สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 ธ.ค.2562

 

สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 ธ.ค.2562


1.เว็ปไซต์ https://www.thaipost.net รายงาน กระทรวงวัฒนธรรมออกมาสนับสนุนกองทุนสื่อปลอดภัย 202 ล้าน เพื่อผลิตสื่อสร้างสรรค์ 68 ในโครงการ ป้องกลั่นแกล้งโลกออนไลน์-แตกแยก-เกลียดชัง ข่าวปลอม โดยนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้กล่าวในพิธีเปิดงานและมอบนโยบายในการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับโครงการได้รับทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grants) ประจำปี 2562 โดยมีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้บริหาร และผู้ได้รับทุนเข้าร่วม ที่โรงแรมปริ๊นท์พาเลซ (โบ๊เบ๊ทาวเวอร์) กรุงเทพฯ ว่า ในปี 2562 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีมติเห็นชอบอนุมัติการสนับสนุนโครงการ หรือกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2562 จำนวน 68 โครงการ จากที่มีผู้สนใจยื่นโครงการเข้าร่วมพิจารณา 474 โครงการ งบประมาณ 202 ล้านบาท

แบ่งเป็นการให้ทุน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และการใช้ประทุษวาจา (Hate Speech) ในสื่อออนไลน์ที่สร้างความแตกแยกและเกลียดชังต่อผู้คนในสังคม 2.การรับมือกับข่าวปลอม (Fake News) 3.การขัดความรู้เท่าทันสื่อของประชาชนกลุ่มต่างๆ 4.เด็กติดเกมและการพนันออนไลน์ 5.การสร้างนวัตกรรมสื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชน คนพิการและผู้สูงอายุ


2.จากสภานการณ์ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เว็ปไซต์ https://www.tvdigitalwatch.com ได้รายงานว่า 6 ช่อง “เงินช่วย” หมด อดดูช่อง HD โดยตั้งแต่ 20 ธ.ค.2562 ผู้ชมทีวีดิจิทัลผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบการออกอากาศของกลุ่มช่องความคมชัดสูง หรือ HD 6 ช่อง จะลดลงมาออกอากาศแบบมาตรฐานปกติ หรือ SD เท่านั้น ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือการจ่ายค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ( Must Carry) ให้กับทุกช่องทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 ธ.ค.2562

สำหรับกลุ่มช่อง HD จำนวน 6 ช่อง ประกอบไปด้วย 3 ช่องสาธารณะ ช่อง 5 ช่อง NBT ช่อง ThaiPBS และ 3 ช่องภาคธุรกิจ ได้แก่ช่อง 9 อสมท ช่อง ไทยรัฐทีวี และช่องอมรินทร์ทีวี จะเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมจาก HD เป็น SD ทั้งหมด มีผลทำให้ผู้ชมที่รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมทุกกล่อง จะรับชมทั้ง 6 ช่องนี้แบบ SD (Standard Definition) เท่านั้น  
สำหรับเหตุผลสำคัญในกรณีนี้มาจากปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่แต่ละช่อง ต้องจ่ายค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในทุกเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลได้ทุกช่องทั่วประเทศและทุกระบบ ตามประกาศ กสทช. เรื่องการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม หรือ Must Carry ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่องได้รับความช่วยเหลือตามคำสั่ง คสช. วันที่ 20 ธ.ค.2559 ให้ กสทช. เป็นผู้รับภาระจ่ายทั้งหมดเป็นเวลา 3 ปี จะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 ธ.ค.2562

การส่งสัญญาณตามประกาศ Must Carry เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของกลุ่มช่องทีวีดิจิทัล โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หากเป็นช่อง SD จะอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านบาทต่อปี หากเป็นการส่งแบบ HD จะเพิ่มอีกเท่าตัว แต่กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมที่บ้านผู้ชม ก็ต้องสามารถรับแบบ HD ได้ด้วยจึงจะสามารถรับชมแบบ HD ได้ ทั้งนี้ตามประกาศ Must Carry ของกสทช.ไม่ได้บังคับว่าจะต้องส่งสัญญาณเป็น HD แต่ที่ต้องมีประกาศนี้ เนื่องจากต้องการให้ประชาชนที่รับชมทีวีทั่วประเทศในทุกโครงข่าย ได้รับชมทุกช่องทีวีดิจิทัลอย่างทั่วถึง และมีผลต่อความนิยมของของแต่ละช่องตั้งแต่เริ่มออกอากาศด้วย

