อิศรา อมันตกุล ตัวตาย...แต่ชื่อยัง
ประวัติคุณอิศรา อมันตกุล โดยคุณเสริมศรี เอกชัย
ย้อนหลังไปถึงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2512...วันนั้น หนังสือพิมพ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกฉบับที่พิมพ์ ออกจำหน่ายในกรุงเทพฯ มีข่าวหน้าหนึ่งที่เหมือนกันทุกฉบับ อยู่ข่าวหนึ่ง เพราะข่าวชิ้นนั้นมีความสำคัญเกินกว่าจะเอาลงแทรกไว้ในที่อื่น
ข่าวชิ้นนั้นคือรายงานความตายของบุรุษผู้หนึ่ง เขาไม่ใช่เศรษฐีมีเงินพันล้าน ไม่ใช่นักการเมืองที่ทรงอิทธิพลล้นฟ้า ไม่ใช่ขุนทหารผู้กระเดื่องเกียรติ เขาเป็นเพียงนักหนังสือพิมพ์คร่ำคร่าในอาชีพและนักเขียนคนหนึ่ง แต่ความตายของเขานั้นไม่มีใครสามารถละเลยหรือพูดว่าไม่กระทบกระเทือนได้
เพราะว่า...เขาคือ อิศรา อมันตกุล
ผู้ชายคนหนึ่งในบรรณพิภพของกระดาษและหมึกพิมพ์ไม่มีใครปฏิเสธเมื่อมีคนพูดว่าเขาคือ"เพชรเม็ดงามของวงการหนังสือพิมพ์"
ไม่มีใครปฏิเสธอีก เมื่อมีคนพูดว่า...เขาคือ
ชายใจพระ...ชายใจเพชร...ชายชาตรี ในวงการหนังสือพิมพ์...นักหนังสือพิมพ์อาวุโส....ผู้ต่อสู้เพื่อผู้อ่อนแอและถูกกดขี่...
ผู้มีจริยธรรมอยู่บนปลายปากกา...เฉลิม วุฒิโฆษิตบอกว่าเขาคือคนเช่นนี้
อิศรา อมันตกุล เป็นอะไรอีกหลายสิบอย่าง แต่ที่แท้จริงแล้ว เขาเป็นเพียงอย่างเดียวคือเป็น "ตัวอย่างที่ประเสริฐที่สุด" ของคนหนังสือพิมพ์ เป็นเบ้าหล่อหลอมแท่งคอนกรีตอันใช้ปู ทางเดินไปสู่กียรติศักดิ์ของคนหนังสือพิมพ์ ผิดไปจากเส้นทางที่ "พี่อิศร์" ได้ปูเอาไว้ และเดินไปก่อนแล้ว คนที่เข้าสู่โลกหนังสือพิมพ์ทั้งหมดย่อมจะหลงทางเดินไปในทางผิด รุงรังด้วยมายา และความลวงโลกผลประโยชน์และความเห็นแก่ตัว ฯลฯ
และจบชีวิตในอาชีพของตัวเองไว้เพียงการทำตัวเป็น "ผู้เชียร์แขก" ซึ่งไม่แตกต่างไปจากผู้เชียร์แขกตามสถานที่อาบอบนวด ซ่องโสเภณี หรือหน้าร้านอาหารที่ตะโกนเย้ว ๆ พร้อมกวักมือเรียกลูกค้าให้เข้าไปเสพสุขหรือเสพสมกับผู้ให้บริการของเขา
เพราะเช่นนี้...จึงไม่มีใครลืม "อิศรา อมันตกุล" ..ไม่ใช่ เพราะเขาเป็นเพียงบุรุษองอาจคมสันที่น่ามอง ไม่ใช่เพราะเขาสามารถใช้สำนวน "สวิง" ที่แหวกแนวและยวนยั่ว ไม่ใช่เพราะเขาคือ "ผู้นำ" ที่ฉลาดคมกริบของนักหนังสือพิมพ์ "กลุ่มหนุ่ม" ในยุคสมัยเดียวกัน
การอธิบายภาพอิศรา อมันตกุล นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในเมื่อเขาคือ "หลักทางใจ" ของคนรุ่นน้อง เขาคือ "เพื่อนแท้" ของมิตรสหาย เขาคือ "ครู" ของนักข่าว
เขาคือ "ความฝัน" ของนักหนังสือพิมพ์รุ่นเยาว์เขาคือ "หลักชัย" ที่ทุกคนคิดว่าจะต้องตะกายไปให้ถึง
เขาคือความหยิ่งและความภูมิใจของวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทย...
