ประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง “สิทธิผู้ต้องหากับบทบาทสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ”
เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม จิตติ ติงศภัทิย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ วิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สิทธิผู้ต้องหากกับบทบาทสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ” พร้อมเสนอข้อเรียกร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา และผู้เสียหายในคดีออาญา โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน อาทิ พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนจากศูนย์ฝึกอบบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เข้าร่วม
ผศ.ดร.ปกป้อง ระบุว่า การเสนอข่าวที่กระทบต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย หลักการสันนิษฐาน เราจะปฏิบัติต่อเขาเสมือนผู้มีความผิดไม่ได้ ทั้งนี้การนำเสนอข่าวการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยการใส่กุญแจมือนั้น เป็นการเสนอข่าวที่กระทบสิทธิผู้เสียหาย โดยการเผยแพร่ภาพข่าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายในเหตุการณ์ที่ถูกกระทำ เสมือนการกระทำที่ละเมิดสิทธิ ดังนั้นการเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการกระทบต่อสิทธิผู้เสียหาย ไม่ใช่ผู้ต้องหา
“กฎหมายไทยเกี่ยวกับการเสนอข่าวในคดีอาญา ซึ่งกฎหมายก็ระบุไว้อย่างชัดเจน สมมติว่าสื่อเสนอข่าวที่ขัดต่อกฎหมาย และผู้ต้องหาได้รับผลกระทบต่อการนำเสนอ สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ ๑.ความผิดฐานหมื่นประมาท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๒.ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท” ผศ.ดร.ปกป้อง กล่าวและว่า "ห้ามเสนอข่าวในลักษณะที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกใส่กุญแจมือ หรือเครื่องพันธนาการ หรืออยู่ในห้องขังโดยผู้นั้นไม่ยินยอม" นี่คือกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายของฝรั่งเศส
ผศ.ดร.ปกป้อง เสนอแนะว่า เสรีภาพสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่สำคัญในระบบประชาธิปไตย และเสริมสร้างการตรวจสอบกาารทำงานของรัฐ การนำเสนอข่าวในคดีอาญาของสื่อมวลช ควรคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้เสียหายในคดีอาญาด้วย ทั้งนี้ การเสนอข่าวในคดีอาญาที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและไม่ละเมิดสิทธิบุคคล น่าจะอยู่ในกรอบของ ๑.การไม่เสนอข่าวที่กระทบต่อสิทธิผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้เสียหาย ๒.การให้ประชาชนทราบถึงฐานความผิดและโทษในกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสังคมและป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมเลียนแบบ ซึ่งผมเชื่อว่าความสมดุลจะเกิดขึ้น
ด้าน พ.ต.อ.ดร.มานะ กล่าวว่า การสอบสวนเป็นการดำเนินการในชั้นการตรวจสอบ การที่นำผู้ต้องหาไปชี้จุดเกิดเหตุต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอม เจ้าพนักงานจะกระทำไม่ได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายในเมืองไทยค่อนข้างแย่ เพราะบริบทของสังคมไทยไม่ยึดเรื่องหลักกฎหมายเป็นใหญ่ เนื่องจากก่อเกิดความเชื่อจากวิธีคิด ค่านิยม และพวกที่จะยึดกฎหมายเป็นหลักนั่นคือพวกอ่อนแอในสังคม
"กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาของเราก็ไม่น้อยหน้าต่างประเทศ แต่บ้านเรากฎหมายมันอ่อนแอ และสื่อก็มีบทบาทสำคัญในการตีแผ่ไปสู่สังคมแบบตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจนไม่คำนึกถึงหลักจรรยาบรรณสื่อ ดังนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมมือกัน"
นายมานพ กล่าวว่า หน้าที่ในการเผยแพร่เป็นความรับผิดชอบของสื่อ แม้จะมีข้อบังคับของสื่อแต่ทิศทางในการเปลี่ยนแปลงสื่อของไทย ยังแย่ลงทุกวัน เรายังเห็นภาพที่ละเมิดสิทธิผู้ต้องหาอยู่เสมอ ซึ่งโดยทั่วไป ช่างภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว มักเลือกการนำเสนอข้อมูลภาพภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพความสูญเสีย หรือภาพที่แสดงถึงความรุนแรง การรายงานข่าวความรุนแรง สื่อสามารถเลือกได้ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงในลักษณะรูปแบบที่ครอบคลุมแบบสันติ โดยใช้ประเด็นปัญหา แนวทางแก้ไขควบคู่กัน ไม่ฉายภาพความรุนแรงขึ้นนำ เนื่องจากไม่เกิดผลดี
“ประเด็นที่ว่าสื่อไทยไม่สมารถพัฒนาเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากองค์กรผู้บริโภคยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด บางเรื่องขัดทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กบ้าง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบ้าง วันนี้พวกเราพยายามรณรงค์เรื่องความรับผิดชอบโดยทั่วไป และเราอยากเห็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ ออกมาฟ้องร้องสื่อในเรื่องที่เห็นว่าสื่อทำผิด และเราอยากผลักดันให้สื่อแต่ละประเภท คำนึงถึงการละเมิดสิทธิ โดยไม่ต้องรอการบังคับใช้กฎหมาย หรือข้อบังคับจากองค์กรสื่อ ผมอยากเห็นช่องทางของตำรวจที่จะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งและเต็มที่ต่อสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ เพราะผมไม่เห็นว่าการมีเสรีภาพจะใช้กันอย่างสะเพร่า โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม"