ปัจจุบันจำนวนช่อง HD ในระบบทีวีดิจิทัล มีทั้งหมด 10 ช่อง  ซึ่งอีก 4 ช่อง ได้แก่ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง One และช่อง PPTV จะยังคงออกอากาศผ่านโครงข่ายดาวเทียมตามกฎ Must Carry ในระบบ HD เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม การรับชมช่องทีวีดิจิทัล ผ่านเครือข่ายระบบทีวีดิจิทัลนั้น ( Terrestrial) และกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลทั่วประเทศ มีอยู่ประมาณกว่า 10 ล้านครัวเรือนนั้น ผู้ชมจะยังได้รับชมแบบ HD เหมือนเดิมทั้งหมด 10 ช่อง เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่แต่ละช่องประมูลและได้รับใบอนุญาตมา


3.เป็นอีกหนึ่งนิตยสารที่ต้องปิดตัวลงเมื่อเว็ปไซต์ https://www.matichon.co.th รายงานถึงการปิดตัง “นิตยสารสุดสัปดาห์” โดยในบทบรรณาธิการของนิตยสารสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ได้มีเนื้อหาระบุว่า นิตยสารสุดสัปดาห์ฉบับนี้จะเป็นการตีพิมพ์ในรูปแบบนิตยสารเป็นฉบับสุดท้าย และประกาศอำลาแผงหนังสืออย่างเป็นทางการ หลังจากนี้จะเป็นการผลิตผลงานบนสื่อออนไลน์ ทั้งบนเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และยูทูบ สำหรับนิตยสารสุดสัปดาห์ ฉบับสุดท้าย เป็นฉบับที่ 858 ปกเป็นรูป BNK48 – ไอซ์ซึ ซึ่งการอำลาแผงของนิตยสารสุดสัปดาห์นี้ เป็นการปิดฉากนิตยสารรายเดือนที่โลดแล่นอยุ่บนแผงมานานถึง 36 ปี โดยก่อนที่ใช้ชื่อ "นิตยสารสุดสัปดาห์" ใช้ชื่อว่า "แพรวสุดสัปดาห์" เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น นิตยสารสุดสัปดาห์ ที่เป็นนิตยสารรายเดือนจนถึงปัจจุบัน

4.ยังคงอยู่ในสถานการณ์ปรับตัวทางธุรกิจสื่ออย่างต่อเนื่อง สำหรับยักษ์ใหญ่อย่างเครือ "บางกอกโพสต์" โดยเว็ปไซต์ https://brandinside.asia ได้รายงานถึงการที่ บางกอกโพสต์ประกาศขายโรงพิมพ์ และอาคารสำนักงาน เพิ่อทำให้บริษัทสามารถลดหนี้สินที่มีได้ทันที และทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนได้ในระยะยาว โดย บมจ.บางกอก โพสต์ (POST) ได้แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าคณะกรรมการอนุมัติให้บริษัท ขายศูนย์การพิมพ์และจัดจำหน่ายในย่านบางนา ประกอบด้วยที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ และขายอาคารสำนักงานคลองเตย และให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานคลองเตยด้วยอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม โดยบริษัทมีกำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติทำรายการ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563

สำหรับศูนย์การพิมพ์บางนา มีมูลค่ารวมอยู่ในช่วงราคา 424.3 ถึง 509.5 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ดิน 261.2 ล้านบาท อาคารสิ่งปลูกสร้างและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ 107.3 ล้านบาท เครื่องจักรและอุปกรณ์ 55.8 ล้านบาท (มูลค่าบังคับขาย – แยกชิ้นส่วน) หรือ 141.0 ล้านบาท (มูลค่าตลาดตามสภาพการใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน) ส่วนนอาคารสำนักงานคลองเตย มูลค่ารวม 1,175.0 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ดิน 859.2 ล้านบาท อาคารสิ่งปลูกสร้างและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ 315.8 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์รวม 1,599.3 ถึง 1,684.5 ล้านบาท โดยอ้างอิงตามราคาประเมิน โดยบางกอกโพสต์อาจเสนอขายให้กับผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรือผู้ลงทุนที่เกี่ยวโยงกับบริษัท ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองในด้านราคา

