ชีวิต-การทำงาน “อาเปีย”ผู้รับผิดชอบ รูปเล่ม หน้า 1 ไทยรัฐ

 

ชีวิต-การทำงาน

“อาเปีย”ผู้รับผิดชอบ

รูปเล่ม หน้า 1 ไทยรัฐ

สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ –นิตยสาร-จุลสาร นอกจากเนื้อหา การนำเสนอข้อมูลภายในเล่มที่เป็นสิ่งสำคัญแล้ว องค์ประกอบสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของการทำอาร์ตเวิร์ก (Artwork) ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น การออกแบบหน้าปก –การออกแบบหนังสือพิมพ์หน้า 1 –การเลือกแบบปก-การออกแบบหัวหนังสือ-การเลือกภาพประกอบ เรียกได้ว่าสิ่งนี้คือหัวใจหลักของการทำสื่อสิ่งพิมพ์   มาตั้งแต่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้กันเลยก็ว่าได้ และหลายครั้งจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อหนังสือพิมพ์ –นิตยสาร ก็เพราะชอบ-สะดุดใจ กับพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ การจัดหน้าหนังสือพิมพ์ หรือการออกแบบหน้าปกนิตยสาร โดยไม่จำเป็นต้องเห็นเนื้อหาข้างในก่อน นิตยสารหลายเล่ม ก็เห็นกันมาแล้ว ที่ทำยอดขายถล่มทลายก็เพราะการออกแบบหน้าปก เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์บางฉบับที่บางวันก็ขายดีเพราะคนชอบการพาดหัวข่าว การจัดวางรูปเล่มหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์

กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน ได้สัมภาษณ์         หรือ “อาเปีย ไทยรัฐ” ในวัย 71 ปี ที่ทุกวันนี้ ยังคงเป็นมือหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หลังทำทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาร่วม 42 ปี และยังมีประสบการณ์ในการทำฝ่ายศิลป์ให้กับหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆอีกหลายสิบเล่มรวมเวลาแล้วก็โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรฝ่ายศิลป์วงการหนังสือพิมพ์-สื่อสิ่งพิมพ์มาร่วม 50 กว่าปี โดยผลงานการออกแบบจัดวางหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ”อาเปีย ไทยรัฐ”มีมากมาย

“อาเปีย”เล่าให้ฟังว่า ในการทำงานนั้น จะพยายามคิดวิธีการจัดวางหน้า 1 หนังสือพิมพ์ให้มีการเปลี่ยนแปลง ให้นำเสนอแล้วน่าสนใจตลอดเวลา หลายครั้งสิ่งที่คิดก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เช่นตอนเริ่มรับผิดชอบการจัดหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐใหม่ๆเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนนั้นก็ไปนั่งคิดอยู่หลายวันว่าจะออกแบบการจัดหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ออกมาอย่างไรให้แตกต่างและฉีกไปจากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ

“ตอนนั้นดูแล้วหนังสือพิมพ์ที่มี ก็ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็คิดว่า การจะพาดหัวสมัยก่อนที่ใช้ 12 คอลัมน์ พาดหัว 3 ชั้น ผมเห็นว่าข้อความเยอะ มันยืดยาดเกินไป คืออ่านพาดหัวแล้วไมต้องอ่านข่าวเลย แล้วคนมันจะซื้อหนังสือพิมพ์หรือ ก็คิดว่า จะทำอย่างไร ก็เลยหาวิธีการนำเสนอแบบใหม่ๆ เช่น ให้เป็นพาดหัวพื้นดำ แล้วก็ให้มีลายกรอบล้อมพื้นดำ เพราะตอนนั้นยังไม่มีสี ทำกรอบล้อมเป็นลายเส้น ออกไปได้สักสองวัน คู่แข่งก็ทำตาม เพราะทำแล้วมันเด่น”

