สมิต มานัสฤดี

คุณสมบัติ 3 ประการของคนข่าว

ปัจจุบัน สมิต มานัสฤดี ปัจจบัน อายุ 75 ปีแล้ว เขาเคยดำรงตำแหน่ง บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นักหนังสือพิมพ์ผู้นี้ เข้าสู่วงการ ตั้งแต่ อายุราว 18 ปี หลังจากเรียนจบเตรียมอุดม (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ราวๆ ปี พ.ศ. 2493

เขาเล่าว่า เหตุที่มาทำหนังสือพิมพ์ เรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญ เพราะด้วยฐานะครอบครัวลำบากมาก จำเป็นที่จะต้องหางานทำ ครั้นจะไปทำงานราชการอายุก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ เผอิญไปรู้จักกับคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทไทยพาณิชยการ ซึ่งเป็นนายทุนของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อาทิ หนังสือพิมพ์พิมไทย หนังสือพิมพ์สยามนิกร

สมิต เข้าไปทำงานในครั้งแรก ในฝ่ายกองจัดการ ไปเป็นเด็กรับใช้ในฝ่าย ใช้แรงงานกายทุกอย่าง อาทิ ขับรถส่งหนังสือพิมพ์ ทำอยู่ประมาณ 2 ปี และราวปี พ.ศ. 2495 ก็ย้ายไปทำงานฝ่ายกองบรรณาธิการ ของหนังสือพิมพ์สยามนิกร ก็เริ่มตั้งแต่ระดับต่ำๆ คือ เป็นช่างภาพ เป็นเด็กประจำห้องมืด ล้างภาพ ตามรถตระเวนโรงพัก ทำข่าวกีฬา

ช่วงนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงนายทุนของหนังสือพิมพ์เกิดขึ้น จนในที่สุดก็ย้ายมาทำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในที่สุด เริ่มทำตั้งแต่สมัยที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยังใช้ชื่อ หนังสือพิมพ์ข่าวภาพ ส่วนงานด้านข่าวนั้น ได้ทำในส่วนของหัวหน้าข่าวต่างประเทศ (อายุ 30 ปี) จนเปลี่ยนหัวหนังสือมาเป็น หนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง เนื่องจากหนังสือพิมพ์ข่าวภาพถูกสั่งปิด โดยคณะรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ราวปี พ.ศ. 2500

สมิต นั่งเป็นหัวหน้าข่าวต่างประเทศ ก่อนจะมาเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหลังจากที่เปลี่ยนหัวหนังสือพิมพ์มาเป็น  ไทยรัฐ 

คนทำหนังสือพิมพ์ยุคนั้น จะไม่มีใครรู้อนาคตได้เลยว่า วันนี้ได้ทำ พรุ่งนี้จะได้ทำหรือไม่ ดังนั้นหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ที่รักษาตัว จะหันไปเล่นข่าวอาชญากรรม ข่าวโรงพัก เป็นส่วนใหญ่ ด้านข่าวการเมืองนั้นน้อยมาก เพราะแหล่งข่าวแต่ละคนไม่ค่อยจะให้ข่าวเท่าไรนัก

สมิต เล่าว่า หนังสือพิมพ์ก็เป็นธุรกิจที่ไม่มั่นคง คนทำงานหนังสือพิมพ์จะไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถยึดถือเป็นอาชีพเลี้ยงตัว ครอบครัวได้ซึ่งตอนที่เริ่มทำงาน ก็ไม่ได้คิดว่าจะยึดการทำงานที่หนังสือพิมพ์เป็นอาชีพเลี้ยงตัว ครอบครัว ให้กินดีอยู่ดีได้ เพราะด้วยยอดจำหน่ายน้อย รายได้จากโฆษณามีน้อย ชื่อหนังสือไม่โด่งดัง และเมื่อเทียบกับราชการ เงินเดือนของนักหนังสือพิมพ์ก็ยังน้อยกว่าราชการเสียอีก ดังนั้นคนที่จะอยู่กับอาชีพนี้ได้ก็เพราะใจรักจริงๆ หรือ เพราะตัวเองได้ถลำเข้ามานานแล้วจนถอนตัวไม่ได้แล้ว โดยความรู้สึกส่วนตัวอาจเป็นเพราะทำมานาน แล้วจึงเกิดความรักในอาชีพ

คนที่เหมาะกับการทำงานหนังสือพิมพ์จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการคือ 1 . ต้องเป็นคนที่มีความคิด ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีอิสระ แต่อยู่ในกรอบ และกฎระเบียบ 2. มีวิญญาณบางอย่างที่เหมาะกับการทำงานหนังสือพิมพ์ คือ เป็นคนที่รักการต่อสู้ แข่งขัน เพราะอาชีพหนังสือพิมพ์ก็ต้องมีการแข่งขัน ทั้งเรื่องของเวลา ที่ต้องปิดข่าวให้ทันเวลา และต้องแข่งขันกับ หนังสือพิมพ์หัวอื่นๆ เพราะหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้ ด้วยยอดจำหน่าย ดังนั้นการทำข่าวด้วยกันก็ต้องทำให้ดีกว่า ให้ได้ข่าวเด่นกว่า ได้ภาพข่าวที่ดีกว่า

ดังนั้น คนที่ทำงานแบบเช้าชาม เย็นชาม หรือ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็ไม่เหมาะที่จะทำงานหนังสือพิมพ์ และ 3. ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะอาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน เกี่ยวข้องกับสาธารณะทั่วไป

พื้นฐานแรกเริ่มของการเป็นนักข่าวที่ดี สำคัญจะต้องมีความรู้ทางทฤษฏี และความชำนาญด้านปฏิบัติและนักข่าวทุกคนจะต้องมีการหาความรู้เพิ่มเติม เพราะการทำงานหนังสือพิมพ์จะต้องอาศัยฐานความรู้กว้างๆ หลายๆด้าน นอกจากนั้นแล้วจะต้องมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา

คนที่จะเข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์สมัยนี้เรียกได้ว่าได้เปรียบกว่าคนรุ่นก่อนๆ มาก เพราะสมัยก่อนจะต้องใช้ความพยายามและความอดทน ต่อสู้อย่างหนักกว่าที่จะเลื่อนตำแหน่งแต่ละขั้นได้

สมิต เปรียบเทียบว่า อาชีพนักข่าว เปรียบเหมือนกับรถเมล์ ที่ไม่มีวันหยุด หากหยุดแล้วคงไม่มีอะไรที่จะขับเคลื่อนต่อไปได้

อาชีพนักข่าว ถือว่างานสำคัญกว่าอย่างอื่นทั้งหมด อาจจะไม่ค่อยมีเวลาสำหรับครอบครัวมากเท่าไหร่ ต้องอุทิศเวลาให้กับงานมากกว่าอย่างอื่น

บนเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ของ สมิต มานัสฤดี จึงเป็นห้วงเวลาแห่งการทำงานในสิ่งที่ตนเองรักอย่างแท้จริง .