สำหรับวัตถุประสงค์การขายทรัพย์สินของบริษัท เนื่องจากขาดสภาพคล่อง จากผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันหลายปี สาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป จากสื่อสิ่งพิมพ์ไปยังสื่อออนไลน์ รวมถึงการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งส่งผลให้งบโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ขณะเดียวกันบริษัทก็มองว่าศูนย์การพิมพ์ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากสามารถว่าจ้างผู้ผลิตจากภายนอก ขณะเดียวกันอาคารสำนักงานสามารถเปลี่ยนเป็นสถานที่อื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันบริษัทมองว่า พนักงานของบริษัทนั้นเป็นสินทรัพย์หลักในการหารายได้ให้กับบริษัท ภายใต้สภาวะสื่อที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ หลังจากการขายสินทรัพย์แล้วเสร็จ บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการลดหนี้สินของบริษัท และมีกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นทันที

ในปี 2561 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 1,230 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงาน 168 ล้านบาท หนี้สินรวมของบริษัทในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 1,325 ล้านบาท ทั้งนี้ การขายสินทรัพย์ของเครือบางกอกโพสต์อาจไม่ใช่รายแรกของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2560 เครือเนชั่นได้ขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทมาแล้วเป็นมูลค่าถึง 1,400 ล้านบาท

นอกจากนี้เว็ปไซต์ "เนชั่นสุดสัปดาห์" ได้รายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการดำเนินการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ บริษัทยังมีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% ต่อปี ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือน มี.ค.2562 POST ได้ประกาศปิดหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับในเครืออย่าง “โพสต์ทูเดย์” หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันอายุ 17 ปี และฟรีก็อปปี้ M2F อายุ 7 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายเเละเลิกจ้างพนักงานราว 200 คน เเละหันไปเป็นสื่อดิจิทัลเต็มตัว โดยเหลือพนักงานในกองบรรณาธิการไว้เพียง 20 คน เเละในเดือน ก.ย. 2561 POST ได้หยุดพิมพ์นิตยสาร Student Weekly หรือ S Weekly ที่มีอายุเกือบ 50 ปี (ก่อตั้งเมื่อ 30 มิ.ย. 2512)


5.ปัญหา Fake News ที่ยังระบาดในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะเจ้าใหญ่อย่าง "ยูทูป" เว็ปไซต์ https://voicetv.co.th ได้รายงานถึงสถานการณ์ในยูทูปซึ่งมีผู้ใช้งานบัญชียูทูบปลอมจำนวนมาก เผยแพร่คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของยูทูบด้วยการดึงวิดีโอจากสำนักข่าวใหญ่ต่างๆ มาใช้ โดยส่วนใหญ่เป็นภาพการนำเสนอข่าวในประเด็นต่างๆ ของสำนักข่าว CNN และมีการนำภาพจากสำนักข่าว FOX News มาใช้บ้างในบางกรณี แต่เป็นการสร้างเนื้อหาที่บิดเบือนความจริงและยั่วยุ ปลุกปั่น สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในสังคม 

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้เป็นการหาผลประโยชน์โดยตรงกับอัลกอริทึมของยูทูบ ที่มีหน้าที่ในการ "แนะนำวิดีโอ" ให้กับผู้ชมที่สนใจในประเด็นเดียวกัน โดยระบบของยูทูบจะทำการแนะนำคลิปวิดีโอเหล่านี้ไปยังผู้ชมยูทูบที่สนใจเนื้อหาดังกล่าวทันที หลังจากมีการโพสต์ลงบนแพลตฟอร์ม ทำให้ขณะนี้ทางยูทูบกำลังเร่งมือ "ปิดช่อง" แพร่ข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือนโดยเร็วที่สุด

อัลกอริทึมด้านการแนะนำวิดีโอดังกล่าว ยังได้แนะนำวิดีโอจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปยังผู้ใช้งานยูทูบที่มีความสนใจในประเด็นนี้ โดยเป็นการเพิ่มความนิยมให้กับคลิปวิดีโอโดยอัตโนมัติ

ซึ่งสำนักข่าว CNN ชี้ว่า บางช่องยูทูบที่นำเสนอข่าวปลอมด้านการเมือง มียอดเข้าชมคลิปวิดีโอไปมากกว่า 2 ล้านครั้งในระยะเวลาเพียงสุดสัปดาห์เดียวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดดังกล่าวสร้างคำถามใหญ่จากสังคมว่า ยูทูบมีวิธีการจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ยั่วยุ และข่าวปลอม ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ท่ามกลางความพยายามของผู้สร้างคอนเทนต์ในยูทูบที่พยายามหาทางเอาชนะระบบใหม่นี้เพื่อทำเงินบนแพลตฟอร์มให้มากขึ้น

6.เว็ปไซต์ https://www.rainmaker.in.th รายงานถึงความเคลื่อนไหวแพลตฟอร์มใหญ่อย่างอินสตราแกรมมได้ร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลภายนอกของสหรัฐฯ เพื่อยับยั่งการเกิดข่าวปลอมไปตั้งแต่เดือน พฤษภาคม แต่ล่าสุดฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานได้ทั่วโลก โดยอินสตาแกรมได้นำเทคโนโลยยี  image matching  ในการค้นหารูปภาพที่ดูท่าน่าจะเป็นข่าวปลอม มาติดป้ายแสดงผลให้ผู้ใช้เห็นว่านี่คือข่าวปลอม พร้อมแสดงข้อมูลที่แท้จริงก็คล้ายๆ กับที่เฟซบุ๊กทำอยู่ และลดการเผยแพร่เนื้อหาข่าวปลอมนั้น หากโพสต์ไหนถูกระบุว่าเป็นข่าวปลอมจะไม่โชว์ในหน้า Explore และแฮชแท็กซึ่งฟีเจอร์นี้จะครอบคลุมทั้งหน้าฟีดโปรไฟล์ไอจีสตอรี่และไดเรคแมสเสจด้วย

7.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกประกาศตัวกวาดล้าง Fake News เต็มรูปแบบภายหลังเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2562 ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกสติกเกอร์ไลน์ “Fakenews” 8 ชิ้นต่อต้านข่าวปลอม ในแพลตฟอร์มไลน์ ใช้ชื่อว่า "Mr.Antifakenews" ให้สังคมชาวไลน์ได้โหลดใช้ฟรีเพื่อนำไปใช้สื่อสารกับการสนทนาต่างๆ

