เลาะรั้ว กระทรวงศึกษาธิการ ส่องกล้อง คนสื่อ-ชีวิตการทำข่าว

เลาะรั้ว กระทรวงศึกษาธิการ

ส่องกล้อง คนสื่อ-ชีวิตการทำข่าว

ความสำคัญของ”กระทรวงศึกษาธิการ” คงไม่ต้องว่ามีความสำคัญมากขนาดไหน  เพราะนโยบายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายล้านคนทั่วประเทศ เช่นการต้องเรียนการศึกษาภาคบังคับ อย่าง ป.1 ถึง ป.6 เป็นเวลา 6 ปี และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 อีก 6 ปี หรือ เรียนสายอาชีพ ปวช.และหากเรียนไปถึงระดับปวส. อีกสองปี โรงเรียน โดยที่สถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนที่อยู่ในการดูแลรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วม 30,000 แห่ง ครอบคลุม การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ทำให้กลุ่มผู้ที่สนใจข่าวการศึกษาจึงมีจำนวนมากพอสมควร

ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากทุกรัฐบาลอยู่ในอันดับต้นๆ มาตลอด โดยเป็นกระทรวงที่มี หน่วยงานที่เป็นองค์กรหลัก 4 องค์กร ประกอบด้วย

1.สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะมีหน่วยงานที่ภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ดูแลนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

3.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ดูแลการศึกษาในสายอาชีพ

และ4.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

เมื่อความสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ มีมากขนาดนี้ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ชีวิตของคนเกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะกับ”อนาคตของชาติ”ผ่านระบบการศึกษา

ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน-สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”จึงพาไปเลาะรั้วกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินใน เพื่อให้รู้วิธีการทำงานของ”นักข่าวกระทรวงศึกษาธิการ-นักข่าวสายการศึกษา”ที่เป็นนักข่าวภาคสนาม ทำงานหาข่าว ในกระทรวงมาหลายปี

เริ่มที่ “หนึ่ง อุทิตา สุวรรณธาดา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สายการศึกษา ประจำกระทรวงศึกษาธิการ” เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ทำงาน ว่า ปฏิบัติหน้าที่อยู่สายงานนี้มากว่า 14 ปีแล้ว ต้องยอมรับว่าช่วงแรกของการทำงานในสายการศึกษานี้ ค่อนข้างยากและต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร แต่ต้องขอบคุณรุ่นพี่ๆในทีมการศึกษาของต้นสังกัดทุกคนที่ช่วยสอนและให้คำแนะนำต่างๆ ในการเข้าถึงข้อมูล อีกทั้งข่าวการศึกษาของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มีหน้าประจำทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ไปจนถึงวันศุกร์ ดังนั้นการหาข่าวก็จะต้องทำเป็นประจำ รวมถึงต้องทำข่าวประเด็นสำคัญให้กับหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ด้วย

“อุทิตา-คนข่าวกระทรวงศึกษาธิการ ค่ายเดลินิวส์”บอกเล่าถึง การทำข่าวในกระทรวงศึกษาธิการต่อไปว่า  สำหรับวิธีการหาข่าวและหาประเด็นในแต่ละวันนั้น เราจะต้องติดตามข่าวทุกวันไม่ว่าจะเป็นข่าวหน้าหนึ่งหรือในหมวดข่าวอื่นๆ เพราะทุกข่าวสามารถนำมาเชื่อมโยงเกี่ยวกับการศึกษาได้หมด

...ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เราสามารถนำมาต่อยอดในส่วนการศึกษาได้ โดยนำประเด็นนี้ไปสอบถามกับผู้บริหารหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ดูแลนักเรียน ครู โรงเรียนทั่วประเทศ ว่า จะมีการถอดบทเรียนเรื่องโควิด-19 สู่การเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น ดังนั้นถือได้ว่าหน่วยงานในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการจึงมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวในแต่ละวันแทบทั้งสิ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราอยากจะหยิบประเด็นไหนมาต่อยอดและปั้นให้เป็นประเด็นในแต่ละวัน

