นักข่าวกู้ภัย จิตอาสาช่วยสังคม

“ผมไม่เคยรู้สึกท้อหรืออยากจะวางงานด้านใดด้านหนึ่งเลย เพราะสนุกกับงานทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน ทั้งแหล่งข่าวเราและงานที่ทำอยู่ มันอยู่ในสังคมของเราทั้งหมด ก็เลยรู้สึกสนุกในทุกวันทั้งที่ไปทำข่าวหรือทำงานด้านจิตอาสา”

​“อาสาสมัครกู้ภัย” 1 ในอาชีพที่ไม่หวังผลตอบแทน และมีส่วนช่วยโรงพยาบาลอย่างมากหากรถฉุกเฉินไม่เพียงพอ สามารถส่งผู้ป่วยได้ทันท่วงที เพราะเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็ว จึงมีส่วนช่วยแบ่งเบางานของทางโรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

​“รัชตะ ไทยตระกูลพาณิช ผู้สื่อข่าว ช่อง ONE 31” 1 ในอาสากู้ภัย บอกเล่าในรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นอาสาสมัครกู้ภัยว่า เริ่มทำงานนี้นานแล้วตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่ จ.ราชบุรี ก่อนที่จะเป็นนักข่าว เพราะงานกู้ภัยกับงานข่าวต้องเจอกันหน้างานตลอด แรงบันดาลใจที่ทำให้เป็นกู้ภัยช่วยเหลือสังคมตั้งแต่มัธยม เพราะเห็นรถกู้ภัยวิ่งไปที่เกิดเหตุจึงขี่มอเตอร์ไซค์ตาม แต่ไม่เคยตามทันสักครั้ง พอไปถึงปรากฏว่าเข้าที่เกิดเหตุไม่ได้ เราอยากจะช่วยคนข้างใน อยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นข้างในนั้นบ้าง

​เป็นอาสากู้ภัยแล้ว แตกต่างจากภาพที่คิดไว้มาก เพราะต้องลงมือทำด้วย บางคนคิดว่ากู้ภัยเก่งจังเลยเก็บศพไม่กลัวผี แต่ความจริงแล้วผมเห็นหลายคนก็กลัว อีกทั้งเวลาเกิดเหตุมีขวัญใจไทยมุงยืนอยู่รอบๆ จึงค่อนข้างกดดันมาก ขณะที่งานประจำคือทำข่าวมีเวลาว่างค่อนข้างน้อย ทำให้แบ่งเวลาค่อนข้างยากพอสมควร การเป็นอาสาสมัครกู้ภัยจะใช้เวลาว่าง หลังเลิกงานหรือวันที่ว่างจริงๆ ต้องบริหารแบบรัดตัว ซึ่งประสบการณ์จากงานทั้ง 2 ส่วน สามารถเอื้อประโยชน์กันได้ เพียงคนละหน้าที่กัน อาสาสมัครกู้ภัยนอกจากการทำงานแล้ว เรายังได้พันธมิตรเพราะกู้ภัยมีทั่วประเทศ

“ผมผ่านการอบรมทั้ง “หลักสูตร Safety training” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และหลักสูตร “การตอบโต้ภัยพิบัติทางน้ำ” เป็นประโยชน์กับงานข่าวดีมากๆ เพราะการทำงานมีความเสี่ยงในพื้นที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสถานการณ์การชุมนุม หรือภัยพิบัติ ใครที่อบรม Safety training มาไปค้นดูกระเป๋าได้ พี่ๆจะแนะนำว่าในกระเป๋าไม่ใช่มีแค่ iPad หรือ แบตเตอรี่สำรอง แต่จะมีทั้งน้ำเกลือผ้าพันแผล ชุดที่สามารถปฐมพยาบาลได้เลย หลายครั้งต้องเปิดกระเป๋าตัวเองนำอุปกรณ์ในกระเป๋า ช่วยเหลือคนที่กำลังประสบเหตุ การปฐมพยาบาลตัวเองหรือการเอาชีวิตให้ปลอดภัย เมื่อเจอสถานการณ์ที่คับขัน หรือแม้แต่ตัวเราบาดเจ็บมีโอกาสมากเรื่องนี้จึงสำคัญ ซึ่งหลักสูตรเซฟตี้เทรนนิ่งสอนตรงนี้”