ถ้าจะถามว่าเพราะเหตุไร อิศราอมันตกุล จึงได้ก้าวมายืนในระดับแถวหน้าสุดของวงการหนังสือพิมพ์ และรักษาจุดยืนของเขาเอาไว้ได้นับเป็นเวลา 20 กว่าปีในเมื่อนักหนังสือพิมพ์ คนอื่นที่มีการศึกษาดีกว่าเขายังมีอีกมาก พี่อิศร์เพียงจบชั้นมัธยม 8 ดีหน่อยที่สอบได้คะแนนเยี่ยมเป็นที่ 1 ของนักเรียน ม8. ทั่วประเทศ
นอกเหนือจากความรักในวิชาชีพ อุดมการณ์ และพรสวรรค์ ซึ่งใคร ๆ ก็อาจมีได้เป็นปัจจัยส่งหนุนแล้ว ที่ผลักดันให้พี่อิศร์ยืนอยู่แถวหน้าแห่งศรัทธาและความรักของเพื่อนพ้อง คือ ความ "เมตตา" ที่บรรจุไว้เต็มเปี่ยมในหัวใจของพี่อิศร์เอง...ความเมตตาต่อผู้อื่นที่ด้อยกว่าความเมตตาต่อผู้อ่อนแอและโง่เขลาความเมตตาต่อ ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ...มันเป็นความรู้สึกแสนสะอาดและมั่นคงของผู้ชายคนนี้ ที่จะอ้าแขนของเขาเข้ามาโอบอุ้ม พยุง ประคับประคอง ผู้ที่สมควรได้รับ ความเห็นใจและเมตตาจากเพื่อร่วมชาติด้วยกัน...มันเป็นความรู้สึกแข็งกร้าว และทรนงองอาจเปี่ยมด้วยความเสียสละของผู้ชายคนนี้ที่จะก้าวออกมายืนขวางหน้า เพื่อปกป้องผู้ที่ถูกข่มเหงรังแก
ด้วยปลายปากกาของเขา
มิตรสหายในวงการหนังสือพิมพ์หลายคนที่สนิทสนมกับอิศรา อมันตกุล พูดกันว่าเขาไม่มีศัตรู ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากใครคิดจะเป็นศัตรูของเขา ศัตรูของอิศรา อมันตกุล ก็ยังรู้จัก "นับถือ" ในความดีของเขาด้วย มิตรของเขาเคยพูดไว้ว่า "ถ้าอิศราด่าประณามใครสักคนละก้อ...ไอ้หมอนั่นรับรองได้ว่าเป็นคนที่ไม่มีใครคบได้"
แต่คนที่ไม่มีใครคบอย่างนี้นี่แหละ หากว่ามีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้น มือแรกที่ จะยื่นมาเพื่อช่วยเหลือเขา คือ มือคล้ำ ๆ ของ อิศรา อมันตกุลคนนี้นี่เอง
และมิตรสหายหลายคนรวมทั้งผู้เขียนเองสามารถยืนยันได้ว่า ยังไม่เคยได้ยิน "พี่อิศร์" กล่าวประณามใครเลยสักคนเดียว แม้จะเป็นการวิพากวิจารณ์ถึงบุคคลบางคนในกลุ่มมิตรสหายกันเอง ก็ไม่เคยได้ยินเสียงต่อเติมเสริมส่งจาก "พี่อิศร์" เลย
โดยที่จริงแล้ว อิศรา เป็นคนพูดน้อย เขาชอบฟังคนอื่นพูดมากกว่า เขามักจะเป็นเพียงผู้ตอบคำถาม ผู้อธิบายในสิ่งที่เพื่อนยังไม่เข้าใจ