8.เว็ปไซต์ https://www.naewna.com ได้เผยแพร่ข่าว เปิด 5 อันดับ "ข่าวลือ" ปชช.ได้ยินหนักสุด จี้รัฐตั้ง‘หน่วยพิเศษ’จัดการ จากกรณี "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,082 คน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-21 ธันวาคม 2562 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน จากกรณีสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนแรงในช่วงนี้ เริ่มมีการปล่อยข่าวลือ ข่าวปลอม หรือที่เรียกว่า เฟคนิวส์ กันบ่อยขึ้น โดยมีข้อความส่งต่อกันในกลุ่มแชทและโซเชียลมีเดียถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่ออย่างเด็ดขาด สรุปผลได้ ดังนี้
1. “ข่าวลือ” เรื่องล่าสุดที่ประชาชนได้ยินคือเรื่องอะไร?
อันดับ 1 ขึ้นภาษีผ้าอนามัย 64.34%อันดับ 2 ยุบพรรคอนาคตใหม่ 29.25%อันดับ 3 ขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 24.34%อันดับ 4 ม็อบขับไล่รัฐบาล 17.74%อันดับ 5 ปรับครม. ยุบสภา 14.72%
2. “ข่าวลือ” เรื่องไหน? ที่ประชาชนคิดว่ามีมูลความจริง
อันดับ 1 ยุบพรรคอนาคตใหม่ 38.40%อันดับ 2 ขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 26.80%อันดับ 3 การย้ายพรรค ปรับเปลี่ยนครม. 18.79%อันดับ 4 ขึ้นภาษีผ้าอนามัย 16.18%อันดับ 5 การออกมาประท้วงของประชาชน 12.58%
3.วิธีการสยบข่าวลือ ควรทำอย่างไร? #สิ่งที่ประชาชน ควรทำ คือ
อันดับ 1 มีสติ มีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่อง่าย 56.21%อันดับ 2 ตรวจสอบข่าว หาข้อมูลจากหลายๆที่ 28.97%อันดับ 3 หยุดแชร์ หรือ ส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นจริง 21.56%#สิ่งที่รัฐบาล ควรทำ คือ
อันดับ 1 จัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ 42.09%อันดับ 2 มีการตรวจสอบข่าวที่ถูกต้อง แม่นยำ และรีบออกมาชี้แจงทันที 38.90%อันดับ 3 ติดตามจับกุมผู้ปล่อยข่าว มีบทลงโทษอย่างจริงจัง 24.66%

9.เว็ปไซต์กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com รายงานถึงพิพิธภัณฑ์สื่อในสหรัฐที่จัดแสดงผลงานเกี่ยวกับข่าวเตรียมปิดตัวลงสิ้นปีนี้ หลังเปิดมานานกว่า 2 ทศวรรษ สะท้อนธุรกิจสื่อ “ขาลง” โดยท่ามกลางสารพันอุปสรรคที่รุมเร้าอุตสาหกรรมสื่อของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงปัญหาทางการเงินและการตกเป็นเป้าโจมตีของบรรดาผู้นำทางการเมือง "นิวเซียม" (Newseum) พิพิธภัณฑ์สื่อซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 31 ธ.ค.2562

"
นิวเซียม" ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนียในปี 2540 ก่อนย้ายมายังอาคาร 7 ชั้น ถนนเพนซิลเวเนีย อะเวนิว ที่อยู่ระหว่างรัฐสภากับทำเนียบขาวในเดือน เม.ย. 2551 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมีผู้เยี่ยมชมประมาณ 10 ล้านคนแล้ว และถูกใช้จัดงานแถลงข่าวและงานต่าง ๆ นับไม่ถ้วน รวมถึงจัดแสดงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของโลก เช่น เหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544 (9/11) และข่าวประจำวันที่เกิดขึ้นทั่วโลก จริง ๆ แล้ว นิวเซียมประกาศตั้งแต่ต้นปีนี้ว่า จะขายอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบโดย เจมส์ โปลเช็ก สถาปนิกชื่อดังชาวอเมริกัน ให้แก่มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ในราคา 372.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ "เดอะ ฟรีดอม ฟอรัม" กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นโดย อัล นอยฮาร์ธ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ ซึ่งทำหน้าที่บริหารพิพิธภัณฑ์รับปากว่า จะยังคงเดินหน้าให้ความรู้ประชาชนเรื่องความสำคัญของสื่อมวลชนเสรีต่อไป แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ได้หรือไม่ ขณะนี้ พิพิธภัณฑ์ยังมีเวลา 6 เดือนในการเคลื่อนย้ายงานที่จัดแสดงทั้งหมดไปยังสถานที่เก็บ หลังจากนั้นจะมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป อาจก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ จัดนิทรรศการเคลื่อนที่ หรือจัดแสดงทางออนไลน์เท่านั้น
การปิดตัวของนิวเซียมสะท้อนถึงธุรกิจสื่อทั่วโลกที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยศูนย์วิจัยพิว เผยว่า เฉพาะในสหรัฐ หนังสือพิมพ์ปิดตัวไปแล้วหลายพันราย เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน และการจ้างงานในวงการสื่อช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ลดลงถึง 1 ใน 4 (25%) ขณะที่ความเชื่อถือต่อสื่อก็ลดลงเช่นกัน โดยกัลลัพโพล เผยผลสำรวจเมื่อเดือน ก.ย. ว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่เชื่ออย่างยิ่งหรือเชื่อค่อนข้างมากว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์รายงานข่าว “อย่างถูกต้องและเป็นกลาง” มีเพียง 40% เท่านั้น ลดลงอย่างมากจากกว่า 70% ในช่วงทศวรรษที่ 70