...สิ่งสำคัญในการหาข่าวการศึกษาก็คือ การเข้าหาแหล่งข่าว เพราะหากเราต้องการหาข่าวเจาะ หรือข่าวเฉพาะที่ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ก็จำเป็นต้องอาศัยแหล่งข่าวทั้งสิ้น หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็สามารถยกหูโทรศัพท์เช็คข้อมูลกับแหล่งข่าวได้ทันที และที่สำคัญนอกเหนือจากข้อมูลจากแหล่งข่าวแล้ว เราต้องยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง สร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้เสพข่าวให้ได้มากที่สุดด้วย

ส่วนการแข่งขันหาข่าวในพื้นที่โดยเฉพาะ”ข่าวเดี่ยว-ข่าวซีฟ” นั้น ก็ต้องมีวิธีการหาข่าวเช่น การเข้าไปพูดคุยแบบเมาท์มอยกับข้าราชการทุกคนไปจนถึงแม่บ้าน-เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือ รปภ. เพราะทุกคนถือเป็นแหล่งข่าวชั้นดี จะรู้ว่ามีเรื่องหรือประเด็นอะไรที่อัพเดทฮอตๆน่าสนใจบ้าง

“เราก็จะไปคนเดียวโดยไม่ได้บอกใครและให้ไปเห็นบนแผงหนังสือพิมพ์ในรุ่งเช้าเอง”เธอกล่าวไว้

หนึ่ง อุทิตา-สนทนาต่อไปว่า จากประสบการณ์การทำงานในสายงานการศึกษานั้นมองว่า ข่าวที่ต้องนำเสนออย่างต่อเนื่องคือข่าวในเชิงทุจริตที่ต้องมีการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะประเด็นการจ่ายเงินแลกที่นั่งเรียน หรือ “แป๊ะเจี๊ย” ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เช่น เมื่อปี 2560 มีข่าวดังหน้า 1 ทุกฉบับ ผู้อำนวยการโรงเรียนดังย่านสามเสน กทม.มีคลิปเสียงรับเงินแลกที่นั่งเรียน ซึ่งในประเด็นข่าวนี้ถือเป็นประเด็นร้อนที่ต้องตามติดกว่า 1 ปี เนื่องจากโรงเรียนมีการรับนักเรียนเกิดขึ้นทุกปี จึงจำเป็นต้องมีการจับตาเรื่องนี้ควบควบคู่ไปด้วย

...ในสายงานข่าวการศึกษานั้นจะเป็นข่าวที่สะท้อนสังคมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรครู นักเรียน ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนทุกอย่างที่เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด รวมถึงความเป็นอยู่ในวิชาชีพครู โรงเรียน หลักสูตรการเรียนการสอน การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ซึ่งกลุ่มคนที่อ่านข่าวการศึกษาก็จะกลุ่มครู ผู้ปกครอง เด็ก เนื่องจากเป็นผู้รับสารด้านนี้โดยตรง ตามความสนใจของแต่ละบุคคล เช่น กลุ่มครู จะสนใจข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบในวิชาชีพของตนเอง อย่างปัญหาหนี้สินครู เป็นต้น   ซึ่งในฐานะสื่อมวลชนสายนี้เราเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนที่สามารถให้การศึกษาควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบของโรงเรียนได้

“หนึ่ง -อุทิตา”ที่มีประสบการณ์การทำข่าวมาสิบกว่าปี ยังได้พูดถึงรูปแบบการทำข่าวยุคปัจจุบัน ที่สื่อโซเชียลมีเดีย กลายเป็นกระแสหลักในการเสพข่าวของคนยุคนี้ว่า แม้เราจะต้องนำเสนอข่าวลงหนังสือพิมพ์แล้ว แต่ยังต้องแข่งขันกับประเด็นทางโซเชียลมีเดียอีกด้วย เนื่องจากขณะนี้เราต้องยอมรับว่าสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ซึ่งเราต้องทำข่าวอัพเดทตลอดเวลา เช่น มีการเผยแพร่คลิปครูหื่นรายหนึ่งกระทำอนาจารนักเรียน เพราะข่าวนี้เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงแน่นอน และจำเป็นอย่างมากที่เราต้องรีบเช็คข้อมูลให้เร็ว เป็นต้น

