รายงานพิเศษ Alert Network

รายงานพิเศษ
ก่อร่างสร้างรูปอาสาสมัครปกป้องสิทธิพิชิตการคุกคามสื่อ Alert Network

รายงานพิเศษ Alert Networkจากแถลงการณ์ของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น)  ที่มีออกมาในวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนทั่วโลกที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “เสรีภาพสื่อมวลชนถือเป็นหนึ่งในรากฐานของสันติภาพและประชาธิปไตย” อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการตอกย้ำถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

เพราะจากข้อมูลการรายงานขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins sans Frontières)ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าในปี 2008 ที่ผ่านมาได้มีนักข่าวทั่วโลกเสียชีวิต 60 คน และอีก 929  คนถูกทำร้ายหรือถูกคุกคาม และมีผู้สื่อข่าวถูกทำร้ายและคุมขังกว่า 100 คน  และในรอบปีที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของ “สื่อมวลชนไทย”  ก็ถูกข่มขู่และคุกคามด้วยหลากหลายวิธีการและหลากหลายรูปแบบไม่แพ้ชาติอื่น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของ “สื่อมวลชนไทย”  จึงได้วางยุทธศาสตร์เชิงรุกในการปกป้องคุ้มครองและดูแลสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของ “สื่อมวลชนไทย” ให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยการจัดตั้ง  “ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ” เพื่อเข้ามาดูแลในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยโดยตรง

และในวันเสาร์ที่ 18 และวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฏาคม 2552 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเชียอาคเนย์(ซีป้า) จัดอบรม “อาสาสมัครปกป้องสิทธิ  พิชิตการคุกคามสื่อ หรือ Alert Network” รุ่นที่ 1 ขึ้นที่โรงแรมเมาเท่นบีช รีสอร์ท พัทยา  เพื่อร่วมสร้างอาสาสมัครในการเฝ้าระวังสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยทั่วประเทศให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยการจัดอบรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้สื่อข่าวทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลางเข้าร่วมอบรมเป็นอาสาสมัครในโครงการนี้เป็นจำนวนมาก

นายวันชัย วงศ์มีชัย อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อนายวันชัย วงศ์มีชัย อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้ว่า “เรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนที่ปฏิบัติหน้าที่สะท้อนความจริงให้สังคมได้รับทราบเป็นอย่างมาก และที่ผ่านมามีนักข่าวหลายคนถูกข่มขู่คุกคามให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่สะท้อนความจริงให้สังคมได้รับทราบ มีนักข่าวหลายคนถูกฆ่าอย่างอุกอาจเพราะเข้าไปทำข่าวหรือขุดคุ้ยเรื่องของผู้มีอิทธิพล หรือหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ถูกคุกคามด้วยการฟ้องร้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท และแม้แต่สื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตก็ถูกข่มขู่และถูกปิดกั้นในการนำเสนอข้อมูลด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยได้ จึงจัดตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ” ขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลเพื่อน ๆ สื่อมวลชนในเรื่องเหล่านี้ และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมในโครงการอาสาสมัครปกป้องสิทธิ พิชิตการคุกคามสื่อครั้งนี้ จะเป็นตัวแทนของศูนย์ฯและสมาคมนักข่าวเพื่อช่วยดูแลเพื่อน ๆ ในวิชาชีพของเราต่อไปได้”อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าว

อย่างไรก็ตามการจัดการอบรม“อาสาสมัครปกป้องสิทธิ  พิชิตการคุกคามสื่อ หรือ Alert Network” ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมกิจกรรมหลายส่วนที่น่าสนใจอาทิ การอบรมและฝึกเขียนรายงาน “การละเมิดเสรีภาพในการเสนอข่าว-ความคิดเห็นของสื่อมวลชนไทย” การร่วมวางเครือข่ายในการทำหน้าที่อาสาสมัคร Alert Network  การชมภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และกิจกรรมที่มีสีสันและที่สุดในงานคือกิจกรรมการถอดบทเรียนการคุกคามสื่อ  “เปิดเบื้องหลังความจริงเมื่อนักข่าวถูกคุกคาม“ ซึ่งในกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมอบรมจากทั่วประเทศได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของการถูกคุกคามจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน และหลายประสบการณ์ของหลากหลายคน สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากและความเสียสละในการทำหน้าที่ได้อย่างมากมาย

ผู้เข้าร่วมอบรมถอดบทเรียนเรื่องการคุกคามสื่อนายวิรัช ทองเรือง ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ “อุบลโพสต์” เล่าถึงประสบการณ์ในการถูกคุกคามในการทำหน้าที่ให้เพื่อนอาสาสมัครที่เข้าร่วมอบรมให้ฟังว่า “ผมทำหน้าที่สื่อมวลชนในจังหวัดอุบลมาหลายปี และในการทำหน้าที่ก็มีหลากหลายครั้งที่สร้างความไม่พอใจให้กับบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันทางการเมืองบ้าง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งในการจัดรายการวิทยุ ตนก็วิพากษ์วิจารณ์ข่าวทางการเมืองทีเกิดขึ้นจากการชุมนุม ก็ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดล้อมสถานีวิทยุ พร้อมทั้งบ้านพักก็ถูกทำลายจนได้รับความเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์คุกคามครั้งนี้ ถือว่าค่อนข้างแรงในการทำหน้าที่สื่อมวลชนของผม”  ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์อุบลโพสต์กล่าว

