วิกฤตโควิด-วัคซีนขาดแคลน ต้องลดการสื่อสารทางเดียว นักข่าวต้องได้ถามแทนประชาชน

อยากเรียกร้องให้ภาครัฐ เริ่มมีการเปิดแถลงข่าวแบบพร้อมเพรียงกันกับสื่อมวลชนได้แล้ว ไม่ใช่แค่ศบค.มาแถลงตัวเลขต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลรูทีนและหาได้จากเพจต่างๆ

  สิ่งที่สื่อมวลชนต้องการตอนนี้ จะเหมือนกับในต่างประเทศ คือสื่อต้องทำหน้าที่ถามแทนประชาชน หรือบางทีสื่อก็ต้องการเคลียร์ประเด็นที่เป็นข่าวลวง แต่สื่อเขาก็ต้องการได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นต้นทางจริงๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จึงควรมีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง ศบค. -กระทรวงมหาดไทย-กระทรวงสาธารณสุข -กรมควบคุมโรค-กรุงเทพมหานคร  โดยอาจจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีน มาร่วมด้วย  แล้วก็ให้สื่อมวลชนมาซักถามในประเด็นที่เป็นเรื่องคาใจในแต่ละสัปดาห์ เพื่อตอบคำถามสื่อ อธิบายสื่อ เพื่อให้สื่อถามแทนประชาชน ไม่ใช่คุณมาพูดอยู่ฝ่ายเดียวแล้วให้สื่อคอยรายงานข่าว

สถานการณ์โควิดในประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่อง"การบริหารจัดการวัคซีน"ทั้งการจัดหา-การฉีดวัคซีนให้ประชาชน ยังเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศในวันนี้ ภายใต้สภาวะที่หลายคนเห็นตรงกันถึงเรื่องการไม่บูรณาการกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน จนประชาชนเกิดสภาวะสับสน ที่นักวิชาการ-ผู้อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนเรียกกันว่า "สภาวะข้อมูลที่สับสน โกลาหล -Information Disorder” โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเลื่อนการฉีดวัคซีนในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ในแง่การทำงานของสื่อในช่วงโควิด ก็มีเสียงสะท้อนว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้ข่าวสารกับประชาชน โดยเฉพาะควรลดการให้ข่าวสารแบบ"สื่อสารทางเดียว"

          โดยมีเสียงสะท้อนว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันแม้ศบค.จะมีการแถลงข่าวทุกวันอย่างต่อเนื่องมาร่วมปีกว่า แต่ก็พบว่า ยังไม่มีการให้ข่าวแบบรอบด้าน ยังเป็นการแถลงข่าว แบบไม่ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ซักถามแบบซึ่งๆหน้า โดยที่ผ่านมา ยังเป็นการให้ข่าวถึงตัวเลขต่างๆ แบบรายวัน ที่เป็นลักษณะรูทีนไปแล้ว ประชาชนหาได้จากแหล่งอื่น และหลายเรื่องประชาชนอยากรู้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ป้องกันความสับสน แต่ก็ไม่มีการแถลงจากศบค.จึงเห็นว่า ภาครัฐ ควรเปิดกว้างให้มากขึ้น เพื่อให้สื่อได้ซักถามในประเด็นคำถาม ข้อสงสัยที่ประชาชนอยากรู้ อยากได้ความชัดเจน เพื่อให้สื่อได้ถามแทนประชาชน

          จึงมีข้อเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ควรปรับรูปแบบการให้ข่าวสาร ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดฯหลังใช้รูปแบบเดิมๆ มาร่วมปีกว่า

          เสียงสะท้อนและทัศนะต่าง ๆข้างต้น "ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน" ได้สัมภาษณ์-พูดคุยกับบุคคลจากทั้งนักวิชาการที่สอนด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤต -อดีตกรรมการกสทช. -ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน ฯ เป็นต้น โดยมีรายละเอียดมุมมอง ข้อคิดเห็นดังนี้  

          เริ่มที่คนแรก “สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค หรือ Collaborative Fact Checkin (ประเทศไทย) ที่เป็นโครงการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริงกับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาต่างๆ เช่น การแพร่กระจายของเฟกนิวส์  รวมถึงยังเป็นอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ​โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) "

          "สถานการณ์โควิดเวลานี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย โดยหากเทียบกับหลายประเทศ ภาพรวมการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดของประเทศไทยก็ไม่ได้แย่ ทั้งที่การสื่อสารโดยภาพรวมแล้ววิกฤต"สุภิญญา ระบุไว้ทันที เมื่อเริ่มต้นการสัมภาษณ์ 

