TikTok สมรภูมิข่าวยุคใหม่ ยิ่งสั้นยิ่งยาก Content ยังต้องเป็น King

กระแสความร้อนแรงของ TikTok ทำให้สื่อมวลชนหลายสำนักต้องปรับตัวเบนเข็มเข้าสู่สมรภูมิ แพลตฟอร์มวีดีโอสั้น พร้อมกับการปรับเปลี่ยนทั้งเนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอ เพื่อช่วงชิงฐานคนดูที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในปีนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เพิ่มรางวัลการประกวดวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok เป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาส “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)” ประจำปี 2566 ในหัวข้อ #ชีวิตคนทำงานสื่อแม้แต่ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อมวลชนที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

#จุลสารราชดำเนิน ชวน @aniezanchan อัญชัญ อันชัยศรี ผู้สื่อข่าวจาก The Active ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ และ @ninepower.9 นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ มาพูดคุยเกี่ยวกับปรับตัว ในวันที่ภูมิทัศน์สื่อมวลชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

คนเจนใหม่ ที่ไม่ชอบรอ
เข้าถึงคนดูได้กว้างและเร็ว

อัญชัญ อันชัยศรี นักข่าวรุ่นใหม่ไฟแรงที่ก้าวเข้าสู่แวดวง Tiktok ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่เรียนจบพอดีกับมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องกักตัวอยู่บ้าน และเป็นช่วงที่ TikTok กำลังเริ่มเป็นที่นิยม ดารา อินฟลูเอนเซอร์ เริ่มหันทำคอนเทนท์กันจำนวนมาก โดย อัญชัญ เล่าว่า ช่วงนั้นเขากำลังฮิตเต้นกัน แต่ส่วนตัวไม่ถนัดเต้น แต่ก็อยากลองเรียนรู้ จึงเริ่มจากลองทำคอนเทนท์เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง เดินทางไปที่ไหน ทำกิจกรรมอะไรบ้าง และก็ทำมาเรื่อย ๆ

จนต่อมาได้มาเป็นนักข่าวที่ The Active ภายใต้สังกัดไทยพีบีเอส โดยสายงานคาบเกี่ยวทั้ง ออนแอร์ และ ออนไลน์ บนฐานคิดของ Transmedia ที่ต้องคิดเนื้อหารูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ส่วนตัวก็ลองเล่นทั้ง Facebook Instagram Twitter มาก่อน พอมี TikTok ก็อยากรู้ว่าอะไรทำให้คนสนใจ จึงเข้าไปลองเล่นและเห็นว่า TikTok มีจุดเด่นตรงที่ความเร็ว ไม่ต้องรอ เสนอประเด็นไหนก็เสนอประเด็นเดียวไม่ต้องเชื่อมโยงไปประเด็นต่าง ๆ แบบสกู๊ปข่าว หรือจะตอบคำถามก็ตอบคำถามเดียวทำให้ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น

“สิ่งสำคัญคือความเร็ว TikTok มาพร้อมกับคนเจนใหม่ ที่ไม่ชอบรอ
คล้ายกับ IG แต่ยอดคนเข้าถึงจะเยอะกว่าเพราะ IG จะเห็นก็ต่อเมื่อคนมาฟอลโลว์ แต่ TikTok ไม่จำเป็นต้องมีคนฟอลโลว์ก็เห็นคอนเทนท์ได้ เป็นการทำงานแบบอัลกอริทึม ถ้าเราดูคอนเทนท์ไหนเกิน 3-5 วินาที อัลกอริทึมก็จะดันคอนเทนท์แนวนั้นมาเรื่อย ๆ ทำให้การเข้าถึงเยอะกว่า ส่วนจะเข้าถึงได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคอนเทนท์เราว่าตอบโจทย์ในช่วงเวลานั้น ๆ หรือเปล่า”

ท่อนเปิดต้องดึงคนให้อยู่ ไม่ยืดเยื้อ

อัญชัญ ยกตัวอย่าง คลิปจากการลงไปทำหมายข่าว #SAVEบางกลอย ช่วงชุลมุนที่ตำรวจถามว่าใครปัดหมวกเขาตก แล้วก็เอาคลิปที่ไลฟ์สดมาตัดสั้น ลง TikTok มีคนดูคลิปเข้ามาดูเป็นล้าน จากที่ปกติจะอยู่แค่หลักร้อยหลักพัน และอีกคอนเทนท์ที่ทำบ่อยคือเบื้องหลังลงไปทำข่าวในแต่ละพื้นที่ก็จะมีคนมาสนใจซักถามให้ช่วยรีวิวอาชีพนักข่าว หรือมีน้อง ๆ มาถามว่าอยากเป็นนักข่าวต้องเรียนอะไร เราก็เข้าไปตอบ จนพี่นักข่าวที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งเห็นประกาศโครงการประกาศของสมาคมฯ ก็มาบอกให้ส่งผลงานประกวด

