เปิดโปงสัมปทานฉาว ลานจอดรถสุวรรณภูมิ รื้อขบวนการเขมือบ บมจ.ท่าอากาศยานไทย
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่รัฐบาลประกาศให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. ดำเนินการเปิดใช้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการเมื่อ 28 กันยายน 2549 โครงการขนาดใหญ่ที่รอคอยกันมาหลายช่วงอายุคน เพราะใช้เวลาก่อสร้างยาวนานเกือบ 50 ปี ด้วยเงินลงทุนมูลค่าหลายแสนล้านบาท เป้าหมายหลักเพื่อสร้างสนามบินแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศมีหลักธรรมาภิบาลความโปร่งใส เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี สามารถบริหารจัดการให้ติดอันดับ บริการ 1 ใน 5 ของโลก ทำหน้าที่เป็นประตูต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและเสาหลักของการท่องเที่ยว สนับสนุนรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของ ทอท.เป็นแหล่งขุมผลประโยชน์ทางการเมืองและนักธุรกิจควรจะได้รับการปัดกวาดอย่างจริงจัง จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่กองบรรณาธิการ ประชาชาติธุรกิจ มุ่งมั่นเจาะอย่างจริงจังถึงแนวปฏิบัติหลักการให้สัมปทานบริษัทเอกชน เมื่อตรวจสอบจนพบว่าสัมปทานพื้นที่ลานจอดรถในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิต่างกรรมต่างวาระ 2 พื้นที่ 2 สัมปทาน ได้ส่งผลโดยตรงกับการสูญเสีย รายได้ต่อเนื่อง ของ ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจมีมูลค่าปีละเกือบ 1,000 ล้านบาท และยังสะท้อนความเสียหายทางภาพลักษณ์ของประเทศแพร่สะพัดไปทั่วโลก
ประชาชาติธุรกิจ เฝ้าติดตามตรวจสอบข้อมูลของ ทอท.อนุมัติสัมปทานพื้นที่ลานจอดรถในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ 2 พื้นที่ ได้แก่
พื้นที่ที่ 1 สัมปทานลานจอดรถในพื้นที่บริเวณลานจอดรถระยะยาว (long term parking) ขนาด 62,380.50 ตารางเมตร ทอท.รวบรัดพิจารณาและอนุมัติโดยใช้เวลา เพียง 10 วัน ให้บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ได้สัญญา 15 ปี ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2553-30 พฤศจิกายน 2568 เพื่อเข้ามาดูแลการลงทุนโครงการ สุวรรณภูมิสแควร์ มูลค่า 450 ล้านบาท พ่วงกับสัมปทานรับจ้างบริหารลานจอดรถ แต่กลับเสนอจ่ายผลตอบแทนคืน ทอท.เพียงปีละ 2 ล้านบาทเศษ
พื้นที่ที่ 2 สัมปทานลานจอดรถในพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิ ขนาด 160,000 ตารางเมตร ให้บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ได้สัญญา 5 ปี ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2553-30 มีนาคม 2558 เพื่อบริหารและจัดเก็บค่าจอดรถจากผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ ท่ามกลางความขัดแย้งภายในของผู้ร่วมทุนในบริษัท 2 กลุ่ม ซึ่งต่างฝ่ายต่างใช้วิธีจ้างชายฉกรรจ์ชุดดำเข้ามาคุมผลประโยชน์ในบริเวณดังกล่าว
หลังพบเบาะแสจากเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 มีมติอนุมัติให้สัมปทานพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (long term parking) แก่บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ได้สัญญาเป็นเวลาถึง 15 ปี เพื่อลงทุนพัฒนาโครงการสุวรรณภูมิ สแควร์และทำลานจอดรถควบคู่กันไป
ทีมงาน ประชาชาติธุรกิจ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดจากทั้งเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้บริหาร ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้บันทึกข้อมูล รวมถึงคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.
เบาะแสจากทุกฝ่ายตรงกันคือ ผู้บริหารรวบรัดอนุมัติโดยปฏิบัติลัดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามระเบียบรัฐวิสาหกิจ นั่นคือไม่ได้เสนอเรื่องให้บอร์ดพิจารณา ตามระเบียบสัมปทาน 10 ปีขึ้นไปจะต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ดังนั้นสัมปทานครั้งนี้บอร์ดสามารถใช้สิทธิสั่งให้ระงับหรือให้เป็นโมฆะได้
ลำดับต่อมา ประชาชาติธุรกิจ เข้าตรวจสอบการจดทะเบียนบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด พบว่าบริษัทนี้มีสามีภรรยาร่วมกันลงทุนเพียง 2 คน ก่อนเสนอชื่อเข้าร่วมประมูล มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ระบุมีรายได้และกำไรปีละหลักพันบาทเท่านั้น ปี 2551 มีรายได้ 9,826 บาท กำไรสุทธิ 1,200 บาท เป็นชนวนสำคัญให้ชวนตรวจสอบว่า ชนะประมูลได้อย่างไร ในเมื่อสุวรรณภูมิสแควร์เป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุนสูงถึง 450 ล้านบาท แถมยังได้สัญญาบริหารลานจอดรถรวมเข้าไว้ด้วยอีก 15 ปี
ทันทีที่ ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอข่าวทั้งหมดในฉบับแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ทั้งฝ่ายการเมือง คณะกรรมการหรือบอร์ด ทอท. และผู้คนทั่วไปให้ความสนใจสอบถามกันเป็นวงกว้าง
แรงกระเพื่อมภายใน 72 ชั่วโมง ส่งผลให้นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด บมจ. ท่าอากาศยานไทย ต้องขอเปิดประชุมบอร์ดเร่งด่วนวันที่ 6 กันยายน 2553 เพื่อร่วมกันพิจารณาวาระพิเศษเรื่องเดียวคือ ขอมติกรรมการทั้งหมดสั่งระงับและให้ฝ่ายบริหารทำหนังสือยกเลิกสัมปทานลานจอดรถระยะยาวของบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด
พร้อมมติย้ายผู้บริหารระดับแถวหน้าที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ถึง 3 คน ได้แก่ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ และ นางดวงใจ คอนดี รองผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ
การตรวจสอบพื้นที่ที่ 1 สัมปทานลานจอดรถระยะยาวสุวรรณภูมิเสร็จสิ้นลงภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ทำให้สัญญาที่บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ยังไม่ทันเริ่มดำเนินงานต้องยกเลิก พร้อมสัญญา 15 ปี เป็นการช่วยรักษารายได้ของ ทอท.มูลค่ามหาศาลไว้ได้
จากนั้น ประชาชาติธุรกิจ ได้นำเสนอข่าวฉบับต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2553 ขยายผลตรวจสอบข้อมูลสัมปทานพื้นที่ลานจอดรถสุวรรณภูมิทั้งหมด พบความผิดปกติ เพิ่มอีก 1 สัมปทาน ในพื้นที่ที่ 2 บริเวณลานจอดรถด้านหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบี สุวรรณภูมิ 160,000 ตารางเมตร ขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ที่ 1 ถึง 3 เท่า
ประชาชาติธุรกิจ ตรวจสอบเอกสารการประชุมและสอบถามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดพบว่า เดิมพื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมินั้น ทอท.ไทยเป็นผู้จัดเก็บเงินค่าบริการลานจอดรถเองมาตั้งแต่เปิดสนามบิน มีรายได้เป็นเงินสดจาก 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ค่าบริการรายวันเก็บได้วันละ 8 แสน-1 ล้านบาท เฉลี่ยรวมเดือนละ 27-30 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ค่าสมาชิกจากพนักงานบริษัทต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิอีกเดือนละประมาณ 4-5 ล้านบาท เมื่อรวมรายได้ทั้งหมดแล้วมีไม่ต่ำกว่าปีละ 360-380 ล้านบาท
แต่เมื่อปลายปี 2552 คณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ก็เสนอเปลี่ยนระบบเป็นเปิดประมูลให้สัมปทานแก่บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเสนอผลตอบแทน ทอท.เพียงเดือนละ 16.50 ล้านบาท เพื่อเข้าบริหารการจัดเก็บรายได้พื้นที่ตลอดสัญญา 5 ปี เริ่มดำเนินงาน 1 เมษายน 2553
จากการตรวจสอบจากเอกสาร บุคคลที่เกี่ยวของ และพนักงานปฏิบัติการระดับหัวหน้าคุมงานภาคสนามของทั้ง 2 ฝ่าย พบการอ้างชื่อนักการเมืองใหญ่เปิดทางให้ไปชวนคนมีสีซึ่งมีเงินทุนเข้ามาร่วมถือหุ้นเพื่อแบ่งผลประโยชน์กัน 3 ฝ่าย แต่พอเริ่มต้นธุรกิจกรรมการในบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด 2 ขั้ว ขัดแย้งกันรุนแรง
โดยกรรมการในบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ต่างฝ่ายต่างแย่งสิทธิการทำหน้าที่เก็บเงินสดจากผู้ใช้บริการสุวรรณภูมิเข้ากระเป๋าตนเอง ไม่นำส่ง ทอท. (ตามสัญญาจะต้องแจ้งรายได้จริงวันต่อวัน) เป็นเวลาติดต่อกัน 4 เดือนระหวาง 1 เมษายน-กรกฎาคม 2553
นอกจากจะทะเลาะกันเองภายในบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด แล้ว ประชาชาติธุรกิจ ค้นหลักฐานจนได้ข้อมูลใหม่เพิ่มว่า ทั้ง 2 ขั้วได้แจ้งความคดีอาญาเอาผิดกันเอง ในข้อหานำชายฉกรรจ์บุกรุกเข้ามายึดทรัพย์สินบริษัทที่ทั้งคู่ต่างก็เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการร่วมกัน
ขณะเดียวกันทั้งคู่ได้ทำหนังสือแจ้งถึง นายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ (ขณะนั้น) เข้ามาแก้ปัญหา เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองก็ขยายผลร้องเรียนไปถึงนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สั่งลงโทษนายนิรันดร์และขู่จะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาท วิธีร้องเรียนของทั้ง 2 ฝ่าย มีเอกสารการเล่าเรื่องลำดับเหตุการณ์พร้อมกับแนบข้อมูลจริงทุกชุด
เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเบาะแสที่ ประชาชาติธุรกิจ นำมาศึกษาและปรึกษานักกฎหมายหลายแห่ง พบว่าบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ทำผิดเงื่อนไขข้อตกลงทีโออาร์กับ ทอท.หลายประเด็น โดยเฉพาะเงื่อนไขสำคัญที่สุดคือ ไม่จัดส่งรายได้ให้แม้แต่เดือนเดียว จนกระทั่ง ทอท.ต้องใช้วิธีเก็บรายได้จากการหักเงินค้ำประกันของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด จากธนาคารกสิกรไทย
เมื่อได้ข้อสรุปจากนักกฎหมายว่า บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ทำผิดสัญญา ประชาชาติธุรกิจ จึงสอบถามไปยังนายโสภณ ซารัมย์ ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดเหตุการณ์ขึ้นต่อหน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเมื่อ 29 กันยายน 2553 มีภาพมาเฟียชายฉกรรจ์ชุดดำกลุ่มใหญ่ 2 ฝ่าย อ้างเป็นลูกน้องคนมีสีเข้าไปปะทะกันอยู่ในพื้นที่ลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิ
ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายถึงนายโสภณเร่งแก้ปัญหานี้ให้จบโดยเร็ว เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ ต่อมานายโสภณแต่งตั้งนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบการบริหารพื้นที่ท่าอากาศยานที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง
ขณะที่สื่อมวลชนแขนงอื่น ๆ ได้เข้ามาร่วมเสนอข่าวเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ท้ายที่สุด นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ต้องเปิดประชุมบอร์ดวาระพิเศษอีกครั้ง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกสัมปทานลานจอดรถด้านหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิกับบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด มีผลตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป และให้ ทอท.เข้ามาจัดเก็บรายได้ลานจอดรถบริเวณดังกล่าวเองทั้งหมด
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 จนถึงขณะนี้เดือนมกราคม 2554 ทอท.สามารถเก็บเงินสดจากพื้นที่ที่ 2 บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิได้วันละ 8 แสนบาท-1.2 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 28-30 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายปีละ 360-380 ล้านบาท
การเปิดโปงสัมปทานฉาว ลานจอดรถสุวรรณภูมิ ปมปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ทำให้ ทอท.ถูกวิพากษ์ว่า เป็นขุมผลประโยชน์ทางการเมืองได้ถูกรื้อ โดยมีทั้งหลักฐานเอกสารครบ จนในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาผลประโยชน์และภาพลักษณ์ประเทศไว้ได้อีกครั้ง