ในประวัติชีวิตของ อิศรา อมันตกุล สามารถเรียบเรียงได้เพียงว่า ภูมิลำเนาเดิม เมื่อยังเยาว์วัยอยู่แถวถนนข้าวสาร บางลำพู เรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ จนจบชั้นมัธยม 8 สอบได้ที่หนึ่งทั่วประเทศปีการศึกษา 2481 ถือกำเนิดมาในครอบครัวที่ นับถือศาสนาอิสลามมีชื่อตามศาสนาว่าอับราฮิม อะมัน บรรดาพี่น้องของ "พี่อิศร์" ใช้นามสกุล "อมรทัต" นอกจากพี่อิศร์คนเดียวที่ยังยึดอยู่กับนามเดิมของตระกูล ซึ่งแยกมาตั้งเป็น "อมันตกุล"ของเขาเองวันเกิดของ "พี่อิศร์" คือ วันที่ 17พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ตามบันทึกประวัติแต่มีหลักฐานเขียนไว้ที่อื่นว่า เขาเกิดเมื่อวันจันทร์ แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก เวลา 01.45 น. ซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม และผิดไปอีก พ.ศ.หนึ่ง การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสมัยก่อนนั้นการแจ้งอายุบุตรของตนให้น้อยกว่าที่ เป็นจริงเมื่อเข้าโรงเรียนเพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนจบก่อนอายุ 18 และสามารถสอบชิงทุนสกอล่าชิปหรือ "ทุนหลวง" ไปเรียนต่อเมืองนอกได้
หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯแล้ว พี่อิศร์ทำอะไรบ้าง...เมื่อเปรียบเทียบอายุแล้ว เขาเพิ่งย่างเข้าวัย 17 ปีเท่านั้นเอง...อิศราของเราเล่าให้ฟังเมื่อเขียนถึงตัวเองในหนังสือเรื่อง "สี่นักเลง"ว่า
.. "เมื่อออกจากโรงเรียนใหม่ ๆ ผมทำงานห้างฝรั่งอยู่พักหนึ่ง เกิดเบื่อขึ้นมาเลยลงไปเสเพลอยู่ปักษ์ใต้ แม่เห็นท่าไอ้นี่จะกลายเป็นโจรชายแดนแน่จึงเรียกตัวกลับ ผมเดินเตะฝุ่นกรุงเทพฯนานเข้าชักรำคราญ เลยลองเขียนเรื่องอ่านเล่น เขียนแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรให้เขาลง เลยไปกราบครู (หมายถึง อบ ไชยวสุ นามปากกา "ฮิว เมอริสต์" ) ครูใจดีมีเมตตาช่วยเอาลงให้ที่ "ประชามิตร" ที่ครูควบครูควบคุมอยู่ลงเรื่องผมได้ไม่กี่วัน ครูก็เรียกตัวไปพบบอกว่าไอ้หนูเอ๊ยเอ็งชอบเขียนหนังสือแกว่งขาหาตะรางนักเรอะ ผมบอกครับผมชอบที่สุด ครูเลยว่า งั้นอย่าเตะฝุ่นให้เดือดร้อนเทศบาลเขาเลยว่ะ มาอยู่ด้วยกันดีกว่า จากวันนั้นแหละครับ ผมเลยได้ปั้นจิ้มปั้นเจ๋อเข้าไปอยู่ในโลกหนังสือพิมพ์กับเขา"...