…ทำอันนั้นไปแล้วต่อมา ก็คิดไปอีกว่าจะทำยังไงให้หน้าหนังสือพิมพ์มันเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลง ก็คิดไปอีกว่าหากไม่ให้ออกมาเป็น 12 คอลัมน์จะทำอย่างไรให้พาดหัวไม้หนังสือพิมพ์มีความเด่นขึ้น ก็ไปบอกกองบก.เขาว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ก็เลยใช้ทำเป็น พาดหัว 3 ชั้น  แบบที่ไทยรัฐทำตอนนี้ พอทำออกไป หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็ทำตามแบบไทยรัฐหมด ตอนนั้นเป็นช่วงปี 2522 เป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าหน้า 1 หนังสือพิมพ์

แน่นอนว่าความที่ออกแบบจัดหน้าให้กับไทยรัฐ ที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวันมาร่วม 42 ปี และเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีการออกจำหน่ายหลายกรอบในแต่ละวันเพราะต้องจัดหน้าใหม่สำหรับกรอบบ่าย-กรอบต่างจังหวัดให้แตกต่างจากกรอบเช้าด้วย จึงทำให้ อาเปีย ออกแบบจัดหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมามากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้นหากไปถามว่าที่ออกแบบจัดหน้ามาชอบอันไหนมากที่สุด “อาเปีย”เลยตอบว่า”จำไม่ได้เพราะที่ทำงานมาแต่ละวันในรอบหลายปีสิบนี้มันเยอะมาก”

อย่างไรก็ตาม ก็มีการออกแบบจัดหน้า 1 ไทยรัฐ บางครั้งที่ “อาเปีย”บอกว่าทำไปแล้วหนังสือพิมพ์ถูกพูดถึง ซึ่งจริง ๆก็มีมากมาย แต่ที่ยกตัวอย่างก็เช่น ตอนเกิดเหตุสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่สหรัฐอเมริกาในยุค จอร์จ ดับเบิลยู บุช  ทำสงครามยกพลไปถล่มอิรัก ในช่วงประมาณปี 2534 ซึ่งยุคนั้น การได้รูปมาลงจะลำบากมากไม่เหมือนสมัยนี้ สื่อไทยก็ต้องรอภาพจากสื่อต่างประเทศเช่น  newsweek  พอเกิดเหตุ เราก็เลยคิดว่าควรนำภาพผู้นำสหรัฐฯกับอิรักมาลง แล้วภาพสองคนนี้ต้องมีองค์ประกอบ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ อย่างซัดดัม ฮุสเซนก็ต้อง ขี่ม้า ถือปืนยาว ก็พอดีที่ไทยรัฐก็มีรูปเดิมของเราที่เก็บไว้จากหนังสือต่างประเทศ ที่จะนำมาลงประกบคู่กับภาพของ บุช ก็เป็นภาพที่เราเก็บไว้อีกเช่นกัน เป็นรูป บุช กำลังชี้นิ้ว ก็เลยนำรูปสองรูปนี้มาลงประกบกัน คือบุช กำลังชี้นิ้ว แล้วซัดดัมก็ถือปืนขี่ม้าอยู่ ส่วนพาดหัวข่าว เราทำเป็นรูประเบิดตกแล้วมีภาพบึ้ม  แล้วให้พื้นพาดหัวเป็นสีดำ แล้วให้ตัวพาดหัวเป็นตัวสีขาว

“ผลปรากฏว่า ยอดพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันนั้น พิมพ์ตั้งแต่เช้าจนถึงกลางดึกไปถึงเช้าอีกวัน ไทยรัฐวันนั้นขายดีมาก ทางผอ.กำพล วัชรพล ก็ขึ้นมาหาผม  แล้วบอกว่า ลื้อทำให้แท่นพิมพ์อั้วแทบพัง ผมก็งงมาก ผอ.กำพล ก็บอกว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับนั้น  ป่านนี้แท่นพิมพ์ยังพิมพ์ไม่เลิก พิมพ์ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เอเยนต์โทรมาสั่งตลอดทั้งวัน  แล้วตอนนั้นรบกันเป็นเดือน ช่วงนั้นไทยรัฐก็ขายดีเป็นเดือนๆ”