10.เว็ปไซต์ https://www.tcijthai.com นำเสนอรายงานพิเศษ ซึ่งเป็นการรวมสถานการณ์สื่อในแต่ละมิติ โดยในตอนที่ 5 จากทำหมด 10 ตอน ได้รายงานหัวข้อ Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง? โดยสรุปว่า ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ 'ดิจิทัล' ผลกระทบหนักสุดตกอยู่ที่กลุ่ม 'สื่อสิ่งพิมพ์ไทย' พบ 'หนังสือพิมพ์' ทยอยเลิกฉบับพิมพ์มุ่งสู่ออนไลน์ ด้าน 'นิตยสาร' ก็ทยอยปิดตัว ปี 2551-2561 เม็ดเงินโฆษณา 'หนังสือพิมพ์-นิตยสาร' ลดลงเรื่อยๆ -  ระหว่างปี 2555-2557 มูลค่าของบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ 'หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์' ลดลง - องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ปรับตัวมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ 'ออนไลน์' ไม่สร้างกำไร - ช่วง 6 เดือนหลังปี 2562 'CEO กลุ่มสิ่งพิมพ์' มีความเห็นต้องลดการจ้างงาน รับผลเชิงลบจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์
การเกิดขึ้นของ ‘สื่อดิจิทัล’ ส่งผลกระทบต่อสื่อเก่าอย่าง ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ มากที่สุดโดยเฉพาะ ‘หนังสือพิมพ์’ ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทยอยเลิกพิมพ์แล้วมุ่งสู่การนำเสนอเนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์แทน จากตัวอย่างเท่าที่รวบรวมได้ เช่น

  • ธ.ค. 2559 หนังสือพิมพ์ 'บ้านเมือง' ยุติการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ โดยฉบับสุดท้ายคือวันที่ 31 ธ.ค. 2559 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2561 หนังสือพิมพ์ 'เชียงใหม่นิวส์' ประกาศเลิกผลิต เลิกพิมพ์ และจัดจำหน่าย โดยฉบับวันที่ 5 มี.ค. 2561 เป็นฉบับสุดท้าย เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'โพสต์ทูเดย์' [สื่อในเครือ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ POST] ได้ประกาศตัวผ่านทางเว็บไซต์ว่าจะยุติบทบาทบนหน้าหนังสือพิมพ์ในฉบับสุดท้าย ฉบับที่ 5,897 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'M2F' หนังสือพิมพ์แจกฟรีขนาดแท็บลอยด์ (ค่าย POST เช่นเดียวกับโพสต์ทูเดย์) ก็ประกาศเลิกพิมพ์ในเดือน มี.ค. 2562 ด้วยเช่นกัน เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว
  • พ.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ 'สยามกีฬา' ได้ควบรวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารของค่ายสยามสปอร์ต ไว้ในฉบับเดียวคือ 'ฟุตบอลสยาม, มวยสยาม และสยามดารา' โดยเนื้อหาบางส่วนของฟุตบอลสยามและมวยสยาม จะนำเสนอผ่านทางออนไลน์
  • มิ.ย. 2562 หนังสือพิมพ์ 'THE NATION' หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 1 ใน 2 ฉบับที่มียอดพิมพ์มากที่สุดของไทยวางแผงฉบับสุดท้ายในวันที่ 28 มิ.ย. 2562 เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว)