“ตอนนั้นตัดสินใจอยู่นานเพราะไม่คิดว่าชีวิตเราตื่นเต้นน่าสนใจขนาดนั้น สุดท้ายก็ทำส่งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดรับสมัคร ไปไล่หาวีดีโอที่เรามีตอนทำข่าวที่ลงภาคสนามเยอะช่วงสองปีแรก มาวางให้เข้ากับประเด็นคือ วิถีชีวิตสื่อมวลชน สิทธิเสรีภาพ เหมือนจะทำง่าย ๆ 50 วินาทีกว่า ๆ แต่ไม่ง่ายเราต้องมานั่งคิดเป็นวันว่าจะเล่ายังไง เปิดยังไงใช้เพลงอะไร เพลงอะไรเป็นกระแสตอนนั้น จากที่ทำมาสักพักก็พอจะจับหลักได้ คือหนึ่งต้องไม่ยาว สองเพลงดนตรีมีส่วนสำคัญ พูดแค่ประเด็นเดียวไม่ยืดเยื้อ และท่อนเปิดที่สำคัญมากต้องดึงคนดูให้ได้”

ในแง่ของการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมาย อัญชัญ เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ทาง The Active เริ่มเปิด TikTok ก็ยังต้องมาเรียนรู้กลุ่มเป้าหมาย เรียนรู้พฤติกรรมคนดู เพราะเพจข่าวกับ เพจส่วนตัวมีความแตกต่างกัน โดยรูปแบบการทำงานก็จะต้องปรับตัวมีการวางแผนทำ TiKTok เพิ่มขึ้นมาเช่นตอนตามแรงงานกลับไปเลือกตั้ง ก็ต้องคิดว่าถ้าเป็นช่องทาง TikTok จะต้องพูดประเด็นอะไร จะเสริมกับประเด็นที่เล่าในแพลตฟอร์มอื่นอย่างไร แต่ชิ้นนั้นทำออกมาคนดูน้อย ต่างจากประเด็นตอนที่ทำเรื่องบัตรเลือกตั้งมีกี่แบบที่ทำแล้วมีคนเข้ามาดูเยอะ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องคอยดู และปรับทิศทางจนกว่าจะเจอทางที่ใช่

เรียนรู้แพลตฟอร์มใหม่
ถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด

ในฐานะคนข่าวรุ่นใหม่ อัญชัญ มองว่า แม้ด้วยรูปแบบที่ต้องนำเสนอเป็นวีดีโอสั้น แต่ TikTok ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือทำให้ลดทอนคุณค่าข่าวลงไป เพราะกว่าจะทำคอนเทนท์ออกมาต้องคิดอย่างรอบคอบ เลือกประเด็นที่จะสื่อสารออกมาให้สั้นกระชับในเวลาที่จำกัด ซึ่งช่วยให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาติดตามเนื้อหาข่าวได้ง่ายขึ้น ทำให้ช่องว่างเรื่องอายุของการเสพข่าวลดลง

แต่อีกด้านหนึ่ง TikTok ก็ยังมีมุมที่น่ากังวลคือ เรื่องของเวลาบางทีคอนเทนท์ที่เคยลงไปนานแล้ว พอมีกระแสก็กลับมาติดกระแสในเวลาต่อมา ซึ่งบางครั้งเนื้อหาที่เคยเป็นข้อเท็จจริงในเวลานั้น แต่ถ้ามาในจังหวะเวลาที่ผิดนั่นก็คือข่าวปลอมได้ อีกเรื่องที่น่าห่วงคือการขังคนให้อยู่ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ ก็จะถูกอัลกอริทึมป้อนเนื้อหาแบบเดิมซ้ำ ๆ นาน ๆ ถึงจะผลักประเด็นอื่นเข้ามา เทียบกับแพลตฟอร์มอื่นแล้วอาจจะหนักกว่าจนทำให้เหมือนถูกขังอยู่ในกรง

“แต่ก็ไม่รู้ว่าTikTok จะอยู่ได้นานแค่ไหน ก็ต้องคอยติดตามว่าจะมีแพลตฟอร์มหรือ แอปพลิเคชัน ช่องทางใหม่ ๆ ออกมาอีกเมื่อไหร่ ก็ต้องเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะตราบใดเท่าที่ทำงานด้านสื่อ ทำคอนเทนท์ ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องเรียนรู้พัฒนาเพื่อให้คอนเทนท์เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เยอะที่สุด”

เปลี่ยนแค่รูปแบบการนำเสนอ
ยังเหมือนเดิมคือ ‘คอนเทนท์’

ด้าน @ninepower.9 นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้สื่อข่าวที่ผ่านประสบการณ์หลากหลายแพลตฟอร์มตั้งแต่ สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มาจนถึงออนไลน์ ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ SPRiNG News’s Digital Life ออกอากาศทาง Nation TV และ รายการ Digital Life Update ออกอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ของ Spring News ทำให้เห็นความแตกต่างของแต่ละแพลตฟอร์มในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี

“ถ้าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องของรูปแบบการนำเสนอ หนังสือพิมพ์ก็จะมีวิธีการนำเสนอที่ลึก ให้ความรู้พอสมควร เมื่อเทียบกับทีวีก็จะมีระยะเวลาการนำเสนอ เช่นหนังสือพิมพ์หนึ่งหน้ากระดาษคนอ่านมีเวลา 5-10 นาที พอมาเป็นสกู๊ปทีวีก็จะเหลือแค่ 3-5 นาที พอมาเป็นออนไลน์วิธีการนำเสนอก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะไม่เหมือนกันทั้ง Youtube Facebook TikTok แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือคอนเทนท์ที่อยู่ข้างใน มันเป็นแกนกลางหลักที่ทำให้คนดูยังดูข่าวของเรา ซึ่งตัวคอนแทนต์ไม่ได้แตกต่าง เพียงแต่แตกต่างที่การนำเสนอ”

สำนักข่าวที่ทำ Tiktok
ปีนี้ยอดวิวจะลดลงกว่าเดิมมาก

ในแง่การปรับตัวของคำทำสื่อ นพฤทธิ์ อธิบายว่า ถ้าเป็นรูปแบบสื่อเก่า คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จะไม่ยาก แต่ที่ยากคือสื่อใหม่ซึ่งยากตรงที่จะทำให้คอนเทนท์มีคนดู เพราะอัลกอริทึม หรือระบบของแพลตฟอร์มที่จะนำคอนเทนท์ของเราขึ้นไปสู่หน้าฟีดคนดูเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

“พฤติกรรมคนดูก็เปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งพฤติกรรมคนดูของแต่ละแพลตฟอร์ม อย่าง TikTok ที่ 3 วินาทีแรกต้องเข้าประเด็นจบ ขณะที่ Youtube จะยาวกว่า หรือแม่แต่พฤติกรรมของคนดูในแพลตฟอร์มเดียวกันแต่คนละเวลาอย่าง Instagram ที่คนดูชอบดูรูป สตอรี แต่เดี๋ยวนี้ดู IG Reel คล้ายกับ TikTok ดังนั้นเราต้องปรับตัวหยุดนิ่งไม่ได้ ปีที่แล้วทำคอนเทนท์ไปขึ้นหลักแสนสองแสน แต่ปีนี้แพลตฟอร์มเดียวกัน วิธีการนำเสนอเหมือนกันคนดูเหลือหลักร้อย แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึมและระบบที่ขึ้นฟีด

อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนเคยคาดกันมาก่อน อย่างพี่กัส-ระวี ตะวันธรงค์ นายกฯ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ก็เคยคาดการณ์มาก่อนว่า TikTok ขาดทุนมาหลายปี อาจจะต้องปรับโมเดลหารายได้มากขึ้นอย่างเช่นการบูสต์โพสต์เหมือน Facebook แต่เป็นเวอร์ชั่นของ TikTok ปีนี้ สำนักข่าวที่ทำ TikTok ยอดวิวก็อาจจะลดลงเยอะมากกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมา TikTok ปล่อยฟรี แถมบูสต์ให้ด้วย ทำอะไรก็ขึ้น ทำอะไรก็มีคนดู

