หมายเหตุ-นายพิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการอำนวยการ บริษัทโพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน)เขียนชี้แจงกรณีบทความชื่อ“Escape from Thailand.A simple story about plagiarism forced me to flee a country I love”ตีพิมพ์ใน Columbia Journalism Review. โดย Erika Fry เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 (แปลเป็นไทย โดย อารยา สุวรรณคำ ในชื่อเรื่อง “หลบลี้หนีภัยจากประเทศไทย”เรื่องของการขโมยความคิด (Plagiarism) ที่ทำให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศอันเป็นที่รัก)กล่าวหาว่า หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ลอยแพเธอหลังที่เธอถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาท
คำชี้แจงของนายพิชายมีรายละเอียดดังนี้
ในการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวของเรานั้น เราต่างทราบว่าในแต่ละเรื่องมีมากกว่า 1 ด้าน บทความของ น.ส.เอริก้า ฟราย (Erika Fry) ที่ชื่อ “การหลบหนีจากประเทศไทย” ได้กล่าวหาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าไม่ปกป้องเธอในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งเธอถูกฟ้องร้องพร้อมกับบรรณาธิการและบริษัท เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงเลย บทความของเธอเขียนเพียงด้านเดียว
นี่ไม่ใช่การปกป้องระบบกฎหมายไทยหรือกระบวนการกฎหมายไทย แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวนี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่ามีหลายๆ ส่วนในบทความของ น.ส.เอริก้า ฟราย เป็นความจริง แต่ก็มีอีกหลายๆ ส่วนที่สำคัญนั้นไม่ถูกต้องและไม่จริง บางประโยคก็เป็นการกล่าวหาซึ่งไม่มีมูลความจริง เป็นการคาดคะเน หรือไม่ก็เป็นการเหน็บแนม
น.ส.ฟราย ได้รับมอบหมายให้ไปทำเรื่องเกี่ยวกับการลอกเลียน และเรื่องก็ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และผลจากการนั้นก็คือ หนังสือพิมพ์ถูกฟ้องร้องในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาพร้อมกับบรรณาธิการ เรื่องดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ลงพิมพ์ได้โดย บก.หลายๆ คน แต่หนึ่งใน บก.ได้แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าหนังสือพิมพ์จะถูกฟ้อง
ข้ออ้างที่ น.ส.ฟราย บอกว่าไม่ทราบเรื่องนี้เลยนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็น เพราะประเด็นที่สำคัญก็คือเรื่องของเธอได้รับการตีพิมพ์
การถูกกักขังในคุกแม้ว่าจะเป็นการชั่วคราว 1 วันในต่างแดนนั้น อาจจะเป็นความรู้สึกที่ขมขื่น ถึงแม้ว่าผมไม่เคยถูกกักขังในต่างแดน แต่ก็เคยถูกกักขังชั่วคราวภายในสถานการณ์เช่นเดียวกับที่ น.ส.ฟราย ได้เผชิญมา และ บก.กับนักข่าวหลายๆ คนก็เคยผ่านประสบการณ์อันไม่น่าพึงปรารถนานี้เช่นกัน และผมก็เข้าใจดีว่า น.ส.ฟราย มีความรู้สึกอย่างไร
โดยปกติเมื่อคดีหมิ่นประมาทถูกฟ้องไปยังศาล และจำเลยตกลงใจที่จะสู้คดี ศาลมักจะเรียกเงินค้ำประกันสำหรับการประกันตัว และเมื่อศาลได้มีคำสั่งเช่นนั้น ทนายก็มักจะขอให้มีการประกันตัวลูกความ ในระหว่างนั้นก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งใดๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อาจจะหลายชั่วโมงหรือยาวกว่านั้น ขึ้นกับเจ้าหน้าที่ศาลและกระบวนการ
ในขณะที่จำเลยกำลังรอคอยว่าจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ จำเลยเหล่านั้นก็จะต้องถูกกักขัง หนังสือพิมพ์ทั้งหลายในประเทศไทยรวมทั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก็เคยขอหลักประกันสำหรับบรรณาธิการและนักข่าวว่า ในระหว่างรอประกันตัวนั้น ให้กักขังอยู่ในห้องซึ่งไม่ใช่ที่คุมขัง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นย่อมขึ้นกับดุลพินิจของศาลว่า จะอนุญาตหรือไม่ บางครั้งศาลในกรุงเทพฯก็อนุญาต แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเสมอไป โดยเฉพาะศาลในต่างจังหวัด เช่น ศาลนครปฐม ซึ่งคดีนี้ถูกฟ้อง
น.ส.ฟราย บอกว่า ไม่มีความมั่นใจในตัวทนายความของบางกอกโพสต์ คือ คุณรณชัย เนตรอัมพร ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ
เหตุผลประการหลักก็คือไม่สามารถให้รายชื่อของผู้ที่ถูกแบล็คลิสต์ให้กับเธอได้ ข้าพเจ้าขอบอกว่าเจ้าหน้าที่ถึงแม้ว่าจะยอมรับว่ามีรายชื่อแบล็คลิสต์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอารายชื่อนี้ออกมาได้ และนี่ไม่ใช่เหตุผลที่ น.ส.ฟราย บอกว่าไม่เชื่อมั่นในบางกอกโพสต์หรือตัวทนาย
อีกข้ออ้างหนึ่งก็คือ คุณรณชัยพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย น.ส.ฟราย บอกว่ารู้จักกับทนายคนหนึ่งซึ่งได้บอกกับเธอว่า รณชัยไม่เคยชนะคดีเลยในการต่อสู้คดีให้กับบางกอกโพสต์ ข้อกล่าวหานี้ก็ไม่จริง เพราะคุณรณชัยทำงานให้บางกอกโพสต์เป็นเวลา 15 ปี และได้ต่อสู้ให้กับ บก.ถึง 3 คน และคนอื่นๆ ในหนังสือพิมพ์ และที่ผ่านมาก็มี 3 คดีเท่านั้นที่บางกอกโพสต์แพ้ อีก 40 คดีชนะ
การที่คุณรณชัยไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้น้อยมากจึงไม่มีเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงานต่อสู้คดีให้กับบางกอกโพสต์
คุณรณชัยหรือทนายคนอื่นไม่มีอำนาจเหนือกระบวนการทางกฎหมายและการตัดสินของศาล ซึ่งในเบื้องต้นศาลไม่อนุญาตให้ น.ส.ฟราย ออกนอกประเทศ แต่ในที่สุดคุณรณชัยก็ทำให้ศาลอนุญาตให้เธอออกนอกประเทศได้เพื่อไปทำงานข่าวชิ้นหนึ่ง โดยที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เป็นคนรับประกันว่าเธอจะไม่หลบหนี แต่ น.ส.ฟราย ได้กล่าวหาบางกอกโพสต์ว่าละทิ้ง ไม่ช่วยเหลือ ซึ่งไม่เป็นความจริง
โดยปกติแล้วคดีในศาลต้องใช้เวลา และอาจจะยืดยาวเป็นปี คดีหมิ่นประมาทซึ่งฟ้องร้องกับหนังสือพิมพ์นั้น นอกจากผลของมันจะไม่ค่อยเป็นเรื่องเร่งด่วนของศาลแล้ว ในหลายๆ คดีถึงแม้ว่าจำเลยจะถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่ศาลมักจะให้คำพิพากษาประเภทรอลงอาญา
ดังนั้นในคดีหมิ่นประมาทซึ่งฟ้องหนังสือพิมพ์ ศาลมักจะต้องการให้คู่ความมาประนีประนอมยอมความกันมากกว่า และหลายๆ คดีก็จบลงด้วยการยอมความ ซึ่งเป็นวิธีการปกติ
ในกรณีนี้โจทก์ นายศุภชัย หล่อโลหะการ ได้เคยมาที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หลังจากได้ฟ้องหนังสือพิมพ์แล้ว เพื่อเสนอให้มีการไกล่เกลี่ยยอมความกัน ในระหว่างนั้น น.ส.ฟราย ก็อยู่ด้วยระหว่างการหารือพร้อมกับ บก.อีกหลายๆ คน
โจทก์คือนายศุภชัยบอกว่า เป้าหมายหลักของเขาคือ นายวิน เอลลิส แหล่งข่าวของ น.ส.ฟราย ซึ่งถูกฟ้องไปแล้ว นายวิน เอลลิส กับนายศุภชัยเคยเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกันมาก่อน และมีคดีฟ้องระหว่างกัน
นายศุภชัยบอกว่า บก.บางกอกโพสต์ และ น.ส.ฟราย ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ได้เสนอที่จะถอนฟ้องทั้ง บก.และน.ส.ฟราย โดยยื่นเงื่อนไขว่า บางกอกโพสต์ต้องเอาเรื่องออกจากเว็บไซต์ แต่ บก.ได้ปรึกษากับคุณรณชัยทนายของบริษัทแล้ว ทนายแนะนำว่าการถอดเรื่องออกจากเว็บไม่เกี่ยวกับคดี ในที่สุดบางกอกโพสต์ก็ไม่ยอมถอดเรื่องออกจากเว็บ
การที่นักข่าวถูกเรียกตัวไปขึ้นศาลหรือไปเป็นพยาน ถือเป็นเรื่องปกติในคดีหมิ่นประมาท และโจทก์คือนายศุภชัยต้องการให้นักข่าวยืนยันว่าคำให้สัมภาษณ์ของนายเอลลิสที่ตีพิมพ์นั้นถูกต้อง และการกระทำนี้ไม่ได้เป็นการยอมรับผิด แต่เป็นการยืนยันว่า การให้สัมภาษณ์นั้นถูกต้อง หนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าวถูกฟ้องเป็นจำเลย โจทก์ต้องการคำให้การของนักข่าวเพื่อประกอบเป็นหลักฐานในการฟ้องคนอื่น
แต่ น.ส.ฟรายไม่ยอม ไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีไปก่อนที่จะให้การในศาล แต่โจทก์ไม่ยอม น.ส.ฟรายก็ไม่ยอมเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ทาง บก.พยายามแก้ปัญหาที่เป็นเงื่อนตายนี้
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
บางกอกโพสต์ ความยุติธรรม กม.หมิ่นประมาท และการหลบหนี
Author by admin 1/10/11No Comments »
Erika-Fry
หมายเหตุ-บทความนี้เป็นภาษาอังกฤษชื่อ“Escape from Thailand.A simple story about plagiarism forced me to flee a country I love”ตีพิมพ์ใน Columbia Journalism Review. โดยErika Fryเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 แปลเป็นไทย โดย อารยา สุวรรณคำ ในชื่อเรื่อง “หลบลี้หนีภัยจากประเทศไทย”เรื่องของการขโมยความคิด (Plagiarism) ที่ทำให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศอันเป็นที่รัก
เป็นบทความที่สะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรม กระบวนการยุติธรรมและหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดของไทย จากมุมมองของนักข่าวสาวชาวอเมริกันที่ทำงานให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เป็นเวลาหลายปีด้วยความเจ็บปวดได้อย่างน่าสนใจ
อย่างไรก็ตามเพื่อมิให้มีปัญหาในด้านกฎหมาย จึงมีการปรับเปลี่ยนข้อความบางส่วนและตัดชื่อบุคคลและหน่วยงานบางหน่วยงานออก นอกจากนั้นยังยินดีที่จะรับฟังข้อเท็จจริงและมุมมองจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
————————————————————————————————————————-
columbia-post
เป็นที่รู้จักกันดีว่าประเทศไทย ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองแห่งรอยยิ้ม หากแต่วันอันร้อนระอุวันหนึ่งในเดือนธันวาคม ฉันกลับต้องมาลงเอยอยู่ในคุกแห่งสยามเมืองยิ้ม ในตอนแรกมันอาจจะดูเป็นเรื่องน่าสนุกและตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็น คุกไทย ชุดนักโทษสีน้ำตาล หรือเสียงกระทบของโซ่ตรวนเอย ฉันคิดคงได้อยู่ในนี้ไม่เกิน 5 นาทีแน่ๆ
หากแต่ในวันนั้น ฉันรู้สึกจำนน หมดหนทาง ทั้งตื่นตระหนก และโกรธจัด นั่งเอาหลังชนฝาที่เปื้อนเขรอะไปด้วยข้าวกับหนังหมู สลับกับการยื่นหน้าออกมาระหว่างซี่กรงของห้องขังเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ และมองหา “รณชัย” ทนายของฉันที่ควรจะมาช่วยประกันตัวฉันออกไปจากที่นี่
ฉันถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา เนื่องมาจากการทำข่าวลงใน นสพ. บางกอกโพสต์ เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่า กระทำการขโมยความคิดในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหัวข้อหน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค เขายังถูกกล่าวหาว่าได้ทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และใช้ทุนไปในทางที่ผิดในการจ้างนักวิจัยฯ—นี่เป็นข้อหาเบา แต่เป็นที่น่าอับอายในฐานะที่เขานั้นมีตำแหน่งเป็นถึงผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งในหน่วยงานของรัฐไทยที่ดูแลจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เขานั้นกระทำการอันซับซ้อน— ไร้สาระแต่เป็นลายลักษณ์อักษร—เพื่อที่จะกลบเกลื่อนทุกอย่าง เช่น ปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับการเข้าเมือง และใบอนุญาตทำงาน และ(ถูกกล่าวหาว่า)ข่มขู่ผู้ให้คำปรึกษาทางการเกษตรชาวอังกฤษคนที่กล่าวหาเขา “วิน ”
