประจำ จึงต้องสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าได้มีการลบหรือบล็อกไปแล้วหรือไม่ โดยไม่ต้องคาดเดา   การกล่าวถ้อยคำดังกล่าวของนายวิม จึงอาจเกี่ยวข้องกับความพยายามในการปกปิดข้อมูลบางประการ

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบให้เรื่องดังกล่าวเกิดความกระจ่างโดยปราศจากข้อสงสัยได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะแสวงหาพยานหลักฐานและไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่ถูกพาดพิงบางราย   การจะได้ความกระจ่างในเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายในการแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ  ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่มีการฟ้องร้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลตามที่ผู้ถูกพาดพิงบางคนกล่าวว่าอาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทต่อผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย

ส่วนการตรวจสอบที่มาของอีเมลดังกล่าว  นายนิรันดร์ เยาวภาว ผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ให้การว่า ได้รับอีเมลดังกล่าวส่งมายัง mgr_politics@yahoo.com ซึ่งเป็นอีเมลกลางในการรับข่าวของโต๊ะข่าวการเมือง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 โดยทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ได้มีการหารือกันเห็นว่า เนื้อหาของอีเมลดังกล่าวมีความน่าสนใจ สมควรที่จะนำเสนอเผยแพร่ให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบ  อย่างไรก็ตาม นอกจากการประเมินว่าข่าวมีความน่าสนใจแล้ว คณะอนุกรรมการฯ พบว่า ทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์แทบไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวดังกล่าวเลย เช่น ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีอีเมลของผู้รับว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นบัญชีของใคร ไม่ได้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในอีเมล โดยอ้างว่า หากสอบถามไป บุคคลที่ถูกพาดพิงก็อาจจะปฏิเสธได้ เพราะในเนื้อข่าวก็ยังไม่แน่ชัดว่าคนที่ถูกกล่าวถึงถูกพาดพิงถึงนั้นเป็นใคร และไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ที่ส่งข่าวมาให้เป็นใคร เป็นต้น

3.2 ผลการศึกษาการวิเคราะห์เนื้อหาข่าวและบทความที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกพาดพิงในอีเมล

 

คณะอนุกรรมการฯ โดยการสนับสนุนของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อ ได้สำรวจและวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่ถูกพาดพิงเป็นข่าวคือ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน–3 กรกฎาคม 2554 โดยศึกษาเนื้อหาใน 5 ส่วนต่อไปนี้  (ดูรายละเอียดดูในเอกสารแนบ 10)

  1. ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ
  2. พาดหัวข่าว/ความนำ ประเด็นข่าวและการเรียงลำดับประเด็นข่าว
  3. บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว
  4. คอลัมน์การเมือง และ
  5. โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ โดยในกรณีของการลงโฆษณาจะศึกษาหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจด้วย

การศึกษาดังกล่าวให้ข้อค้นพบดังต่อไปนี้

1. ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ: พบว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส. ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะข่าวสดและมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อน.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมาก (ดูตารางที่ 1 ประกอบ)  นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และข่าวสด มีความคล้ายกันมาก  โดยภาพข่าวในหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และ คมชัดลึก    นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพข่าวทั้งหมดของน.ส. ยิ่งลักษณ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของนายอภิสิทธิ์ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก

 

ตารางที่ 1 สรุปการนำเสนอภาพข่าวเลือกตั้งเปรียบเทียบยิ่งลักษณ์/เพื่อไทย และ อภิสิทธิ์/ปชป. ในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ (1 มิถุนายน–3 กรกฎาคม 2554)

หนังสือพิมพ์

(จำนวนภาพ)

ตำแหน่งภาพในหน้าหนังสือพิมพ์

ขนาดภาพ

(กรณีที่มีภาพทั้ง 2 ฝ่ายลงในวันเดียวกัน)

ทิศทางของภาพข่าวต่อนักการเมือง/พรรคการเมือง

(a) ประเด็น/เนื้อหา/ภาพข่าว เชิงบวก คือ ข่าวที่มีเนื้อหา/เหตุการณ์ ที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ ศรัทธา ภาพลักษณ์ดีต่อนักการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้นๆ เป็นประเด็นข่าวเชิงสร้างสรรค์ สื่อสารกับสาธารณะในเชิงบวกต่อฐานเสียง คะแนนนิยมของพรรคการเมือง/นักการเมือง