การอ่านข่าวในเว็บ
กำลังเป็นเรื่องโบราณ

ส่วนคำถามว่าแต่ละสื่อจำเป็นต้องคอยปรับตัวสู่แพลตฟอร์มใหม่ ๆ หรือไม่ นพฤทธิ์ มองว่า ขึ้นกับแต่ละสำนักข่าวที่จะต้องมองว่าจุดเด่นของตัวเองคืออะไร และย้อนกลับมาที่หลักที่บอกไปแล้วว่า “คอนเทนท์ อิส คิง” ไม่ว่าวิธีการนำเสนอจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายคอนเทนท์ก็ยังเหมือนเดิม ข่าวที่เป็นข่าวเชิงสอบสวนอย่าง สำนักข่าวอิศรา ก็อาจจะไม่ได้เน้นไป TikTok เพราะใน Facebook ก็มีคนอ่านอยู่ ดังนั้นต้องดูจุดแข็งของตัวเองคืออะไร หรือ Thai News Pix ให้บริการภาพข่าว เขาก็ไม่ได้ทำ TikTok

“มันเป็นหนึ่งในในสิ่งที่ท้าทายอาชีพสื่อมวลชนมาตลอด ยกตัวอย่างเมื่อก่อนมีแค่หนังสือพิมพ์
เทคโนโลยีเข้ามาเริ่มมีวิทยุ เริ่มมาดิสรัปหนังสือพิมพ์ จากนั้นมีทีวี มีภาพภาพและเสียง ก็มาดิสรัปหนังสือพิมพ์ วิทยุ ต่อมายุคโซเชียลมีเดีย ก็มาดิสรัป ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์อีกที พอมาถึงปัจจุบัน TikTok Instagram Reel Youtube Short มันก็มาดิสรัป สื่อออนไลน์อีกที รวมถึง เว็บไซต์ด้วย คนรุ่นใหม่มองว่าการอ่านข่าวผ่านเว็บไซต์ ก็เป็นเรื่องโบราณไปแล้ว ทั้งที่เว็บไซต์เป็นเสมือนสื่อใหม่ก็ตาม”

หยุดคิดสักนิด ป้องกันไม่ให้ถูกหลอก

ในมุมของการทำงานสำหรับงานปกติที่ทำขณะนี้ นพฤทธิ์ เล่าว่า จะต้องวางแผนการทำงานให้เข้ากับรูปแบบของแต่ละแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเรื่อง อีลอน มัสก์ ซื้อ ทวิตเตอร์ ถ้าเป็นในเวอร์ชั่น เว็บไซต์ก็จะสรุปเป็นไทม์ไลน์ตั้งแต่ก่อนซื้อไล่มาเรื่อย ๆ มีอินโฟกราฟฟิก แต่พอเป็นคลิปก็จะเปลี่ยนวิธีเล่า ใส่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ไม่สามารถมาเล่าแบบที่เขียนในเว็บไซต์ได้ตรงๆ แต่ต้องชวนคนมาพูดคุย มาคอมเมนต์ โดยบางเรื่องก็จะออกแบบเป็นสองเวอร์ชันนำเสนอควบคู่กันไป บางเรื่องเช่นรถบินได้ถ้าทำเป็นตัวหนังสือก็จะไม่เห็นภาพชัดเท่าไหร่ก็จะเลือกทำเป็นคลิปอย่างเดียว ที่จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนกว่า

“อยากฝากถึงคนเสพสื่อทุกวันนี้ว่าสิ่งที่เห็นบนโลกออนไลน์ มีทั้งน่าเชื่อถือบ้าง ไม่น่าเชื่อถือบ้าง บาคนเห็นอะไรบนโลกออนไลน์ก็เชื่อ 100% ซึ่งหากเราจะรู้เท่าทัน หนึ่งในวิธีป้องกันคือ ต้องฉุกคิดสักนิดหนึ่ง ไม่เร่งรีบไปกับตัวแพลตฟอร์มตลอดเวลา ต้องตรวจสอบ หาข้อมูลหลาย ๆ ด้าน ป้องกันไม่ให้เราถูกหลอก เหมือนสายชาร์จดูดเงิน แอพฯ ดูดเงิน ถ้าเราหยุดคิดสักแปบก็อาจจะไม่โดนหลอก” นพฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มองรางวัลให้สื่อมวลชนประกวดคลิปสั้น ในแพลตฟอร์ม TikTok หัวข้อ “#ชีวิตคนทำงานสื่อ” เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการประกวดสื่อประเภทนี้ โดย นส.อัญชัญ อันชัยศรี ผู้สื่อข่าวจาก The Active ได้รับรางวัลชนะเลิศ (ที่ 2 จากซ้าย) และนายนพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ (ที่ 4 จากซ้าย)