หลักฐานทั้งหมดโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องขโมยความคิดนั้นชัดเจน และเถียงยังไงก็ไม่ขึ้น และตัวบทความก็ได้รับการตรวจสอบโดยทนาย และกองบรรณาธิการของ บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ที่ฉันทำงานอยู่ตั้งแต่ปี 2549
แต่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเกิดการเสียหน้า—มันนับเป็นสิ่งล้ำค่าในประเทศไทย—เขาเอาเส้นสายของเขามาเล่นงานฉันในทุกวิถีทาง ฉัน หัวหน้าบรรณาธิการ และวิน ถูกพิมพ์รอยนิ้วมือ, จับเข้าคุก, และห้ามออกนอกประเทศจนกว่าศาลไทยจะตัดสินเรื่องนี้จบ ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาในการดำเนินการหลายปี หัวหน้าบรรณาธิการที่เป็นคนไทย คอยเตือนฉันเสมอว่าคดีหมิ่นประมาทคดีก่อนหน้าของเขา ใช้เวลาดำเนินการถึง 13 ปี
ฉันย้ายไปยังประเทศไทยเมื่อปลายปี 2548 มันออกจะเป็นการก้าวกระโดดไปซักหน่อย ทั้งนี้มันมีที่มาจากความกังวล และจนตรอกจากงานที่ฉันทำเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายที่ฐานทัพเรือในกรุงวอชิงตัน ดีซี (ฉันจบมาด้วยเอกอังกฤษ และมีความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะได้เป็นสายลับ) ฉันตอบรับโฆษณาในหนังสือท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ปิดทำการไปแล้ว ที่ตั้งสำนักงานของหนังสือฉบับนั้น ตั้งอยู่บนถนนข้าวสาร โดยเขาบอกว่า จะดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้สำหรับพออยู่ในกรุงเทพฯ ได้ ฉันคิดว่านี่อาจจะเป็นใบเบิกทางเพื่อเข้าสู่แวดวงการทำข่าว จึงได้ตัดสินใจเดินทางมาที่นี่
ฉันแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเลย ที่แน่ ๆ ไม่รู้ภาษาไทย หรือรู้จักใครที่อาศัยอยู่ที่นี่ แม้แต่อาหารไทยฉันก็ไม่คุ้น การทำงานกับหนังสือนั้นถือเป็นประสบการณ์เลยทีเดียว—มีบรรณาธิการสามคนที่สูบบุหรี่ไม่หยุด และชอบกระแนะกระแหนอยู่เรื่อยว่า ฉันมาจากประเทศที่เลือกจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชเป็นประธานาธิบดี
จะว่าไปแล้วในแง่หนึ่ง ฉันเป็นหนี้พวกเขาทุกอย่าง แต่ในเดือนธันวาคม ฉันก็ออกมาจากที่นั่น และด้วยความโชคดีฉันได้ทำงานกับฝ่ายข่าวสืบสวนในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ผลงานชิ้นแรก ๆ คือได้ทำงานเป็นสายในคราบของครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง และบทสัมภาษณ์บุรุษอาวุโสผู้หนึ่งที่เชื่อว่าเขามาจากดาวอังคาร
แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฉันก็ปรับตัวได้ ฉันหลงใหลการเมืองไทย และเขียนเรื่องที่ร้ายไม่เบา เช่น การหายตัวไปอย่างลึกลับจากค่ายทหารของ “ผู้ก่อการร้าย” ชาวมุสลิม, การลักลอบค้ามนุษย์หญิงชาวอุซเบกิสถานที่เข้ามาทำงานอยู่ในไนท์คลับในกรุงเทพฯ การกระทำการบังคับขู่เข็ญต่อแรงงานข้ามชาติชาวพม่า— ฉันคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะทำให้ฉันมีปัญหามากกว่าเรื่องราวขโมยความคิดเสียอีก
แต่นี่แหละ เป็นสิ่งที่น่าขันเกี่ยวกับประเทศไทย คือการให้ความสำคัญต่อการถือลำดับชั้น และการเคารพเชื่อฟังถือผู้อาวุโสนับเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนการเผชิญหน้ากันแบบคนโตแล้ว กลับเป็นสิ่งที่เขาไม่ทำกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้การรายงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวนเป็นเหมือนห้องทดลองที่น่าสนใจ ประกอบกับความที่ฉันยังสาว เป็นฝรั่ง และเป็นผู้หญิงนั้น ทำให้คุณค่าเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นไปอีก
พอฉันถูกจ่ายงานให้ทำข่าวเรื่องการขโมยความคิดชิ้นนี้ บรรณาธิการฉบับวันอาทิตย์ชาวออสเตรเลียชื่อพอล บอกกับฉันว่า มันจะเป็น “งานเขียนที่ดีมาก” มันจะมีความตลกร้ายและความเหนือจริงที่ว่าด้วยหน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค เขาให้เบอร์ของ “วิน ” กับฉัน ฉันไปเจอเขาในห้างแห่งหนึ่ง เขาเป็นคนที่ดูเป๊ะและพิถีพิถันมาก เขาเดินมาพร้อมกับปึกกระดาษเป็นร้อย ๆ หน้า—ประกอบไปด้วยข้อความโต้ตอบ, ลำดับเวลาเหตุการณ์, ชาร์ตต่างๆ แบ่งตามสี, สำเนาวิทยานิพนธ์ที่ไฮไลท์ — เขาได้รวบรวมหลักฐานของการขโมยความคิด และการกระทำผิดทางวินัยที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะหนึ่ง และได้แจ้งต่อทางการว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการขโมยความคิดของเขา เมื่อหลายปีก่อน แต่หลังจากนั้นมา การสืบสวนในเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้าเลย
สำหรับฉันแล้วเขาดูเป็นคนซื่อตรง แต่ความจริงจังในการเอาเรื่องของเขาก็ดูบ้าเกินไปหน่อย เขาย้ำเรื่องความไร้ศักดิ์ศรีทางวิชาการของวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าว “มันแทบจะไม่มีค่าเลย” เขากล่าว “มันไม่มีอะไรใหม่ในการวิจัยศึกษาหน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค!” วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ทั้งเล่ม ยกเว้นสิบสี่หน้า ถูกตัดแปะมาจากเอกสารสี่ชิ้น สามในสี่ชิ้นนั้น”วิน”เป็นผู้เขียน ส่วนอีกชิ้นนั้นเขียนขึ้นโดยนักศึกษาที่จบใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรของเจ้าของจำเลย
ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เล่มนี้ เป็นผู้บริหารระดับหน่วยงานของรัฐ เขาจบการศึกษาวิทยาศาสตร์ดุษฏีบันฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติของไทย ภายใต้การควบคุมของที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาที่ชื่อวิชัย ซึ่งได้รับทุนจากหน่วยงานเดียวกันเพื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อ้างว่า มีคุณสมบัติในการช่วยให้หน้าอกเต่งตึง
ผู้บริหารระดับสูงรายดัะงกล่าวปฏิเสธคำขอสัมภาษณ์ของฉันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เราได้โต้ตอบกันทางอีเมล์ ข้อยืนยันของเขาคือ เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเอกสารพวกนี้ (ซึ่งไม่จริง) ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเป็นคนขโมยความคิดจากผลงานชิ้นนี้
แม้แต่ก่อนที่ฉันจะทำรายงานข่าวเรื่องนี้ ฉันได้รับรู้เรื่องคดีความของผู้บริหารรายนี้ว่า—เขาได้ฟ้องวินข้อหาหมิ่นประมาท และวินก็สู้คดี รณชัย ทนายของบางกอกโพสต์ได้อ่านเอกสารเพื่อที่จะให้แน่ใจว่า เราไม่ได้ละเมิดข้อหาใดในการเขียนข่าวเรื่องนี้ เมื่อเรื่องนี้เขียนเสร็จ บรรณาธิการอย่างน้อยสามคนได้อนุมัติงานข่าวชิ้นนี้ รณชัย ทนายของบางกอกโพสต์ ก็ได้อ่านซ้ำ จนงานชิ้นดังกล่าว ได้ตีพิมพ์เมื่อมิถุนายน 2552
สองอาทิตย์หลังจากรายงานดังกล่าวเผยแพร่ ฉันได้รับอีเมล์จากผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานรัฐรายดังกล่าวแจ้งว่า เขาจะดำเนินการทางกฎหมาย ในเดือนตุลาคมฉันได้รับหมายศาลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกันกับพัฒนพงษ์ หัวหน้าบรรณาธิการบางกอกโพสต์ ให้ไปรายงานตัวที่นครปฐม ช่างเป็นสถานที่ที่ไม่อำนวยความสะดวกอย่างตรงจังหวะเสียนี่กระไร
ในตอนนั้นฉันไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรเป็นพิเศษ คดีหมิ่นประมาทไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศไทย และงานเขียนของฉันก็มีหลักฐานรองรับชัดเจน ในขณะเดียวกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือการถูกปรับสองแสนบาท (ประมาณ $6,700) และ/หรือโทษจำคุกไม่กี่ปี และถึงแม้ว่ าเราถูกตัดสินว่าผิด ทางบางกอกโพสต์ก็จะเป็นผู้จ่ายค่าปรับ
นอกจากนี้ ทุกคนได้ให้ความมั่นใจกับฉันว่าโทษจำคุกนั้นเป็นไปได้ยาก และการที่พัฒนพงษ์ หัวหน้าบก. เป็นจำเลยร่วม ก็ทำให้ฉันเบาใจขึ้นว่า ทางบางกอกโพสต์นั้นจะต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะปกป้องเขา และถ้าเป็นอย่างนั้นก็รวมถึงฉันด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเวลาถัดมา เราถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งวัน และรณชัยก็บอกว่า ฉันถูกขึ้นชื่อใน “บัญชีดำ” ซึ่งหมายถึงหากฉันจะเดินทางออกนอกประเทศ จำต้องทำเรื่องขออนุญาตต่อศาล โดยรณชัยมั่นใจว่าศาลจะอนุญาต ไม่มีใครบอกฉันได้ว่า บัญชีรายชื่อนี้มีอยู่จริงหรือไม่ มีอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสนามบินหรือเปล่า
สองเดือนหลังจากที่ถูกจำคุก ฉันยื่นเรื่องขออนุญาตเดินทางไปยังสิงคโปร์เพื่อเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่ง การร้องขอของฉันถูกปฏิเสธ ฉันอุทธรณ์ไปสองครั้ง และกลับถูกปฏิเสธทั้งสองครั้ง เห็นได้ชัดว่านั่นเป็นเพราะทางการไม่ต้องการให้ฉันหนีคดี โดยบรรณาธิการจะต้องกำหนดให้ฉันเขียน “เรื่อง” ที่ต้องทำในสิงคโปร์เท่านั้น ฉันจึงจะได้รับอนุญาตให้ไปได้ในวันหยุดสุดสัปดาห์
มาถึงตอนนี้ฉันรู้สึกหวั่นใจมากขึ้น ฉันตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของรณชัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุทธรณ์ที่ไม่สำเร็จ และเรื่องที่อธิบายไม่ได้หลายอย่างในคดีของฉัน
พัฒนพงษ์เคยอวดกับฉันว่า บริษัทเลือกรณชัยเข้าทำงานเพราะว่าเขาได้ช่วยเหลือบริษัทเอาไว้มาก ทนายคนหนึ่งที่ฉันรู้จักบอกว่า รณชัยนั้นไม่เคยว่าความชนะให้บางกอกโพสต์เลยแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนี้ เขายังพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก ทำให้ภาระมาตกอยู่ที่ฉัน ซึ่งจำเป็นต้องพูดภาษาไทย แต่นี่ก็ยังเป็นปัญหา เพราะเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวกับคดีเป็นภาษาอังกฤษ
ในช่วงนี้ ฉันได้รับการตอบรับเข้าเรียนที่ Columbia’s Graduate School of Journalism ที่จะเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม 2553 ในขณะเดียวกัน ฉันรู้มาว่าการไต่สวนของคดีฉันจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 กันยายน และไม่กี่วันหลังจากนั้นก็ยังได้รู้ว่าพัฒนพงษ์นั้นได้เจรจาต่อรองให้ตัวเขานั้นหลุดพ้นจากคดีอาญา และจะเหลือแค่ฉันกับวิน ในคดีนี้เท่านั้น
ฉันได้ค้นพบเรื่องนี้อย่างไม่ตั้งใจ เมื่อฉันพยายามที่จะเข้าถึงบทความดังกล่าวทางออนไลน์ แต่ก็หาไม่เจอแล้ว ฉันถามบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องนี้ พัฒนพงษ์บอกว่า มันมีปัญหาทางเทคนิค ฉันไม่เชื่อ และได้ให้เพื่อนร่วมงานของฉันติดต่อรณชัย ซึ่งเขายอมรับว่า มีการทำข้อตกลงบางอย่าง ฉันขอคำอธิบายจากกองทางบรรณาธิการในเรื่องนี้ พัฒนพงศ์ก็ได้ตอบมาโดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า โดยการพิมพ์จดหมาย แล้วให้คนส่งเอกสารเดินจากชั้นสามขึ้นมาส่งที่ชั้นสี่
เขาเขียนชี้แจงว่าผู้บริหารระดับสูงรายดังกล่าวขู่ว่า เขาจะฟ้องข้อหาแยกอีกข้อหาหนึ่งสำหรับงานเขียนฉบับที่เผยแพร่ออนไลน์ ดังนั้นสิ่งที่เขาพยายามจะทำคือปกป้องบริษัทจากปัญหานี้ เขาให้ความมั่นใจกับฉันว่า บริษัทนั้นจะยืนอยู่ข้างงานเขียนของฉัน และสัญญาว่า ผู้บริหารระดับสูงรายนั้นจะไม่เอาความ ถ้าหากว่าฉันยอมรับสารภาพในศาล
เมื่อดูจากพยานแวดล้อม และการที่ผู้บริหารระดับสูงรายดังกล่าวไม่ยอมให้ฉันให้ปากคำในฐานะพยาน แต่ในฐานะจำเลย มันทำให้ฉันรู้สึกข้ออ้างดังกล่าวดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ฉันก็ยังรู้มาอีกว่า รณชัยได้ กล่าวหาว่า ฉันได้ยกหูโทรศัพท์จากห้องข่าวของบางกอกโพสต์ ไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานของผู้บริหารรายดังกล่าวและเรียกร้องให้ไล่เขาออก
ฉันสงสัยว่า ทุกอย่างที่รณชัย และพัฒนพงษ์ทำไปนั้นเพื่อพยายามที่จะปกป้องตัวพวกเขาเองเพราะว่า ทั้งสองคนนี้ในทางทฤษฎีเป็นคนอนุมัติให้งานเขียนนี้เผยแพร่ได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของการเมือง ผู้บริหารระดับสูงรายนั้นนั้นทำงานภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการหนุนหลังจากผู้สนับสนุนทางการเงินพรรค
ส่วนบางกอกโพสต์บริหารโดยคนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายกรัฐมนตรี และมีผู้สนับสนุนทางการเงินของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของ หรืออาจจะเป็นเพียงเรื่องผลประโยชน์บางอย่างเหมือนในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในเมืองไทย หรืออาจแม้แต่เป็นเพราะความซับซ้อนที่เกิดจากช่องว่างทางวัฒนธรรม และอายุ
บางที ฉันรู้สึกว่า รณชัย และพัฒนพงษ์นั้นไม่รู้ว่าจะคิดกับฉันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นคนต่างชาติ หรือด้วยความวัยเยาว์ หรือทั้งสองอย่าง พวกเขาไม่เชื่อในคำบอกเล่าของฉันเสียทั้งหมด แน่นอนว่า ฉันเองไม่ใคร่ไว้ใจสองคนนี้เท่าใดนัก
ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ฉันก็เป็นฝ่ายถูกทำให้อยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะสถานะทางกฎหมายของฉันนั้นขึ้นอยู่กับใบอนุญาตทำงานซึ่งบางกอกโพสต์เป็นผู้ควบคุม ถ้าฉันถูกไล่ออก ในทางทฤษฎีแล้ว ฉันอาจจะถูกจับเข้าไปอยู่ในสถานกักกันในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่มีสภาพแย่กว่าคุก และเป็นที่ที่มีไว้กักกันคนต่างชาติที่สิ้นไร้ไม้ตอก และผู้ลี้ภัยนานเป็นปีๆ
ด้วยเหตุนี้ฉันจึงต้องเดินหมากอย่างระมัดระวัง ฉันไปหาผู้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ชื่อพิชัย เขาเป็นคนไทยที่ได้รับการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย และแสดงความคิดเห็นด้านเสรีภาพทางสื่ออย่างชัดเจนทางโทรทัศน์ และในเวทีเสวนาต่างๆ
พิชัยเป็นคนมีเสน่ห์ ละม้ายคล้ายกับบิล คลินตัน และมีผมขาวที่จัดแต่งอย่างเนี้ยบ เขานั่งอยู่บนเก้าอี้—ดูสบาย ๆ เอนพนักเก้าอี้ไปมา และสูบบุหรี่อยู่ตลอดเวลา ฉันรู้สึกขอบคุณการสละเวลาของเขามาก แต่ส่วนใหญ่ เขามักเป็นฝ่ายพูด และทำเป็นห่วงเป็นใยพร้อมปลอบโยนแบบไม่ค่อยจริงใจเท่าไหร่ และยังเห็นความกลัวของฉันเป็นเรื่องตลกขำขัน
เขาบอกว่ารณชัยนี้เป็นทนายที่ฝีมือดีและอยู่กับเขามานาน และตัวพิชัยเองก็ชนะคดีหมิ่นประมาทมาหลายต่อหลายครั้งแล้วด้วยการว่าความของรณชัย อย่างไรก็ตาม พิชัยนั้นไม่ได้ยินสิ่งที่ฉันต้องการพูดเลยแม้แต่นิดเดียว นั่นคือ ฉันรู้สึกถูกทอดทิ้ง, ทนายของฉันดูเหมือนจะทำงานต่อต้านฉัน และความเสี่ยงที่ต้องติดอยู่ในประเทศไทยไปตลอด
เรื่องทนายออกจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน—ก็หนีไม่พ้นเรื่องการรักษาหน้าอีกนั่นแหละ— การว่าจ้างทนายคนใหม่ ถูกมองว่า จะเป็นการหักหน้ารณชัย ฉันจึงได้พยายามทำเรื่องนี้อย่างระมัดระวังโดยทำเรื่องขอจ้างทนายคนใหม่ โดยอ้างว่า ครอบครัวของฉันจะสบายใจมากขึ้นหากทนายของฉันพูดภาษาอังกฤษได้ดี มันละเอียดอ่อนถึงขนาดที่เมื่อฉันบอกเรื่องนี้ต่อพิชัย เขาก็ดูจะไม่พอใจไปซักครู่ “คนที่เป็นทนายนั้นจะงัดข้อกันเอริก้า” เขากล่าว หมายความว่า หากฉันจ้างทนายคนใหม่เขาหรือเธออาจต้องปะทะกับรณชัย เขายังกล่าวต่อไปถึงเหตุผลที่เขาไม่สนับสนุนความคิดนี้ และพูดเหมือนกับว่าฉันไม่มีสิทธิตัดสินใจอะไรซํกอย่าง
อย่างไรก็ตาม ฉันก็วางแผนจะจ้างทนายคนใหม่อยู่แล้ว และได้ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ให้ช่วยในคดีนี้ ฉันติดต่อสถานทูตหลังจากโดนจำคุก พวกเขาทำอะไรมากไม่ได้ แต่ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาที่ร้านสตาร์บัคส์ที่อยู่ตรงข้ามกับสถานทูต—300 เมตรจากเขตสถานทูต—เพื่อที่จะพูดคุยกับฉันในฐานะ “เพื่อน” คำแนะนำที่ได้ก็ตรงไปตรงมา และชัดเจน คือ ให้ออกจากประเทศไทยก่อนที่คดีจะไปถึงชั้นศาล และไม่ให้บอกใครทั้งนั้นเรื่องที่ฉันได้รับการตอบรับเข้าเรียน เพราะว่ามันจะทำให้ฉันดูเสี่ยงต่อการหนีคดีหมิ่นประมาท โดยเฉพาะในกรณีของฉันที่ต้องสู้อยู่คนเดียวไม่น่าจะออกมาดีนัก
พวกเขาแนะนำว่า ฉันอาจจะใช้โอกาสนี้เพื่อรณรงค์เสรีภาพของสื่อ โดยให้ตีพิมพ์บอกเล่าประสบการณ์ของฉัน โดยไปอยู่นอกประเทศซึ่งปลอดภัย มากกว่าที่จะมาติดแหงกที่นี่ และพยายามต่อสู้คดีในศาลไทย
ในตอนนั้น ทางเลือกนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ ในความคิดของฉัน การหลบหนีเป็นทางออกสุดท้าย และฉันก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ในที่สุดความเป็นเหตุเป็นผลนั้นจะเอาชนะได้ ฉันยังต้องการที่จะกลับมาในประเทศไทยได้ เพราะว่าฉันรักประเทศนี้ และรู้สึกดีกับหลายคนที่นั่น ฉันมองว่า คดีนี้เป็นคดีเล็ก ๆ และไร้สาระ และมีหลักฐานแน่นและง่ายต่อการพิสูจน์
ฉันไปนัดเจอกับทนายอย่างน้อยสิบคน รวมถึงผู้พิพากษาไทยสองคนด้วย หนึ่งในนั้นใส่เสื้อพิมพ์ลายแบบฮาวาย พวกเขาเข้าใจว่า ฉันไม่มีเงินพอที่จะจ้าง แต่พวกเขาก็กรุณาพอที่จะให้ความเห็น—ทุกคนเห็นตรงกันว่า งงงวยกับวิธีที่บางกอกโพสต์ทำให้ฉันตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้—ซึ่งถ้าไม่ยอมความ ก็ต้องออกไปซะ (คนหนึ่งถึงกับให้คำแนะนำฉันว่าให้กระโดดขึ้นรถสิบล้อออกไปทางชายแดนเขมร) พวกเขายังแนะด้วยว่าฉันจะยอมรับสารภาพก็ได้; ซึ่งจะถูกปรับเป็นเงิน และอาจจะต้องกล่าวขอโทษ แล้วทุกอย่างก็จะจบ.