(b) ประเด็น/เนื้อหา/ภาพข่าว เชิงลบ คือ ข่าวที่มีเนื้อหา/เหตุการณ์ ที่ส่งผลต่อการทำลายความน่าเชื่อถือ ศรัทธา ภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เป็นลบ มีข้อครหา หรือตำหนิ ความขัดแย้ง ต่อนักการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้นๆ

บน

ล่าง

กลาง

บวก

+

ลบ

-

ลักษณะภาพ

คำบรรยายภาพ

ซ้าย

ขวา

ซ้าย

ขวา

1. ข่าวสด

ยิ่งลักษณ์ (31 ภาพ)

14

7

5

4

1

ภาพยิ่งลักษณ์ใหญ่กว่า 14 วันภาพอภิสิทธิ์ใหญ่กว่า 4 วัน และเท่ากัน 10 วัน

31

0

เน้นภาพการลงพื้นที่หาเสียง กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นภาพข่าวเชิงบวก/มีมวลชนสนับสนุนห้อมล้อม โอบกอด เป็นที่รักใคร่และชื่นชม และมีภาพอิริยาบถส่วนตัวกับครอบครัว และทำบุญ วันเกิด

เขียนบรรยายเชิงบวก และให้รายละเอียดนโยบายประกอบ และเน้นบรรยายการต้อนรับอย่างอบอุ่น คับคั่งและชื่นมื่น

อภิสิทธิ์ (31ภาพ)

4

5

10

4

8

7

24

เน้นภาพพื้นที่การลงพื้นที่หาเสียง ที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาชูป้ายต่อต้าน เป็นภาพข่าวเชิงลบ/ขัดแย้ง

ใช้คำเชิงลบ/เปรียบเทียบ เน้นภาพคนเสื้อแดงมาต่อต้าน

นปช. (3 ภาพ)

1

2

 

 

 

 

 

ภาพข่าวการชุมนุม ต่อต้านต่ออภิสิทธิ์

 

2. มติชน

ยิ่งลักษณ์ (33 ภาพ)

6

12

3

5

7

ภาพยิ่งลักษณ์ใหญ่กว่า 11 วันภาพอภิสิทธิ์ใหญ่กว่า 7 วัน และเท่ากัน 15 วัน

33

0

เน้นภาพการลงพื้นที่หาเสียง กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นภาพข่าวเชิงบวก/สนับสนุน /มีมวลชนสนับสนุนห้อมล้อม เป็นที่รักใคร่ และชื่นชม การสัมผัสใกล้ชิด ติดดิน เข้าถึงได้ เป็นกันเอง กับประชาชน และมีภาพอิริยาบถส่วนตัวกับครอบครัว และทำบุญตักบาตร วันเกิด องค์ประกอบภาพดูเรียบร้อย ไม่มีสิ่งขัดสายตา

ใช้คำบรรยายภาพแบบบอกเหตุการณ์ที่กำลังทำในภาพ และมีวรรคสนับสนุนว่า ประชาชนมาต้อนรับอย่างอบอุ่น ล้นหลาม คับคั่ง และมาให้กำลังใจ

อภิสิทธิ์ (33 ภาพ)

13

8

6

4

2

25

8

ภาพพื้นที่การลงพื้นที่หาเสียงเป็นภาพเชิงบวก ส่วนภาพกลุ่มคนเสื้อแดงมาชูป้ายต่อต้านเป็นภาพข่าวเชิงลบ/ขัดแย้ง หรือเสนอภาพในอากัปกริยา เหนื่อยล้า องค์ประกอบภาพดูรกสายตา หรือมีสิ่งอื่นมาขวางสายตา

ใช้คำบรรยายภาพแบบบอกเหตุการณ์ที่กำลังทำในภาพ ไม่มีวรรคท้ายบอกบรรยากาศของการหาเสียง

นปช. (1 ภาพ)

 

 

 

1

 

 

 

ภาพข่าวการชุมนุม

 

3. ไทยรัฐ

ยิ่งลักษณ์ (27 ภาพ)

9

4

6

4

4

ภาพยิ่งลักษณ์ใหญ่กว่า 6 วัน ภาพอภิสิทธิ์ใหญ่กว่า 5 วันและเท่ากัน 12 วัน

27

0

เน้นภาพการลงพื้นที่หาเสียง กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นภาพข่าวเชิงบวก/สนับสนุน /มีมวลชนสนับสนุนห้อมล้อม เป็นที่รักใคร่ และชื่นชม การสัมผัสใกล้ชิด ติดดิน เข้าถึงได้ เป็นกันเอง กับประชาชน และมีภาพอิริยาบถส่วนตัวกับครอบครัว และทำบุญตักบาตร วันเกิด และภาพข่าวมุมกล้องมีความโดดเด่นในการเน้นตัวบุคคล มีเรื่องราวและองค์ประกอบภาพมีความโดดเด่น

