ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ เราสามารถตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่า อาจเป็นการปิดกั้น สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชน ให้สังคมรับทราบในข้อเท็จจริง ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการคุกคามสื่อทุกในรูปแบบ
“ในมุมมองการทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน พวกเราคือผู้ที่จะได้รู้ได้เห็น และได้ยินทุกเหตุการณ์ชุมนุมเป็นคนแรกเสมอ ดังนั้นเราควรจะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับประชาชน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องรอบด้าน แต่ในหลายๆครั้ง พวกเรากลับถูกปิดกั้นการทำงานสื่อภาคสนามจากทั้งสองฝ่าย จึงอยากให้เข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งอาจไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง....”
มุมมองบางส่วนของ เอกลักษณ์ ไม่น้อย ช่างภาพไทยรัฐออนไลน์ เจ้าของผลงานภาพถ่ายที่ได้รางวัลชนะเลิศ จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เนื่องในวัน เสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งสาเหตุที่ได้ส่งผลงานภาพถ่ายชิ้นนี้เข้าประกวด ยอมรับว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชนภาคสนามที่ผ่านมา พบว่ามักจะถูกกีดกันเป็นด่านแรกๆ ดังนั้นจึงอยากให้ภาพถ่านนี้เป็นตัวแทน เห็นภาพของสื่อมวลชนทุกคน ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งได้ดี
สำหรับผลงานภาพถ่ายชิ้นนี้ เป็นภาพเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณหน้ากรมทหารราบ1 เมื่อวัน28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระหว่างกลุ่มเยาวชนปลดแอกปะทะกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งกำลังตำรวจ ทหาร ซึ่งการชุมนุมค่อยๆทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางกับกลุ่มผู้ชุมนุม การปิดกั้นสื่อ เสมือนเป็นความพยายามในการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าวออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

ทั้งนี้หลังทราบผลการตัดสินรู้สึกตื่นเต้น เพราะนี่ถือเป็นรางวัลแรกในชีวิตของอาชีพช่างภาพ เมื่อได้เห็นสมาคมนักข่าวฯ ประกาศเชิญส่งผลงานร่วมโครงการประกวด ในความรู้สึกก็คิดถึงภาพนี้ขึ้นมาทันที แต่ก็ไม่คิดว่าจะได้รางวัลชนะเลิศ เพราะเห็นผลงานภาพถ่ายของเพื่อนๆ หลายๆสื่อ ภาพถ่ายขอทุกคนที่ส่งเข้าประกวดแต่ละภาพล้วนสื่อความหมายได้ดี
ก่อนปิดท้ายเอกลักษณ์ ได้ฝากถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนภาคสนามว่าควรมีวิธีป้องกันตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาเขาเคยผ่านการอบรม Safety training ของสมาคมนักข่าวฯ ได้รับความรู้เรื่องการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง เรียนรู้โครงสร้างความขัดแย้ง และรู้การช่วยชีวิต-การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการช่วยเหลือผู้อื่นหรือการป้องกันตัวเอง เพราะสื่อมวลชนต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ที่ต้องช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และกลุ่มมวลชน บางเหตุการณ์เราก็ได้รับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน ตอนนี้ยุคโซเชียลทุกคนสามารถเป็นสื่อและนำเสนอข่าวได้หมด แต่สื่อมวลชนคือผู้ที่จะสามารถนำเสนอได้รอบด้านและครอบคลุม เพื่อไม่ให้สารนั้นผิดเพี้ยน
ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5 MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ประกาศผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายรางวัล“เสรีภาพสื่อไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน”
