“บางคนได้รับฉายาก็จะนำไปหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้นมีผลกระทบทั้งแง่บวกและลบตามมา การคัดเลือกจึงต้องเข้มงวดและเข้มข้นจริงๆ เพื่อถือเป็นเกณฑ์มาตรฐาน”
อีก 1 ภารกิจของนักข่าวสายการเมือง ประจำทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ที่มีขึ้นประจำทุกปี ถือเป็นประเพณีปฏิบัติ ติดต่อกันมายาวนานเกือบ 40 ปีคือ การตั้ง “ฉายา” ให้กับนายกรัฐมนตรี , คณะรัฐมนตรี(ครม.) และสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ถึงบทบาทที่มีความโดดเด่นรวมถึง“วาทะแห่งปี” ซึ่งมาจากวลีเด็ดของนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นๆ
“คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์” ผู้สื่อข่าว (การเมือง) สถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16 เปิดเบื้องหลังฉายานักการเมือง ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า นักข่าวสายการเมืองปฏิบัติมามานานหลาย 10 ปี ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันแต่บางปีงดเว้น หากสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ หรือนักข่าวบางคนนำไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ เพื่อประกอบการเรียนก็มี
ในสายการเมืองจะมี 2 ฝั่งใหญ่ คือ นักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ที่มีสังกัดแน่นอนเกาะติดการทำข่าว ที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายาให้กับนายกรัฐมนตรีและครม. จะประชุมพูดคุยกันว่าปีนี้จะตั้งฉายาให้กับรัฐมนตรีกี่คนมีใครบ้าง โดยพิจารณาจากผลงานหรือพฤติกรรม ที่โดดเด่น เช่น ถ้าเอ่ยถึงชื่อรัฐมนตรีคนนี้ นักข่าวจะมองหน้ากันรู้ว่าปรากฏการณ์ตลอดรอบ 1ปี ที่ผ่านมาสะท้อนออกมาอย่างไร
การที่เราเกาะติดทำงานทุกวัน พอเอ่ยชื่อออกมาก็จะมีแบคกราวน์ดตลอดปี นักข่าวก็จะจินตนาการเห็นพร้อมกัน สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วนำมาเสนอในที่ประชุม เพื่อดีเบตว่าตรงไหนควรปรับ เพื่อให้ทุกสำนักได้มีส่วนร่วมในฉายานั้นๆ
ขณะที่นักข่าวประจำรัฐสภาก็คล้ายกัน แตกต่างตรงที่ไม่ได้เลือกว่าจะให้ฉายา ส.ส.คนไหน แต่จะมีตำแหน่งล็อคไว้ให้ เช่น ภาพรวมของ ส.ส.ทั้งสภา ภาพรวมของส.ว. , ประธานของ 2 สภา รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยประมวลจากการทำงานในรอบปี เกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงออก แล้วนำมาคิดเป็นคำที่สะท้อนภาพลักษณ์ตลอดทั้งปี
นักข่าวประจำรัฐสภาจะไปทำการบ้าน แล้วนำมาดีเบตในที่ประชุมเช่นกัน ถึงเหตุผลที่เสนอชื่อคนนี้ จากนั้นก็ลงมติเป็นคำอธิบาย นอกจากนี้ยังมีทั้งตำแหน่ง ดาวเด่น-ดาวดับ-คนดีศรีสภา และวาทะแห่งปี , เหตุการณ์แห่งปี
“การตั้งฉายามีทั้งยากและง่ายขึ้นอยู่กับแต่ละปี ส่วน “ฉายาคนดีศรีสภา” นักข่าว ไม่ได้แต่งตั้งใคร เป็นปีที่4 เพราะไม่มี ส.ส.คนไหนระดับถึงมาตราฐานที่วางไว้ คนที่ได้ฉายานี้ควรจะดีจริงๆไม่อยากยัดเยียดว่า จะต้องหาให้ได้ เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับตำแหน่งนี้ ต้องรู้หน้าที่ทำงานไม่บกพร่องเพื่อส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่เล่นเกมการเมืองเกินไป เพราะบางคนได้รับฉายาก็นำไปหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้นมีผลกระทบทั้งแง่บวกและลบตามมา การคัดเลือกจึงต้องเข้มงวดและเข้มข้นจริงๆ เพื่อถือเป็นเกณฑ์มาตรฐาน”
แทบทุกปีที่สื่อมวลชนตั้งฉายา ก็จะไม่ถูกใจนายกรัฐมนตรีเท่าไหร่ แต่รัฐมนตรีหรือ ส.ส.และ ส.ว.หน้าเก่าๆ ส่วนใหญ่จะแสดงออก ด้วยอาการขำๆ เช่น ปีนี้จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ได้ฉายา “ประกันไรได้” ก็บอกไม่โกรธกลับมองในแง่ดีว่า เป็นการช่วยโปรโมท “นโยบายประกันรายได้” ให้กับพรรคประชาธิปัตย์
หรือกรณีคุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นักข่าวประจำรัฐสภาตั้งฉายาว่า “ชวนซวนเซ” คุณชวนก็ออกมายืนยันด้วยท่าทีขำๆว่า ตัวเองไม่ได้ซวนเซ เพราะทำหน้าที่ตามหลักการ แต่อาจจะไม่ถูกใจส.ส.บางเรื่อง และออกมาแก้ภาพลักษณ์ให้กับสภาที่ถูกตั้งฉายาว่า “3วันหนี4 วันล่ม” ว่าไม่ได้ล่มบ่อยแต่ช่วงปลายสมัยประชุมสภา อาจมีปัญหาบ้าง ยืนยันว่าผลงานมากที่สุด
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ถูกใจ “ฉายาแปดเปื้อน” แต่ภายหลังก็ยอมรับว่า เป็นประเพณีปฏิบัติ กลับมาดีกับสื่อเหมือนเดิม ส่วนบรรดารัฐมนตรีส.ส. –ส.ว.ก็จะเข้าใจโดยเฉพาะคนที่เป็นนักการเมืองมานาน ซึ่งแน่นอนว่าสื่อตั้งฉายาให้เขา ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้เขาชี้แจงให้กับสังคมด้วยว่า ในมุมมองของเขาการทำงานตลอดปีที่ผ่านมา เขามีแนวทางอย่างไร ให้โอกาสเขาได้ชี้แจงกับสาธารณะชนอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการตั้งฉายาของนักข่าว จะถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งฉายากลับให้สื่อด้วยนั้น แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ในฐานะเป็นนักข่าวต้องยอมรับทุกความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งถูกต้องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์พวกเรากลับ ถือว่าตรวจสอบการทำหน้าที่สื่อ
ทำให้การคิดฉายา หรือติดตามการทำหน้าที่ ของบรรดานักการเมือง นักข่าวต้องจริงจังไม่ใช่ทำเล่นๆเพื่อเอามัน เพราะสังคมต้องติดตามการทำหน้าที่สื่อกลับมาด้วย ตรงนี้เราก็น้อมรับ การตรวจสอบของประชาชน
“ในฐานะสื่อมวลชนเรายึดมั่น ในจรรยาบรรณวิชาชีพและจริยธรรม ยืนยันว่าการสะท้อนเหตุการณ์หรือฉายภาพรวม ของนักการเมืองตลอดรอบปีที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่สื่อไปติดตามทำข่าวต่อเนื่องทุกวัน1 ปีมี 365 วันใน 300 วันเราประจำการอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ฉะนั้นเราเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ เช่น บางมุมที่ไม่ได้ถูกนำเสนอในข่าวประจำวันอาจจะนำมาสะท้อนในภาพรวมที่เกิดขึ้นจากการตั้งฉายา”
ถ้าเปรียบกับกีฬาฟุตบอล เราเป็นสื่อมวลชนอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เราถอยออกมาจากจุดที่เป็นทั้งผู้เล่นหรือเป็นกรรมการตัดสิน หรือเป็นกองเชียร์ที่จะมีทั้งความรัก , ความชอบ และอคติ การที่เราถอยออกมาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ จะทำให้เห็นภาพรวมที่เกิดขึ้นในสนาม คือ รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง นักการเมืองหรือ ส.ส.คนนี้ทำหน้าที่อย่างไร เล่นในสนามอย่างไร การทำหน้าที่ของกรรมการทำอย่างไร ก็นำมาสะท้อนผ่านฉายา 1ปีจะมี1ครั้ง
เรายึดมั่นในหลักการจริงๆเป็นการเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไรไม่มีการแสดงความคิดเห็น ยกเว้นว่าถ้าเป็นบทความข่าวหรือคอลัมน์นิสต์ ก็อาจจะมีความเห็นของสื่อคนนั้น เข้าไปบ้าง แต่การตั้งฉายาตรงนี้สะท้อนมุมมองความรู้สึกข่าว จากที่สังเกตการณ์ในภาคสนามอาจจะถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง สื่อก็น้อมรับคำวิจารณ์หลังจากที่มีการเปิดฉายาออกไป
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5