ใช้คำบรรยายภาพแบบบอกเหตุการณ์ที่กำลังทำในภาพ และมีวลีอธิบายว่า ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และประชาชนมารับฟังอย่างคับคั่ง ล้นหลาม

อภิสิทธิ์ (26 ภาพ)

7

9

2

4

4

18

8

ภาพการลงพื้นที่หาเสียง ที่ได้รับการสนับสนุน แต่บรรยากาศภาพ ดูห่างเหิน และมีระยะห่างระหว่างอภิสิทธิ์กับประชาชน

ใช้คำบรรยายภาพแบบบอกเหตุการณ์ที่กำลังทำในภาพ ไม่มีวรรคท้ายบอกบรรยากาศเชิงบวก

นปช. (0 ภาพ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

4. เดลินิวส์

ยิ่งลักษณ์ (25 ภาพ)

6

9

3

7

0

ภาพยิ่งลักษณ์ใหญ่กว่า 1 วัน ภาพอภิสิทธิ์ใหญ่กว่า 2 วัน และเท่ากัน 21 วัน

25

0

เน้นภาพการลงพื้นที่หาเสียง กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นภาพข่าวเชิงบวก/สนับสนุน /มีมวลชนสนับสนุนห้อมล้อม เป็นที่รักใคร่ และชื่นชม การสัมผัสใกล้ชิด ติดดิน เข้าถึงได้ เป็นกันเอง กับประชาชน และมีภาพอิริยาบถส่วนตัวกับครอบครัว และทำบุญตักบาตรวันเกิด ภาพที่แสดงการอยู่ท่ามกลางประชาชนที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น

ใช้คำบรรยายภาพแบบบอกเหตุการณ์ที่กำลังทำในภาพ และมีวรรคต่อท้ายว่าได้รับการสนับสนุน หรือสร้างบรรยากาศชื่นมื่น ฮือฮา เรียกเสียงกรี๊ด การอยู่ท่ามกลางการต้อนรับของประชาชนที่มาห้อมล้อมอย่างคับคั่งและให้กำลังใจ

อภิสิทธิ์ (29 ภาพ)

13

9

2

3

1

24

5

ภาพการลงพื้นที่หาเสียง ที่ได้รับการสนับสนุน แต่บรรยากาศภาพ ฉากหลัง ผู้คนห้อมล้อมมักเป็นคนในพรรค และประชาชนที่มาฟังปราศรัย

ใช้คำบรรยายภาพแบบบอกเหตุการณ์ที่กำลังทำในภาพปกติ ไม่มีวรรคขยายความบรรยากาศเชิงบวก แต่เขียนบรรยายบรรยากาศว่ามีความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัย

นปช. (1 ภาพ)

 

 

 

1

1

 

 

 

 

5. คมชัดลึก

ยิ่งลักษณ์ (10 ภาพ)

1

5

3

0

1

ภาพยิ่งลักษณ์ใหญ่กว่า 0 วัน ภาพอภิสิทธิ์ใหญ่กว่า 3 วัน และเท่ากัน 5 วัน

10

0

นำเสนอภาพเหตุการณ์หาเสียงทั่วไป และหากลงภาพยิ่งลักษณ์ ก็มักไม่ลงภาพอภิสิทธิ์

บรรยายเหตุการณ์ทั่วไป ไม่มีคำขยายบรรยากาศ

อภิสิทธิ์ (11 ภาพ)

4

3

0

2

2

10

1

นำเสนอภาพเหตุการณ์หาเสียงทั่วไป และหากลงภาพอภิสิทธิ์ ก็มักไม่ลงภาพยิ่งลักษณ์

ลงภาพคู่ด้วยกันราว 5 วันเท่านั้น

บรรยายเหตุการณ์ทั่วไป ไม่มีคำขยายบรรยากาศ

นปช. (1 ภาพ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

(a) ประเด็น/เนื้อหา/ภาพข่าว เชิงบวก คือ ข่าวที่มีเนื้อหา/เหตุการณ์ ที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ ศรัทธา ภาพลักษณ์ดีต่อนักการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้นๆ เป็นประเด็นข่าวเชิงสร้างสรรค์ สื่อสารกับสาธารณะในเชิงบวกต่อฐานเสียง คะแนนนิยมของพรรคการเมือง/นักการเมือง เช่น