“อาเปีย” เล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับการทำงานอีกว่า ในการทำงานนั้น ต้องคิดตลอดเวลา อย่างก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ยังไม่มีการนำรูปมาไดคัทในหน้า 1 หนังสือพิมพ์ ตอนนั้นก็พยายามคิดว่าต้องหาทางออกแบบหน้า 1 ให้แตกต่างจากหนังสือพิมพ์อื่นๆ เช่นการออกแบบรูปไดคัท เพื่อนำมาขึ้นหน้า 1 ให้เด่นจะทำอย่างไร ก็เลยใช้วิธี นำรูปมาไดคัทแล้วเจาะเป็นพาดหัวใหญ่ แบบที่หนังสือพิมพ์รายวันสมัยนี้ทำกันมาก ผมก็เริ่มทำเป็นคนแรก  เพราะเรามีแนวความคิดชอบทำอะไรให้มันหวือหวา การนำภาพไดคัทเหตุการณ์ใหญ่ๆ หรือหารูปแอคชั่นมานำเสนอให้น่าสนใจ

..อย่างเมื่อสิบปีก่อน ตอนนั้น “ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก”ไปคว้ารางวัล นางงามจักรวาล ปี 2531  สมัยก่อน ยังไม่มีระบบพิมพ์สี ต้องไปจ้างข้างนอกพิมพ์ ผมก็ออกแบบโดยนำภาพตอนงานได้รางวัล ซึ่งเป็นภาพสี ก็นั่งคิดตอนแรกว่าจะออกแบบ จัดวางภาพอย่างไรให้พาดหัวข่าวกับรูปที่มี มันกลืนเข้าหากันได้ สมัยนี้การทำอาจเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยก่อนโน้นมันไม่มีเครื่องมือ ก็เลยใช้วิธีการแบบที่เคยทำสมัยที่ทำแมกกาซีนตอนยังไม่ได้อยู่ไทยรัฐ  ก็คือให้ภาพของปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ตอนได้มงกุฎ ให้สีมันกลืนเข้าไปกับตัวหนังสือพิมพ์  ทำให้พอภาพนั้นออกไป ไทยรัฐถูกพูดถึงมากและขายดีมาก

แต่ก่อนจะมาเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบ-จัดหน้า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มียอดขายอันดับหนึ่งมาหลายสิบปี เส้นทางกว่าจะมาถึงวันนี้ของ”อาเปีย”ก็ไม่ธรรมดา เพราะเคล็ดวิชาต่างๆ ที่สะสมมาจนถึงวันนี้ ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาหาความรู้ หาประสบการณ์ด้วยตัวเองทั้งสิ้น บนพื้นฐานคือ”ใจรัก”ล้วนๆ

..ผมชอบวาดรูปตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ก็ใช้ถ่านวาดรูปที่ฟุตบาท ตอนอายุ 10 ขวบก็เคยตั้งรถรางไปดู เปี๊ยก โปสเตอร์วาดรูปที่บางขุนพรหม จากนั้นก็หัดวาดสีน้ำ เพื่อนพี่ชาย ก็นำภาพเหมือนต่างๆ มาให้วาด ก็หัดวาดด้วยสีฝุ่น เริ่มฝึกตั้งแต่เด็กๆ ไม่ได้เงิน ไม่ได้เรียนมาด้านนี้ ฝึกด้วยตัวเองทั้งหมด จากนั้นพอโตขึ้น ก็มาสนใจการออกแบบตัวหนังสือ ก็มีเพื่อนพี่ทำงานรับจ้างออกแบบหนังสือ ผมก็หัดออกแบบก็มีงานอะไรให้ฝึกมาเรื่อยๆ บางทีไปช่วยวาดอะไรต่างๆ ก็ไม่ได้เงินอะไร คิดอย่างเดียว อยากเขียน อยากวาด พอเข้าช่วงวัยรุ่น ก็ไปฝึกงานที่ร้านทำป้ายแถววงเวียน 22 กรกฎาคม ก็เริ่มฝึกหลายอย่างเช่น  ฝึกเขียนโฆษณา เป็นโฆษณา แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เป็นการ์ตูน 3 ช่อง พอเขาบอกให้เขียน ผมก็กลับไปบ้านเขียนตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตี 2 เป็นงานแรกในชีวิต ตั้งใจมาก เขียนทิ้ง เขียนแก้ จนถึงเช้าก็มาแก้ใหม่ จนเอาไปส่งเจ้าของร้าน แล้วนำไปให้ลูกค้า เขาก็พอใจ ให้เงินมา 500 บาทสมัยก่อนถือว่าเยอะมาก