ปิยะ วงศ์ไพศาล ผู้สื่อข่าวนสพ.ไทยรัฐขณะที่นายปิยะ วงษ์ไพศาล ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดราชบุรีกล่าวว่า “ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคอาจจะทำงานแตกต่างจากส่วนกลางมาก เพราะเราไม่มีเงินเดือนประจำ เราจะได้ค่าข่าวเป็นรายชิ้น จึงต้องค่อนข้างดิ้นรนกว่าผู้สื่อข่าวส่วนกลาง แต่ผมยืนยันได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าจรรยาบรรณและอุดมการณ์ในการทำหน้าที่ก็ไม่แพ้กัน ประสบการณ์ของผมในการทำหน้าที่และถูกคุกคามนั้น ที่หนักมากที่สุดเห็นจะเป็นการถูกตามฆ่า เพราะผมได้ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ค่อนข้างลึกมาก และสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ถูกนำเสนอเป็นข่าวเขาส่งคนมาซุ่มที่หน้าบ้านและตามประกบ ผมรู้และสัมผัสได้ว่านั่นคือการหมายมั่นเอาชีวิตผม ถามว่ากลัวมั้ยในขณะนั้นเราก็กลัว แต่การทำหน้าที่ของเราก็ต้องทำต่อไป  ครั้งแรกเหมือนเป็นแค่การขู่ แต่นานๆ เข้าผมชักเริ่มไม่มั่นในในความปลอดภัยของชีวิตตนเอง จึงให้ผู้ใหญ่ทางหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดดูแลให้ จึงรอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้ และผมเองก็รู้สึกดีนะถ้าการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้มันสามารถทำให้การคุกคามสื่อเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้” ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดราชบุรีกล่าว
 

ศุภลักษณ์ สุวรรณาลัย ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีความรู้สึกของ ปิยะ คงไม่ต่างไปจากความรู้สึกของ ศุภลักษณ์ สุวรรณาลัย ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมของเนชั่นทีวี ที่ผ่านสนามข่าวอาชญากรรมมาอย่างโชกโชนและผ่านการคุกคามมาอย่างหลายรูปแบบ “ ของเรานักข่าวอาชญากรรมก็จะถูกคุกคามเยอะมากและหลากหลายรูปแบบมาก โดยเฉพาะพี่เองที่อยู่โต๊ะตระเวน เราก็ต้องทำทุกข่าวที่เป็นเหตุด่วนทีเกิดขึ้น มีอยู่ครั้งหนึ่งมีดาราคนหนึ่งเขาขับรถชนคนตาย เราก็รีบไปทำข่าว ตอนนั้นคนตายหลายคนมาก ดาราคนนั้นก็ตวาดพวกเราว่า “มาถ่ายเขาทำไมเขาไม่ใช่อาชญากร พร้อมกับปัดกล้องพวกเรา” เราก็นึกในใจว่า อ้าว “คนมันตายเยอะขนาดนี้ไม่เรียกอาชญากร แล้วจะเรียกอะไรวะ  พอรุ่งเช้าดาราคนนั้นมาออกมาแถลงข่าวขอโทษกับนักข่าวบันเทิง ซึ่งนักข่าวที่ถูกคุกคามคือนักข่าวอาชญากรรม ไม่ใช่นักข่าวบันเทิง เราก็รูสึกขำดี เหตุการณ์แบบนี้เราจะเจอเยอะมาก” ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมของเนชั่นทีวีบอกเล่าความรู้สึก

อย่างไรก็ตามเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ยังมี “ผู้สื่อข่าวหลายคนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแวะเวียนกันเข้ามาถ่ายทอดบทเรียนของการถูกคุกคาม และการเอาตัวรอดจากการถูกคุกคามในหลายกรณี ซึ่งบทเรียนต่างๆ นั้นจะถูกบันทึกจัดทำเป็นหนังสือ “คู่มือการทำข่าวอย่างปลอดภัย”  ให้เพื่อน ๆ สื่อมวลชนทั่วประเทศได้ร่วมใช้ศึกษาในการทำตัวเองให้ปลอดภัยในการทำข่าว

รายงานพิเศษ Alert Networkการเริ่มต้นของ “อาสาสมัครปกป้องสิทธิ  พิชิตการคุกคามสื่อ หรือ Alert Network” กลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้ อาจจะเป็นบันไดขั้นแรกของการต่อสู้ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย เราเชื่อเหลือเกินว่า บันได้เล็ก ๆ  กลุ่มนี้จะขยายผลให้คนกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ใช้เป็นทางเดินร่วมกันเพื่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยต่อไปในวันข้างหน้า !!!!@@@@@





ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อรายงาน



หมายเหตุติดตามความเคลื่อนไหวในการทำหน้าที่ของ Alert Network ได้ที่ www.tja.or.th
ท่านสามารถแจ้งเหตุการคุกคามสื่อได้โดยตรงที่ press_freedom@windowslive.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพทาย กันนิยม ผู้ประสานงานศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ
โทร 02-688-7505,086-3351069