...อย่างไรก็ตาม แม้การนำเสนอข่าวจะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีสื่อออนไลน์ที่ส่งผลให้เราต้องทำงานอย่างรวดเร็วขึ้นนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบกับนักข่าวกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมองว่าเรายังสามารถหาข้อมูลข่าวเชิงลึกได้อยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ คือ การตามข่าวในสื่อโซเชียลมีเดียที่บางครั้งมีการดัดแปลงข่าวที่ยังไม่มีมูลความจริง จนเราต้องมานำเสนอข้อมูลใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อทำให้ผู้บริโภคไม่สับสนในการอ่านข่าว  ทั้งนี้แม้ข่าวออนไลน์จะเข้ามีบทบาทอย่างมาก แต่เรายังคงต้องยึดหลักการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยไม่สร้างความตื่นตระหนักให้แก่ผู้รับสาร

“นิยามของข่าวการศึกษาสำหรับเรามองว่าการศึกษา คือ การสร้างทุนมนุษย์ในอนาคต”คนข่าวกระทรวงศึกษาธิการ ค่ายเดลินิวส์ทิ้งท้าย

อยากรู้อนาคตประเทศไทย

ทิศทางข่าวการศึกษาบอกได้

ขณะที่ “นพ -นพรุจ กล่ำทอง ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สายการศึกษา” เล่าว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาในสาขาสื่อสารมวลชนทางกีฬา ซึ่งเป็นการเรียนทางกีฬาโดยตรงแต่เมื่อมาทำงานจริงก็ได้รับการมอบหมายให้มาประจำสายการศึกษา ต้องถือว่าใช้เวลาในการปรับตัวค่อนข้างนานพอสมควร เนื่องจากมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่าโชคดีมากในปรับตัวได้อย่างรวดเร็วนั้นคือ สภาพแวดล้อมในการทำงาน

“นักข่าวสายการศึกษาอยู่จะเป็นในรูปแบบพี่สอนน้อง จึงทำให้สามารถปรับตัว เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ประกอบกับแหล่งข่าวของกระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่ มักเจริญเติบโตมาจากการเป็นครู การสัมภาษณ์ในแต่ละครั้งจึงเป็นเหมือนการสอนหนังสือคือมีการอธิบายต่างๆ และมีเทคนิคในการบรรยายที่เข้าใจง่ายมากขึ้น”

..สำหรับประเด็นข่าวในการติดตามข่าวนั้น ส่วนตัวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ประเด็นข่าวที่ต้องติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการ และ ประเด็นข่าวที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน

..อย่างการติดตามรัฐมนตรี หรือ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงลงพื้นที่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเด็นข่าวและสิ่งที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการลงพื้นที่นั้นๆ เช่น การลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือ ติดตามโครงการอาหารกลางวัน แบบนี้ถือว่าน่าสนใจและประชาชนจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ลงพื้นที่มา สามารถสะท้อนปัญหาในแต่ละพื้นที่ไปสู่วงกว้าง หรือ แม้แต่การลงไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับส่วนรวมได้

นพรุจ-ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ฯ” ให้มุมมองอีกว่า แม้ในยุคนี้เป็นสมัยที่เรียกกันได้ว่าไม่ว่าคุณหรือใครก็สามารถเป็นนักข่าวได้ เพียงคุณมีเครื่องมือสื่อสาร มีการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายของแต่ละคนได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะแตกต่างจากคนทั่วไป โดยเฉพาะบุคลากรของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ อย่างผม คือ ทุกข่าวที่ออกมาต้องเป็นข่าวที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เราอาจไม่ต้องมีข่าวที่รวดเร็วที่สุดกว่าทุกที่ แต่ข่าวที่ออกจากเรา ต้องเป็นข่าวที่ถูกต้องที่สุด และมีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่องค์กรข่าวของเราได้เน้นย้ำมาอย่างเสมอ