ส่วน "นิตยสาร" ก็เผชิญสถานการณ์ที่หนักหน่วงเช่นกัน โดยปี 2553 ประเทศไทยมีหัวนิตยสารในตลาด 232 ฉบับ ซึ่งเพิ่ม ขึ้นถึงร้อยละ 20 ในระยะเวลาเพียง 5 ปี แต่กระนั้นกว่าร้อยละ 29 ของนิตยสารเหล่านี้ก็ปิดกิจการลงภายใน 5 ปีด้วยเช่น เดียวกัน  ในปี 2554 มีหัวนิตยสารในตลาดเหลือเพียง 183 ฉบับ จากนั้นในปี 2560 มีนิตยสารปิดตัวนับได้ถึง 54 ฉบับ จากทั้งหมด 129 ฉบับ
จากข้อมูลระหว่างปี 2558 – 2560 เท่าที่รวบรวมได้ ประมาณการว่ามีนิตยสารที่ยกเลิกการพิมพ์ฉบับกระดาษอย่างน้อย 35 แห่ง อาทิ ซุบซิบ, OOPS!, OHO, ZOO, FHM, เปรียว, lemonade, candy, VIVA! FRIDAY, KC WEEKLY, C-KiDs!, VOLUME, IMAGE, COSMOPOLITAN, บางกอกรายสัปดาห์, เนชั่นสุดสัปดาห์, seventeen, สกุลไทย, WHO, I LIKE, FLIMAX, ขวัญเรือน, ดิฉัน, madame FIGARO, คู่สร้าง คู่สม, พลอยแกมเพชร, แมรี แคลร์ marie claire, Men’s Health, Women’s Health, THE Hollywood REPORTER Thailand, billboard Thailand, HEALTH & CUISINE, ครัว, Go Genius, WRITER เป็นต้น
ต่อมาในปี 2561 นิตยสาร 'Starpics' ออกวางแผงในฐานะ 'นิตยสารรายเดือน' เป็นฉบับสุดท้ายที่ฉบับที่ 888 เมื่อเดือน เม.ย. 2561, นิตยสารภาษาอังกฤษ 'Student Weekly' วางแผงเป็นฉบับสุดท้ายฉบับวันที่ 30 ก.ย. 2561(เหลือเพียงการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ช่องทางเดียว), นิตยสาร 'เมนส์ ฟิตเนส ไทยแลนด์' วางแผงฉบับสุดท้ายเดือน ธ.ค. 2561 และในปี 2562 นิตยสาร 'Lonely Planet Traveller Thailand' ก็ได้ยุติการตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือน ก.พ. 2562

11.เว็ปไซต์ https://businesstoday.co รายงานหัวข้อ "ทีวีดิจิทัลไม่จบ ตลาดแข่งเดือด จ่อคืนช่องเพิ่ม" ทีวีดิจิทัลไม่จบ ตลาดแข่งเดือด จ่อคืนช่องเพิ่ม จากปี 2562 ครบรอบ 7 ปี ของการให้บริการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย เริ่มต้นด้วยการมองว่าจะเป็นอนาคตที่สดใสของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย ปิดท้ายด้วยการขอคืนใบอนุญาต (คืนช่อง) รวมทั้งหมด 7 ช่อง และยุติการออกอากาศไปก่อนหน้านี้แล้ว 2 ช่องรวมปิดตัวทั้งหมด 9 ช่อง เหลือเปิดดำเนินการ 15 ช่อง

แต่วิบากกรรมนี้ยังไม่จบเมื่อ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาเปิดเผยว่ามีผู้ประกอบการที่เหลือต้องการเลิกกิจการ โดยเรียกร้องให้มีการส่งคืนใบอนุญาตและเข้าสู่กระบวนการเยียวยาอีกครั้ง โดยผู้ประกอบการบางช่องที่ต้องการเลิกกิจการให้เหตุผลว่า ประสบความยากลำบากในการทำธุรกิจ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงและภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้งบโฆษณาไม่เพิ่มขึ้นที่สำคัญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเกรงว่าหากมีการเดินหน้าเทคโนโลยี 5 จี จะทำให้มีการแข่งขันกันของธุรกิจทีวีบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย จะยิ่งทำให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช.ประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจยิ่งขึ้นไปอีก