"ครูอบ" เป็นผู้ชวนพี่อิศร์ให้เข้ามาอยู่ในโลกหนังสือพิมพ์ แต่ผู้ที่รับเขาเข้ามาจริง ๆ คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสผู้มีเกียรติประวัติขาวสะอาดแต่ต้องถูกลมพายุทางการเมืองซัดกระหน่ำชีวิตจนโซเซพเนจรไปอยู่ต่างแดน ตอนนั้น คุณกุหลาบ หรือ "ศรีบูรพา" เป็นผู้บริหารหนังสือพิมพ์ "สุภาพบุรุษ ประชามิตร" เล่ากันว่าคุณกุหลาบยื่นข่าวต่างประเทศให้ให้พี่อิศร์แปลข่าวหนึ่ง พร้อมกับชี้ไปที่หลังตู้ว่า "ดิกชันนารีอยู่บนหลังตู้หนังสือ สงสัยเปิดดูเอาได้" อย่างปรานีเด็กหนุ่ม
"ไอ้หนู" ของ "ครูอบ" ไม่ได้เดินไปที่หลังตู้สักนิดนั่งลงอ่านข่าวแล้วแปลเป็นภาษาไทยพรวด ๆ รวดเดียวจบส่งให้คุณกุหลาบดู...ก็ได้งานทำทันทีในวันนั้นเอง อิศราคลำอยู่กับข่าวต่างประเทศมาตลอดเวลาจึงมีความสันทัดในภาษาอังกฤษยิ่งเสียกว่านักเรียนนอก ภายหลังใช้นามปากกาว่า "แฟรงค์ ฟรีแมน" เขียน "สแลงไม่ใช่ของแสลง" อธิบายศัพท์แสงภาษาสแลงของฝรั่งให้คนไทยเข้าใจพิมพ์จำหน่ายถึง 6 เล่ม และทำคอลัมน์ "วันละคำ" อธิบายศัพท์ยาก ๆ ภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อยู่พักหนึ่งเขาทำงานกับคุณกุหลาบในสุภาพบุรุษ-ประชามิตรเมื่ออายุ 19 ปีคือใน พ.ศ.2483 ได้สนิทสนมกับคุณสนิท เจริญรัฐซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ใหญ่อีกคนหนึ่ง เมื่อคุณสนิทแยกตัวเองมาทำหนังสือพิมพ์ "สุวัณณภูมิ" เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2484 อิศราของเราก็ตามออกมาด้วย
หนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิเป็นหนังสือพิมพ์หนักทางการเมือง ออกจะเข้มข้นรุนแรงในบางครั้งพี่อิศร์คือตัวจักรกลสำคัญที่สุดของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ คุณทองเติม เสมรสุต(ไทยรัฐ) เล่าว่าไม่น่าเชื่อว่าอิศราทำได้ทุกอย่าง พาดหัวจัดหน้า แปลข่าว เขียนปก เขียนหัวหนังสือสุวัณณภูมิด้วยมือตัวเอง เรียกว่าถ้าโยนหนังสือพิมพ์เขาทำคนเดียวทั้งฉบับ เขาก็ทำออกมาได้ด้วยมือตัวเองทั้งฉบับเหมือนกัน
ที่ "สุวัณณภูมิ" นี่เอง นวนิยายเรื่อง "นักบุญ คนบาป" ก็ปรากฏขึ้น คู่คี่กันมากับ "ชัยชนะของคนแพ้" ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ในเล่มเดียวกัน แต่อายุของ "สุวัณณภูมิ" ไม่ยืนยาว ไม่นานก็ถูกลมทางการเมืองพัดเซล้มไป จากนั้นชีวิตในวงการหนังสือพิมพ์ของ "พี่อิศร์" ก็ระเหระเนไปจ่อมอยู่ในหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับเขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นและเรื่องยาว เริ่มแต่เข้าร่วมงานกับคุณสุภา ศิริมานนท์ "ปรมาจารย์วิชาการหนังสือพิมพ์" ที่ "นิกรวันอาทิตย์" โดยเขียนเรื่องให้ และเขียนคอลัมน์ตอบปัญหาปลอบจิตใช้นามปากกาว่า "อโศก" ซึ่งดังมากในกระบวนนักตอบปัญหาชีวิตด้วยกันในยุคนั้น เขาเข้าปลุกปล้ำ "สยามนิกร" ที่สถิติการพิมพ์ตกรูดมหาราชให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อยู่กับคุณอารีย์ ลีวีระ แห่งค่ายไทยพาณิชยการสีลมตอนนี้เขาช่วยทำ "พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว" และเป็นปรมาจารย์ต้นตำหรับการเขียนและคุ้ยเบื้องหลังข่าวอาชญากรรมทำเป็นสารคดี เรียกว่าเป็นหนังสือเบื้องหลังข่าวอาชญากรรมฉบับแรกในเมืองไทย ขายดิบขายดี แต่น่าเสียดายที่อยู่ได้ไม่นานเพียง 2 ปี "พี่อิศร์" ก็ถอนตัวออกมาเสีย รวบรวมทีมไปทำ "เอกราช" ก็เจ๊ง
