สื่อกับการรายงานข่าวโรคอุบัติใหม่: กรณีการระบาดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009

โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)

การศึกษารอบที่ 41

สื่อกับการรายงานข่าวโรคอุบัติใหม่

: กรณีการระบาดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009

ได้รับการสนับสนุนจาก

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มีเดียมอนิเตอร์เผย การรายงานข่าวไข้หวัดใหญ่ 2009 ในฟรีทีวี เน้นเกาะประเด็นเร็ว ขาดประเด็นลึก เนื้อหาข่าวสั้น สกู๊ป-รายงานพิเศษน้อย ทีวีรัฐ-สาธารณะยังดี มีสปอตรณรงค์การดูแลรักษาป้องกัน เน้นผลกระทบการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ เกาะติดตัวเลข การระบาด ขาดข้อมูลเชิงลึก ลุ้นระทึกผู้ป่วยรายวัน ขณะข่าวหนังสือพิมพ์ เน้นเร็ว ลึก เตือนภัยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังขาดข้อมูลให้ความรู้ ขณะที่ภาษาข่าวเร้าใจ อาจสร้างความตระหนักและตระหนกไปพร้อมๆ กัน

วันนี้ (5 กันยายน 2552) ที่ห้องประชุมศาลาชื่น สวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ “มีเดียมอนิเตอร์” ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกัน ในการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการรายงานข่าวเพื่อการป้องกันและแพร่ระบาดโรคอุบัติใหม่”

ทั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ได้เปิดเผยผลการศึกษารอบที่ 41 เรื่อง “สื่อกับการรายงานข่าวโรคอุบัติใหม่ กรณีการระบาดไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009” โดยศึกษาเนื้อหาจากข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ (ช่วง 3 สัปดาห์แรกของการระบาด 28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552) และช่วงรายการข่าวภาคค่ำในฟรีทีวี (ช่วงการระบาดในตอนหลัง 28 กรกฎาคม – 17 สิงหาคม 2552)  ด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)

ผลการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. ผลการศึกษาสื่อหนังสือพิมพ์ (สรุปจาก 28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552)

1.1) ปริมาณและรูปแบบการนำเสนอ การศึกษาเนื้อหาข่าวในช่วง 3 สัปดาห์แรกของสถานการณ์การระบาด (ระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552) จากหนังสือพิมพ์ 8 หัวคือ ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ ไทยโพสต์ โพสต์ทูเดย์ และผู้จัดการ โดยวิเคราะห์จากเนื้อหาข่าว บทความ บทบรรณาธิการ คอลัมน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ตารางแสดงจำนวนตัวบทที่มีเนื้อหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในช่วง 3 สัปดาห์แรก (28 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2552)

รายชื่อหนังสือพิมพ์

ข่าว

บทความ

รายงานพิเศษ

คอลัมน์

บทบรรณาธิการ

รวม

เดลินิวส์

43

0

7

21

0

71

ไทยรัฐ

26

1

0

1

0

28

คมชัดลึก

26

0

9

5

1

41

โพสต์ทูเดย์

60

25

0

6

0

91

ไทยโพสต์

25

5

0

1

0

31

มติชน

72

0

5

17

0

94

กรุงเทพธุรกิจ

48

0

8

2

3

61

ผู้จัดการ

60

1

2

4

0

67

จากตารางแสดงให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวเรื่องสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากที่สุดคือมติชน (72 ชิ้น) รองลงมาคือผู้จัดการและโพสต์ทูเดย์ (เท่ากันที่ 60 ชิ้น) ขณะที่ไทยรัฐ คมชัดลึก และไทยโพสต์ต่ำที่สุด (26-25ชิ้น) เท่านั้น

ส่วนการนำเสนอในรูปแบบบทความ มากที่สุดคือหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (25 ชิ้น) คอลัมน์ มากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ (21 ชิ้น) รองลงมาคือหนังสือพิมพ์มติชน (17 ชิ้น)

เนื้อหาในคอลัมน์และบทความส่วนมากจะมีประเด็นเรื่องสถานการณ์ระบาด การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในการแก้ไขปัญหา การให้ความรู้พื้นฐานของโรคและการป้องกันตนเอง ค่อนข้างมีความละเอียดของข้อมูลในระดับหนึ่ง การอ้างอิงสาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ครบถ้วน มีความลึก

