ดับแผนขุดทรายให้สิงคโปร์ ปกป้องทรัพยากรมีค่าไทย

ดับแผนขุดทรายให้สิงคโปร์ ปกป้องทรัพยากรมีค่าไทย

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน

 

“มติชน” ได้รับข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาชนที่ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันดามันว่า บริษัท เค แซน แอนด์ รีซอสเซส คอร์เปอเรชั่น ประเทศสิงคโปร์ ทำหนังสือถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 3 แห่ง ใน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาขออนุญาตขุดลอกตะกอนทรายและสันดอนปากแม่น้ำตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จำนวน 21 ล้านคิวบิกเมตร (เทียบรถบรรทุกทราย 21 ล้านคัน) โดยไม่คิดค่าดำเนินการแม้แต่บาทเดียว เพียงแต่ขอตะกอนทรายไปถมทะเลที่สิงคโปร์ อ้างประโยชน์ว่าจะช่วยแก้ปัญหาการเดินเรือติดขัด และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่าได้ดีที่สุด

 

เราได้ตั้งข้อสังเกตร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ว่า การดำเนินการเรื่องนี้อาจมีความไม่ชอบมาพากลซ่อนอยู่ จึงได้ติดตามเรื่องนี้มานำเสนอเป็นข่าว  ควบคู่ไปกับศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นจริงหรือไม่  แก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่  ตะกอนทรายมีสินแร่ต่างๆมากน้อยแค่ไหน  บริษัทต่างชาติสามารถขนทรัพยากรธรรมชาติออกนอกประเทศได้หรือไม่อย่างไร  เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก่อนที่ราชการจะอนุมัติโครงการดังกล่าว

 

จากการนำเสนอข่าวประกาศกระทรวงพาณิชย์  ฉบับที่ 69 พ.ศ.2537 และฉบับที่ 87 พ.ศ.2541 ห้ามส่งออกทรายธรรมชาติทุกชนิดที่มีซิลิการ์ออกไซด์เกินกว่า 75% โดยน้ำหนัก ออกนอกราชอาณาจักร เพื่อสงวนไว้ใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ และป้องกันการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต้องชะลอการอนุมัติโครงการออกไปก่อน แม้บริษัทเค แซนฯอ้างว่า ได้ให้กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ อบต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า ตรวจพิสูจน์ตะกอนลำน้ำแล้ว พบว่า มีซิลิการ์ออกไซด์เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 65% และไม่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ทว่า "มติชน”ได้ตรวจสอบไปยังกรมทรัพยากรธรณี จนได้ความจริงว่ายังไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบปริมาณซิลิการ์ออกไซด์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐาน

 

อีกด้านหนึ่ง "มติชน"ได้สอบถามความคิดเห็นของนักวิชาการ  ประชาชน นักการเมืองท้องถิ่น  และองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ซึ่งคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยยกข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพื้นที่ว่า  การขุดลอกตะกอนทรายไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยขุดมาหลายครั้งแล้ว  น้ำก็ยังท่วมอยู่ ที่สำคัญคือ  ชาวบ้านเชื่อว่า ในตะกอนทรายที่บริษัทขอขุดนั้นน่าจะมีปริมาณสินแร่ที่มีค่าปะปนอยู่แน่นอน

 

ส่วนนักวิชาการทางทะเลอย่าง  ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  ระบุว่า การขุดตะกอนทราย  และสันดอนออกจากแม่น้ำตะกั่วป่านั้น ถือว่าเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมอย่างมหาศาล เพราะการนำเอาทรายมากถึง  21 ล้านคิวบิกเมตรออกมาจากแหล่งน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการแทนที่กันขึ้น คือ ทรายและดินที่อยู่ชายฝั่งจะไหลลงไปแทนที่ทรายที่ถูกขุดออกไป ดังนั้นในอนาคตพื้นที่บริเวณนั้นจะเกิดการพังทลายและกัดเซาะชายฝั่งอย่างน่ากลัวที่สุด

 

เรายังตรวจสอบพบอีกว่า การขุดทรายจำนวนมหาศาลถึง 21 ล้านคิวบิกเมตรออกนอกราชอาณาจักร ไม่เพียงมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ควบคุมเท่านั้น แต่มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.แร่ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งระบุว่า ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึง จ.พังงานั้น การทำโครงการขนาดใหญ่จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอด้วย แต่โครงการนี้ไม่ได้ทำอีไอเอ ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพหรือ เอชไอเอ ด้วย

 

นอกจากการติดตามนำเสนอข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องแล้ว "มติชน"ยังนำเสนอรายงาน  และบทความวิชาการ นำเสนอองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลให้นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์  อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  ต้องสั่งให้นักธรณีวิทยา  และวิศวกรเหมืองแร่เข้าไปสุ่มเก็บตัวอย่างตะกอนทรายในพื้นที่ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณแร่อย่างถูกต้อง  เป็นธรรม และเป็นกลางแก่ทุกฝ่าย  ผลการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการระบุว่า ปริมาณซิลิการ์ออกไซด์สูงเกิน 75% นั่นหมายความว่า บริษัทไม่สามารถส่งทรายออกนอกประเทศได้ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์

 

แม้จะเป็นการนำเสนอข่าวในกรอบเล็กๆของหนังสือพิมพ์ "มติชน" แต่เราได้เกาะติดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง  จนส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย  หลายหน่วยงาน ตื่นตัวสนใจว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของตนเองหรือไม่  จนกระทั่งโครงการดังกล่าวได้รับการกลั่นกรอง ตรวจสอบมากขึ้น

 

กล่าวสำหรับ "มติชน" อย่างน้อยที่สุด เราได้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไม่ให้ถูกฉกฉวยเอาไปเป็นของต่างชาติ

 

กองบรรณาธิการมติชน