ไปอีก ต่อมาเขาทำงานที่ "กิตติศัพท์" แล้วก็ย้ายไป "ไทยใหม่รายวัน" ที่ตรอกกัปตันบุช พอไทยใหม่ล้มก็ทำงานที่ค่ายสี่พระยา เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ นสพ. "บางกอกเดลิเมล์"
ในขณะที่ "คุณสนิท เอกชัย" สหายรัก เป็นหัวหน้ากอง บ.ก. "เดลิเมล์" ถูกจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2501 พร้อม ๆ กัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับนักหนังสือพิมพ์กราวรูด ปิดหนังสือพิมพ์เสียเกือบหมดเอาใจอเมริกา "พี่อิศร์" ถูกขังอยู่ 5 ปี 10 เดือน และเป็นระยะที่คุณสนิทไม่ยอมทำหนังสือพิมพ์เลย จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2507 คุณสนิท เอกชัย กลับมาทำหนังสือพิมพ์ "แนวหน้าแห่งยุค "เดลินิวส์" เมื่อคุณอิศราถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ "เดลินิวส์" ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงแก่กรรม
คุณอิศรา เป็นผู้มีหัวคิวริเริ่ม และเป็นคนที่เริ่ม และเป็นคนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงการจัดหน้าในหนังสือพิมพ์ ก่อนนั้นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งจะมีเพียง 7 คอลัมน์เท่านั้น "พี่อิศร์" วางแปลนลงใหม่ ให้มี 8 คอลัมน์เรื่องนี้ย่อมมีความสำคัญแก่วงการหนังสือพิมพ์อย่างยิ่ง เนื่องจากความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ จริง ๆ อยู่กันได้ที่ "ค่าแจ้งความ" คือรายได้จากการโฆษณาสินค้าของเจ้าของสินค้า "ค่าแจ้งความ" นั้นคิดเป็นอัตรา "คอลัมน์นิ้ว" คือ กว้าง 1 คอลัมน์ สูง 1 นิ้ว การที่หนังสือพิมพ์ได้ "คอลัมน์เพิ่ม" ขึ้นมาเช่นนี้ทำให้มีที่สำหรับลงโฆษณามากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น "พี่อิศร์" ยังเป็น "จิตรกร" อีกด้วย คุณทองเติม เสมรสุต หรือ "สวิง พรหมจรรยา" นักออกแบบ เป็นผู้ยืนยันว่า เขาคือผู้เขียนแบบ ปกนวนิยายแปลเรื่อง "แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง" "ยักษ์ตื่นในเอเซียฯ" ฯลฯ
ตัวหนังสือที่หลุดออกมาจากปลายปากกาของอิศรา อมันตกุล นั้นมีราคาของมัน เขาเขียนหนังสือได้ทุกรูปแบบและเขียนได้ดีทุกรูปแบบด้วย นวนิยายเรื่องสั้นชื่อ "หยาดเหงื่อและความทระนง" ของเขาได้รับเลือกจากสถาบันองค์การประพัยธ์แห่งอิตาลีให้แปลเป็นภาษาอิตาเลียนพิมพ์รวมเล่มเป็นชุดเรื่องสั้นชื่อ "เราคือลูกของพระแม่ธรณี" ได้รับเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการขอไปพิมพ์ในหนังสือเรียนชุดวรรณวิจักษณ์ เล่ม 2 สำหรับนักเรียนชั้น ม.ศ. 5 เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ค้นคว้าศึกษาทัศนะและการเรียบเรียงถ้อยคำที่สละสลวยในภาษาไทย
ไม่ทราบว่า อิศรา อมันตกุล เขียนหนังสือเอาไว้มากมายเท่าไร เขาใช้หลายนามปากกาอยู่ทีเดียว นอกจากอโศกแล้ว ยังมี มะงุมมะงาหรา,นายอิสสระ,เริงอภิรมย์,ทรงกลด กลางหาว,เจดีย์ กลางแดด(เขียนบทความ)แฟรงค์ ฟรีแมน,นที บุรีรมย์ รายชื่อหนังสือและนามปากกาของพีอิศร์ได้รวบรวมไว้แล้วที่มูลนิธิอิศรา อมันตกุล ณ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีผู้สนใจมาขอชมและขอทำวิทยานิพนธ์ชีวิตและงานของ อิศรา อมันตกุล หลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ยังมีนามปากกาปลอมในชื่อของพี่อิศร์อยู่หลายเรื่อง ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าตัวหนังสือที่หลุดจากปลายปากกาของอิศรา อมันตกุลมีราคาของมัน ในครั้งหนึ่ง บรรดา "น้อง" ในกลุ่มหนุ่มของเขาเคยขออนุญาตใช้ชื่อของพี่อิศร์ปะลงไปในเรื่องสั้นที่เขาเขียนเพื่อให้มันมีราคาสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมักจะเอาขายให้ คุณอุดม ชาตบุตร แห่งนิตยสาร "โบว์แดง" ในยุคนั้น เพราะสำนักพิมพ์ชายบุตรใจป้ำเปย์งาม, พี่อิศร์จะพยักหน้าอนุญาตให้และเมื่อได้ค่าเรื่องมาแล้ว มีน้อยคนนักที่เอาค่านามปากกามาเลี้ยงเหล้ากันบ้าง ทุกคนถือว่ามีสิทธิที่จะทำกับพี่อิศร์ได้อย่างนี้ และรู้ศึกว่าพี่อิศร์จะดีใจที่ได้ช่วยเพื่อนอย่างนี้เสียด้วย
ความตายของอิศรา อมันตกุล ก่อให้เกิดความโหยหาอาลัยขึ้นในหมู่มวลมิตรสหายและผู้อ่านที่เป็นแฟนของเขา ได้มีการปรึกษาหารือกันว่า ควรจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อิศรา และในที่สุด 3 สถาบัน น.ส.พ.อันมีสมาคมหนังสื่อพิมพ์แห่งประเทศไทย,สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสมาคมหนังข่าวแห่งประเทศไทย ก็นัดประชุมกันเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2512 เพื่อร่วมมือกันจัดตั้ง "มูลนิธิอิศรา อมันตกุล" และได้มอบหมายให้ 3 นายกสมาคมฯ คือ คุณเฉลิม วุฒโฆษิต,คุณเชลง กัทลีรดะพันธ์ และคุณชาญชัยศรี พลกุล ร่วมกับนายกสมาคมทนายความ คุณมารุต บุนนาค ช่วยกันยกร่างข้อบังคับและจัดการให้ลุล่วงไปโดยมี คุณถาวร สุวรรณ เป็นเลขานุการ
"มูลนิธิอิศรา อมันตกุล" ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนได้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2514 เหตุล่าช้าไปเพราะยังอยู่ในระหว่างหาเงินทุนดำเนินงาน ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุลคนแรก คือ คุณสนิท ดอกชัย ผู้พยามปลุกปล้ำในการตั้งมูลนิธิมาจนสำเร็จ และเนื่องจากมีข้อผูกพันกับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ในการให้รางวัลแก่ผลงานดีเด่นของนักหนังสือพิมพ์และช่างภาพที่สมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้ตัดสินแต่ละปี ได้ลงมือกระทำการนี้เป็นปีแรกคือ ปี พ.ศ.2514 แจกรางวัลครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2516 ณ ห้องมยุรา โรงแรมเพรสสิเดนท์
นักข่าวคนแรกที่ได้รับรางวัล "อิศรา อมัตกุล" ไปครอง คือ คุณน้อย ทรัพย์พอกพูน จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในข่าวเรื่อง "ขังลืม เวล บุลรุก" เป็นเรื่องของชาวอินเดียที่ถูกขังลืมไม่มีใครสนใจทำคดีอยู่ที่ห้องขังสถานีตำรวจลุมพินีถึง 3 ปี ข่าวนี้ช่วยให้มีการพิจารณากันใหม่และเวล บุลรุก ได้กลับประเทศอินเดียในที่สุด
ช่างภาพคนแรกที่คว้ารางวัล "อิศรา อมันตกุล" ไปครองคือ "คุณประสงค์ แฟงเอม" แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ชื่อว่า "ปฏิบัติการจองเวร" ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2515 เป็นภาพข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยเฝ้าจับเด็กขายพวงมาลัยที่หนีลงไปจนมุมในคลอง เป็นภาพที่แสดงถึงความควรไม่ควรและเกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน
ปีแรก ๆ เงินรางวัล "อิศรา อมันตกุล" ให้เพียงรายละ 5,000.-บาท ซึ่งนับว่าไม่น้อยในปีนั้น แต่ต่อมา ได้เพิ่มขึ้นเป็นรางวัลละ 10,000 บาท
คุณอิศรา อมันตกุล ผู้ซึ่ง คุณเฉลิม วุฒโฆษิต ได้ให้ความจำกัดความว่า "เขาเป็นตัวอย่างของนักหนังสือพิมพ์ที่ดี มีจรรยามารยาท ไม่เคยหมิ่นใครเลย เขาเป็นแบบฉบับแห่งจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ที่แท้จริง" ได้อำลาจากโลกนี้ไปเมื่อ วันที่ 14 มีนาคม 2512 เวลา 15.15 น.ที่ตึกจงกลณี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ "พี่อิศร์" ป่วยด้วยโลกมะเร็งที่ลิ้น นอนเจ็บอยู่ที่นั่นเป็นเวลาเกือบ 10 เดือน คุณอิศรา แต่งงานกับ คุณสเริงรมณ์ บุนนาค "พี่แหม่ม" ซึ่งเป็นธิดาของ พล.ท.พระยาสีหราชเดโช อยู่ด้วยกันมา 17 ปี มามีบุตรธิดาต่อกัน
"พี่อิศร์" ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 3 ปี เป็นที่น่ายินดีที่สมาคมนักข่าวฯ ได้มีอายุยืนยาวมาถึง 30 ปี ในปีนี้ และนายกสมาคมฯ คนต่อ ๆ มาจาก "พี่อิศร์" ล้วนแต่เดินทางตามทางที่นายกฯ คนแรกได้ปูเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ คือการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความถูกต้องการยืนอยู่เคียงข้างผู้ถูกเอาเปรียบ
อิศรา อมันตกุล...จากไปนานแล้ว แต่เขายังอยู่ในความคิดคำนึงของมิตรสหาย..แบบอย่างในการดำเนินชีวิตของเขา คือดวงประทีปของคนหนังสือพิมพ์รุ่นหลัง
คนที่เดินตามรอยเท้าของอิศรา อมันตกุล ยังมีอยู่...แม้ว่าเขาจะไม่มั่งมี...ขาดอำนาจวาสนา...แต่ทวาผู้ที่ถืออิศรา อมันตกุลเป็นผู้นำทาง ย่อมจะได้รับความเคารพนับถืออย่างจริงใจจากมิตรสหายในวงการหนังสือพิมพ์ละจากทุกวงการ...เช่นเดียวกับที่ อิศรา อมันตกุล ได้รับในวันนี้
นี่คือ 16 ปีแห่งความหลัง...การได้รำลึกถึง อิศรา อมันตกุล อย่างลึกซึ้งอีกครั้ง คือความภูมิใจที่ในชีวิตนี้เกิดมาได้รู้จักเขา คุ้นเคยกัน มีศรัทธาและนับถือซึ่งกันละกัน จึงใคร่ขอขอบใจ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ที่ให้เขียนเรื่องของ "พี่อิศร์" ออกมาจากความทรงจำของตัวเองในวันนี้
ดีใจ..ที่โลกนี้มีอิศรา อมันตกุล และเราเกิดมาร่วมโลกกับเขาในยุคเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน เพราะมันทำให้นักหนังสือพิมพ์อีกมายมายมี"หลักยึด"ในการดำรงชีวิต จาก "ตัวอย่างที่ประเสริฐที่สุด" ที่มีอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์
ตราบใดที่ปลายปากกาของนักหนังสือพิมพ์ยังมีจริยธรรม..ความตายของอิศรา อมันตกุล ก็เป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยอันสับสนจนนักหนังสือพิมพ์แทบจะกลายเป็น "คนเชียร์แขก" เสียเมื่อไหร่ก็ได้อย่างนี้...
จงหมั่นจุดธูปรำลึกถึง "อิศรา อมันตกุล" ทุกวันเพื่อให้แบบอย่างอันประเสริฐของเขาผุดขึ้นในจิตใจของพวกเราให้มากที่สุดเถิด....!
ที่มา : หนังสือ วันนักข่าว 2534 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เขียนจากความทรงจำของ "เสริมศรี เอกชัย"