(a1) ข่าวบรรยากาศการลงพื้นที่หาเสียงที่มีประชาชนมาสนับสนุน ให้กำลังใจ ฟังการปราศรัย การมอบดอกไม้ เข้ามาทักทาย รับไหว้ ยิ้มให้ ทักทาย ภายใต้บรรยากาศความเป็นมิตร เป็นกันเอง ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างสนับสนุนกัน

(a2) เนื้อหาที่พูดถึงนโยบายพรรคการเมืองในทางสนับสนุน การปราศรัย หาเสียง ความนิยมชมชอบ สนับสนุนนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง/นักการเมืองนั้นๆ

(a3) เนื้อหาข่าวการพบปะ/หารือพูดคุย ประชุมกับข้าราชการ นักการทูตต่างประเทศ นักธุรกิจ ประชาสังคมในลักษณะที่เป็นมิตร แสดงความยอมรับนับถือและประสานประโยชน์

(a4) การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน/ราชวงศ์ หรือแสดงความเคารพบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของสังคม

(a5) การเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ช่วยเหลือคนยากไร้ทางสังคม หรือ พบปะผู้นำชุมชน ตรวจเยี่ยมประชาชน ที่เป็นไปในลักษณะสร้างภาพลักษณ์ต่อพรรคหรือนักการเมือง หรือ ประเด็นข่าวที่สร้างภาพความนิยม ความเก่ง ดี มีคุณค่า ในเรื่องวิสัยทัศน์ ความสามารถ การเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ การสร้างความสุข สมานฉันท์ ปรองดองต่อประเทศ

(a6) เนื้อหาที่แสดงถึงบุคลิกลักษณะส่วนตัวของนักการเมือง ที่ ดูเป็นมิตร รักครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในกิจวัตรประจำวันปกติอย่างมีความสุข หรือ กิจกรรมพิเศษเช่น การทำบุญ ตักบาตร เนื่องในวันเกิด หรือวันครบรอบเหตุการณ์พิเศษ

(a7) เนื้อหาที่แสดงถึงภาพความสำเร็จของประสบการณ์การทำงานในอดีต ผลงาน ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือระดับการศึกษา รางวัลที่เคยได้รับจากการทำงาน

(b) ประเด็น/เนื้อหา/ภาพข่าว เชิงลบ คือ ข่าวที่มีเนื้อหา/เหตุการณ์ ที่ส่งผลต่อการทำลายความน่าเชื่อถือ ศรัทธา ภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เป็นลบ มีข้อครหา หรือตำหนิ ความขัดแย้ง ต่อนักการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้นๆ เป็นประเด็นข่าวเชิงสร้างสรรค์ สื่อสารกับสาธารณะในเชิงบวกต่อฐานเสียง คะแนนนิยมของพรรคการเมือง/นักการเมือง เช่น

(b1) ข่าวบรรยากาศการลงพื้นที่หาเสียงที่มีประชาชนมาคัดค้าน รบกวน หรือโต้เถียงท้าทาย หรือประชดประชัน  การมอบดอกไม้ที่เข้าลักษณะเยาะเย้ยหรือแสดงท่าทีที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ถากถาง ภายใต้บรรยากาศความเป็นอริ ศัตรู ต่อต้าน ห่างเหิน มึนตึง ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างขัดแย้ง ตรงกันข้าม

(b2) เนื้อหาที่พูดถึงนโยบายพรรคการเมืองในทางวิพากษ์ วิจารณ์ ตำหนิ หรือแสดงอคติต่อการปราศรัย หาเสียง การพูดโกหก หรือหลอกลวง การต่อต้านนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง/นักการเมืองนั้นๆ อย่างไม่เป็นธรรม

(b3) เนื้อหาข่าวการพบปะ/หารือพูดคุย ประชุม กับข้าราชการ นักการทูตต่างประเทศ นักธุรกิจ นักประชาสังคม ในลักษณะที่ล้มเหลว ขัดแย้ง ประสบปัญหา

(b4) การถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน/ราชวงศ์ หรือไม่เคารพบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของสังคม

(b5) การเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ช่วยเหลือคนยากไร้ทางสังคม หรือ พบปะผู้นำชุมชน ตรวจเยี่ยมประชาชน ที่เป็นไปในลักษณะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ ไม่เข้าใจปัญหา ไม่ได้รับความนิยม ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความสามารถ การเป็นพรรคที่ไม่มีอุดมการณ์ ทำประโยชน์ต่อพวกพ้อง และ ผลประโยชน์ส่วนตัว

