“เบื้องหลัง ศึกซักฟอก สังคมและประชาชนได้อะไร ที่มากกว่าความขัดแย้ง”

“อำนาจสูงสุดประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตยจริงๆ มีเฉพาะช่วงเลือกตั้งเท่านั้น  อยากให้นำข้อมูลตรงนี้ไปคิดวิเคราะห์ ชั่งใจดูว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาในอนาคตใครกันแน่ที่จะมาทำงานจริงๆ”

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ แม้ว่ารัฐมนตรีทุกคนจะได้คะแนนเสียงโหวตให้ผ่านเพื่อไปต่อ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคอการเมืองไม่มากก็น้อย  ในมุมมองของผู้สื่อข่าวการเมืองสายการเมือง ประจำรัฐสภา ที่เกาะติดการทำงานของท่านผู้ทรงเกียรติในสภาหินอ่อน กว่า 10 ปี อย่าง ขนิษฐา เทพจร  วิเคราะห์ผ่านรายการ “ช่วยกันคิด ทิศทางข่าว” ว่า ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน พยายามใช้ข้อมูลเอกสารและข้อเท็จจริงมาอภิปราย เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นภาพ  ซึ่งฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลนั้น ถือว่าทำการบ้านมาเป็นอย่างดี  ทั้งเอกสารหลักฐานเรียกได้ว่า อภิปรายแบบฟันธงตรงประเด็นที่สุด ไม่ต้องมีการอารัมภบทเมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทย

            เมื่อมองดูในซีกของรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกหลายคน ไม่สามารถชี้แจงได้ตรงประเด็น  หรือตอบข้อสงสัยได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิบัติการไอโอของทหาร ที่พรรคก้าวไกลมองว่าเป็นการแบ่งแยกประชาชน ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่รัฐบาลไม่ชี้แจงฟันธงตรงประเด็น ว่าเรื่องดังกล่าวมีหรือไม่ กลับตอบเพียงว่าเป็นการทำงานของทหาร  หรือปมการขยายสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีจุดอ่อนที่ประชาชนจะตั้งข้อสังเกตได้ ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตหรือตรงไปตรงมา รวมทั้งมาตรการต่างๆผ่านนโยบายของรัฐที่ออกมาก็ไม่สำเร็จรูป เมื่อเกิดปัญหาแล้วจึงตามแก้ไข ฝ่ายค้านจึงตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการต่างๆ  เป็นการบริหารจัดการที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่คำนึงถึงปัญหาระยะยาว??
            ส่วนการชี้แจงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในช่วง 1- 2 วันแรก  ก็ไม่ได้อธิบายข้อสงสัย หรือความไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านได้อย่างตรงประเด็น มีเพียงแค่การยืนยันว่าทำตามกฎหมาย ไม่โกงและทำอย่างโปร่งใส  ขนิษฐา บอกว่า  โดยภาพรวมทั้ง 4 วันที่ผ่านมา ในสายตาของผู้สื่อข่าวมองว่ารัฐบาลไม่ได้แต้มอะไรเลย แม้ว่าจะมีเวลาในการประชาสัมพันธ์ผลงาน หรือแก้ต่างให้กับตัวเอง แต่สุดท้ายความเคลือบแคลงที่พรรคฝ่ายค้านส่งสารถึงประชาชน ที่ยังเคลือบแคลงสงสัย ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ

             สำหรับผลพวงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ประชาชนได้อะไรมากกว่าการถกเถียงกันในสภานั้น ก็อยากให้ช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบ ประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตเอาไว้  ต่อยอดด้วยการช่วยเป็นหูเป็นตาถึงนโยบายของรัฐบาล  โดยเฉพาะการดำเนินการในระดับพื้นที่  เพื่อส่งต่อผ่านไปยังรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาเพราะถือเป็นการพิทักษ์สิทธิของประชาชนเองด้วย
            ไม่ใช่การรอว่าเราจะได้อะไร แม้ว่าสิ่งที่เราควรตรวจสอบ คือ สิ่งที่เราได้ 100% หรือไม่ ในภาวะปัญหาโควิด-19 หรือปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ เท่าที่สังเกตดูประชาชน จะช่วยเหลือตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนมาตรการของรัฐเป็นมาตรการเสริมที่เข้ามาช่วยบรรเทาซึ่งอาจจะไม่ได้ครบทั้ง 100%  เพราะมีการรั่วไหล เช่น ตอนนี้โครงการคนละครึ่ง ส่วนตัวก็ไปเข้าร่วมโครงการนี้เห็นได้ชัดถึงรอยรั่ว  แม้ว่าอาจจะไม่ใช่จากรัฐบาล แต่เป็นจากผู้ประกอบการเอง ที่เขาอาจจะโกงราคาหรือเพิ่มราคา ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของประชาชนด้วยที่จะต้องตรวจสอบ

            “เมื่อจับตาการทำงานของรัฐบาล ถึงข้อสงสัยและข้อพิรุธต่างๆแล้วนั้น ก็ต้องนำไปประมวล เพื่อใช้ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง 1-2 ปีข้างหน้าด้วย เพราะอำนาจของประชาชน ตามระบบประชาธิปไตยจริงๆ อาจจะพูดได้ว่ามีอำนาจสูงสุด ในช่วงของการเลือกตั้งเท่านั้น  จึงอยากจะให้ประชาชนนำข้อมูลตรงนี้ไปคิดวิเคราะห์ให้ดี และชั่งใจดูว่า ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป รัฐบาลที่จะเข้ามาในอนาคตเพื่อบริหารหรือแก้ไขปัญหา ใครกันแน่ที่จะมาทำงานแท้จริงๆ ไม่ใช่ว่ามาขอคะแนนแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเป็นฝ่ายบริหารกลับไม่ใส่ใจประชาชน”


            ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เขย่าเสถียรภาพรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหนนั้น  ขนิษฐา บอกว่า ในแง่ของความเชื่อถือของประชาชนมีส่วนสำคัญ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ก็ไม่ได้ตอบคำถามในข้อสงสัยของฝ่ายค้านทำให้ประชาชนที่ติดตามอยู่ภายนอก อาจจะเริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจกับรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเกมในสภาหรือเกมฝ่ายนิติบัญญัติ  อย่างที่เห็นเป็นควันหลงตามสื่อต่างๆ คนที่ได้คะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจน้อย ก็อาจจะมีแรงกระเพื่อม ที่ทำให้โควต้าของพรรคการเมือง เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ดังนั้นถ้าต้อง การลดกระแสความขัดแย้งภายในพรรคจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อที่กลุ่มบาลานซ์ให้มากที่สุด

            ซึ่งหลังจากนี้เรื่องที่ต้องตามต่อ คือ กระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการยุติธรรม ที่ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาในการกระทำของรัฐมนตรี ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านตั้งคำถามแล้วรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงอย่างละเอียด สุดท้ายผิดหรือไม่ผิดกันแน่!!             ติดตามรายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #โควิด19

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation