“ดอกเบี้ยนโยบาย มุมมองที่เห็นต่าง ระหว่างรัฐบาล VS แบงก์ชาติ”

“...ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยจริง ก็เป็นความหวังของรัฐบาล ที่ GPD อาจจะเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้การันตีว่า จะโตแบบนั้นเสมอไป เพราะไม่รู้ว่า พอลดดอกเบี้ยลงไปจริงๆ 0.25% จะไปกระตุ้นภาคธุรกิจ ให้สนใจกลับมาลงทุนหรือไม่ ต้องดูตัวเลขตรงนี้ประกอบไปด้วย ฉะนั้น ยังตอบยากว่า จะเห็น…”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยเรียกร้องคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย จาก 2.50% เหลือ 2.25% เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาการเงิน ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ

            “จิรายุส์ ขุนนางประเสริฐ” ผู้สื่อข่าว สายการเงินการลงทุน สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ให้มุมมองเรื่อง “การลดดอกเบี้ยธนาคาร” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การตัดสินใจของ 2 ฝั่งคือ รัฐบาล กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากการบริหารงานที่ต่างกัน ยังเป็นอิสระจากกันด้วย ซึ่งรัฐบาล คาดหวังที่จะให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เติบโตสูง ๆ เพราะเป็น 1 ในพันธกิจหลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง โดยต้องการให้จีดีพีเติบโต 4% ต่อปี 

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน เหตุเงินเฟ้อทั่วโลก - ชี้ลดดอกเบี้ย ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพค่าเงิน

“จิรายุส์” อธิบายว่า หน้าที่หลักของ ธปท. คือ การคุมเสถียรภาพของค่าเงิน ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของการปรับลด หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายด้วยว่า จะมีทั้งข้อดี และข้อเสียตามมาเสมอ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะว่า จะมีการลงทุนจำนวนมาก และคงอยากจะให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา แต่ในระยะถัดไป ถ้าไม่มีการคุมเข้ม ก็มีแนวโน้มหนี้เสียเยอะขึ้น แต่ข้อดีที่พูดกัน คือ มีการคาดหวังว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ เพราะจะชักจูงให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น และมีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบ แต่อีกมุมหนึ่งต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของค่าเงินด้วย เพราะปัจจุบันเทรนดอกเบี้ยทั้งโลกตอนนี้ อยู่ในระดับสูงกันหมด 

“จิรายุส์” บอกว่า ปี 2565 เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งการสู้รบของ 2 ประเทศนี้ ทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก เพราะราคาพลังงาน และต้นทุนอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อลงมา ก็จะเห็นทิศทางของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน และยังคงทรงตัวสูงอยู่ ถ้าเรารีบลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ดอกเบี้ยทั่วโลกยังสูงอยู่ ก็จะยิ่งทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับโลก หรือสหรัฐอเมริกากว้างขึ้นไปอีก

“หั่นดอกเบี้ยไทย ทำช่องว่างกับหลายประเทศกว้างขึ้นการลงทุนจากต่างชาติอาจลดลง-กระทบผู้นำเข้า” 

“จิรายุส์” ยังกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 2.5% ว่า อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการของ ธปท. แต่ดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาตอนนี้อยู่ที่ 5.25 -5.5% ห่างกับไทยเกือบเท่าตัว ฉะนั้นถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะยิ่งเพิ่มความกว้างเข้าไปอีก พอกว้างขึ้นสินทรัพย์ หรือทุนของต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนพวกสินทรัพย์, พันธบัตร, ตราสารหนี้ของไทย ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ก็จะมีความน่าสนใจน้อยลง เพราะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา

            “จิรายุส์” กล่าวต่ออีกว่า พอภาพแบบนี้เกิดขึ้น เงินก็จะไหลเข้าทางพันธบัตรสหรัฐมากขึ้น หากไปดูผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาช่วงนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ถ้าเกิดเป็นแบบนี้ต่อไป เงินก็จะไหลออกจากประเทศ แล้วไปเข้าที่สหรัฐอเมริกามากขึ้น เงินดอลล่าร์ ก็จะแข็งค่าขึ้นไป กดให้เงินบาทอ่อนลง จะทำให้เสถียรภาพค่าเงินของไทยอ่อนแอ ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบ คือ พวกที่นำสินค้าเข้ามาขาย ถ้าเราไปซื้อสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องดูความสมดุลด้วย

“ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในเทรนที่สูงอยู่ เราต้องวางแผนการเงินให้ดีอย่าไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัดไปก่อน ช่วงนี้เศรษฐกิจค่อนข้างเปราะบางในการหาเงินจากแหล่งอื่น ก็มีความจำเป็นถ้าใครความสามารถหาเงินจากหลายทางได้ ก็ถือว่า โชคดีไป” จิรายุส์ กล่าว

“รบ.หวัง GPD โต-บีบ ธปท.ลดดอกเบี้ย เหตุดอกฯ แพงคนไม่กล้าลงทุน”

            “จิรายุส์” บอกว่า ถ้าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ก็เป็นไปตามทฤษฎี เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำ และภาวะเงินเฟ้อ ติดลบมา 4 เดือน รัฐบาลมีความต้องการที่อยากจะให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยลง เพราะตามทฤษฎี ถ้าในสภาวะแบบนี้ หากลดอัตราดอกเบี้ยลง จะช่วยทำให้การเติบโตของ GPD ในระยะถัดไปกลับมาร้อนแรงกว่าในภาวะปัจจุบันที่เป็นอยู่ และอาจจะจูงใจภาคเอกชนให้กล้าลงทุนมากขึ้น  เพราะถ้าจะลงทุนธุรกิจอะไรก็ต้องกู้เงินเมื่อดอกเบี้ยแพง ในช่วงที่ดอกเบี้ยสูงคนก็ไม่ค่อยอยากจะลงทุน หรือทำธุรกิจอะไรมาก ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าในระบบน้อย และเศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างน้อย 

            “ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยจริง ก็เป็นความหวังของรัฐบาล ที่จีดีพีอาจจะเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้การันตีว่า จะโตแบบนั้นเสมอไป เพราะไม่รู้ว่า พอลดดอกเบี้ยลงไปจริง ๆ 0.25% จะไปกระตุ้นภาคธุรกิจให้สนใจที่จะกลับมาลงทุนหรือไม่ ต้องดูตัวเลขตรงนี้ประกอบไปด้วย ฉะนั้นยังตอบยากว่าจะเห็นความสำเร็จ ในระยะกี่เดือนหรือตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่” จิรายุ กล่าว 

            ส่วนการแก้ปัญหาอย่างที่รัฐบาลพยายามส่งสัญญาณไปที่ ธปท.จะต้องลดดอกเบี้ยลงมา เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำลงมา เงินก็จะไหลออกมาจากที่ฝากไว้กับสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้นนั้น “จิรายุ” ประเมินว่า อาจทำให้เงินเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ก็จะทำให้เงินเฟ้อขึ้นแก้ไขปัญหาเงินฝืดได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยยังคงทรงตัวสูงสักระยะหนึ่ง ซึ่งทิศทางน่าจะ ประมาณปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 น่าจะเห็นการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยบ้าง

“ศก.ไทย ยังไม่อยู่ในภาวะเงินฝืด – ลุ้นพญาอินทรีย์นำปรับดอกเบี้ย” 

         “จิรายุส์” มองว่า เรื่องเงินฝืดเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ของไทยยังไม่ถือว่าเป็นเงินฝืด เพราะว่าเงินเฟ้อต่ำลงไป 4 เดือน ตัวเลขล่าสุดเดือนมกราคม 2567 ติดลบ 1.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 35 เดือน จึงทำให้มีความกังวลที่จะเป็นภาวะเงินฝืดได้ในระยะถัดไป ซึ่งเงินเฟ้อของสหรัฐค่อนข้างปรับตัวลงมา แต่ยังไม่อยู่ในกรอบที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาพอใจ จึงยังส่งสัญญาณตรึงนโยบายดอกเบี้ยต่อไป แต่พอผ่านช่วงราว ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ก็น่าจะเข้าไปอยู่ในกรอบที่เขาพอใจมากขึ้น พอสหรัฐอเมริกานำปรับอัตราดอกเบี้ย ทั่วโลกก็น่าจะขยับตาม

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 - 12.00น. โดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5