(b6) เนื้อหาที่แสดงถึงบุคลิกลักษณะส่วนตัวของนักการเมือง ที่ดูไม่สนใจครอบครัว เที่ยวเตร่ เกเร มีข้อวิวาท หรือคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล หรือกิจกรรมส่วนตัวอื่นๆ ที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวนักการเมืองในแง่ความรับผิดชอบ หรือแสดงนิสัยใจคอว่าเป็นคนไม่ดี หรือเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเสื่อมทราม

(b7) เนื้อหาที่แสดงถึงภาพความล้มเหลวของประสบการณ์การทำงานในอดีต การถูกกล่าวหาในการทำงาน ข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่นที่ยังไม่พิสูจน์หรือยังไม่สิ้นสุด ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือเรื่องส่วนตัวอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาหรือวิพากษ์ในแง่ลบ

 

 

2. พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง: ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส. ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับมักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็นข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุน น.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด เช่น มีการพาดหัวข่าวดังตารางที่ 2 ต่อไปนี้

ตารางที่ 2 ตัวอย่างการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวสด

กรณีนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์

กรณี น.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย

  • 'ปากมาร์ค' ย้อนเติ้ง ไม่พอใจแค่ไม่ไปบึงฉวาก (1 มิ.ย.54)
  • 'ดีแต่พูด' อีก! หนุ่มออฟฟิศชูใส่มาร์ค (11 มิ.ย.54)
  • มาร์คยัวะ! ตอกคนชูป้าย 'ดีแต่พูด' พูดสวนเสื้อแดงที่ดักรอกลางตลาดกระทุ่มแบนสงสัยไม่มีลูก-ไร้พ่อแม่เลยไม่รู้รบ.ให้อะไรมั่ง (13 มิ.ย. 53)
  • พท.เย้ยปชป.ตีแม้ว-ไร้นโยบาย       ปูควงน้องไปค์หาเสียง  จับอีกซีดีป้ายสีเพื่อไทย  แฟนคลับรุมทึ้ง ‘มาร์ค’ โดนรปภ.ผลักกระเด็น! (27 มิ.ย. 54)
  • 'ปู' อ้อนประยุทธ์ขอชี้แนะ ‘มาร์ค’ เจอป้าย 91 ศพกลางตลาดกรุง ‘ยิ่งลักษณ์’สวน! คดีหุ้นจบไปแล้ว  (5 มิ.ย. 54)
  • 'ปู' สู้ปากมาร์ค-เทือก จะอดทน  พท.โต้-กุบันได 4 ขั้นชี้ปชป.สร้างเรื่องป้ายสี ‘สุเทพ’ ย้ำอีก-เสแสร้ง! นิด้าโพลสำรวจทั่วปท. พท.ทิ้งปชป.ทั้ง 2 ระบบ (7 มิ.ย. 54)
  • ปูนิ่ม-ชี้บิ๊กตู่แถลงเป็นกลาง เทือกโต้ดอดพบ ปัดไม่ได้พูดหนุนปชป. มาร์คจัดชุดสกัดป้ายจยย.ขี่ตรวจล่วงหน้าแต่ยังเจอด่าทุกซอย (16 มิ.ย. 54)
  • 'ปู' โชว์ช่วยน้ำท่วม บีบีซีไล่จี้มาร์คยันตั้งรบ.แข่ง ให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืน ยิ่งลักษณ์บินด่วนน่านรุดดูแลวิกฤติชาวบ้าน อภิสิทธิ์โร่ตามทีหลัง ตร.นับแสนคุมโค้งท้าย (29 มิ.ย. 54)

 

3. บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว: ผลการศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์มติชน ให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึง 4 ครั้งคือการสัมภาษณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในขณะที่มีการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 ครั้งคือ การสัมภาษณ์นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย    ในขณะที่ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์โดยลงเนื้อหาทั้งหมดที่ไม่มีการตัดทอน ส่วนไทยรัฐและเดลินิวส์ไม่มีบทสัมภาษณ์พิเศษของพรรคการเมือง

4. คอลัมน์การเมือง: หนังสือพิมพ์ข่าวสดมีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่น.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล    ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด

5. โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์: พรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี   นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้นคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ (12,12 และ 5 หน้าตามลำดับ) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลงโฆษณาใน 5 ฉบับคือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ  เดลินิวส์ และคมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ  ทั้งนี้ ไม่พบโฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554 (ดูตารางที่ 3)

จากผลการศึกษาดังกล่าว เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน" อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ  มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับ   นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีการ “ดูแล” ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย

 

ตารางที่ 3  การลงโฆษณาของพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ (1-30 มิถุนายน 2554)

พรรคการเมือง

ลักษณะโฆษณา

พื้นที่โฆษณา (รวม)

รวม

ข่าวสด

มติชน

ประชาชาติธุรกิจ

ไทยรัฐ

เดลินิวส์

คมชัดลึก

เพื่อไทย

เต็มหน้าสี

ครึ่งหน้าสี

12 หน้าสี

12หน้าสี

5 หน้าสี

ไม่มี

-

-

29 หน้าสี

ประชาธิปัตย์

ทุกชิ้นครึ่งหน้าสี

เน้นนโยบาย

4 ½ หน้าสี

5 ½ หน้าสี

2 หน้าสี

4 หน้าสี

2 ½ หน้าสี

18½ หน้าสี

ภูมิใจไทย

เต็มหน้าสี

6 หน้าสี

5 หน้าสี

-

6 หน้าสี

6 หน้าสี

23 หน้าสี

ชาติไทยพัฒนา

เต็มหน้าสี

8 ½ หน้าสี

6 ½ หน้าสี

6 หน้าขาวดำ

3 หน้าสี

7½ หน้าสี

4 หน้าขาวดำ

8 หน้าสี

33 ½ หน้าสี

10 หน้าขาวดำ

ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

เต็มหน้าสีหน้าคู่ขาวดำเน้นนโยบาย

9 หน้าสี

11 หน้าสี

3 หน้าสี

6½ หน้าสี

4 หน้าสี

33 ½ หน้าสี

รักประเทศไทย

หน้าขาวดำ

1 หน้าขาวดำ

1หน้าขาวดำ

 

-

-

2 หน้าขาวดำ

 

3.3 ผลการตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกพาดพิงในอีเมล

จากการตรวจสอบเนื้อหาข่าวหรือบทความที่ผู้ถูกพาดพิงเขียนลงในหนังสือพิมพ์ต้นสังกัด โดยความร่วมมือของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อ และการสอบถามข้อเท็จจริงจากบุคคลเหล่านั้น โดยคณะอนุกรรมการฯ    คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นต่อพฤติกรรมของผู้ถูกพาดพิงแต่ละคน ดังต่อไปนี้

  • นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ:  จากการตรวจสอบคอลัมน์วิเคราะห์ข่าวการเมือง วันอาทิตย์ ซึ่งนายปราโมทย์ให้ข้อมูลว่าเป็นผู้รับผิดชอบ พบว่ามีเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความสมดุลกว่าคอลัมน์เดียวกันของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในวันอื่นๆ  โดยมีบางวันที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และบางวันมีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองดังกล่าวอย่างมีเหตุผล จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า นายปราโมทย์เขียนบทความโดยมีความเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย
  • นายสมหมาย ยาน้อย หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ นสพ.เดลินิวส์:  นายสมหมายยอมรับว่ารู้จักนายวิมมาตั้งแต่ปี 2534-2535 เนื่องจากเคยทำงานข่าวสายกระทรวงพาณิชย์มาด้วยกัน   และได้พบกับนายวิมในสนามกอล์ฟแต่เล่นอยู่คนละก๊วน ตลอดจนได้เคยพบกันในร้านอาหารบ้าง      จากการตรวจสอบคอลัมน์สังคม หน้า 5 ประจำวันเสาร์  ซึ่งนายสมหมายเขียนโดยใช้นามปากกาว่า “อันดามัน”  แม้จะพบว่า ข้อเขียนที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวมักสนับสนุน น.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ผู้สมัคร สส.เขตจตุจักรของพรรคเพื่อไทย และพบข้อเขียนที่เสียดสีนายอภิสิทธิ์บ้างก็ตาม ผู้เขียนก็เคยวิจารณ์ น.ส. ยิ่งลักษณ์และคนเสื้อแดงอย่างมีเหตุผลด้วยเช่นกัน จึงไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า นายสมหมายเขียนบทความโดยมีความเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย
  • นายชลิต กิติญาณทรัพย์: จากการตรวจสอบ พบบทความที่ใช้ชื่อ นายชลิต กิติญาณทรัพย์ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจในช่วงเวลาที่ศึกษาเพียงบทความเดียว  แม้บทความดังกล่าวจะมีเนื้อหาที่อาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการของนายชลิต แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการฯ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไปที่จะสรุปได้ว่า นายชลิตเขียนบทความโดยมีความเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทยหรือไม่
  • นายทวีศักดิ์ บุตรตัน: จากการตรวจสอบ พบบทความที่ใช้ชื่อ นายทวีศักดิ์ บุตรตัน ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในช่วงเวลาที่ศึกษาเพียง 2 บทความในคอลัมน์ “เดินหน้าชน”   แม้บทความทั้งสองจะมีเนื้อหาที่โจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอาจแสดงถึงความโน้มเอียงบางประการของนายทวีศักดิ์ก็ตาม  แต่บทความที่เกี่ยวข้องที่คณะอนุกรรมการฯ พบในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเกินไปที่จะสรุปได้ว่า นายทวีศักดิ์เขียนบทความโดยมีความเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทยอย่างแจ้งชัดหรือไม่  ส่วนบทความที่ใช้ชื่อนายทวีศักดิ์ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ก็มีเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
  • นายจรัญ พงษ์จีน: จากการตรวจสอบ พบว่าคอลัมน์ “ลึกแต่ไม่ลับ” ในหนังสือพิมพ์มติชน สุดสัปดาห์ ที่ใช้ชื่อนายจรัญ พงษ์จีน มีเนื้อหาค่อนข้างมีความสมดุล รอบด้าน โดยเนื้อหาส่วนมากเน้นการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง   ส่วนคอลัมน์  “เรียงคนมาเป็นข่าว” ในหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งใช้นามปากกา “พลุน้ำแข็ง” นั้นนำเสนอข้อมูลตามข่าวที่เกิดขึ้น และมักกล่าวถึงแนวโน้มการเลือกตั้งตามที่เป็นข่าวโดยทั่วไปตามปรกติ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า นายจรัญเขียนบทความโดยมีความเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย
  • นายปรีชา สะอาดสอน บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม เครือเนชั่น:  นายปรีชาซึ่งยอมรับว่า รู้จักและเคยตีกอล์ฟกับนายวิม น่าจะไม่อยู่ในฐานะที่สามารถนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยด้วยตนเองโดยลำพังโดยง่าย เนื่องจากรับผิดชอบอยู่คนละสายข่าว   อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตต่อท่าทีของนายปรีชาในช่วงหลังที่อีเมลดังกล่าวเป็นข่าวขึ้นมา ซึ่งนายปรีชาไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย   นอกจากนี้เมื่อนายวิมโทรศัพท์ติดต่อมา นายปรีชาก็ไม่ได้รับสาย และไม่ได้ติดต่อกลับ ทั้งที่นายปรีชารู้จักกับนายวิมมาก่อน   แต่นายปรีชากลับให้การว่าจะเตรียมการฟ้องร้องต่อผู้ที่ทำให้ตนได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจรวมถึงนายวิมด้วย
  • นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น:  นางฐานิตะญาณ์ ซึ่งให้ข้อมูลว่าได้ไปพบนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาลจริง ก็น่าจะไม่อยู่ในฐานะที่สามารถนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยด้วยตนเองโดยลำพังโดยง่าย เนื่องจากไม่มีอำนาจในการคัดเลือกข่าวเพื่อนำเสนอในสื่อต่างๆ ในเครือเนชั่น   อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า  เมื่อปรากฏข่าวของอีเมลที่เป็นปัญหา นางฐานิตะญาณ์ ก็ไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย ทั้งที่นายวิมรู้จักเป็นอย่างดีกับนายปรีชาซึ่งเป็นสามีของตน

3.4 ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การนำเสนอข่าวสารและบทความในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงบางฉบับโดยเฉพาะข่าวสด และรองลงมาคือ มติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ  ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การเมืองและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย   อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า บทความของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงในช่วงที่ศึกษาไม่ได้แสดงความเอนเอียงที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างแจ้งชัด

4. สรุป

จากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับจากการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสรุปดังต่อไปนี้  ประการที่หนึ่ง อีเมลที่เป็นปัญหาน่าจะส่งมาโดยใช้บัญชี (account) และรหัสผ่าน (password) ของนายวิม  และเชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเองด้วยเหตุผลต่างๆ หลายประการ

ประการที่สอง ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยน่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน” ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ  มีการประสานประเด็นข่าวกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในระดับต่างๆ  ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ที่มีความสัมพันธ์ด้วย   อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบว่า ในการดำเนินการดังกล่าวได้มีการให้อามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์อื่น นอกเหนือจากการลงโฆษณาหรือไม่

ประการที่สาม หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิงได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้งโดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ การนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

ประการสุดท้าย ด้วยข้อจำกัดของอำนาจในการเข้าถึงพยานหลักฐาน คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการให้สินบนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามเนื้อหาของอีเมลดังกล่าวจริงหรือไม่  แต่เมื่อได้ตรวจสอบบทความที่ผู้ถูกพาดพิงแต่ละคนนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดแล้ว   คณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว  แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว

5. ข้อเสนอแนะ

จากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ  มีข้อเสนอแนะต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรกำกับจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรตักเตือนให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ยึดถือและปฏิบัติตามข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยเคร่งครัด  โดยต้องนำเสนอข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะ  ต้องแสดงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย  ต้องละเว้นการเสนอข่าวเพราะความลำเอียงหรือมีอคติ   นอกจากนี้ การแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ ต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิง  และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ก็ควรกระทำโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ยอมให้อิทธิพลอื่นใดมาครอบงำความคิดเห็น
  2. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรขอความร่วมมือให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิกกำกับดูแลให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ ยึดถือและปฏิบัติตามข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยเคร่งครัด โดยต้องไม่ประพฤติปฏิบัติการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ  ละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ แม้จะมีมูลค่าในรูปตัวเงินไม่มาก เช่น การได้สิทธิในการเล่นกอล์ฟโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์อื่นในลักษณะคล้ายกัน เนื่องจากอามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์เหล่านี้อาจนำไปสู่การชักนำให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน
  3. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรขอความร่วมมือให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ปฏิบัติตามข้อ 10 ของข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยอนุโลม ในกรณีที่มีการใช้ภาพและคำบรรยายประกอบภาพที่ได้รับมาจากภายนอก โดยให้กำกับแหล่งที่มาประกอบกับภาพข่าวนั้นอย่างแจ้งชัด    นอกจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับด้านจริยธรรมดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงภาพและคำบรรยายประกอบภาพด้วยต่อไป
  4. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรตักเตือนให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวและแหล่งข่าวที่ได้รับมาอย่างรอบคอบรัดกุม ก่อนนำเสนอข่าวที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบได้
  5. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรร่วมมือกับองค์กรสื่อและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจัดทำแนวทางปฏิบัติ (guideline) ว่าผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ ควรมีความใกล้ชิดกับแหล่งข่าว โดยเฉพาะนักการเมืองและนักธุรกิจเพียงใด จึงจะมีความเหมาะสม ไม่สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดเกินสมควรกับแหล่งข่าว จนอาจกระทบต่อความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวสาร และสุ่มเสี่ยงต่อการรับอามิสสินจ้างอันมีค่าหรือผลประโยชน์อื่นในภายหลัง

ท้ายที่สุดนี้ คณะอนุกรรมการฯ  เห็นว่า ความสำเร็จของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรกำกับดูแลตนเองของสื่อหนังสือพิมพ์ในสายตาของประชาชนนั้น ย่อมยอมpขึ้นอยู่กับความยอมรับและการให้ความร่วมมือขององค์กรสมาชิกต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเองเป็นสำคัญ  องค์กรสมาชิกจึงควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการดำเนินการต่างๆ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เมื่อมีข้อสงสัยเกิดขึ้น  

 

เอกสารประกอบ

เอกสารแนบ 1

ข่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554

เอกสารแนบ 2

จดหมายเชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงมาให้ข้อเท็จจริง

เอกสารแนบ 3

จดหมายตอบกลับจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน (ครั้งที่ 1)

เอกสารแนบ 4

จดหมายตอบกลับจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

เอกสารแนบ 5

จดหมายเชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนให้ข้อเท็จจริง

เอกสารแนบ 6

จดหมายตอบกลับจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน (ครั้งที่ 2)

เอกสารแนบ 7

บันทึกการให้ถ้อยคำเบื้องต้นทางโทรศัพท์จากนายวิม

เอกสารแนบ 8

ข่าวนายวิมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังเกิดเหตุ

เอกสารแนบ 9

ข่าวนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังเกิดเหตุ

เอกสารแนบ 10

ผลการศึกษาการนำเสนอข่าวเลือกตั้งเปรียบเทียบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร/ พรรคเพื่อไทยและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ/พรรคประชาธิปัตย์: หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน–3 กรกฎาคม 2554