“จะต้องมีผู้ฟ้องร้องสื่อเมื่อเกิดกรณีละเมิดจริยธรรม จึงจะมีการดำเนินการได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกันว่าพวกเรากันเองไม่ค่อยให้ความสนใจ และละเลยเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ และเป็นความยากลำบากที่จะทำให้เกิดเสรีภาพบนความรับผิดชอบของสื่อที่กลายเป็นธุรกิจในปัจจุบัน สื่อกลายเป็นระบบอุตสาหกรรมโรงงาน” นายมานพ กล่าว
น้อง ก. (นามสมมติ) ตัวแทนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การเผยแพร่ข่าวเด็กและเยาวชนมีผลกระทบโดยตรงต่อตัวเด็กที่กระทำผิด โดยส่วนตัว แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว ๔ ปี แต่ชื่อจริง นามสกุลจริงของผมยังปรากฎอยู่ในเว็บข่าวออนไลน์ ผมคิดว่ากรณีการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนจะรู้สึกเหมือนกันว่าการกระทำผิดของตัวเองเป็นการผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากข่าวยังคงปรากฎต่อสายตาประชาชนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ยิ่งตอกย้ำความผิดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เหยื่อ แต่หมายถึงคนในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดอีกด้วย
“ผมคิดว่าโทษในการตัดสินคดีจะมากน้อยนั้นไม่สำคัญเท่าการเยียวยาจิตใจของเยาวชน เพราะถ้าไม่ได้รับการเยียวยาก็จะไม่สามมาราถมีชีวิตในสังคมต่อไปได้ เมื่อข่าวที่เคยกระทำความผิดยังผลิตซ้ำ และตอกย้ำความผิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้มาอยู่บ้านกาญจนา ผมก็ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตได้ปกติหรือไม่ บ้านหลังนี้ช่วยเยียวยาจิตใจให้เราได้เยอะมาก บางคนที่ออกไปจากบ้านก็จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้”
///////////////
หนังสือเรียกร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา
วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘
เรื่อง ข้อเรียกร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา
เรียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นากสมาคมนักข่าวิทยุและโทรทัศน์ไทย
ในขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา เมื่อตำรวจจับกุมผู้ต้องหาก็มักมีการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวการจับกุมโดยเปิดเผยใบหน้าและตัวตนต่อสื่อมวลชน และยังมีการนำเสนอข่าวทั้งในโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ รวมทั้งในอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีการนำผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพโดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชนอีกด้วย อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากนั้นยังกระทบสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหายและครอบครัว
ข้าพเจ้าในนามกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ วิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักถึงปัญหาของสิทธิผู้ต้องหาในเรื่องการระบุตัวตนต่อสาธารณชน เช่น การแถลงข่าวการจับกุม การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งปัญหานี้มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งตำรวจ สื่อมวลชน และประชาชนนั้น
ด้วยเหตุนี้กลุ่มนักศึกษา จึงขอความร่วมมือมายังท่าน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว โดยมีสาระ ดังนี้
๑.ในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้เยาว์ หรือคดีที่เป็นเรื่องส่วนตัว อาทิ คดีครอบครัว คดีในความผิดเกี่ยวกับเพศ ไม่ควรมีการแถลงข่าวที่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน
๒.คดีทั่วไป ไม่ร้ายแรงถึงขนาดกระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณชน ควรปิดบังใบหน้าและชื่อสกุลจริงของผู้ต้องหาในขณะแถลงข่าวจับกุม
๓.ในการทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ ไม่ควรมีสื่อมวลชนเข้ามาบันทึกภาพในขณะทำแผนประกอบคำรับสารภาพ นอกจากนี้ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ต้องหา โดยจัดพื้นที่ในการทำแผนประกอบคำรับสารภาพให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกมาทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๘๕๕/๔๘ ระบุว่าห้ามสื่อเข้าทำข่าวในขณะที่มีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ
๔.สื่อมวลชนควรระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่ละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อผู้ต้องหา/ผู้เสียหาย และครอบครัว
- การนำเสนอข่าวต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ไม่ส่งผลให้ผู้รับรู้ข่าวตัดสินว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิด
- ไม่ควรระบุตัวตนโดยการเปิดเผยชื่อสกุลจริง และใบหน้าของผู้เสียหาย
- ไม่ควรสัมภาษณ์ใดๆ ในลักษณะที่เป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหา หรือบุคคลใดๆ อันเป็นเหตุทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี
- ไม่ควรนำเสนอข่าว/ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นการนำข้อมูลของผู้เสียหาย และภาพข่าวมาเผยแพร่ซ้ำ อันเป็นการตอกย้ำเหตุการณ์เลวร้ายต่อผู้เสียหาย และครอบครัวของผู้เสียหาย รวมถึงเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา
ทางกลุ่มนักศึกษาฯ มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเรียกร้องข้างต้น จะเกิดผลขึ้นจริงในทางปฏิบัติต่อไป
กลุ่มนักศึกษา วิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์