เว็ปไซด์ https://businesstoday.co ยังรายงานถึงผลประกอบการไตรมาส 3/2562 ที่ผ่านมา ธุรกิจที่วีดิจิทัลหลายช่องยังคงขาดทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น เวิร์คพอยท์ โมโน และอสมท ยกเว้นช่อง 3 บริษัท บีอีซี เวิลด์จำกัด (มหาชน)ที่พลิกกลับมามีกำไรหลังจากคืนซ่องที่วีดิจิทัลไป 2 ช่องบริษัท บีอีซีเวิลด์ ผู้บริหารทีวีช่อง 3 (ช่อง 33) ในช่วงไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 94 ล้านบาท แต่หากหักรายได้จากการคืนใบอนุญาต จำนวน 44 ล้านบาท จะยังมีผลขาดทุน 241 ล้านบาท เป็นผลจากเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้รายได้จากค่าโฆษณา อยู่ที่ 1,685 ล้านบาทลดลง 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (ช่อง 23) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส3 อยู่ที่ 44 ล้านบาท แต่ลดลง 40% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและลดลง69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจทีวีลดลงเหลือ 558 ล้านบาท ลดลง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขณะที่ บริษัท โมโน เทคโนโลยี (ช่องโมโน 29) ในช่วงไตรมาส 3 มีผลขาดทุน 177.4 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าโฆษณา 405.28 ล้านบาท ลดลง 7.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากไตรมาส 3 มีคารแข่งขันที่รุนแรงจากการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาในช่วงดังกล่าว สำหรับ บริษัท อสมกจำกัด(มหาชน) มีผลขาดทุนรวม 156 ล้านบาท โดยไตรมาส 3 มีรายได้ 588 ล้านบาท ลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้รายได้โดยรวมของธุรกิจโทรทัศน์และวิทยุจะเพิ่มขึ้นแต่เนื่องจากมีการจ่ายผลประโยชน์ในการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 114 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์หยวนคำ(ประเทศไทย) จำกัด มองว่าปีนี้เม็ดงินโฆษณาของกลุ่มทีวีดิจิทัลยังคงชะลอตัว 1-2% ขณะที่อุตสาหกรรมโฆษณาใน2563 ยังไม่สดใสและแนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาไม่เติบโตเนื่องจากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและชะลอการใช้งบจากรายงานของ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าการใช้งบโฆษณาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีจำนวน77,520 ล้านบาท ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสื่อทีวีในช่วงไตรมาส 3ลดลง 2% ซึ่งแนวโน้มยังคงลดลงต่อเนื่องจากปี 2560

12.เว็ปไซต์ "เนชั่นสุดสัปดาห์" รายงานถึงการประกาศผลรางวัลของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ประกาศผลการประกวดรางวัลและโล่เกียรติยศ “เว็บไซต์ข่าวฝึกปฏิบัติยอดเยี่ยม” ระดับอุดมศึกษา ประจำปี  2562 เพื่อส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้จัดทำเว็บไซต์ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณโดยมีแผนการประชาสัมพันธ์และการตลาดสำหรับเว็บไซต์ด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม โดยสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนในการจัดงานและรางวัลจาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ในปีนี้มีการส่งผลงานเข้าประกวด 5 เว็บไซต์จาก 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยรามคำแหง Website : www.ramintouch.com 2.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม Website : https://suemuanchonnews.com/ 3.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา Website : www.sunandhanews.com 4.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Website : www.baankluayonline.co 5.มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ Website : https://samutprakantravel.wordpress.com/ สำหรับผลการตัดสิน ประกวดรางวัลและโล่เกียรติยศ “เว็บไซต์ข่าวฝึกปฏิบัติยอดเยี่ยม” ระดับอุดมศึกษา ประจำปี  2562 นี้ คณะกรรมกาารพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเว็บไซต์ใด สมควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยม แต่ให้มีเว็บไซต์ที่ได้รับรางวัลดีเด่น 1 รางวัลและรางวัลชมเชย 2 รางวัล ดังต่อไปนี้ รางวัลดีเด่น 1 รางวัลได้แก่ 1. Website :  www.baankluayonline.co จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รางวัชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ 1. Website : www.sunandhanews.com จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 2. Website :  https://suemuanchonnews.com จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม