รายงานสถานการณ์สื่อ ปี 2552
ปีแห่งการใช้สื่อเพื่อสร้างสงครามการเมือง
………………………………………………………
ตลอดปี 2552 สื่อมวลชนไทยต้องทำงานหนัก ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง แตกแยกที่รุนแรงทั้งทางการเมืองและสังคม ต้องพบกับความเหนื่อย ยากลำบาก และเสี่ยงภัย ทั้งถูกกดดันจากคู่ความขัดแย้งทุกฝ่าย ที่มีการแบ่งขั้วกันอย่างสุดโต่ง พยายามให้สื่อเลือกสี เลือกข้าง
เป็นหนึ่งปีที่สื่อมวลชนต้องถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ว่า มีความเป็นธรรมและเป็นกลางหรือไม่ ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดกันแน่ ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่า สื่อมวลชนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ ที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น
เป็นหนึ่งปีที่หลักการแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งต้องนำเสนอข่าว “ยึดมั่นในความถูกต้อง นำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน มีความสมดุลของข้อมูล รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม” แต่หลักการดังกล่าวถูกท้าทาย ถูกทำให้เลอะเลือน สับสน ไม่รู้อะไรถูกต้อง จริงหรือไม่จริงของข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ
อย่างไรก็ตามมี 2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและน่าสนใจสำหรับสถานการณ์สื่อในรอบปี 2552 คือ
ปรากฏการณ์แรก สังคมไทยได้รับรู้ถึงอิทธิพลของสื่อใหม่(New Media) หนึ่งในนั้น คือเว็บยุค2.0 ที่เป็นการปฏิวัติข่าวสาร เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสื่อสาร เขียนข่าวได้เองผ่านทางเว็บไซด์และพัฒนาเป็นเครือข่ายประชาชนทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เวิร์ดเพรส มายสเปส ฯลฯ ที่ทำให้ผู้คนส่งข่าวและรับข่าวสารกันง่ายดายและรวดเร็ว สื่อใหม่เหล่านี้ได้แย่งชิงพื้นที่ข่าว ที่เคยผูกขาดข่าวสารด้วยสื่อกระแสหลัก ไม่ว่า หนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ วิทยุ ที่ครอบงำสังคมมาอย่างยาวนาน นับเป็นปรากฏการณ์เชิงบวกของสื่อในประเทศไทย
ปรากฏการณ์ที่สอง สื่อการเมืองได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมากมาย และถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ทั้งโดยนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ทำให้สื่อเหล่านี้มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ซึ่งมีทั้งวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม หนังสือพิมพ์ เว็บไซด์ฯลฯ ซึ่งสื่อการเมืองเหล่านี้ ได้นำเสนอความคิดเห็นและความเชื่อมากกว่า “ความจริง” ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลอย่างรอบด้าน ในทางตรงกันข้ามมีการนำเสนอในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ มีความลำเอียง มีอคติ ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชัง จนถึงขั้นทำลายล้างต่อฝ่ายที่มีจุดยืนและความคิดเห็นที่แตกต่างกับฝ่ายของตัวเอง
ในประเด็นนี้สมาคมนักข่าวฯเห็นว่า เป็นปีที่แต่ละฝ่ายได้ใช้ “สื่อเพื่อสร้างสงครามการเมือง” ส่งผลให้สังคมมองบทบาทสื่อมวลชนโดยรวมว่า เป็นสื่อที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและนำมาซึ่งปัญหายุ่งยากในการหาทางออกของวิกฤตประเทศในครั้งนี้
ด้วยเหตุนี้สมาคมนักข่าวฯขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆดังต่อไปนี้
1.รัฐบาล ต้องใช้สื่อของรัฐในการให้ข้อมูล ข่าวสารที่ตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง รวมทั้งรัฐบาลต้องไม่กระทำการใดๆ หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้งทางตรงและทาง อ้อม ไม่ปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ แต่หากพบว่า สื่อใดกระทำการละเมิดกฎหมาย ก็ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้วิธีการอื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
2.สื่อมวลชน ที่ประกอบหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักของประเทศมาอย่างยาวนาน ขอเรียกร้องให้ยึดมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง รอบด้านของข้อมูล ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องรักษาความเป็นมืออาชีพในการค้นหาความจริงมาตีแผ่ โดยค้นหาและรายงานข่าวที่มีหลักฐานข้อมูลหนักแน่นเพื่อส่งต่อความจริงให้ถึงมือประชาชน ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ และต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
3 .สื่อเพื่อการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ ต้องไม่นำเสนอข่าวที่บิดเบือน ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง จนนำไปสู่ความรุนแรง การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต้องคำนึงถึงความถูกต้อง รอบด้าน ส่วนการแสดงความคิดเห็น ควรโต้เถียงการด้วยเหตุผล ไม่ใช่มุ่งเร้าอารมณ์ จนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
4. สำหรับประชาชน ที่รับข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน สมควรตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับอย่างรอบด้าน ประกอบการตัดสินใจของตัวเอง สำหรับประชาชนที่ได้รับข้อมูลจากสื่อของกลุ่มการเมืองต้องเปิดโอกาสให้กับตัวเองในการรับข้อมูลจากสื่ออื่นๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ต้องไม่หลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อง่ายๆ เพราะอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
สุดท้ายนี้สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่าในปี 2553 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีแนวโน้มที่รุนแรง ซึ่งสื่อมวลชนต้องยืนหยัดทำหน้าที่อย่างถูกต้อง รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และทุกฝ่ายต้องหยุดใช้สื่อ เพื่อสร้างสงครามการเมืองเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตน และขอให้ทุกฝ่ายที่คิดใช้สื่อพึงตระหนักเสมอว่า ”สื่อมวลชนนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะพูดได้ว่าเป็นสิ่งดีหรือสิ่งร้าย...แล้วแต่เราจะใช้มัน...ถ้าใช้ผิดก็เป็นผลร้ายมหาศาล...หมายความว่า ทำโลกนี้ให้เป็นโลกที่ไร้ความสงบสุขไปได้” จากหนังสือ”สื่อมวลชนบนวิถีศีลธรรม: ตามทัศนะของพุทธทาส
ประมวลเหตุการณ์สื่อในรอบปี พ.ศ. 2552
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงบทบาทการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างดี จึงมีการรวบรวมสถานการณ์ต่างๆในรอบปี 2552 ต่างกรรมต่างวาระไว้เป็นข้อเตือนใจสื่อมวลชนทุกแขนง ให้เป็นกระจกสะท้อนของการทำหน้าที่และให้ร่วมปกป้องจริยธรรมแห่งวิชาชีพอันดีงามไม่ให้ถูกทำลาย โดยฝ่ายสิทธิฯ ได้แยกเป็น 7 หัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งแต่ละหัวข้อประกอบด้วยหลากหลายเหตุการณ์เข้าด้วยกันเพื่อเป็นหมวดหมู่
1. สื่อกับการทำหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง : จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งขั้วเลือกข้างอย่างชัดเจน ส่งผลให้รอบปีที่ผ่านมายังมีเหตุการณ์ที่สื่อเป็นผู้ถูกกระทำในหลายกรณี เริ่มจากกรณีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและแกนนำพันธมิตร ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ออกแถลงการณ์เร่งให้ตำรวจเร่งติดตามจับกุมคนร้ายด้วย, กรณีที่แกนนำคนเสื้อแดงประกาศไม่รับรองความปลอดภัยสื่อมวลชนในช่วงเหตุการณ์เดือนเม.ย. จนทำให้สื่อมวลชนส่วนใหญ่ถอนตัวจากบริเวณที่มีการชุมนุม แต่สุดท้ายแกนนำออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่เป็นความจริงและขอเชิญสื่อกลับไปทำข่าวการชุมนุม , กรณีที่นายจอม เพชรประดับ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากการจัดรายการทางสถานีข่าวและสาระคลื่นเอฟเอ็ม 100.5 อสมท. หลังจากสัมภาษณ์สดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็นนักโทษหลบหนีอาญาแผ่นดินที่เป็นที่ต้องการตัวของทางการ , กรณีที่ผู้สื่อข่าวไทย 3 คน จากเนชั่นทีวีถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำเพรย์ซอว์ ประเทศกัมพูชาควบคุมตัวเพื่อสอบสวนพร้อมกับยึดกล้องเพื่อตรวจสอบว่าได้บันทึกภาพหรือไม่หลังจากทั้ง 3 คนไปทำข่าวการเดินทางมาประเทศกัมพูชาของพ.ต.ท.ทักษิณ และได้ขอเข้าไปเยี่ยมนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยที่ถูกทางการกัมพูชาควบคุมตัวที่เรือนจำในข้อหาจารกรรมตารางการบินของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งท้ายที่สุดทั้ง 3 คนก็ถูกปล่อยตัว
ต่อมาเป็นกรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่อ่างเก็บน้ำกาแล จ.เชียงใหม่ รวมตัวกันแสดงความไม่พอใจและขับไล่นายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวทางช่อง 3 โดยอ้างว่าอ่านข่าวไม่เป็นกลาง ซึ่งท้ายที่สุดทั้งนายสรยุทธ์และแกนนำผู้ชุมนุมได้พูดคุยทำความเข้าใจกันโดยไม่มีเหตุรุนแรงอะไร , กรณีของน.ส.วาสนา นาน่วม กับ พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีการโต้คารมผ่านสื่อ หลังเกิดการต่อยอดประเด็นจากรายการวิทยุ “ลับ ลวง พราง” ที่มีน.ส.วาสนาเป็นผู้ดำเนินรายการ จนกลายเป็นประเด็นที่ว่าพล.อ.สุรยุทธ์ จะเป็นตัวกลางในการเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่สุดท้ายพล.อ.สุรยุทธ์ปฏิเสธข่าวดังกล่าว และมีการอธิบายถึงความสนิทสนมของกันและกันในฐานะสื่อกับแหล่งข่าวด้วย
2. ภาพลบกับเสียงท้วงติงการทำหน้าที่ : กรณีเสียงท้วงติงเกิดจากการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ทำหนังสือถึงนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเรื่องการเสนอภาพข่าวที่ไม่เหมาะสมบนหน้า 1 หนังสือพิมพ์ ทำให้คณะกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯได้ตอบรับด้วยการออกประกาศให้สื่อการนำเสนอภาพข่าวให้สอดคล้องกับหลักจริยธรรม
ส่วนภาพลบนั้นต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง และล้วนเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีก่อนเทศกาลปีใหม่ทั้งสิ้น ทั้งกรณีที่มีการแจกปฏิทินนู้ดที่ขัดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มเแอลกอฮอล์ที่ด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในจำนวนผู้รับปฏิทินมีช่างภาพสื่อมวลชนบางส่วนไปรับแจก และในที่สุดกระแสสังคมกดดันผู้นำมาแจกที่นำมาแจกเพราะเห็นว่าใกล้เทศกาลปีใหม่จนต้องลาออกจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองไปในที่สุด ส่วนอีกกรณีเกิดขึ้นในงานเลี้ยงปีใหม่ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และปรากฏว่ามีส.ส.จำนวนหนึ่งเรี่ยไรเงินให้สื่อมวลชน-ช่างภาพกลุ่มหนึ่งโดยอ้างว่าพานักข่าวไปอาบน้ำ แต่หลังจากมีการนำเสนอข่าวโฆษกพรรคดังกล่าวชี้แจงว่าอาบน้ำหมายถึงอาบน้ำทะเลหรือเล่นน้ำตกไม่ได้หมายความว่าจะพาไปอาบน้ำ ในอาบ อบ นวด ซึ่งทั้ง 2 กรณีและเพื่อป้องกันกรณีอื่นๆในอนาคตนั้นสมาคมนักข่าวฯได้แถลงข่าวตำหนิทั้งนักข่าวที่เรียกร้อง-รับเงินและนักการเมืองที่ให้สินบน ดูแคลนวิชาชีพสื่อมวลชน พร้อมกับให้บรรณาธิการสื่อทุกประเภทสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพในสังกัดคนใดได้รับเงินด้วยหรือไม่และดำเนินการตามกฎระเบียบของแต่ละองค์กร
3. ความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวสื่อฯ : เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ศาลอ่านคำพิพากษาลงโทษแกนนำคาราวานคนจน 6 คน ที่นำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์เมื่อวันที่ 30 มี.ค.49 ในความผิดฐาน ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย, กักขัง หน่วงเหนี่ยว และ พรบ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 โดยลงโทษจำคุกจำเลย คนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ปรับคนละ 180 บาท แต่การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี ปรับจำเลยที่ 1,3,4 และ 6 คนละ 180 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 5 ปรับคนละ 120 บาท
4. ปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯ : ด้วยนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนในเรื่องของการป้องกันเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯ ส่งผลให้เว็บไซต์ที่อยู่ในข่ายถูกปิดจำนวนมาก อาทิ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. รมว.ไอซีทีเปิดเผยว่าได้ปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯกว่า 2 พัน เว็บไซต์ นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมก็ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรงและผู้บัญชาการเหล่าทัพติดตามตรวจสอบโดยประสานงานกับกระทรวงไอซีทีหาแนวทางป้องกันและแก้ไขทุกวิถีทางอย่างรอบคอบเกี่ยวกับเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯด้วย และกรณีที่เป็นข่าวดังที่สุดคือกรณีที่เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ตำรวจกองปราบปรามนำหมายค้นตรวจค้นและจับกุมเว็บไซต์ประชาไทหลังได้รับการร้องเรียนจากไอซีทีว่าเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์ โพสต์ข้อความลักษณะหมิ่นเบื้องสูง ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. - 3 พ.ย. 2551 ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้การตรวจค้นและจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ฯเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกต่อสื่อมวลชนได้ เนื่องจากเป็นคดีสำคัญและตำรวจอยู่ระหว่างสอบปากคำ
5. พิษเศรษฐกิจลามสื่อ : ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศส่งผลให้สื่อไทย 2 องค์กรต้องเผชิญกับปัญหาจนต้องปิดตัวเองลง คือ บริษัท จีจีนิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ FM 98.0 MHz ได้ยกเลิกสัญญาเช่าคลื่นกับกองทัพบก ซึ่งผู้บริหารให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจึงปิดคลื่นทำให้มีพนักงาน ผู้สื่อข่าวตกงานเป็นจำนวนมาก ส่วนอีกองค์กรคือหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจที่บอกเลิกจ้างพนักงาน 60 คน เนื่องจากพิษเศรษฐกิจเล่นงานเช่นกัน และนอกจากนี้สื่อยักษ์ใหญ่อย่างนิตยสาร“ฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิก รีวิว” ก็ประกาศปิดตัวในเดือน ธ.ค.นี้ หลังขาดทุนหนัก ทั้งนี้มีรายงานตัวเลขงบโฆษณาเดือน ก.พ.2552 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปี 2551 พบว่าการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อมีมูลค่า 6,323 ล้านบาท ซึ่งลดลง 6.26% โดยทุกสื่ออยู่ในภาวะติดลบ ยกเว้นสื่อเคลื่อนที่ (Transit) ที่เติบโตถึง 27.25%
6. กำเนิดสื่อและเทคโนโลยีสื่อยุคใหม่ : ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่อมีความหลากหลายทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ ระบบ3G , SMS , ทวิตเตอร์ ฯ และประกอบกับการแบ่งขั้วทางการเมืองชัดเจน จึงมีการก่อตั้งและทำสื่อขึ้นมาจำนวนมากในรอบปีเพื่อสนองกลุ่มมวลชนของตัวเอง เริ่มจากสื่อของรัฐอย่าง ช่อง11 ที่มีการเปลี่ยนชื่อจาก NBT เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท.) ตามนโยบายของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส่วนเครือ ASTV ผู้จัดการก็มีการแตกเป็นช่องภาษาอังกฤษอย่าง TAN(Thai-ASEAN News Network)
ส่วนของกลุ่มผู้สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ มีการทำช่องโทรทัศน์ดีทีวีสถานีประชาธิปไตย , นสพ.เร้ดนิวส์ นิตยสารความจริงวันนี้ เว็บไซต์ทักษิณไลฟ์ รวมไปถึงVoice TV ที่มีนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ก็ยังมีคนสงสัยว่าเป็นทีวีสนองการเมืองหรือไม่
7. เหตุสะเทือนใจสังหารหมู่นักข่าวฟิลิปปินส์ 30 คน : เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นักข่าว 31 คน ติดตามขบวนของภรรยาและน้องสาวของนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดมินดาเนา ประเทศฟิลิปินส์ ไปสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแทนสามีที่ถูกขู่ฆ่า โดยเป็นท้าชิงตำแหน่งจากผู้ว่าฯคนปัจจุบันที่เป็นฐานเสียงให้ประธานาธิบดี แต่ปรากฏว่าขบวนถูกกลุ่มติดอาวุธประมาณ 100 คนยิงถล่มเสียชีวิตทั้งหมด 57 คนและนำศพไปฝังใต้ดิน โดยในนั้นเป็นศพนักข่าว 30 คนและยังสูญหายอีก 1 คน ถือเป็นการฆ่านักข่าวมากที่สุดในโลก ซึ่งกรณีนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและได้ส่งคนร่วมเดินทางไปหาข้อเท็จจริงที่ประเทศฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังมีการจัดเสวนาถึงเรื่องนี้เพื่อเป็นอุทธาหรณ์ให้กับสื่อไทย ออกแถลงการณ์ไว้อาลัยกับนักข่าวที่เสียชีวิตและเข้าพบนายอันโตเนียว เวนุส โรดรีเกซ เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดี เรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการสอบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะผู้บงการมาลงโทษให้ถึงที่สุด นอกจากนี้สมาคมนักข่าวฯยังได้ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย