“มองความสูญเสียผ่านบทเรียนถังดับเพลิง Co2”

“ดิฉันไปร่วมงานศพของน้องเบนซ์ เห็นความเสียใจและเสียกำลังใจของนักดับเพลิง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตั้งใจดีที่จะไปสาธิต แต่เกิดความสูญเสียแบบนี้  ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่สำคัญมาก”

ความเคลื่อนไหวปฏิบัติการเชิงรุกของ กทม.และแผนข้อมูล แบบเรียลไทม์หลังเกิดเหตุสลด กรณีเหตุการณ์ถังดับเพลิง Co2 ระเบิดในโรงเรียนราชวินิตมัธยม ระหว่างซ้อมหนีไฟภายในโรงเรียน จนมีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย “ภัทราพร  ตั๊นงาม  ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส” เล่าเหตุการณ์หลังลงพื้นที่เกาะติดปฏิบัติการเชิงรุกของกรุงเทพมหานคร ใน“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ว่า 

            นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. บอกว่าตั้งแต่จัดสาธิตมา 20 ปีไม่เคยเกิดเหตุแม้แต่ครั้งเดียว  แต่ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ  ล่าสุดที่เกิดเหตุที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม ขอดูว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะสงสัยเรื่องคุณภาพถังดับเพลิงโรงเรียน ซึ่งอาจจะวางในที่แจ้ง ไม่ได้ระมัดระวัง เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นบทเรียนที่สำคัญ และในมุมของผู้สูญเสียก็รู้สึกสูญเสียและมองว่าการสาธิตดับเพลิงยังจำเป็นอยู่

            “ตอนที่ดิฉันไปร่วมงานศพของน้องเบนซ์ เห็นความเสียใจและเสียกำลังใจของนักดับเพลิง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตั้งใจดีที่จะไปสาธิต แต่เกิดความสูญเสียแบบนี้  ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่สำคัญมาก ที่จะให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วย เขาก็ต้องไปปรับระบบให้รอบคอบและรัดกุมมากขึ้น

กทม.สั่งล้างกระดานโครงสร้าง-แนะโรงเรียนอบรมแห้ง

         ขณะที่ กทม.มีคำสั่งรื้อโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ล้างกระดานทั้ง 50 เขต และยุติการสาธิตในโรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่งด้วย  แต่การสาธิตในชุมชนยังคงมีอยู่ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นภาพชัดมากว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและ กทม.ระดมลงพื้นที่ถอนถังเสื่อมออกมา จากชุมชนหรือตามสถานที่ต่างๆในช่วงนี้ และจะมีแผนไปถึงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ตอนนี้อยู่ระหว่างระดมลงไปสำรวจถังดับเพลิง  ที่อยู่ตามชุมชนและโรงเรียน  เพราะก่อนหน้านี้ กทม.เคยแจกถังดับเพลิงแก่ชุมชน บางรุ่น 10 ปีหรือ 20 ปีมาแล้ว แม้ว่ายังมีการติดตั้งอยู่

            อาจจะต้องใช้เวลาในการขบคิด อีก 1-2 เดือน เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม แต่ระหว่างนี้ใช้อบรมแห้งผ่าน YouTube ไปก่อน คือ ใช้ถังดับเพลิงจริงแต่ข้างในเป็นน้ำเปล่าแทนโดยไม่มีสารเคมี หรืออาจเปิด YouTube ให้เด็กนักเรียนดู เพื่อเห็นการสาธิตจริงๆ

            ก่อนหน้านี้การให้เด็กมัธยมปลายเรียนรู้การใช้ถังดับเพลิง เพราะหากประสบเหตุจะได้ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในบ้านหรือหมู่บ้านหรือชุมชนได้ทันที ก่อนที่จะลุกลาม หรือก่อนที่ทีมนักดับเพลิงจริงๆจะเข้าไปถึงที่เกิดเหตุ  ซึ่ง กทม.บอกว่าต้องเข้าไปอย่างช้าภายใน 8-10 นาทีหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ฉะนั้นถ้าดับเพลิงได้ตั้งแต่ 1-2 นาทีแรกก็ถือว่าจำเป็นเช่นกัน

            จุดหมายที่ กทม.มองล่าสุดหลังจากเกิดเหตุ คือ เด็กไม่ต้องเรียนรู้การดับเพลิง แต่ต้องเรียนรู้การหนีเพลิง , การอพยพหรือการทำ CPR แทน ซึ่งเป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ตอนนี้ กทม.กำลังหาความลงตัว ว่าท้ายที่สุดแล้วต้องปรับรูปแบบอย่างไร เพราะถ้าอบรมแห้งก็จะไม่เคยได้เรียนรู้การใช้ของจริง  หากเกิดเหตุจริงๆในอนาคตเราไม่มีวันรู้ได้  ดังนั้นอบรมไปก่อนดีกว่า ไม่ได้จัดอบรมหรือสาธิตเลย

            ภัทราพร บอกว่า  สอบถามทีมนักดับเพลิง และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบายว่าเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(Co2) ขนาด 15 ปอนด์ ลักษณะก๊าซดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide – Co2) บรรจุในถังแดง  มีเฉพาะใช้เวลาที่ทีมนักดับเพลิงของ กทม. ไปสาธิตตามโรงเรียนหรือตามหน่วยงานต่างๆ

             ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(Co2) ถ้ามองในมุมของนักดับเพลิงบอกว่า มีจุดเด่น คือระเหยได้ดีกว่าและเร็วกว่า ไม่เกิดมลพิษตกค้างตามสถานที่ที่ไปสาธิต ดังนั้นถ้าซ้อมดับเพลิงโดยใช้สารเคมีจริง ก็จะเกิดสารตกค้างภายในโรงเรียน หรือตามสถานที่ที่มีการจัดอบรมได้  ส่วนถังแดงที่เราเห็นอยู่ตามครัวเรือนชุมชน  เป็นถังแดงจริงๆที่ไม่ใช่ถังสาธิต  เป็นสารคนละแบบกัน แต่ในตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) มีแรงดันสูงกว่า  ถังที่ติดตามชุมชน

              ขณะที่ราคาจริงๆก็ต่างกันเยอะมาก ถังที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีราคา 10,000 บาท ซึ่งแตกต่างจากถังที่ติดตั้งตามชุมชน ซึ่งใช้สารเคมีหรือผงเคมีแห้ง  เฉลี่ยอยู่ที่ราคา 800 – 1,500 บาท จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะเอาถังแบบ Co2 มาติดตั้งตามชุมชนหรือโรงเรียน เพราะค่าใช้จ่ายเยอะกว่า  

 กทม.สั่งเก็บถังดับเพลิงไม่พร้อมใช้งานทั้งหมด เล็งมีถังดิจิทัลชุมชน  

            กทม.ภายในสัปดาห์หน้า โดยจะเก็บถังที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานกลับทั้งหมด ส่วนถังที่ใช้งานได้จะทำการปักหมุดลงพิกัดในแผนที่ พร้อมติดสติกเกอร์ QR code แสดงอายุของถัง และประวัติการตรวจสอบถังให้ชัดเจน ซึ่งเก็บถังเก่าไปจะเร่งนำที่จัดซื้อใหม่ล็อตแรกประมาณ 9,000 สิ้นปีงบประมาณนี้ จะได้เห็นถังรุ่นใหม่ ที่กำลังจะเริ่มลงมาจะมีการติด QR Code ด้วย ให้เห็นว่าถังนี้อยู่ที่ไหน เวลาเกิดเหตุจะสามารถระบุข้อมูลถัง เพื่อตรวจสอบได้ว่าภายในถังมีสารอะไรบ้าง  และเร่งจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 3 หมื่นกว่าถัง เพื่อติดตั้งทดแทนในพื้นที่สีส้มที่เสี่ยงรองลงมาต่อไป

            นอกจากนี้จะมีถังดิจิทัลชุมชน  ซึ่ง กทม.มีนโยบาย Mapping หรือแผนผังความคิดลงไปที่ถัง แผนที่ตรงนี้อยู่ระหว่างของการดำเนินการ  คาดว่าน่าจะคลอดอีกประมาณ 1 – 2 เดือนนี้ เช่น ตรงนี้มีทั้งดับเพลิงอยู่ซอยนี้ อยู่หน้าบ้านเลขที่นี้ จะเป็นข้อมูลของ กทม. โดยกำลังทำรายละเอียดให้แผนที่ถังดับเพลิง  ขึ้นออนไลน์เป็นแบบเรียลไทม์ เหมือนกับตอนเลือกตั้งจะรู้ว่าหีบบัตรเลือกตั้งอยู่ที่สำนักงานเขตไหน ให้ทุกคนเห็นว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้น ถังไหนมีปัญหาหรือสามารถหยิบไปใช้ได้ทันที จะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่อยู่ใน กทม.ทั้งหมด

แนะประชาชนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบถังดับเพลิงบ้าน

            ภัทราพร บอกว่า  หากประชาชนมีถังดับเพลิงซื้อมาเองอยู่ที่บ้าน อายุ 5–10 ปี หรือ 10 – 20 ปี ต้องตรวจสอบมาตรฐานทุกวงรอบเพื่อความปลอดภัย  โดยแจ้งไปที่สถานีดับเพลิงหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตที่บ้านตั้งอยู่ แต่อย่าพยายามที่จะตรวจสอบเอง ให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบดีกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเจอปัญหา คือ 1.เกณฑ์วัดตก   2. ลองจับสายสีดำดูว่ากรอบเพราะโดนแดดนานๆหรือไม่ 3.ลองยกถังดูถ้าถังเก่ามากแต่ยังคว่ำได้ แล้วรู้สึกว่าสารในถังค่อยๆไหลลงมา เหมือนกับนาฬิกาทราย แต่ถ้ายกคว่ำถังแล้วรู้สึกกระแทกลงมาเหมือนก้อนหนักๆ  และอย่านำถังดับเพลิงตั้งไว้บนพื้น เพราะบางครั้งความชื้นหรือฝนตกมา อาจจะทำให้ฐานของถังดับเพลิงขึ้นสนิมได้ง่าย

สื่อต้องทำหน้าที่รายงานรอบด้าน ลดความตระหนก

            สำหรับมุมมองของสื่อ ภัทราพร บอกว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 1.ไปโฟกัสเรื่องเหตุการณ์ก่อนว่าเกิดอะไร สถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร จะช่วยลดความตื่นตระหนกได้ คือ สื่อสารข้อมูลออกมาให้มากที่สุด ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นโรงเรียน ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ไม่ใช่ตื่นตระหนก  แต่ต้องดูว่าใครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ อาจจะต้องถามคนที่เกี่ยวข้อง หรือรายงานเหตุการณ์จริงที่อยู่ตรงหน้า 

            สิ่งที่เราต้องมองต่อไปข้างหน้า คือ แก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ต้องไปดูว่าใครเป็นจัดการสาธิต ดูว่าที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนหรือไม่ ต้องให้ความรู้สังคมไปด้วย การป้องกันในวันข้างหน้าจะทำอย่างไร เพื่อที่เรา จะได้ตื่นตัวตั้งรับสิ่งที่เกิดขึ้น แก้ไขปัญหาและเดินไปพร้อมๆกัน

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5