“สื่อสารในภาวะวิกฤต” ประชาชนอยากฟังอะไรจากนายกฯ ในสถานการณ์โควิด

กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน

ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤต หน้าที่ของผู้นำประเทศ คือการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ไม่ประมาทต่อสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ตื่นตระหนกมากจนเกินไป  นับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกสามเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงบทบาทการสื่อสารว่า ไม่เกิดประสิทธิภาพ เข้าไม่ถึงประชาชน ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนอยากรู้ หรือ ไม่มีความชัดเจนในมาตรการการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหา

รศ.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารทางการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก อธิบายว่า หลักการสื่อสารในภาวะวิกฤต ก่อนจะสื่อสารข้อมูล ผู้สื่อสารจะต้องเข้าใจสถานการณ์ขณะนั้นอย่างถ่องแท้ก่อน รวมถึงต้องรู้ว่า ปัญหาที่กำลังเผชิญใครต้องเป็นผู้แก้ และ แก้ด้วยวิธีการอย่างไร จากนั้นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการสื่อสารแต่ละครั้ง ว่าต้องการอะไร เช่น ต้องการแจ้งข้อเท็จจริง ต้องการโน้มน้ามให้เกิดความร่วมมือ

รศ.นันทนา วิเคราะห์ว่า การสื่อสารของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ต้องการโน้มน้าวใจให้เกิดความร่วมมือ และ ต้องการสร้างความเชื่อมั่น แต่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ล้มเหลว ประชาชน ไม่ร่วมมือและไม่เชื่อมั่น เพราะการสื่อสารของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้มาจะแก้ปัญหาได้จริง

“สิ่งที่นายกรัฐมนตรี และ รัฐบาล ควรทำ คือ ปฏิบัติให้ประชาชนดู ไม่ควรใช้การโฆษณาชวนเชื่อ หรือ ออกคำสั่งให้ทำ แต่ตัวเองและพวกพ้องไม่ทำ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสื่อสารว่า สายด่วน 1668 พร้อมให้บริการจัดหาเตียงผู้ป่วย แต่สิ่งที่ประชาชนเจอคือโทรสายด่วน 1668 ไม่ติด หรือ กรณีที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า จัดหาวัคซีนพร้อมเพียงพอกับประชาชน แต่สิ่งที่ประชาชนเห็นคือไม่มีวัคซีน...การสื่อสารของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตอนนี้ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือลดลงต่อเนื่อง เพราะ สิ่งที่ประชาชนเผชิญ กับ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดสวนทางกัน”

นอกจากนี้ ยังมองว่า หากต้องการให้ประชาชนร่วมมือ นายกรัฐมนตรี ไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะต่อว่าผู้ติดเชื้อ เพราะที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมักประณามผู้ติดเชื้อ ทั้งที่คนติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่อาชญากร ดังนั้นควรพูดให้กำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันได้ รวมถึงควรชมเชยคนที่ปฏิบัติตามแนวทางของศบค.เพื่อให้เกิดกำลังใจกับทุกคน

รศ.นันทนา ทิ้งท้ายว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ดีที่สุด คือ การกระทำ หากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทำเป็นตัวอย่าง ประชาชนก็จะทำตาม ย้ำว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทำมาตลอด ไม่ใช่การบกพร่องด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤต แต่เป็นการไม่เคยสื่อสารอย่างถูกต้องเลย

นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี สะท้อนการสื่อสารของนายกรัฐมนตรีว่า ประเด็นเรื่องเนื้อหาที่นายกรัฐมนตรีสื่อสารในแต่ละช่วงเวลาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

เสถียร มองว่า หลายครั้งบท หรือ สคริปต์ ที่นายกรัฐมนตรีอ่านเวลาแถลง ไม่ได้เป็นปัญหา แต่สุดท้ายนายกรัฐมนตรีก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักอยู่ดี เพราะ สื่อสารไม่ตรงใจประชาชนผู้ฟัง รวมถึงความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี ลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมถึงมองว่า นายกรัฐมนตรีควรพูดเข้าไปที่ประเด็นสำคัญในแต่ละช่วง แทนจากพูดภาพรวมกว้างๆ เพราะ การสื่อสารแบบกว้างๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเสียเวลาฟัง

ทั้งนี้หากย้อนดูการสื่อสารของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า ล่าช้ากว่าสถานการณ์จริงอยู่หลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวเวลา 16.00น. ใช้เวลาพูดเกือบ 20 นาที แต่ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดการล็อกดาวน์ หรือ แนวทางการเปิด-ปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ประชาชนรอฟังมากที่สุด แต่กลับพูดถึงความรู้สึกตัวเอง  ไม่ว่า การบอกว่าตัวเองเจ็บปวด ไม่สบายใจ เพราะ ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงพูดเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการออกมาชุมนุมว่ามีความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อโควิด ซึ่งประเด็นนี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะประชาชนนำไปเชื่อมโยงถึงกรณีการแพร่ระบาดโควิดที่คลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ที่มีข้อครหาว่า มีนักการเมืองและรัฐมนตรี ไปเที่ยวและทำให้โควิดระบาดหนัก

หรือ การอ่านชื่อวัคซีนผิด จนถูกนำไปล้อเลียนในโลกออนไลน์ ประเด็นนี้เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง

ส่วนวันที่ 23 เมษายน ที่มีการแถลงข่าวตอน 21.00น. แม้การแถลงข่าวแบบอัดเทปอ่านสปีชจะทำได้ดีกว่าการแถลงข่าวสดเมื่อ 16 เมษายน แต่เนื้อหาการแถลงข่าว “ไม่ตรงสถานการณ์” โดยวันนั้น นายกรัฐมนตรีพูดถึงภาพรวมการจัดหาวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชนทุกคนภายในสิ้นปี 2564 และ การสั่งเพิ่มจำนวนห้อง ICU ขณะที่วันดังกล่าว เพิ่งมีข่าว อาม่าวัย 85 ปี รอเตียงรักษาโควิดอยู่ที่บ้าน จนเสียชีวิต ผ่านไปนาน 6 ชั่วโมงถึงมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บศพ รวมถึงมีกรณีประชาชนอีกหลายสิบ หลายร้อย กำลังโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ร้องขอเตียงรักษาโควิด-19 ส่วนคนที่ยังไม่ป่วย รอฟังด้วยความหวังว่า รัฐบาลจะพูดเรื่องการปิดสถานที่ เคอร์ฟิวส์ และ ล็อกดาวน์ หรือไม่ ซึ่งตลอดการแถลงข่าว ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย

นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจชื่อดัง Drama-addict หนึ่งในผู้ติดตามสถานการณ์โควิด 19 มาตลอด มองว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรี และ รัฐบาล ควรสื่อสารให้กับประชาชนรับรู้ คือ สถานการณ์ที่แท้จริง และ แนวทางแก้ปัญหาที่ทันสถานการณ์

จ่าพิชิต  มองว่า รัฐบาลดำเนินการทุกอย่างล่าช้ากว่าความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น การพูดปัญหาเรื่องเตียงในช่วงวันที่ 24-26 เมษายน ทั้งที่จริงๆปัญหานี้เกิดขึ้นนานแล้ว และตอนนี้ควรพูดและผลักดันเรื่องการให้ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด กักตัวที่บ้าน และ สร้างระบบการมอนิเตอร์คนป่วยที่บ้านแทน จ่าพิชิต มองว่าสถานการณ์ตอนนี้ ต่อให้เพิ่มเตียงการรักษาก็ไม่มีบุคลากรมาดูแล เพราะ จำนวนบุคลากรมีจำกัด เชื่อว่ารัฐไม่ได้สะท้อนปัญหาที่แท้จริง

“ตอนนี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นสิ่งที่รัฐบาลสื่อสารแล้ว เพราะ สิ่งที่ประชาชนเห็นกับสิ่งที่รัฐบาลพูดแตกต่างกันอย่างมาก”

จ่าพิชิต เสนอว่า นายกรัฐมนตรีควรเปิดไฟเขียวเปลี่ยนตัวแม่ทัพด้านสาธารณสุข เพราะ คนปัจจุบันนอกจากไม่มีความรู้ความสามารถ ยังนำเรื่องสาธารณสุขไปเชื่อมโยงกับการเมืองด้วย รวมถึง รัฐบาลควรถอยไปทำหน้าที่สนับสนุน ภาคเอกชนและภาคประชาชน เพราะ รัฐไม่มีศักยภาพมากเพียงพอ โดยตอนนี้ ภาคเอกชนและประชาชนกำลังพยายามวางระบบการจัดการให้ผู้ป่วยโควิดเข้าสู่การรักษา แต่ติดขัดปัญหาหลายอย่างจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังแนะนำทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด 19 ว่า รัฐบาลความตั้งหลัก ยอมรับปัญหาที่แท้จริงก่อน จากนั้นเดินหน้าพูดคุยกับทุกส่วนเพื่อหาทางออก