ส่วนตัวสิ่งที่สำคัญที่สุดของนักข่าวกระทรวงศึกษานั้นคือ การปกป้องผลประโยชน์ของนักเรียน ครู ให้ได้มากที่สุด กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุดนั่น คือ สิ่งที่คนทั่วไปรับรู้รับทราบมาตลอด แต่หากในความจริงแล้วเงินงบประมาณมากมายที่เห็นนั้นเป็นเงินงบประมาณประจำที่ต้องใช้จ่าย หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าเงินเดือนแล้วกว่า ร้อยละ 70-80 เหลือเงินงบประมาณได้ลงทุนพัฒนาอาคารสถานที่ต่างๆหรือผลิตคิดค้นนวัตกรรมทางการศึกษา หรือ ลงทุนทางการศึกษาต่างๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“หากเราปล่อยให้เงินเหล่านี้นำไปใช้อย่างอื่นที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริงอีก การที่คนทั่วไปเรียกนักข่าว ว่า หมาเฝ้าบ้าน ก็คงไม่มีประโยชน์หรือความหมายอะไร ก็คงเป็นเพียงหมาที่ได้แต่กินอิ่มนอนหลับแต่เพียงเท่านั้น

นพรุจ”ถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องราวการทำข่าวในกระทรวงศึกษาธิการต่อไปว่า แหล่งข่าวของการศึกษาไม่ได้มีเพียงข้าราชการฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการประจำเท่านั้น แต่ยังคงมีนักวิชาการด้านการศึกษาด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าการหานักวิชาการด้านการศึกษาที่กล้าแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมายากพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการสัมภาษณ์ที่ผ่านมามักจะเป็นนักวิชาการด้านการศึกษาท่านเดิมๆ ซึ่งตรงนี้เองการสะท้อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็อาจไม่ดีมากนัก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า ข่าวการศึกษาที่เกิดผลกระทบต่อสังคมนั้น คือ การศึกษาที่เกิดจากสิ่งรอบตัว เช่น การเปิดปิดภาคเรียน การขึ้นค่าเทอม ลดเงินเดือนครู หรือ การประเมินวิทยฐานะครูที่คนในแวดวงการศึกษาจะให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น วันนี้มีข่าวออกว่า จะมีการประกาศปรับลดจำนวนศึกษานิเทศก์ลง คอยดูอิมแพคทางสังคมได้ครับมาเต็ม มาเต็มในที่นี้คือมาเต็มกระทรวง ม็อบนั้นเองครับ แล้วสารพัดเหตุผลที่ควรมีศึกษานิเทศก์อยู่ก็จะได้ยินตามๆ กันมา

“นพรุจ”ย้ำว่า ข่าวการศึกษา ในมุมมองของผม คิดว่าเป็นข่าวสำคัญ ที่ทุกคนต้องติดตาม เชื่อได้เลยว่าหากคุณอยากรู้ว่าประเทศไทยในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คุณไม่ต้องไปหาหมอดูที่ไหนคุณติดตามข่าวการศึกษาอย่างใกล้ชิดคุณจะรู้ได้ทันที เพราะว่าหากเรามีนักเรียนนักศึกษาที่ดีมีคุณภาพ การจัดนวัตกรรมการศึกษาที่เรียนให้ประชาชนได้เรียนรู้พัฒนาตัวเองตลอดชีวิต นั้นคือ เรามีต้นทุนมนุษย์ที่เพียบพร้อมไม่ว่าชนชาติไหนในโลกก็อยากมาคบค้าสมาคมลงทุนด้วยกันทั้งนั้น สภาพเศรษฐกิจ อะไรต่างๆ ก็จะตามมาเอง นี่แหละคือความสำคัญของข่าวการศึกษา

ข่าวการศึกษา

คนสนใจมากแค่ไหน-ใครคือกลุ่มเป้าหมาย?