1.2) ประเด็นข่าวในหนังสือพิมพ์ จากการศึกษาหนังสือพิมพ์ทั้ง 8 ฉบับ พบว่า มีการรายงานข่าวในประเด็นที่ใกล้เคียง เน้นเรื่องสถานการณ์การระบาดทั่วโลก มาตรการเฝ้าระวัง การติดต่อ และข้อมูลสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ และความโปร่งใสของรัฐในการแก้ไขปัญหา

  1. ในช่วงสัปดาห์แรก สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและเข้าสู่ประเทศไทยในระยะแรก, (จากเม็กซิโก), ประเด็นเรื่องความพร้อมของรัฐและหน่วยงานในการเตรียมมาตรการรับมือ, การเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อในประเทศและต่างชาติ, ข้อมูลตัวเลขและสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ
  2. เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง เริ่มเน้นที่มาตรการเฝ้าระวังภายในประเทศ, ความตื่นตัวของหน่วยงานความตระหนกของสาธารณชน, ที่มาของโรค –สาเหตุการติดต่อ, ความรู้ในการป้องกันตนเอง
  3. ประเด็นข่าวในสัปดาห์ที่ 3 เริ่มเน้นสถานการณ์การระบาดที่แพร่ขยายมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ผลกระทบของโรคต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว, การขยายระดับความรุนแรงของโรค และเนื้อหาการระมัดระวังการป้องกันตัวโดยการสวมใส่หน้ากากและการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาของการระบาด ประเด็นข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมีความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และมีบทบาทในการสื่อสารเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดี

1.3) แหล่งข่าวในหนังสือพิมพ์ โดยภาพรวมหนังสือพิมพ์ใช้แหล่งข่าวบุคคลมากที่สุด โดยเฉพาะแพทย์ ข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส โรคระบาด ซึ่งสังกัดหน่วยงานด้านสาธารณะสุข, องค์การเภสัชกรรม, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานสาธารณะสุขของต่างประเทศ

ประเภทข้อมูลที่หนังสือพิมพ์มักใช้คือสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความคิดเห็นต่อสถานการณ์การระบาด การประกาศพื้นที่เฝ้าระวัง สาเหตุการติดโรค ลักษณะอาการ-กลุ่มเสี่ยง ระดับความรุนแรง ที่มา-สายพันธุ์ของโรค และมาตรการการเฝ้าระวัง การกักตัวผู้ป่วย ณ สนามบินและด่านตรวจคนเข้าเมือง

ขณะที่ความคิดเห็นด้านผลกระทบของโรค ความเชื่อมั่นต่อการควบคุมสถานการณ์การระบาด ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว พบจากแหล่งข่าวด้านหน่วยงานเศรษฐกิจ

1.4) บทบาทสื่อหนังสือพิมพ์ในการอธิบายข่าว เตือนภัย ให้ความรู้ จากการศึกษาพบว่า สื่อหนังสือพิมพ์เน้นนำเสนอข่าวในลักษณะการเตือนภัย ผ่าน 2 ลักษณะคือ 1) การพาดหัวข่าวที่รุนแรง ตื่นเต้น และความน่าวิตก 2) ผ่านการให้ข้อมูลผ่านบทความ/คอลัมน์ รายงานพิเศษ ซึ่งจะให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานของโรค วิธีการป้องกัน การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสี่ยง การสังเกตอาการ สิทธิการรักษาพยาบาล

อีกบทบาทหนึ่งที่ชัดเจนของสื่อหนังสือพิมพ์คือบทบรรณาธิการ ที่ส่วนมากมุ่งโดยตรงวิพากษ์วิจารณ์มาตรการรับมือของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบกับสถานการณ์โรคระบาด SARS และไข้หวัดนก และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเชิงลึก บทบาทเสนอแนะแนวทางการทำงานต่อรัฐ และหน่วยงานสาธารณะสุข ให้มีการเตรียมการล่วงหน้า

1.5) ภาษาข่าวที่อาจสร้างความตื่นตระหนก การใช้ภาษาข่าวโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่หวือหวา เร้าใจ ตื่นเต้น และเร้าอารมณ์นั้น มีส่วนทำให้ข่าวมีความน่าสนใจมากขึ้นจริง ช่วยดึงดุดความสนใจจากผู้อ่านได้มาก ช่วยเพิ่มยอดขายหรือเรตติ้งได้มาก ขณะเดียวกันในสถานการณ์การระบาดของโรคภัย หรือเหตุการณ์วิกฤติอื่นใด การใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์เช่นนี้ ก็ยิ่งขยายความน่ากลัวของสถานการณ์ให้มากขึ้นไปอีกด้วย

  • ภาษาเรียกชื่อโรค เช่น "ไข้หวัดเม็กซิโก" กลายพันธุ์ผสมไวรัสหมู-นก-คน, “หวัดเม็กซิโก”, “ไข้หวัดเม็กซิโก", "ไข้หวัดหมู", "หวัดใหญ่เม็กซิกัน", “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก”ม “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1”, “หวัดใหญ่เม็กซิโก”, "ไข้หวัดเม็กซิโก"  ไวรัสมรณะพันธุ์ใหม่?, "หวัดจังโก้" ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก “ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1 เอ็น 1”
  • ภาษาพาดหัวข่าวที่เร้าอารมณ์ มี 3 ลักษณะคือพาดหัวข่าวที่มุ่งไปที่สถานการณ์การระบาดที่ลุกลามจนควบคุมไม่อยู่ มุ่งไปที่การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ และการสร้างภาพความน่ากลัวให้กับตัวเชื้อโรค เช่น

“จากเม็กซิโกลามทั่ว "หวัดหมู" โลกผวา-ตาย 103 ศพ” (28/4/52)

“ตายเป็นตายรายแรกเด็กสหรัฐเซ่นหวัดเม็กซิโก” (30/4/52)

“ฮูเพิ่มเตือนภัยหวัดหมูถึงระดับ5เม็กซิโกตาย180” (1/5/52)

“หวัดมรณะทำพิษสหรัฐอ่วมคนป่วยพุ่งพรวด” (8/5/52)

“สาวหวัดนรกรวยหวย6พันล.ทุกขลาภยังโดนกักตัวในรพ.ยอดคนติดเชื้อทะยาน6พัน” (14/5/52)

“หวัดมรณะผวากลายพันธุ์มีระลอก 2 "รามาธิบดี"พัฒนาชุดตรวจ4ชม.รู้ผล” (16/5/52)

“ไวรัสกลายพันธุ์  เชื้อมรณะ”

“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่: มหันตภัย 2009”

“ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ระบาด ทำเมืองหลวงเม็กซิโกร้าง” 28/4/2552

“ไขพัฒนาการ"ไข้หวัดหมู" แรงสูงสุด"คนสู่คน" 29/4/2552

“เหยื่อหวัดหมูจังโก้พุ่ง103ศพ” (28/4/52)

“จังโก้ลดยอดตายหวัดพันธุ์ใหม่เหลือ101เชื้อนรกลาม19ชาติ-ฮูชี้อาจเตือนภัยขั้น6” (6/5/52)

“หวัดมรณะลาม24ชาติติดเชื้อเลย2พัน” (7/5/52)

2. ผลการศึกษาสื่อโทรทัศน์ (สรุปจากข่าวภาคค่ำ 28 กรกฎาคม – 17 สิงหาคม 2552)

2.1) ประเด็นข่าว – มีลักษณะซ้ำ ใกล้เคียง ขาดความคืบหน้าในแต่ละช่อง

พบว่าฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องมีประเด็นข่าวที่รายงานในแต่ละวันที่คล้ายคลึงกัน คือเน้นสถานการณ์การระบาด (ซ้ำกันมากในกรณีผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์, แพทย์เชียงใหม่, หญิงแท้งลูก) ประเด็นเรื่องมาตรการการควบคุมการระบาด การแจกจ่ายยาต้านไวรัส การแยกแยะอาการของโรค ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การปิด-เปิดโรงเรียนกวดวิชา จำนวนนักท่องเที่ยว

โดยรวมของทุกช่องมีลักษณะเน้นรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิต ทั้งที่มีส่วนจากการติดไข้หวัด 2009 และจะรายงานเกาะติดอย่างต่อเนื่อง(และเป็นกรณีที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต) แต่หากพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เสียชีวิตเพราะไม่ติดเชื้อ ก็จะสรุปในภายหลังแทนสั้นๆ

ประเด็นข่าวเรื่องการทดลองกระจายยาต้านไวรัสให้คลินิก ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก เหล่านี้มาจากสำนักข่าวต่างประเทศเดียวกัน ศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารอยู่ที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารโดยตรงที่คัดกรองแล้วเท่านั้น (กระทรวงสาธารณะสุข และหรือแพทย์เจ้าของไข้ / ประจำโรงพยาบาล)

ประเด็นข่าวเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจมักเชื่อมโยงกับการปิดสถานการศึกษา การปิดสถานบันเทิง ผลกระทบธุรกิจท่องเที่ยว บางช่องเชื่อมโยงเหตุผลการระบาดเข้ากับภาวะทรุดตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่อง 3-5

และมีประเด็นเรื่องประสิทธิผลของยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) การคาดว่าจะดื้อ มาตรฐานการจ่ายที่ไม่เท่าทเยมกันในสถานพยาบาล การใช้ยาตัวที่สอง (ซานามิเวียร์) การคิดค้น และผลิตวัคซีนต้านไวรัส  และประเด็นอื่นๆ เช่น ดาราหรือคนในวงการบันเทิงติดโรคไข้หวัดฯ (ช่อง 3) กรณีการทุจริตการสั่งผลิตหน้ากากอนามัย (ช่องทีวีไทย) หรือมีสกู๊ปพิเศษที่รายงานถึงการสังเกตแยกแยะความแตกต่างระหว่างไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 หรืออาจมีสกู๊ปงานพิเศษหน้ากากอนามัยแฟชั่น

2.2) แหล่งข่าว – ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ แพทย์ สถานพยาบาลเป็นหลัก

แหล่งข้อมูลหลักของข่าวไข้หวัดใหญ่ฯ คือบุคคลด้านการแพทย์ (จากโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีโอกาสจะเสียชีวิต เช่น มารดาที่คลอดลูก/แท้งลูก หรือเด็กอนุบาลหรือแพทย์เชียงใหม่) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขและผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคติดต่อเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม โดยมักผู้สื่อข่าวจะสรุปความตัดตอนสาระสำคัญมานำเสนอ ขณะที่ช่อง ทีวีไทย และช่อง สทท. อาจให้พื้นที่เสียงแก่เจ้าหน้าที่แพทย์มากกว่าช่องอื่นๆ

2.3) ประเภท/ลักษณะข้อมูล – สถานการณ์การระบาด/จำนวนผู้ป่วย และมาตรการใช้ยา

เนื้อหาที่นำเสนอเน้นไปที่ “สถานการณ์การระบาดในกลุ่มพื้นที่นั้นๆ” หรืออาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อว่าเป็นเช่นไร (ซึ่งก็จะมีไม่กี่กรณี ที่รายงานซ้ำเหมือนกันในทุกช่อง)

ข้อมูลที่มักนำมาทำเป็นสกู๊ป-รายงานพิเศษ คือ มาตรการป้องกันตัวเองจากโรค การสังเกตอาการ การไปพบแพทย์ การเบิกจ่ายยา สิทธิในการรักษา

ขณะที่ข้อมูลด้านการผลิต การแจกจ่ายยา การดื้อยา การทดลองผลิตวัคซีนต้านไวรัสนั้น ก็มีเหมือนกันในทุกช่อง แต่อาจมีรายงานพิเศษที่ตั้งคำถามเรื่องความสำเร็จในการทดลองวัคซีนของรัฐบาล การปกปิด ซ่อนเร้นข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนผู้ป่วย จำนวนผู้ป่วยคาดการณ์ ความเป็นไปได้การติดเชื้อระหว่างสัตว์-คน

2.4) ข้อมูลที่อาจสร้างความตระหนกหรือความเข้าใจผิด

เพราะการให้ข้อมูลของสื่อโทรทัศน์นั้นค่อนข้าง “ไม่สมบูรณ์” เมื่อเทียบกับสื่อหนังสือพิมพ์ จึงทำให้ประเด็นข่าวโทรทัศน์ที่รายงานจึงค่อนข้างขาดความชัดเจน และสร้างความสับสน มากที่สุดคือข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิต การติดเชื้อของผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ แพทย์เชียงใหม่ หรือ การสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มักมาจากโรคประจำตัวแต่การรายงานมักใช้คำว่า “ผู้ติดเชื้อ”  การรายงานข่าวในประเด็นการจ่ายยาที่ล่าช้าหรือไม่ได้รับยา หรือความรู้สึกไม่แน่ชัดในการรักษา (เช่น ทานแค่ยาพาราเซตตามอล ก็หาย หรือเพียงพักผ่อนอยู่ที่บ้านก็สามารถหายได้เองใช่หรือไม่)

นอกจากนี้ความสับสนในเรื่องการกระจาย การเบิกจ่ายยาตามสถานพยาบาลก็ดูจะเป็นข้อมูลที่สื่อโทรทัศน์แต่ละช่องรายงานอย่างหนักและออกมาในลักษณะเชิงวิพากษ์ การทดลองวัคซีน จังหวัดนำร่องการจ่ายยา การเบิกจ่าย การใช้สิทธ์ในการรักษา

ปริมาณการรายงานข่าวลดลงมากในช่วงสัปดาห์สุดท้าย แต่เน้นข่าวต่างประเทศมากขึ้น