​ปีที่แล้วบ้านเรามีภัยพิบัติเยอะมาก ผมได้ใกล้ชิดกับพี่ๆกู้ภัยที่อยู่บนเรือ เวลาเขาไปตอบโต้ภัยพิบัติ เช่น คุณฝันดี-ฝันเด่น จะลงหน้างานตลอด ก็คุยกันว่าพี่ๆเขาจบหลักสูตรตอบโต้ภัยพิบัติ พอผมกลับมาที่สถานีได้คุยกับบรรณาธิการบอกว่า เราจะสามารถทำงานได้คล่องตัวกว่านี้และเซฟตี้กว่านี้ ถ้าส่งทีมข่าวไปร่วมอบรมหลักสูตรการตอบโต้ภัยพิบัติทางน้ำในกระแสน้ำหลาก ซึ่งทางช่อง ONE มีส่วนสนับสนุนให้เข้าร่วมฝึกอบรม มีนักข่าว 2 ทีม ที่สามารถเข้าพื้นที่ในภาวะสถานการณ์แบบนี้ได้ โดยมีทักษะการเอาชีวิตรอด และสามารถที่จะช่วยเหลือคนได้ในเวลาเดียวกัน เป็นทีมข่าวแรกๆที่จบหลักสูตรนี้ เพราะค่อนข้างที่จะโหด เนื่องจากต้องฝึกในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวจริงๆ แล้วต้องว่ายฝ่ากระแสน้ำ

​“ผมไม่เคยรู้สึกท้อหรืออยากจะวางงานด้านใดด้านหนึ่งเลย เพราะสนุกกับงานทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน ทั้งแหล่งข่าวเราและงานที่ทำอยู่ มันอยู่ในสังคมของเราทั้งหมด ก็เลยรู้สึกสนุกในทุกวันทั้งที่ไปทำข่าวหรือทำงานด้านจิตอาสา ซึ่งแฟนเขาก็เข้าใจว่าเราไปทำงานตรงนี้ เขาก็ไปอบรมประถมพยาบาล มาเข้าเวรมาช่วยเหลือคนไปพร้อมๆกับผมมีกิจกรรมร่วมกัน”

​งานกู้ภัยนั้นเรื่องการทดสอบกำลังใจถือว่าสำคัญมาก จำได้เลยว่าเคสแรกตอนไปฝึกงานใหม่ๆ ไปช่วยคนเป็นผู้เสียชีวิตขับรถแหกโค้งปรากฏว่า ศีรษะไปฟาดกับเสาไฟฟ้า พี่ๆบอกให้ผมไปที่ศีรษะของผู้เสียชีวิต เพราะการยกศีรษะใบหน้าของเรากับใบหน้าของเขาจะตรงกัน รวมทั้งกรณีที่เคยเจอเคสหนักมากที่สุดสำหรับผม ยังเป็นภาพจำจนถึงตอนนี้ คือ การเป็นอาสาสมัครกูชีพผู้ภัย จะรแบ่งทั้งหมด 3 เคส คือ A B C ซึ่งเคส C กับ B ทางกูชีพกู้ภัยในขั้นต้นสามารถดำเนินการได้ โดยผู้บาดเจ็บอาจจะถามตอบรู้เรื่องบอกได้ว่าเจ็บตรงไหนบ้าง

​แต่เป็นเคส A คือหมดสติ ปลุกไม่ตื่น เราจะประเมินเขาไม่ได้ว่าจะเจ็บตรงไหน เพราะเราไม่สามารถที่จะถามเขาได้ ต้องเป็นระดับพยาบาลหรือคุณหมอ ดังนั้นจึงต้องประสานรถโรงพยาบาล มารับผู้บาดเจ็บคนนี้ ​แต่วันนั้นมีญาติเขาอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แล้วญาติร้องไห้ตลอดทาง ขอให้เรานำขึ้นรถซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าเกิดเรานำขึ้นรถแล้วระหว่างทางผู้บาดเจ็บเสียชีวิต แต่ญาติเขายินยอมเราก็ประสานไปที่รถโรงพยาบาล ซึ่งกำลังจะเดินทางมา บอกว่าเดี๋ยวไปเปลี่ยนผู้บากเจ็บกันกลางทาง เราก็เลยขึ้นรถมาพร้อมกับญาติของเขา ระหว่างทางทำการ CPR เขายังมีสัญญาณชีพ ได้ยินเสียงหายใจของเขาตลอดเวลา