..จากนั้นไปฝึกงานทำงานอีกหลายแห่งเช่น เคยมีช่วงหนึ่งไปทำงานบริษัทเอเจนซี่ ชื่อบริษัทยูนิเวอร์แซลฯ ที่ถือเป็นเอเจนซี่เจ้าแรกๆ ในเมืองไทย ก็ไปฝึกทำงานสเก็ตซ์ พวกงานโฆษณาต่างๆ ให้ลูกค้า เช่นวาดขวดบรั่นดี แต่อยู่ได้ไม่นาน ก็ประมาณหนึ่งเดือน  ก็พอดีมีเพื่อนพี่ชาย ชวนไปทำงานหนังสือพิมพ์

โดยหนังสือพิมพ์ที่แรกซึ่ง”อาเปีย”เดินเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ ก็คือหนังสือพิมพ์ “เกียรติศักดิ์” ของ โดม แดนไทย หรือชาญชัยศรี พลกุล นักข่าวพูลิซเซอร์คนแรกๆของไทย  ซึ่งก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอทั้ง ข่าวการเมือง อาชญากรรม ซึ่งที่นี่ทำให้ได้รู้จักกับ โรจน์ งามแม้น หรือเปลว สีเงิน เจ้าของไทยโพสต์ปัจจุบัน ที่ทุกวันนี้เป็นเพื่อนรักกันมาก ทำอยู่ได้สักพัก ก็เกิดปัญหาภายในจนมีการเปลี่ยนแปลงในกองบก. ทำให้เลยต้องลาออกมา แล้วก็ไปตะเวนรับงานออกแบบ พวกโลโก้ ออกแบบปก ให้กับหนังสืออะไรต่างๆ ถึง 7 ฉบับต่อเดือน ถ้าเป็นสมัยนี้เขาก็เรียก ฟรีแลนซ์ สมัยนั้น รายได้ดีมาก ตอนนั้น ทองบาทละ 400 บาท แต่รายได้ผมตอนนั้นได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน แต่งานก็หนัก ก็ทำแบบนี้ทุกวัน จนร่างกายไม่ไหว เพราะร่างกายไม่ได้พักผ่อน ชีวิตหักโหมมาก ทำให้ต้องเลิก แล้วก็ไปทำงานอย่างอื่นที่ต่างจังหวัดสักพักก็ประมาณ 3ปี

“อาเปีย”เล่าให้ฟังอีกว่า ต่อมาเพื่อนชวนให้ไปทำฝ่ายศิลป์ที่หนังสือพิมพ์ “ดาวทอง”เป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ เน้นข่าวทั่วไป พวกเบื้องหลังข่าว เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ อยู่ได้สัก 2ปี  ต่อมากองบก.ก็มีปัญหากับผู้บริหาร หนังสือก็เลยเลิก จากนั้นก็ไปรับงานอื่นๆ ทั่วไป แล้วก็ไปทำหนังสือพิมพ์”ไทยเสรี”เป็นหนังสือพิมพ์แนวการเมืองและข่าวทั่วไป ที่เจ้าของคือเจ้าของรถเมล์ประจำทางสมัยก่อน  ก็ไปอยู่ได้หนึ่งปี ทุนหมด ก็เลิก แล้วก็ไปอยู่หนังสือพิมพ์”เอกรัฐ”เป็นแนวการเมือง อาชญากรรม ก็คุมฝ่ายศิลป์ทั้งหมด แต่ก็ทำได้ไม่นาน ก็ประมาณสองปี หนังสือพิมพ์ก็เลิกอีก

ต่อมาคุณสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช ที่คุ้นเคยกันมาก ก็ชวนไปทำฝ่ายศิลป์ที่แมกกาซื่อ”วิปแมกกาซีน”เป็นนิตยสารที่สมัยก่อนใช้กระดาษอาร์ตด้านทั้งเล่ม ถือว่าทันสมัยมากในยุคนั้น เนื้อหาในเล่มก็มีทั้ง ข่าวการเมือง เรื่องราวในแวดวงสังคมชั้นสูง ก็ทำไปได้สักพัก ก็ลาออกมาแล้วรับงานต่างๆ ไปเรื่อย เช่นรับออกแบบทำฝ่ายศิลป์ให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ ในวันอาทิตย์ ตอนนั้นไทยรัฐเขามาจ้างผมเขียนเป็นรายชิ้นเช่นเขียนโลโก้หัวเรื่อง

จนกระทั่งสุดท้าย”อาเปีย”ก็เข้าไปเป็นขุนพลฝ่ายศิลป์ให้กับไทยรัฐ ในช่วงปี 2517 ซึ่งงานช่วงแรกๆ ที่รับผิดชอบก็เช่น ออกแบบหน้าใน -ออกแบบจัดหน้า วางดัมมี่ เขียนโลโก้คอลัมน์ต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ จนผลงานเข้าตา เพราะทำไปได้สองปี ก็ได้รับการโปรโมตให้ขึ้นไปรับผิดชอบจัดหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จนถึงทุกวันนี้

ด้วยความที่อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์หลายสิบปี จึงมีเพื่อน-คนรู้จักมากมายในยุทธจักรคนทำหนังสือพิมพ์ ทำให้หลายครั้งก็มีคนมาติดต่อขอให้ช่วยออกแบบหัวหนังสือ –โลโก้-หัวคอลัมน์ต่างๆ ให้ทั้งในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน  เช่นก่อนหน้านี้ก็เคยไปช่วยออกแบบ การพาดหัวหนังสือพิมพ์ให้กับหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ หรือตอนเพื่อนรัก เปลว สีเงิน ออกหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ก็ให้คำแนะนำเรื่องการใช้สีในโลโก้หนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับการไปช่วยออกแบบพวกหัวคอลัมน์ โลโก้ต่างๆให้กับหนังสือในเครือสยามกีฬา เพราะคุ้นเคยกับ “ระวิ โหลทอง” อดีตหัวหน้าข่าวไทยรัฐ  เป็นต้น

การออกแบบหัวหนังสือ ตัวหัวคอลัมน์ ก็ทำมาเยอะ แต่ถามว่าชอบอันไหนมากที่สุดที่เคยออกแบบตัวหนังสือมา ก็เป็นไปตามยุคสมัย การที่เราจะออกแบบหัวหนังสือ ตัวหัวคอลัมน์อะไรต่างๆ เราก็ต้องคุยกับคนที่ต้องการให้เราทำ ต้องถามเขาว่าต้องการแบบไหน หรือหนังสือของเขาเป็นแนวไหน เป็นแนวการเมือง อาชญากรรม หรือบันเทิง เพราะการออกแบบตัวหนังสืออะไรต่างๆ มันต้องเข้ากับเนื้อหาลักษณะของหนังสือนั้นๆ เช่นหากเป็นหนังสือหรือคอลัมน์บันเทิง ก็ต้องออกแบบให้มันมีลูกเล่น มีความอ่อนช้อยอะไรต่างๆ แต่หากเป็นหนังสือแนวอาชญากรรม มันก็ต้องให้ตัวหนังสือมีความแหลมคม ดูแล้วมีมุมมีเหลี่ยม ถ้าแนวทางการเมือง ก็ต้องดู ชื่อหนังสือเป็นตัวหลัก ก็ต้องทำให้มันออกมาดูแล้ว เป็นแนวเข้มแข็ง หนักหน่วง ให้ความรู้สึกจริงจัง

“อาเปีย”บอกว่ามาทำงานที่ไทยรัฐทุกวัน มาถึงที่ทำงานก็ต้องคิด ต้องคอยดูว่าแต่ละวันมีข่าวอะไรบ้าง คอยคำนวณการจัดหน้าต่างๆ ให้มีองค์ประกอบที่เพอร์เฟค บางทีก็มานั่งฟังนักข่าวเขาคุยกัน เช่นนักข่าวการเมืองคุยกันว่าวันนั้นๆ มีข่าวอะไร มีประเด็นอะไรน่าสนใจ ที่ก็จะช่วยได้มากในการจัดวางหน้า เช่น  วันที่ มูฮัมหมัด อาลี อดีตยอดนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวท เสียชีวิต พอเรารู้ข่าว ก็ต้องมาคิดว่าการจัดหน้าจะทำอย่างไร ก็ต้องนำรูปที่คนไทยส่วนใหญ่จำการชกของเขาได้ ซึ่งการจัดหน้านั้น หากเห็นรูปด้วยก็จะยิ่งทำให้การจัดหน้าง่ายขึ้น เพราะภาพมันสามารถบรรยายแทนตัวหนังสือได้เป็นหมื่นเป็นพันคำ แม้แต่คนอ่านหนังสือไม่ออก มองภาพเขาก็ยังรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะภาพมันบรรยายในตัวมันเสร็จ

เรื่องการนำภาพข่าวมาขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ สำคัญมาก การทำงานส่วนนี้  มันมีมุมมองหลายอย่าง ภาพที่ช่างภาพถ่ายแล้วส่งมาสมัยก่อน ที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำภาพไปเข้าเครื่องดูได้เลย แต่สมัยก่อน ที่มีการถ่ายกันมาแต่ละวัน บางวันมี 30-50 ภาพจากทั่วประเทศ แต่ภาพที่ดีที่สุดมันก็จะเด่นขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ การมองภาพข่าว สมัยก่อนเราแทบไม่ต้องไปเลือกภาพเลย คือพอปรินต์ภาพออกมา แม้ให้มี  30-40 ภาพ แต่ภาพที่มันเด่น มันจะลอยขึ้นมาให้เราเห็นเอง ผมดูภาพข่าวแต่ละวัน ผมก็จะเห็นเลยว่าภาพที่ดีที่สุด มันจะปรากฏออกมาของมันเอง

..การทำงานก็ต้องมีการปรับได้ตามสถานการณ์ บางทีตีหน้าไปแล้วก็ต้องมาเปลี่ยน โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุใหญ่ๆ ที่เราก็จะไม่รู้มาก่อนเช่นการทำรัฐประหาร อย่างสมัยก่อน ตอนดึกๆ พอมีเหตุการณ์อะไรสำคัญๆ โรงพิมพ์ ก็จะให้คนเอารถไปรับที่บ้านให้มาโรงพิมพ์ ก็ให้มาเปลี่ยนการจัดหน้าใหม่ ซึ่งก็มีเหตุการณ์แบบนี้

“อาเปีย” พูดถึงเทคนิคการทำงานให้ฟังด้วยว่า การจัดหน้าหนังสือพิมพ์ ทางฝ่ายศิลป์ที่ทำหน้า 1 จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่าง คือต้องตีหน้าออกมาเพื่อว่าเวลาพาดหัวข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์หรือพาดหัวตัวไม้ หากมี 3 บรรทัด ก็ต้องเห็นทั้ง 3 แถวเวลาหนังสือพิมพ์ไปวางบนแผง การตีหน้า เราก็ต้องดูรายละเอียดต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ต้องคิดถึงว่าเวลาหนังสือพิมพ์ไปวางบนแผง คนเห็นแล้วเขาจะเห็นพาดหัวได้กี่แถว ต้องตีหน้าเพื่อให้สามารถขายพาดหัวตัวไม้ได้เต็มทั้งหมด ซึ่งการตีหน้าแต่ละวัน มันก็อยู่ที่ข่าวและเหตุการณ์แต่ละวัน

“การออกแบบหน้า 1 หนังสือพิมพ์จะมีส่วนอย่างมากต่อการทำให้คนซื้อและหนังสือพิมพ์”

.. อย่างการดันหัวทั้งหมด อย่างฉบับอื่น เขาจะดันพาดหัวไม้ขึ้นข้างบน 2 แถว หรือให้มีพาดหัวข่าว 2 ข่าว จะออกแบบหน้า  1 เพื่อให้สามารถวางหัวข่าวข้างบนตอนหนังสือพิมพ์พับครึ่ง ให้ได้ 3 ข่าวหรือ 3 พาดหัวที่ก็จะต่างกับฉบับอื่น  จากที่ไทยรัฐปกติจะมีข่าวหน้า 1 ประมาณ  7 ข่าวในแต่ละวัน  แล้วก็มีการเพิ่มสีสันต่างๆ เข้าไป เช่น มีการออกสี ในตรงบริเวณโลโก้ของหนังสือพิมพ์ อย่างวันจันทร์ก็ให้เป็นสีเหลือง ตอนหลังก็เริ่มมีฉบับอื่น มาเล่นสีประจำวันใส่ลงมาเหมือนกับไทยรัฐ

.การให้สีในหนังสือพิมพ์ ผมจะไม่ค่อยให้สีในเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมชอบให้สีตามเปอร์เซ็นต์ของสี ผมมีฐานข้อมูลอยู่ในหัวสมองของผมในการผสมสีอยู่ 3 พันกว่าสี เพราะเมื่อก่อนตอนผมออกแบบปกหนังสือ ออกแบบอะไรต่างๆ ผมจะใช้การคำนวณเปอร์เซ็นต์สี มาบวกลบ ให้ออกมาเป็นสีต่างๆ ซึ่งมันไม่ใช่สีที่อยู่ในระบบ แต่ทำให้มันออกมาเป็นสีที่เราต้องการ แต่เด็กปัจจุบัน เขาจะทำโดยใช้สีในเครื่องคอมพิวเตอร์  เพราะมันง่าย แต่เราก็ไม่อยากจะใช้ เพราะบางทีออกมามันไม่ได้อย่างที่ใจเราต้องการ เด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยเป็นเรื่องการใส่เปอร์เซนต์สี เพราะเรื่องพวกนี้ ครูก็ไม่ได้สอน

กับสภาพการณ์ของหนังสือพิมพ์ยุคปัจจุบันที่พบว่าคนอ่าน-ซื้อหนังสือพิมพ์ลดลง เพราะหันไปอ่านข่าวจากสื่อต่างๆ เช่นข่าวออนไลน์ –การรับข่าวจากสื่อโซเชียลมีเดีย ในฐานะคนอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาร่วม 50 ปี “อาเปีย”มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการหนังสือพิมพ์เวลานี้ว่า  ต้องยอมรับว่า ภาพรวม เด็กรุ่นใหม่แทบไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ชีวิตเขาก็ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน

“หนังสือพิมพ์ก็ต้องมีการปรับตัว ต้องปรับหลายส่วนเช่นเนื้อหา ก็ต้องเสนอข่าวที่ลงลึก มากกว่าเดิม เพราะสื่อออนไลน์ก็ยังเสนอข่าวไม่ได้มีเบื้องลึกเบื้องหลังเหมือนหนังสือพิมพ์ ดังนั้นหนังสือพิมพ์ต้องเน้นที่การเจาะข้อมูลข่าวเชิงลึก ต้องมีเบื้องหลังข่าวต่างๆ มานำเสนอ “คือคำกล่าวทิ้งท้ายจาก..หลังการสนทนาสิ้นสุดลง