ปิดท้ายที่อีกหนึ่ง”นักข่าวกระทรวงศึกษาธิการ” ที่อยู่สังกัดสื่อหนังสือพิมพ์-เว็บไซด์ข่าว แนวการเมือง แห่งหนึ่ง ซึ่งได้ขอสงวนนาม โดยเป็นนักข่าวที่ทำข่าวภาคสนามสายการศึกษาทั้งกระทรวงศึกษาธิการ -กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอุดมศึกษา มาร่วม 5-6 ปี

โดย”นักข่าวกระทรวงศึกษาธิการ”คนดังกล่าว เล่าย้อนเส้นทางก่อนจะมาประจำการสนามข่าวกระทรวงศึกษาธิการว่า ด้วยความที่เรียนด้านรัฐศาสตร์มา พอก่อนจะจบการศึกษา เลยไปฝึกงานทำข่าวการเมืองเพื่อให้เรียนรู้ระบบรัฐศาสตร์ การเมือง กับองค์กรสื่อแห่งหนึ่ง เป็นเวลาประมาณ 4 เดือน จนกระทั่งใกล้จบการศึกษา จึงทราบข่าวว่า องค์กรสื่อที่สังกัดปัจจุบัน กำลังเปิดรับสมัครนักข่าวการเมือง เลยไปสมัครงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวสายการเมือง แต่ตอนสัมภาษณ์งาน ทางบก.ข่าว บอกว่า กำลังขาดนักข่าวกระทรวงศึกษาธิการอยู่ เลยให้ไปทำข่าวกระทรวงศึกษา

นักข่าวกระทรวงศึกษาธิการรายเดิม”ยอมรับว่าก่อนหน้าจะไปเริ่มงานที่ กระทรวงศึกษาธิการ จะติดตามข่าวกระแสหลักๆเช่น ข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม โดยข่าวการศึกษา ไม่ค่อยได้ติดตามมากนัก ยกเว้นข่าวดังๆ เช่นการประกาศผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่าใครได้คะแนนสูงสุดของประเทศในแต่ละปี  และก่อนมาทำข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการ  ก็เคยได้ยินคนพูดกันว่ากระทรวงนี้ การแข่งขันค่อนข้างสูง มีนักข่าวซีเนียร์เยอะ จะทำอะไรก็ต้องเกรงใจ แต่เมื่อได้เข้าไปทำงานหาข่าวในกระทรวงจริง เอาแค่เข้าไปแรกๆ ก็ปรากฏว่า ได้รับการดูแลแนะนำชี้แนะและให้ความช่วยเหลือจากนักข่าวรุ่นพี่ๆ เป็นอย่างดี เช่นเรื่องพื้นฐานของข่าวกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้อง เข้าใจโครงสร้างงานของกระทรวง และศัพท์เฉพาะในแวดวงการศึกษา เช่น “การประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” –“ระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย”หรือ การสอบเอ็นทรานซ์ ที่ช่วงหลังมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ก็ต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละระบบมีกระบวนการอย่างไร เพื่อให้การเขียนข่าว สามารถสื่อสารแล้วประชาชน-คนอ่านเข้าใจได้ง่าย ไม่เกิดความสับสน  รวมถึงการให้คำแนะนำเรื่อง  การหาประเด็นข่าว -การทำการบ้านก่อนมาทำข่าวแต่ละวัน

..นอกจากนี้ เราก็ต้องมาดูรูปแบบสไตล์การเขียนข่าวของต้นสังกัดเราด้วย เพราะสื่อแต่ละสำนักจะมีสไตล์การเรียบเรียงข่าวที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น บางแห่ง ตำแหน่งทางวิชาการอย่าง ศาสตราจารย์ ที่นำหน้านักวิชาการ ก็จะมีการใส่ไว้ด้วย แต่ของเราไม่มี ก็ต้องใช้สไตล์ของต้นสังกัดเป็นหลัก