การตามหาผู้ใหญ่
คดีส่วนใหญ่ในเมืองไทยนั้นจบลงด้วยการตกลงนอกศาล เพราะว่ามันอาจใช้เวลานานมาก และมันยังเหมาะกับวิถีของคนไทยที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หากแต่ก็รักษาชั้นอำนาจไว้อยู่ การตกลงดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยอ้อมอย่างจงใจ กล่าวคือ เพื่อนที่เป็นคนสำคัญมากของเพื่อน จะติดต่อเพื่อนที่เป็นคนใหญ่คนโตของเขาที่รู้จักกับคนเพื่อนที่สำคัญอีกทีซึ่งใกล้ชิดกับปู่ของเจ้าหน้าที่ หรือหัวหน้า หรืออีกคน ที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่คนสำคัญ ผู้ซึ่งคอร์รัปชั่นอย่างเปิดเผยหากแต่เราจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือเพื่อให้
ทำข้อตกลงได้ในที่สุด วิถีดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าขยะแขยงและไร้หลักการในการจัดการสิ่งต่างๆ แต่นี่ก็คือประเทศไทย…
ดังนั้น ฉันจึงเริ่มสืบเสาะหาคนใหญ่คนโต, คนสำคัญ หรืออย่างที่รู้จักกันในประเทศไทยว่า ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นครูสอนออกเสียงให้แก่ลูกของเจ้านายของผู้บริหารระดับสูงรายดังกล่าว หรือเจ้าของโรงแรมที่สนิทกับเจ้านายของบางกอกโพสต์และอยู่ภายใต้เครือธุรกิจเดียวกัน ซึ่งฉันไปเจอที่งานเลี้ยงอาหารค่ำวันหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกวุฒิสภาที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิแก่ผู้ที่เสียเปรียบ และยังมี ปู่ของเพื่อนสนิทคนไทยของฉัน ซึ่งดูเหมือนจะมีความหวังที่สุด เขามีฐานะดีจากการคิดค้นยาสระผมแก้ผมร่วง
ตามโครงสร้างของสังคมไทยที่มีลำดับชั้น คนที่มีอายุ และ/หรือร่ำรวยเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการนี้ และมันก็จริง เขาได้ติดต่อผู้บริหารระดับสูงรายดังกล่าวโดยตรง และรู้ว่าผู้บริหารระดับสูงรายดังกล่าวอ้างว่าไม่อยากมีประเด็นอะไรกับฉันเป็นการส่วนตัว แต่ทนายของเขานั้นยืนกรานไม่ให้เขายอมความ เพราะว่าในคดีหมิ่นประมาท การดำเนินคดีกับชาวต่างชาติสองคน (วิน และฉัน) เป็นเรื่องน่าเชื่อถือมากกว่าชาวต่างชาติคนเดียว
นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจด้านสิ่งทอเชื้อสายไทย- อินเดียที่ร่ำรวยมาก เขาให้ความสนใจในคดีของฉันหลังจากที่ได้ยินเรื่องนี้จากคนรู้จักผู้ที่เป็นอดีตนายธนาคารวอลสตรีท นักธุรกิจคนนี้บอกว่าเขาต้องการยื่นมือเข้ามาช่วยเพราะว่าลูกสาวของเขาเป็นนักเรียนสาขาวารสารศาสตร์ และด้วยเหตุที่ว่าเขาทนไม่ได้ต่อความอยุติธรรม แต่ฉันคิดว่าจริง ๆ แล้วเขาแค่ต้องการที่จะสวมบทนักรบขี่ม้าขาวมากกว่า
เช่นเดียวกันกับอดีตนายธนาคารวอลสตรีท ที่ถูกสั่งให้มาช่วยประสานงานการสื่อสารระหว่างพวกเราด้วยอีเมล์ที่แยกกัน เพื่อไม่ให้มีหลักฐานว่านักธุรกิจชาวซิกส์ผู้นี้นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เรามักทานอาหารกลางวันร่วมกันในวันอาทิตย์ที่โปโลคลับเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งนักธุรกิจร้อยล้านคนดังกล่าวมักจะนำการสนทนาเฉกปัญญาชนไปพลางขณะจิบวิสกี้
ฉันเริ่มสงสัยว่านี่เป็นความคิดที่ดีหรือเปล่า —ที่ผ่านมา ฉันระมัดระวังเป็นพิเศษ, พยายามปกปิดความลับ, ไม่ไว้ใจใคร—และอยู่ดีๆ กลับมาบอกข้อมูลทุกอย่างให้แก่ชายลึกลับผู้นี้ ซึ่งฉันแทบจะไม่รู้จัก แต่ตอนนั้น ฉันไม่มีเวลาแล้ว และกำลังหมดหนทาง และเหนื่อยกับความมืดมน
นักธุรกิจชาวซิกส์คนนี้นั้นพาเพื่อนที่เป็นศาสตราจารย์มาด้วย และบอกให้เขาทำการวิเคราะห์เรื่องการขโมยความคิดในงานวิทยานิพนธ์ของผู้บริหารระดับสูงรายดังกล่าวด้วย ทั้งสองคนนั้นมั่นใจว่าฉันถูกทำให้เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่างานที่ฉันเขียนขึ้น หากแต่เป็นเพราะ เรื่องอื่นซึ่งสำคัญยิ่งกว่านั้น ถึงตอนนี้ฉันรู้ทันทีว่าพวกเขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ทั้งสองนั้นต้องการทำทุกอย่างใหม่หมดตั้งแต่ต้น ต้องการเอกสารทุกอย่างจากฉัน และฉันก็ทนไม่ไหวที่จะมาเสียเวลา และเงินเพื่อมาถ่ายเอกสาร เย็บเล่ม และให้เบอร์โทรศัพท์ของผู้สนับสนุนทางการเมืองแก่ผู้บริหารระดับสูงรายนั้น อาจเป็นเรื่องโชคดีก็ได้ว่า ในที่สุด พวกเขาก็หันเหความสนใจไปเรื่องอื่น โดยพวกเขาจัดทริปเดินทางท่องเที่ยวไปยังเรดวู้ด ฟอร์เรสต์ ในแคลิฟอร์เนีย นำโดยนายธนาคารวอลล์สตรีท ส่วนฉันก็ต้องจัดการเรื่องนี้ต่อไป
ฉันยังได้ติดต่อกับอีกหลายคนที่ทำงานในองค์กรด้านสื่อ ที่สนับสนุนให้ฉันนำคดีของฉันออกสู่สาธารณะ และรณรงค์เรื่องนี้เพื่อกดดันผู้บริหารระดับสูงรายนั้น และให้รับรู้ถึงความไม่ยุติธรรมของกฎหมายหมิ่นประมาทไทย ฉันเห็นด้วยในทางหลักการ แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นจุดสนใจ เพราะมันส่งผลต่อการเดินทางออกไปนอกประเทศของฉันเพื่อไปเรียนต่อ และทนายก็ยังเตือนอีกด้วยว่าการกระทำแบบนั้นรังแต่จะทำให้เหตุการณ์แย่ลง—มีการเสียหน้ามากขึ้น—และตามความเห็นของสังคม คนไทยหลายคนอาจจะหันมาเข้าข้างผู้บริหารระดับสูงรายนั้นมากกว่า
เรื่องของการขโมยความคิดนั้นถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่การทำให้คนใหญ่คนโตนั้นเรื่องเสียหน้านั้นไม่ใช่เรื่องเล็กเลย
ในเดือนมิถุนายน ฉันมีปัญหาสุขภาพปวดท้องอย่างรุนแรง และมีปัญหาในการนอน เรื่องเล็กน้อยนี้ทำให้ฉันเสียเวลาไปมาก และฉันต้องเก็บมันเอาไว้คนเดียว ฉันต้องการที่จะยกภูเขาทั้งลูกออกจากอก และหาคนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะตกลงกันอย่างง่าย ๆ ฉันก็ยังมีความหวังว่า ผู้บริหารระดับสูงรายนั้นคงจะมีเหตุผล และทุกอย่างก็จะจบลงด้วยดี
สิ่งที่ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องใหม่ก็คือ ทรงพล บรรณาธิการฝ่ายสืบสวนสอบสวน และหัวหน้าโดยตรงของฉัน—หนึ่งในหลาย ๆ คนในบริษัทที่ฉันยังไว้ใจอยู่—พาฉันไปที่ศาล เขาพยายามที่จะเจรจากับผู้บริหารระดับสูงอีกครั้ง แต่เขาไม่มา และได้ส่งทนายมาขออนุญาตต่อศาลโดยอ้างว่าเขามีอาการท้องร่วง