​พอไปถึงใกล้ถึงโรงพยาบาล ด้วยความที่รถพยาบาลออกมาจนเราจะไปถึงโรงพยาบาลอยู่แล้ว รถโรงพยาบาลก็เลยโบกให้เราไปโรงพยาบาลเลย ไม่ได้เปลี่ยนกันกลางทาง เชื่อหรือไม่ว่าเป็นวินาทีชีวิต เป็นวันที่ผมเข้าใจคำว่า “เฮือกสุดท้ายของชีวิต” คือ รถกำลังจะเลี้ยวเข้าโรงพยาบาลนิดเดียว อยู่ดีๆผู้บาดเจ็บก็หายใจเฮือกขึ้นมาแล้วหยุดหายใจไปต่อหน้าผมเลย ก็พยายามปลุกเรียกหลายครั้ง พอมาถึงโรงพยาบาลทุกคนก็นำร่างของเขาไป CPR ต่อ เข้าห้องฉุกเฉินทันที แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถที่จะยื้อชีวิตได้ เป็นภาพจำของผม

​อีกกรณีแม้ผมไม่เคยเจอเรื่องลี้ลับ หรือผู้ประสบเหตุเสียชีวิตติดตามตัว แต่มีอยู่เคสหนึ่งได้รับแจ้งเหตุช่วงตี 2 ผมฟังวิทยุพอดีก็เลยไปกับเพื่อน พบว่าเป็นรถกระบะคันหนึ่งขับชนท้ายรถ 10 ล้อที่จอดอยู่ข้างทาง ผมไปเปิดประตูรถก็เห็นผู้บาดเจ็บนอน คอพับไปทางฝั่งคนขับก็เช็คสัญญาณชีพ ปรากฏว่ายังมีสัญญาณชีพอยู่ จึงร้องขอรถพยาบาลนำร่างผู้บาดเจ็บคนนี้ขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาลเอกชน

​ปรากฏว่าไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ทางโรงพยาบาลเอกชน จึงติดต่อกู้ภัยเพื่อนำร่างของคนที่เสียชีวิตไปที่โรงพยาบาลกลาง ประจำจังหวัด ณ ตอนนั้น เพื่อรักษาสภาพศพ ทั้งนี้ระหว่างทางที่เราไปถึง โรงพยาบาลได้นำทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีเงินจำนวนเยอะมาก และให้กล้องวงจรปิดของทางโรงพยาบาลบันทึกภาพ ว่าผู้บาดเจ็บมีทรัพย์สินอะไรบ้าง เสร็จแล้วก็ถ่ายภาพหลักฐานทั้งหมดร่วมกัน ทั้งกู้ภัยและโรงพยาบาลถึงทรัพย์สินดังกล่าว เพราะตอนนั้นเขาไม่มีญาติและติดต่อไม่ได้

​เรานำทรัพย์สินส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเคลื่อนย้ายร่างไปที่โรงพยาบาลรัฐ ปรากฏว่าเราเข็นรถ ซึ่งเป็นเตียงเหล็กเข้าไปในห้องดับจิต ต้องมีขั้นตอนการพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อส่งยืนยันตัวบุคคลว่าท่านนี้เสียชีวิตแล้ว สภาพศพผ่านเวลาช่วงเวลามาสักพักนึง ร่างก็จะเริ่มแข็งนิดๆ ปรากฏว่าตอนนั้นผมเข้าไปกับเพื่อน 2 คน เหลือบไปเห็นว่ายังเหลือแหวนอีกหนึ่งวงเป็นแหวนทองฝังเพชร

​จึงหยิบมือร่างผู้เสียชีวิต 2 ข้างขึ้นมา และพยายามจะถอดแหวน แต่ถอดเท่าไหร่ก็ถอดไม่ได้ อยู่ดีๆมือของผู้เสียชีวิตก็สะบัดลงมาที่เตียงดังปั้ง ผมตกใจมากกรณีนี้เห็นกับตาเพราะเป็นไปได้น้อยมาก ที่มือจะตกลงมาแรงขนาดนั้น ประมาณเกือบตี 3 แล้ว ผมรีบวิ่งออกไปบอกรุ่นพี่ ที่เป็นกู้ภัยมานานกว่าเรา เขาก็เดินเข้าห้องดับจิตแล้วพูดว่า ไม่เป็นไรนะลุงเดี๋ยวผมจะส่งคืนของให้ลูกหลานลุงนะ พอมาถึงเตียงเขาก็ค่อยๆหยิบมือ ถอดนิดเดียวออกเลย แต่เพื่อนผมถอดนานมากไม่ออก เรื่องนี้ก็เลยเป็นเหตุการณ์ที่ผมมีประสบการณ์ตรง

​ติดตามรายการ​ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5