“ช่วงเข้าไปทำข่าวการศึกษาแรกๆ ยอมรับว่าเครียดมาก ก็ต้องพยายามเรียนรู้ พี่ๆนักข่าวซีเนียร์ก็จะแนะนำว่าให้อ่านข่าวเยอะๆ เพราะข่าวการศึกษา จะมีลักษณะคือเป็นความต่อเนื่อง นานๆ ครั้งถึงจะมีประเด็นใหม่ๆ เข้ามาเช่น เมื่อมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คนใหม่เข้ามา แล้วมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการศึกษา มีการออกนโยบายใหม่ๆ ก็จะเกิดประเด็นใหม่ขึ้นมา แต่พอทำไปสัก 4-5 เดือน ก็เริ่มอยู่ตัว เข้าใจประเด็นต่างๆ ได้แล้ว “

..การทำข่าวการศึกษา เรื่องข้อมูล ความถูกต้อง รายละเอียดต่างๆสำคัญมาก อย่างเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แอดมิชชั่น ที่แต่ละปีจะมีเด็กสมัครสอบปีละ 600,000-700,000 คน นักข่าวสายการศึกษาจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ มาก เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก การเสนอข่าว ก็จะมีการเสนอข่าวให้เข้าใจง่ายที่สุด อย่างตอนที่เริ่มใช้ระบบ TCAS ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักข่าวสายการศึกษา ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ตั้งใจเขียนกันอย่างดี เช็คข้อมูลทุกอย่างก่อนเขียนข่าว

และด้วยปัจจุบันที่ข่าวแต่ละสายนอกจากสื่อกระแสหลัก ก็จะพบว่าข่าวแต่ละแขนงเช่น ข่าวการเมือง ข่าวกีฬา ข่าวเศรษฐกิจ ช่วงหลัง ก็จะมี”เพจข่าว-เว็บข่าว”ที่เป็น”ข่าวเฉพาะ”ในข่าวนั้นๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยมีทั้งที่นักข่าวภาคสนาม -กองบก.แต่ละแห่ง ทำกันขึ้นมาเองหรือบุคคลทั่วไป ทำขึ้นมา แล้วสำหรับข่าวการศึกษา มีเพจข่าวการศึกษามากน้อยแค่ไหน “คนข่าวกระทรวงศึกษาธิการคนเดิม”ให้ข้อมูลว่า ข่าวการศึกษา ก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะเพจข่าวที่รายงานข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ”วงการครู” เพราะวงการครู-อาจารย์ทั่วประเทศ มีร่วม 400,000 คน จึงทำให้มีเพจข่าวเกี่ยวกับครูเยอะมาก เช่น เพจครูบ้านนอก-ครูวันดี ที่เป็นเพจระดับท็อป โดยบางครั้งทางเพจ ก็ดึงข่าวจากสำนักอื่นๆ ไปนำเสนอแล้วใส่เครดิตให้ว่าเป็นข่าวจากสำนักไหน  รวมถึงการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครสอบบรรจุข้าราชกาครู ว่าสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่ไหนกำลังเปิดรับสมัคร -โรงเรียนเอกชนที่ไหนเปิดรับครู ส่วนเว็บไซด์ก็จะมีลักษณะเฉพาะไปเลย ที่ดังๆ ก็เช่น www.Dek-D.COM – เด็กดีดอทคอม จะเน้นการเสนอข่าวเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหลัก ที่จะมีทีมข่าวของตัวเองไปทำข่าวความเคลื่อนไหวด้านนี้โดยเฉพาะ ที่แสดงให้เห็นว่า ข่าวความเคลื่อนไหวด้านการศึกษา เป็นข่าวที่กลุ่มคนสนใจไม่ใช่น้อย มีผู้อ่าน-กลุ่มผู้บริโภคสื่อที่ชัดเจน

ทั้งหมดคือเรื่องราวของการทำข่าวของนักข่าวกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถ่ายทอดจากนักข่าวภาคสนาม ในพื้นที่จริง