เราออกมาจากที่นั่นด้วยความผิดหวัง ทรงพลหัวเราะอย่างเงียบ ๆ เรื่องท้องร่วงของเขา ทรงพลบอกฉันว่าเขาจะพาฉันไปที่วัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในนครปฐม วันนั้นเป็นวันจันทร์ และฉันก็ไม่มีอารมณ์ที่จะทำงาน วันนั้นร้อน และแดดแรง เราเดินไปเรื่อย ๆ รอบเขตวัด, อ่านป้ายอธิบายของรูปปั้นต่าง ๆ ในบริเวณที่เคารพสักการบูชา ฉันทำตามทรงพล: จุดธูป, คุกเข่า, มือประสาน และทำท่าสวดมนต์, ปิดทองที่รูปปั้นองค์พระพุทธเจ้า เขาให้ฉันเสี่ยงเซียมซีเพื่อที่จะอ่านคำทำนาย และฉันก็ได้คำทำนายจากกระดาษที่เขียนว่า “คุณจะต้องได้รับบททดสอบหลายครั้ง แต่คุณจะได้รับสิ่งที่คุณต้องการ”
คำทำนายดังกล่าวเป็นเหมือนคำปลอบประโลมที่แห้งเหือด ฉันสัญญากับครอบครัวว่า จะกลับถึงบ้านภายในต้นเดือนกรกฎาคม และไม่นานเดือนกรกฎาคมก็มาถึง และปัญหาก็ยังดูไม่มีทางออก ผู้บริหารระดับสูงรายนั้นยังคงไม่ต้องการยอมความ และฉันก็ไม่ต้องการรับสารภาพ และก็ไม่มีใครที่จะมาทำให้ฝันร้ายนี้หายไปได้ หลังจากที่มีหลายคนบอกฉันว่ามันจะดีที่สุดในทางเลือกที่แย่ที่สุด ฉันก็ได้ยินยอมต่อทางออกนั้น—ฉันจะออกไปจากที่นี่
จบเกม
วันต่อมา ฉันว่าจ้างทนายคนหนึ่ง เธอมีเสียงลุ่มลึก และมีกลิ่นปาก และสำนักงานของเธอ ที่เธอได้ทำงานมาหลายต่อหลายปีนั้น ยังมีสิ่งที่แขวนบนผนังและใบรับรองทางนิติศาสตร์วางระเกะระกะอยู่บนพื้น ในขณะสิ่งที่กล่าวไปไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ฉันเท่าไหร่ แต่มีเพื่อนคนไทยที่ไว้ใจได้แนะนำทนายคนนี้มา และเธอก็ตรงไปตรงมา และเด็ดขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกใจชื้น เธอวางแผนว่า จะให้ฉันลงนามมอบอำนาจ โดยให้เธอเป็นทนายประจำตัวของฉันหนึ่งวันก่อนออกนอกประเทศ เพื่อที่เธอจะได้รับหน้าที่แทนรณชัยเมื่อฉันได้ออกไปแล้ว เธอจะยื่นเอกสารที่จำเป็นทุกอย่างเมื่อฉันไปถึงไอโอว่า เพื่อให้แน่นอนว่าจะไม่ถูกตั้งข้อสงสัย ก่อนที่มันจะสายไปในการหยุดยั้งฉัน
แผนการออกนอกประเทศมีดังนี้: ส่งเอกสารคำร้องขอที่กำหนดเวลาเดินทาง, ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ, และคำอธิบายรับรองจุดประสงค์การเดินทางที่ลงนามโดยบรรณาธิการ และยื่นให้แก่ผู้พิพากษาสิบวันก่อนการเดินทาง จากนั้นก็หวังและรอ รับเอกสารคนเข้าเมือง, ส่งเอกสารนั้นให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน และบินออกนอกประเทศ
สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่ดี—ใกล้, ไม่แพงจนเกินไป, ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร และไม่ได้เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับประเทศไทย ฉันได้รับรับคำแนะนำว่าไม่ให้ซื้อตั๋วเครื่องบินจากสิงคโปร์ไปสหรัฐฯ จนกว่าที่ฉันจะเดินทางไปถึงสิงคโปร์ และเลือกไฟล์ให้มีการต่อเครื่องน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
ฉันส่งแผนการเดินทางของฉันสิบเอ็ดวันก่อนเดินทาง พร้อมแนบจดหมายจากทรงพลที่ระบุเรื่องงานข่าวเกี่ยวกับการค้าประเวณีของคนไทยในสิงคโปร์ ถึงแม้ว่าเขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำมัน แต่ฉันก็นจำได้ว่า พัฒนพงษ์เซ็นต์อนุมัติ และรณชัยก็ไปยื่นให้ศาล ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ถึงแม้จะเหลืออีกไม่กี่วันก่อนวันเดินทาง แต่ฉันก็จะกังวลมากไม่ได้เพราะมีหลายอย่างที่ฉันต้องจัดการ ฉันเก็บกระเป๋า, ส่งของ และกังวลเรื่องกระเป๋าเดินทาง—เพราะมันต้องดูเหมือนว่าฉันกำลังจะไปทำงานแค่สี่วัน ฉันไปที่ออฟฟิศ และค่อย ๆ จัดการเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์, เก็บเอาของมีค่าจากโต๊ะของฉัน, ตระเตรียมให้ดูเหมือนว่าฉันจะไม่ได้วางแผนว่าจะไปนาน ฉันปล่อยให้โต๊ะของฉันรกเหมือนที่เคยเป็นอยู่ตลอด มีกระดาษกองอยู่อย่างไม่ระเบียบ, สลิปเงินเดือน, คู่มือสื่อ, กระดาษจดโน้ต, แผ่นรองเม้าส์ และปฏิทินจากสำนักงานตัวแทนจากยูเอ็น
ในที่สุด ฉันก็ได้รับคำอนุมัติจากศาลในบ่ายวันศุกร์ วันที่ 9 กรกฎาคม เป็นเวลา 17 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง เป็นเรื่องที่น่าโล่งอก หากแต่ก็ยังมีเรื่องยุ่งยากอีกเรื่อง คือ ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้โทรมาหาฉันและแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ได้นัดประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งฉันจะต้องเปิดเผยเจตนาว่าต้องออกจากประเทศเพื่อไปเรียนต่อ แต่เขาก็จะบอกว่า สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะมีกรณีของนักเปียโนชาวรัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการข่มขืนเด็กชายไทยก่อนหน้านี้ ได้รับการประกันตัวออกมา และในอาทิตย์นั้นได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับรัสเซียก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ทางสถานทูตคิดว่าฉันจะใช้เหตุผลข้อนี้อ้างได้
ฉันใช้เวลาตลอดบ่ายนั้นโทรหาทนายหลายคนที่ได้รู้จักตลอดช่วงเวลาที่ยากลำบาก และทุกคนเห็นด้วยว่าไม่ควรเข้าประชุม และให้ออกนอกประเทศตามที่วางแผนไว้ พวกเขาให้เหตุผลว่า กระทรวงการต่างประเทศนั้นไม่ใช่กระทรวงยุติธรรม และไม่มีน่าจะมีการล็อบบี้ใดที่จะได้ผล อีกอย่างคือฉันจะต้องกลับมาขึ้นศาลอีกทีในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจทำให้รูปคดีซับซ้อนขึ้นไปอีกได้
ฉันจึงตัดสินใจออกจากประเทศไทย เย็นนั้น ฉันทานข้าวกับยำจานใหญ่ และฉันก็ได้มาถึงสนามบินกับกระเป๋าเดินทางใบเล็ก ในเช้าวันต่อมา ฉันกังวลช่วงด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตรวจดูเอกสารต่างๆ ในขณะที่ฉันยื่นเอกสารและใบรับรองจากศาลว่า จะกลับมาในอีกสามวัน และสัญญาว่า จะกลับมาเมืองไทยในอีกสามวัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่พลิกดูเอกสารต่างๆ ฉันใช้เวลาห้านาทีที่ยาวนานตอบคำถามที่เกี่ยวข้อง และอดกลั้นไว้ไม่ให้น้ำตาไหลออกมา ในที่สุดเขาก็โบกมือให้ฉันเดินผ่านด่าน
ฉันคาดหวังไว้ว่าคงจะได้รู้สึกโล่งอก เพีงแต่ไม่รู้ว่าตอนไหน; ตอนที่ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง หรือตอนที่เดินขึ้นเครื่อง, แต่ที่แน่ๆ คงจะรู้สึกโล่งอกทันทีที่เครื่องบินลงจอดในสิงคโปร์—แต่มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฉันนั่งร้องไห้มาตลอดทาง และยังคิดอยู่ว่าฉันต้องกลับไปประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศ ถ้ามันไม่ได้ผลฉันก็อาจจะกระโดดขึ้นรถบรรทุกหนีออกไปยังกัมพูชาได้ทุกเมื่อ เหมือนที่ทนายคนหนึ่งเคยแนะนำไว้
ทุกคนที่ฉันได้พูดด้วยตอนมาถึงสิงคโปร์ บอกว่า ความคิดนี้เป็นความคิดที่แย่ที่สุด และสิบสองชั่วโมงถัดมา ฉันก็มาถึงไอโอว่า
ฉันมาถึงบ้านพ่อกับแม่ในเมืองซีดาร์ ราปิดส์ รัฐไอโอว่าในคืนวันที่ 11 กรกฎาคม และได้รับการต้อนรับจากคนในละแวกบ้านกว่าครึ่ง พวกเขาประดับหน้าบ้านเราด้วยลูกโป่ง มีป้ายสีดำทองเขียนว่า “เอริก้ากลับมาแล้ว!!!” มันช่างน่าตื้นตันใจ และฉันก็รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาถึงบ้านเสียที ในขณะเดียวกัน ฉันก็รู้สึกเศร้ามากกว่าโล่งอก, ละอายใจ และรู้สึกผิดที่ทำให้พ่อ และแม่ต้องนั่งเครียดกับสิ่งที่ฉันทำ
สองวันต่อมาฉันส่งจดหมายลาออกไปยังบางกอกโพสต์ พวกเขาไม่พอใจ—และช็อคที่ฉันได้ทำการแบบฉลาดแกมโกง อย่างที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งบอก “หนีไปทั้ง ๆ เรื่องยังไม่จบ” และบอกฉันว่าฉันต้องกลับไปเผชิญข้อกล่าวหา ฉันได้รับแจ้งว่ามีหมายจับฉัน และรู้ด้วยว่าบางกอกโพสต์ได้อายัดเงินของฉันในกองทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินประกันที่บริษัทนำไปค้ำประกันฉันในศาล
ในเดือนสิงหาคม ฉันเริ่มเข้าเรียน และพยายามที่จะลืมเรื่องที่เกิดขึ้น ในบางครั้งบางคราว ฉันจะได้ยินวิน ที่ส่งข่าวร้ายมาให้ เช่น วันหนึ่งในขณะที่เขาเดินทางไปศาล มีคนปาหินก้อนใหญ่ใส่ที่กระจกหลังบนรถของเขา เป็นต้น
แต่ประเทศไทยก็ยังไม่เปลี่ยน ฉันติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ ฉันยังติดต่อกับเพื่อนที่อยู่ในรัฐบาล— ฉันพยายามที่จะไม่พูดถึงเรื่องคดีของฉันกัเขา และไม่มั่นใจว่าเขารู้เกี่ยวกับสาเหตุที่ฉันออกจากประเทศไทยหรือไม่— ฉันได้ไปพบเขาบ่ายวันหนึ่ง เมื่อเขามานิวยอร์คในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อโปรโมทแคมเปญ “การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขังหญิง” ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ยูเอ็น
เขาพาฉันไปยังร้านหนังสือบอร์เดอส์เพื่อแนะนำให้ฉันรู้จักกับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมทั้งคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรม ที่กำลังหาซื้อหนังสืออ่านตอนขากลับ เท่าที่ฉันรู้นั้นไม่มีใครทราบเรื่องราวของฉัน นายกรัฐมนตรีและตัวฉันพูดคุยกันอย่างสนุกสานาน ในขณะที่เขาเหลือบมองโปสเตอร์หนังเรื่อง Eat, Pray, Love พวกเขาเสนอจะขับรถมาส่งฉัน ฉันกล่าวขอบคุณ และตัดสินใจนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้าน
เดือนพฤศจิกายนผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ปรากฎว่า ข้อกล่าวหาต่อวินนั้นถูกยกฟ้อง แต่ของฉันมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากว่าฉันไม่ได้อยู่ที่นั่น – สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ฉันตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของฉันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพิ่งจะเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง ที่ฉันจ่ายเงินค่าประกันตัวคืนให้บางกอกโพสต์ ที่เขาว่าฉันติดค้างอยู่ ในขณะเดียวกัน เขาก็คืนเงินที่เหลือในกองทุนให้ฉัน
เจ้าหน้าที่การเงินแจ้งข่าวการโอนเงิน พร้อมคำพูดที่กรุณาว่า “คุณจะอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป และเราขออวยพรให้คุณโชคดี, มีความสุข และประสบแต่ความสำเร็จ”
ในช่วงหนึ่งฉันรู้สึกว่ามันเกือบจะพอที่ทำให้ฉันให้อภัย และลืมว่าบางกอกโพสต์ทำกับฉันไว้อย่างไร
แต่ต่อมา พัฒนพงษ์ก็อธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นในแบบของเขา ไม่น่าแปลกใจเลยว่า มันแตกต่างจากเรื่องราวฉบับของฉันมาก เขาบอกว่า บรรณาธิการหนึ่งในสามคนนั้นได้เตือนเรื่องการเผยแพร่งานเขียนของฉันก่อนหน้านี้แล้ว—ถ้านี่เป็นเรื่องจริง ฉันก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย เขาบอกว่าผู้บริหารระดับสูงรายนั้นได้เตือนฉันแล้วว่าไม่ควรตีพิมพ์งานเขียนชิ้นนี้—เรื่องนี้เป็นจริง แต่บรรณาธิการก็รับรู้แล้ว นอกจากนี้ มันแทบจะฟังไม่ขึ้นเลยถ้าจะไม่ตีพิมพ์งานเขียนที่มีหลักฐานและข้อมูลหนักแน่นและถูกต้อง
เขาบอกว่า วินไม่ได้บอกความจริงเกี่ยวกับเป้าประสงค์ที่แท้จริงของเขา —ในฐานะที่ฉันได้เจาะเรื่องนี้ลึกว่าพัฒนพงษ์ ฉันเชื่อว่ารายงานข่าวของฉันถูกต้องและเที่ยงตรง พัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า เขาได้ปรึกษาเรื่องนี้กับฉันก่อนที่จะสู้ให้ศาลยกฟ้องข้อกล่าวหา —ซึ่งไม่เป็นความจริง –และยังว่า ฉันเรื่องเยอะ และเอาแต่เรียกร้องให้มีการยกฟ้องในคดีของฉัน ถึงแม้เขาจะยืนยันว่า ผู้บริหารรายนั้นคงจะยกฟ้องข้อกล่าวหาหากฉันไปปรากฎตัวต่อหน้าศาล แต่ฉันไม่เห็นเหตุผลว่า ฉันจะไว้เนื้อเชื่อใจคำพูดดังกล่าวของเขาได้อย่างไร
แต่ที่น่าโมโหมากกว่านั้น คือ ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปเลย นอกจากความจริงที่ว่าฉันไม่สามารถกลับไปประเทศไทยได้อีก ผู้บริหารระดับสูงรายนั้นยก็ยังคงเป็น “ด็อกเตอร์” และยังมีงานทำ
พัฒนพงษ์ และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ยังคงทำตนเสมือนว่าจะยืนอยู่เคียงข้างนักข่าวของเขา กฎหมายหมิ่นประมาทที่มีโทษสูงในประเทศไทย, ระบบยุติธรรมที่ถูกบงการโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจบาตรใหญ่และมีอิทธิพลก็ยังเหมือนเดิม ทำให้การทำหน้าที่ของสื่ออย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องที่ยากเหลือคณานับ จนเกือบจะเป็นไปไม่ได้
ฉันรู้สึกโชคดี เพราะฉันยังมีสิ่งล้ำค่าที่นักข่าวไทยไม่มี นั่นคือ ฉันยังมีที่ทางสำหรับการหลบหนี
@@@@@@@@@@
ที่มา Thai Association for Human Rights http://thai-ahr.org/2011/09/27/%E2%80%9C%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/
อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.cjr.org/behind_the_news/fry_in_thailand.php
Tags: การหลบหนี, บางกอกโพสต์, ยุติธรรม, หมิ่นประมาท