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซด์ The Active)

จากนั้น "ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค" กล่าวต่อไปว่า จะพบว่าหลายประเทศ การสื่อสารเขาทำได้ดีกว่าของเรา คือภาครัฐมีการสื่อสารค่อนข้างชัดเจน ข้อมูลดี แต่บางประเทศอาจจะรับมือได้ไม่ดี เพราะประชาชนในประเทศนั้น เช่นในสหรัฐอเมริกาหรือในกลุ่มประเทศยุโรป ประชาชนไม่ค่อยทำตามในช่วงแรก เพราะเป็นธรรมชาติของคนที่เชื่อในเรื่องเสรีภาพ เสรีนิยม เช่นไม่อยากใส่หน้ากาก เป็นต้น โดยบางประเทศใช้เวลานานมากกว่าประชาชนจะทำตามข้อแนะนำจากภาครัฐ แต่ประเทศไทย ประชาชนยินดีให้ความร่วมมือ ภาครัฐขออะไร ประชาชนก็ทำตาม แต่พอเกิดวิกฤตแต่ละรอบ ประชาชนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดว่าเป็นฝ่ายที่การ์ดตก ทั้งที่หากไปดูปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เช่น การแพร่ระบาดของแต่ละคลัสเตอร์ ก็มาจากความหละหลวมของการกำกับดูแล

          "ที่ประชาชนมึนงง สับสนอลม่าน ก็เพราะการสื่อสารของรัฐ พูดง่ายๆว่าหากมีการสื่อสารที่ดีกว่านี้ การแก้ปัญหาโควิดก็อาจจะดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะขนาดว่าการสื่อสารเราสับสนอลม่าน ถ้าเทียบกับหลายประเทศ เรายังไม่วิกฤตขนาดนั้นเพราะประชาชนของเรายินดีให้ความร่วมมือ หากดูจากสถิติต่างๆ จะเห็นได้ว่าคนไทย ล้างมือ ใส่หน้ากาก อยู่บ้าน ทำเท่าที่สามารถทำได้ ทั้งที่ข้อมูลมันสับสนมาก ปัญหาหลักๆ มุมหนึ่ง ภาครัฐ เองต้องยอมรับตรงนี้ และควรกลับไปทบทวนจริงจัง"

          ...เพราะหากย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนโควิดระบาดช่วงแรกๆ ช่วงปี 2563 กว่าที่ภาครัฐจะประกาศว่ามีโรคระบาดในประเทศ ก็ต้องใช้เวลาสักพัก โดยที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มพบการระบาดแล้ว แต่ของเราก็ยังเปิดให้มีการบินเข้า-ออกประเทศไทย จนเกิดคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี รัฐถึงมาประกาศเรื่องสถานการณ์โควิดจริงจัง แต่ขนาดจริงจัง การประกาศอย่างเป็นทางการ ก็ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงยังไม่มีการจัดตั้ง ศบค. ที่จะมีปัญหาค่อนข้างมาก ประชาชนก็มึนงง อย่างกรุงเทพมหานคร อยากจะออกคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ก็ประกาศออกมา  หรือที่ประชาชนจำนวนมากพากันเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงสงกานต์ปีที่แล้วตอนเดือนเมษายน ตอนนั้นรัฐบาลก็ออกมาประกาศว่าไม่ควรเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด แต่สุดท้าย กรุงเทพมหานคร ก็ออกมาประกาศล็อกดาวน์ ปิดห้างสรรพสินค้า จนเกิดความอลม่านไปหมด เพราะการปิดห้างสรรพสินค้า เป็นเรื่องใหญ่ ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ไม่มีการใช้การประกาศอย่างเป็นทางการ เช่นการประกาศผ่านโทรทัศน์ ที่สถานการณ์ขณะนี้รัฐสามารถใช้โทรทัศน์ได้ แต่ภาครัฐก็ไม่ใช้ แต่ใช้วิธีการสื่อสารอื่นๆ เช่น ลงแจ้งในเพจ จนเป็นไวรัล แล้วสื่อก็นำมาเสนอต่อ

          ...ช่วงนั้นก็มีข่าวลือต่างๆ ตอนนั้นมีความอลม่านอยู่ช่วงหนึ่ง จนรัฐบาลตั้งศบค.ขึ้นมา ซึ่งช่วงแรก ถือว่าโอเค มีการประสานงานต่างๆ สถานการณ์ค่อยดีขึ้น แต่พอระยะเวลาผ่านไปเรื่อยๆ มาถึงขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ที่สะท้อนให้เห็นการทำงานของระบบราชการไทยที่มีปัญหามานานมากแล้วในการทำงาน การบูรณาการกันระหว่างหน่วยงาน แม้จะมีการรวบอำนาจการสั่งการมาอยู่ที่ ศบค.ก็ตาม แต่ในรายละเอียด เราก็ยังเห็นความขัดแย้ง สับสนอลม่านอยู่ตลอดเวลา และในบางเรื่องที่ภาครัฐควรประกาศออกทีวีหรือให้มีการขึ้นตัววิ่งทางรายการโทรทัศน์ต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศเพื่ออธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน แต่ภาครัฐก็ไม่ได้ทำ แต่ใช้วิธีการ หน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งใช้วิธีการแจ้งข่าวผ่านเพจขององค์กรตัวเอง แต่เวลาที่รัฐ จะออกสื่อทางทีวี กลับเป็นการนำเสนอเนื้อหาในเชิงที่คนบอกว่าเน้นวาทศิลป์ การปลุกใจ แต่คนไม่ได้อยากฟัง เพราะคนอยากฟังว่าภาครัฐ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะให้ประชาชนทำอะไร เราจะไม่ได้เห็นตรงนี้

          ...พูดง่ายๆว่าการใช้เครื่องมือเพื่อการสื่อสารมันไม่แมทซ์กัน บางเรื่องควรใช้ทีวีเพื่ออธิบายต่อประชาชนทั้งประเทศให้เข้าใจว่าตกลงเป็นอย่างไร จะได้ไม่มีข่าวลือข่าวลวง แต่ภาครัฐก็ไม่ได้ใช้ในเชิงการเสนอเนื้อหา แต่ปล่อยให้แต่ละหน่่วยงานไปทำกันเอง ก็เลยทำให้การรับข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย มันอาจจะดีในสถานการณ์ปกติตรงที่มีความหลากหลาย ถกเถียงกันได้ แต่ในยามวิกฤตเช่น มีการเกิดโรคระบาด หรือมีภัยพิบัติต่างๆ บางครั้งมันต้องการ"การรวมศูนย์" แต่พอมาใช้ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มีสารพัดเพจไปหมด แล้วบางอันมันผิด อีกทั้งเมื่อมีการสื่อสารผ่านอินโฟกราฟิก แล้วต่อมาพบว่าผิด มีการแก้ไข แต่คนที่ไปรับข่าวสารตั้งแต่อันแรก(ที่ผิด) โดยไม่ได้รับข้่าวสารอันที่แก้ไขแล้ว ก็เลยเกิดปัญหาว่าไม่รู้จะทำให้คนได้รับข้อมูลเท่ากันได้อย่างไร

          "สุภิญญา-อดีตกสทช."ย้ำไว้ว่า จากสภาพปัญหาข้างต้นที่กล่าวไว้  สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ทำให้เกิดความสับสนตลอดเวลา จนทำให้มีช่องว่างทำให้เกิดการปล่อยข่าวลือข่าวลวง เพราะบางคน ไปติดตามข่าวผ่านเพจต่างๆ แล้วบางทีเกิดไปเจอพวกเพจปลอม มี account ปลอม ก็สับสนไปหมด  คนก็เลยเกิดความรู้สึกว่า ไม่รู้จะเช็คข่าวที่ถูกต้องจากแหล่งใด เพราะพอคนรู้สึกสับสน ไม่รู้จะเช็คข่าวจากแหล่งไหน เขานึกไม่ออก เลยกลายเป็นจุดอ่อนแล้วว่า"ทำไมรัฐตีโจทย์ตรงนี้ไม่แตก" ควรจะแก้โดยดูจากตรงจุดที่ว่า เมื่อคนเขาไม่รู้จะเชื่อข้อมูลจากแหล่งไหน เขาจะนึกถึงใครก่อน เช่นหากจะให้ติดตามข้อมูลจะให้เชื่อจากเพจ ก็ต้องสื่อสารออกมาว่าจะเป็นเพจใด หรือจะเป็นทีวี หรือเว็บไซด์อันใด ต้องสื่อออกมาให้มันชัดๆ เพราะตอนนี้มีหลายแหล่งมาก จนคนก็เกิดความรู้สึกมึนงง ผสมผสานกับนโยบายเยียวยาช่วยเหลือประชาชนด้วย ทั้งเรื่องสถานการณ์โควิด มาจนถึงแผนการเยียวยาช่วยประชาชนที่มีสารพัดแอพพลิเคชั่น

          ...จนล่าสุด มาถึงเรื่อง"วัคซีนโควิด"ที่พีคของจริง ที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกงงไปด้วย จากตอนแรกภาครัฐพยายาม build ประชาชนว่า อย่ากลัววัคซีน อย่าด้อยค่าวัคซีน ต้องมาฉีดวัคซีนกัน มีการรณรงค์กันใหญ่ ตอนนั้นคนก็ท้วงแล้วว่า ภาครัฐตีโจทย์ผิดหรือไม่ เพราะคนไม่ได้กลัววัคซีนขนาดนั้นแต่เขากลัวไม่มีวัคซีนมาฉีดให้มากกว่า แล้วสุดท้าย มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ทั้งคนที่ลงทะเบียนกับแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมและไทยร่วมใจ จนประชาชนเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าควรจะเชื่อข่าวทางไหน เขาเลยเชื่อคนใกล้ชิดที่ส่งข่าวมาให้ทางไลน์ แต่ขนาดที่ประชาชนอยู่ในภาวะสับสน แล้วประชาชคนไทยประคับประคองสถานการณ์มาได้ขนาดนี้ ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว เพราะทุกคนพยายามหาทางออกช่วยกันเอง สื่อสารกันเอง 

          "สุภิญญา" กล่าวต่อไปว่า อยากสะท้อนปัญหาว่าร่วมหนึ่งปีที่ผ่านมา การตั้งศบค.ช่วงแรกเหมือนจะมาถูกทางแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดตอนนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบราชการที่เป็นปัญหามายาวนานในเรื่องการติดต่อประสานงาน รวมถึงเรื่องความไม่ชัดเจน ที่ก็เป็นลักษณะของรัฐไทย คือไม่ชอบพูดสื่อสารอะไรตรงๆ ไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ก็ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวัง เช่นหากยังไม่พร้อมจริงๆ ก็ควรบอกให้ประชาชนรอก่อน ไม่ใช่ตอนแรกมาบอกให้ประชาชนรีบลงทะเบียน จนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่าเป็นเพราะวัคซีนมีไม่เพียงพอหรือเป็นปัญหาการเมืองของรัฐ หรือปัญหาจากการสื่อสารที่ไม่ดี ที่ตอนนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ปลายทางก็ทำให้ประชาชนสับสน แต่ในมุมของเราที่เราทำเรื่องสื่อ เรามองว่าเรื่องส่วนหนึ่งของปัญหาคือเรื่องการสื่อสาร ชัดเจนแล้วงานนี้ เพราะประชาชนพร้อมจะให้ความร่วมมือในเรื่องการฉีดวัคซีน ไม่ได้จะไม่ฉีดวัคซีน แต่ปัญหาคือเรื่องการสื่อสารของรัฐ ซึ่งก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ศบค. เพราะรวมอำนาจทุกหน่วยงานมาอยู่ด้วยกัน โดยนายกรัฐมนตรีบัญชาการสูงสุด แต่สุดท้ายก็เหมือนกับยังคุมโทนไม่ได้ ที่ก็ต้องดูว่าเขาจะแก้ไขอย่างไร โดยหากเป็นเรื่องของการเมืองภายใน ก็ต้องมีวิธีการจัดการ

          ส่วนปัญหาการสื่อสาร ภาครัฐก็อาจต้องเปิดใจให้ภาคเอกชนมาช่วยทำงาน ที่หากทำแบบนี้ ภาครัฐต้องพร้อมจะปล่อยข้อมูลให้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแบบ"หมอชนะ"ที่เริ่มต้นมาดี ทำให้คนเข้ามาลงทะเบียนแต่พอจากนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป แล้วก็มีข่าวว่าภาคเอกชนที่มาช่วยพัฒนา ก็ถอดใจเพราะไม่ได้ข้อมูลเข้ามา ภาครัฐก็ต้องปลดล็อกตรงนี้

          "สุภิญญา"ระบุว่าจากสภาพการณ์ปัญหาข้างต้น ทางแก้จริงๆ ก็คือต้องปลดล็อกเพื่อให้เข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Open-Data คือนำข้อมูลมาให้สาธารณะเข้าถึงได้ง่ายเหมือนในต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานที่หากทำก็จะแก้ปัญหาข่าวลือข่าวลวงได้ด้วย เช่นเรื่องว่าวัคซีนไม่พอ แต่จริงๆ อาจไม่ใช่แต่เพราะมีการจัดสรรวัคซีนไปยังที่ต่างๆ คนจะได้ไม่โทษกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด หากนำข้อมูลตรงนี้มาเปิดเผยได้ ให้ทำแบบเรียลไทม์เลย สื่อก็จะเช็คข้อมูลได้ว่ามีการกระจายวัคซีนออกไป แต่ปัญหาอยู่ที่หน่วยที่รับวัคซีนไป คนก็จะได้ไปจี้ให้ถูกหน่วยงาน แต่ตอนนี้ข้อมูลรวมศูนย์ลักษณะดังกล่าวมันไม่มี คนก็เกิดความมึนงง สื่อก็ไปไม่เป็น

          "สุภิญญา-ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค"กล่าวต่อว่า ในยุคโควิดระบาด สื่อก็เข้าถึงตัวแหล่งข่าวยาก สัมภาษณ์เจาะก็ไม่ได้ ต้องรอฟังแต่การแถลงข่าวจากศบค. แล้วที่เหลือสื่อก็ต้องคอยไปหาข่าวตามเพจผู้เชี่ยวชาญต่างๆ อันนี้คือปัญหามากสำหรับเมืองไทย เพราะเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐไม่ได้ทุกวัน แต่ในต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ จะมาให้ข่าวตลอดหรือแบบวันเว้นวัน แล้วก็ให้สื่อซักถามได้แบบมีระยะห่าง แต่ของเราลักษณะแบบนี้มันหายไป นักข่าวก็บ่นว่า โทรไปหาหมอเพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ  หมอก็ไม่รับสาย ก็เช็คข้อมูลไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่นักข่าวทำก็คือคอยไปจ้องตามเพจต่างๆ เช่น เพจของนายแพทย์ต่างๆ แล้วก็รายงานข่าวไป บางทีก็ตีกันไปตีกันมา โดยไม่มีใครคุมสภาพได้ เพราะนักข่าวก็ต้องนำเสนอไป มันเหมือนกับไม่มีใครคอยกำหนดวาระ

          "สุภิญญา"ให้ทัศนะว่า ปัจจุบัน ศบค.มีการแถลงข่าววันละครั้งช่วงเที่ยงๆ แต่เป็นลักษณะการให้ข้อมูลมากกว่าที่จะตอบคำถามเชิงนโยบาย ซึ่งบางครั้งควรต้องพูดเรื่องนโยบาย ให้มีการจี้ถาม

          "สิ่งที่ควรทำคือ ต้องเอาทั้งศบค. กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมโรค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มานั่งรวมกันสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี เหมือนอย่างที่่อังกฤษก็ทำ แล้วก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม แต่หากของเราไม่อยากเจอหน้าสื่อ ก็ใช้ผ่านระบบ ZOOM ก็ยังดี แต่ของเราไม่มีการทำแบบนั้น เหมือนกับไม่มีพัฒนาการแบบนั้น เหมือนกับรัฐพอใจที่จะให้ข้อมูลทางเดียว"

          ..ช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าภาครัฐเองก็คุมไม่อยู่จริงๆเรื่อง Information Disorder เรื่องทิศทางของข่าว รัฐก็ต้องโทษตัวเองด้วย ไม่ใช่โทษแต่เฟกนิวส์หรือโทษสื่ออย่างเดียว แบบนี้ไม่ใช่แล้วเพราะภาครัฐเอง ก็ไม่ทำตัวให้สื่อเข้าถึงด้วย การเข้าถึงตัวแหล่งข่าวยากมากในยุคนี้ เท่าที่ได้ฟังมา ทำให้สื่อก็ต้องคอยไปจ้องว่าเพจไหนจะว่าอย่างไร หรือฟังการแถลงข่าวแบบLive ไปแต่ว่าการเข้าถึงตัว การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก หรือการให้ข่าวแบบเป็นเรื่องเป็นราวหรือคนในภาครัฐมานั่งแถลงข่าวพร้อมกัน เพื่อให้ข่าวไปในทิศทางเดียวกันมันไม่เกิด นายกรัฐมนตรีก็นานๆ ออกมาแถลงที แต่แถลงครั้งใด ผลออกมาก็เป็นลบเสียส่วนใหญ่ แม้แต่ฝ่ายที่เตรียมจะเชียร์ก็ยังเชียร์ไม่ออก ผลออกมาก็เกิดความรู้สึกอึ้ง

          "ควรต้องมีการทบทวนขนานใหญ่ในเรื่องยุทธศาสตร์การทำงานภายใน เพราะจริงๆ แล้ว บางสื่อก็พูดเองว่าในช่วงโควิด ช่วงการฉีดวัคซีน ก็พูดเองว่าจริง ๆตั้งใจจะวิจารณ์รัฐบาล ซึ่งสื่อที่ตั้งใจจะวิจารณ์รัฐบาลอย่างเดียวจริงๆ ก็มีอยู่แล้ว แต่อาจจะมีสื่อหรือเพจที่วิจารณ์รัฐบาลมากกว่าปกติ แต่ช่วงนี้บางสื่อก็บอกว่าพร้อมจะทำข่าวเชิง conservative ขึ้นหรือมีแนวโน้มจะสนับสนุนแนวทางรัฐบาล เพราะก็อยากให้มีการแก้ปัญหาโควิด วัคซีนให้มันจบเร็วๆ เพราะทุกคนก็แย่กันหมด แต่ว่าฝ่ายรัฐบาลและศบค.เอง ก็ต้องเอื้อด้วย ไม่ใช่ว่าพยายามช่วยยังไง แต่massage ไม่ชัดเจน เปลี่ยนตลอดเวลา เกิดความสับสน"อดีตกสทช. สุภิญญา ระบุไว้

          เมื่อถามว่ามีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และศบค.ในการสื่อสารกับประชาชนในเรื่องสถานการณ์โควิดและการฉีดวัคซีนอย่างไรบ้าง "สุภิญญา"กล่าวตอบว่าสำหรับภาครัฐแล้ว หากเป็นเรื่องใหญ่เรื่องด่วน เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ก็ควรประกาศออกโทรทัศน์ แต่จะใช้ช่องไหนก็ว่าไปตามความเหมาะสม แล้วประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ทุกช่องช่วยกันสรุปข่าวก็ได้ เพื่อให้เนื้อหาชัดเจนไปในทางเดียวกัน เช่นที่ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนกับแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม  แล้วมีการยกเลิก ทางประชาชนจะสามารถไปติดต่อได้ที่ไหนแทนได้บ้าง ก็อาจมีสื่อผ่านช่องทางต่างๆ เช่นขึ้นตัววิ่ง แจ้งข่าวทางรายการโทรทัศน์ช่วงต่างๆ เช่น ละครหลังข่าว เพราะอย่างน้อยกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ติดตามทวิสเตอร์ -เพจต่างๆ จะได้รู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะช่วงหลังภาครัฐมาใช้โซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก ที่ก็ดีสำหรับคนชอบติดตามข่าว แต่ก็ต้องคิดถึงประชาชนกลุ่มที่ไม่ค่อยมีเวลา ภาครัฐ ก็อาจต้องขอความร่วมมือกับสื่อต่างๆ เช่น การขอให้ทำตัวหนังสือวิ่งทางรายการโทรทัศน์ หรือขอความร่วมมือผู้ประกาศข่าว เพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ  ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

          "สิ่งหนึ่งที่อยากเรียกร้องก็คืออยากให้ภาครัฐ เริ่มมีการเปิดแถลงข่าวแบบพร้อมเพรียงกันกับสื่อมวลชนได้แล้ว ไม่ใช่แค่ศบค.มาแถลงตัวเลขต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลรูทีนและหาได้จากเพจต่างๆ สิ่งที่สื่อมวลชนต้องการตอนนี้ ก็จะเหมือนกับในต่างประเทศ คือสื่อต้องทำหน้าที่ถามแทนประชาชน หรือบางทีสื่อก็ต้องการเคลียร์ประเด็นที่เป็นข่าวลวง แต่สื่อเขาก็ต้องการได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นต้นทางจริงๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จึงควรมีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง ศบค. -กระทรวงมหาดไทย-กระทรวงสาธารณสุข -กรมควบคุมโรค-กรุงเทพมหานคร  โดยอาจจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีน มาร่วมด้วย  แล้วก็ให้สื่อมวลชนมาซักถามในประเด็นที่เป็นเรื่องคาใจในแต่ละสัปดาห์ เพื่อตอบคำถามสื่อ อธิบายสื่อ เพื่อให้สื่อถามแทนประชาชน ไม่ใช่คุณมาพูดอยู่ฝ่ายเดียวแล้วให้สื่อคอยรายงานข่าว แล้วหน่วยงานรัฐ ก็นำประเด็นที่สื่อถามไปหาคำตอบ เพราะสื่อคือตัวกลางในการทำงานแทนประชาชน สิ่งนี้คือสิ่งที่ควรปรับและทำมากขึ้นในช่วงนี้ หรือจะทำผ่านระบบ ZOOM ก็ได้ โดยไม่ต้องเปิดเป็น public ก็ให้เฉพาะสื่อ

          เหมือนกับที่อังกฤษ นายกรัฐมนตรีก็จะมาให้ข่าวแล้วก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ของบางกระทรวง มาให้ข่าวกับสื่อ เปิดโอกาสให้สื่อได้ซักถามทุกสัปดาห์ โดยที่อังกฤษมีการเปิดผ่านการแถลงผ่าน ZOOM โดยให้ประชาชนถามผ่านZOOM ได้ด้วย ก็เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วเราจะทำได้หรือไม่ เพราะหากทำได้ ก็จะช่วยสกัดข่าวลือข่าวลวงในรอบสัปดาห์ได้ ทิศทางข่าวสารก็จะเริ่มมีระเบียบมากขึ้น ไม่เป็น Information Disorder เพราะเหมือนกับรัฐคุมสภาพได้ เพราะคุมเชิงรุก ไม่ใช่คอยรับ ที่ผ่านมาภาครัฐคอยแต่รับอย่างเดียวเลยทำให้พลาด ข่าวลือข่าวลวงเลยเกิดขึ้น"สุภิญญา ให้ความเห็น

          "สุภิญญา-ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการโคแฟค"ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้อยากเสนอต่อกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า กระทรวงดิจิตอลฯ ควรทำผลงานมาสเตอร์พีซสักหนึ่งเรื่อง เพราะกระทรวงดิจิตอลฯ มีหน่วยงานหลายหน่วย ที่มีความสามารถที่จะมาทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องโควิด ที่กระจัดกระจายอยู่เช่น เรื่องสถานการณ์โควิด-การเข้าถึงวัคซีน -นโยบายการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ให้อยู่ในเว็บไซด์หลักที่ใดที่หนึ่งหรือที่เว็บไซด์ของกระทรวงดิจิตอลฯ ก็ได้ โดยให้รวมไว้ที่เดียวโดยมีข้อมูลทั้งหมดแบบเสร็จสรรพ เพื่อให้ประชาชนที่อยากเช็คข้อมูลต่างๆ ที่เขาอยากรู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซด์ของกระทรวงดิจิตอลฯ โดยอาจทำเป็นลักษณะให้เป็นแหล่งรวมลิงค์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องนำข้อมูลมาใส่หมด โดยมีการแยกหมวดว่าด้วยเรื่องโควิด-วัคซีน-การเยียวยา เป็นแบบ databaseเพื่อให้คนเข้ามาแล้วกดลิงค์ไปหาข้อมูลอื่นๆได้แบบถูกจุด เพราะตอนนี้มีแนวโน้มว่าประชาชนจะถูกหลอกลวง มีเพจปลอม-ลิงค์ปลอมต่างๆ ให้ลงทะเบียน เพื่อให้อย่างน้อยมีแหล่งข้อมูลสักแหล่งหนึ่งให้เป็นหลักที่รวมข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาเช็คได้ก็จะเป็นสิ่งที่น่าจะดี กระทรวงดิจิตอลฯ ควรจะทำ แล้วประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ว่าหากต้องการเช็คข้อมูลเรื่องใดก็เข้ามาเช็คได้ที่เว็บไซด์ดังกล่าว ก็จะช่วยลดความสับสน ลดข่าวลือข่าวลวงไปได้เยอะ

การสื่อสารภาวะวิกฤตต้องยึดFact-single massage

ถัดมาที่ทัศนะของ "ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัยหรืออาจารย์กุ้ง อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและสอนด้านการสื่อสารองค์กร ภาพลักษณ์และการจัดการชื่อเสียง กลยุทธ์การสื่อสาร"

          โดย"ผศ.อัญรินทร์"ให้ความเห็นถึงเรื่องการสื่อสารในสภาวะวิกฤตช่วงโควิด-วัคซีนฯ ของภาครัฐว่า นับแต่ ไวรัสโควิดระบาดรอบแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2563 จนถึงการระบาดในรอบปัจจุบันในปีนี้ ก็จะเห็นความพยายามในการสื่อสาร ที่ในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนหนึ่ง ก็มองวิธีการสื่อสารที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า ประชาชนเอง ก็มีทั้งการคาดเดา การแสวงหาข้อมูลด้วยตัวเอง จนช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นทั้งการตั้งคำถาม การตั้งข้อสงสัยโดยประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากวิธีการสื่อสารและวิธีการถ่ายทอดที่อาจไม่ครอบคลุม

          "ดังนั้นในภาวะการณ์แบบนี้ ที่เป็นสถานการณ์วิกฤต ที่หากว่ากันตามความเป็นจริงและตามหลักการในการสื่อสารช่วงภาะวิกฤตสิ่งสำคัญมากก็คือความชัดเจนทั้งเนื้อหาและวิธีการ เพื่อป้องกันการคาดเดา หรือการหาคำตอบเอาเอง ที่ท้ายที่สุด มันอาจส่งผลเสียโดยตรงต่อหน่วยงาน และผู้รับผิดชอบ"

ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          -ในสถานการณ์โควิดรอบสาม พบว่ารอบนี้ ดูเหมือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีปัญหาในการสื่อสารมากที่สุดหรือไม่ และปัญหาเกิดจากอะไร?

          ที่มันดูมีปัญหามากอาจเป็นไปได้ว่า เพราะประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมาอย่างต่อเนื่อง เลยอาจทำให้ประชาชนเกิดอารมณ์ ความรู้สึก ที่เป็นสิ่งซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา ก็มีเรื่องการขอความร่วมมือหรือการรณรงค์ต่างๆ เช่นการ work from home หรือการดำเนินกิจการต่างๆ ที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินกิจการ โดยประชาชนให้ความร่วมมือ แต่เมื่อเกิดกระแสหรือการตั้งคำถามต่างๆ ในช่วงโควิดรอบปัจจุบัน เช่นความไม่พร้อมด้านต่างๆ หรือข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ก็ทำให้อารมณ์ของประชาชนปะทุขึ้นมาด้วยอารมณ์แบบขุ่นมัว

          -ในหลักวิชาการ การสื่อสารในภาวะวิกฤต หลักการสำคัญคืออะไร และองค์กรควรต้องสื่อสารแบบไหน?

          หัวใจสำคัญจริงๆ ของการสื่อสารในภาวะวิกฤตคือ fact หรือข้อเท็จจริง ที่ไม่ว่ามันจะสร้างความผิดหวัง ความเสียใจหรือความดีใจ แต่มันคือ fact และในสถานการณ์วิกฤต fact คือสิ่งที่ดีที่สุดเพราะคือการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตัวผู้รับสาร-ประชาชน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เขาไม่ต้องไปแบกรับกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่รู้ตัว เขาไม่ต้องไปหาข้อมูลเอง ไม่ต้องไปหาข่าวสารจากที่อื่น เพราะปัจจุบันที่สังคมมีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลตรงไหนก็ได้ และคนก็พร้อมจะแสดงความเห็นต่างๆ ออกมา ที่ก็ยิ่งทำให้ฝุ่นมันตลบในสถานการณ์แบบนี้

          "เพราะฉะนั้น fact คือสิ่งสำคัญที่สุด โดยหากfact มาจากต้นทาง ก็ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการสถานการณ์บนพื้นฐานของfact หรือข้อเท็จจริง ประชาชนก็จะได้ไม่ต้องไปหาข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจที่ผิด สร้างความเครียด หากเราอยู่บนพื้นฐานของ fact ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่า ทุกคนพร้อมจะรับฟังอยู่แล้วว่า fact ในสถานการณ์ขณะนี้คืออะไร"

          ... นอกจากนี้ การสื่อสารในภาวะวิกฤต สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ single voice  หรือ single massage ซึ่งเมื่อทั้ง single voice - single massage ไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาแบบชุดเดียว มันเลยเกิดสถานการณ์แบบที่เราเห็น องค์กรหนึ่งแจ้งประชาชนแบบนี้ แต่อีกหน่วยงานหนึ่งแจ้งในอีกมุมหนึ่ง เลยกลายเป็นว่ามันมีชุดข้อมูลเยอะแยะไปหมดแล้วชุดข้อมูลก็อาจพบเนื้อหาหรือถ้อยคำบางส่วนที่เราเห็นอารมณ์มันแฝงอยู่ใน massage เหล่านั้น ซึ่งมันก็ไม่ได้ดีกับฝ่ายไหนเลย คนที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังได้รับผลกระทบเหมือนเดิม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องบริหารจัดการสถานการณ์ต่อไป ก็ยังต้องแก้ไขสถานการณ์เหมือนเดิม แต่ที่แย่กว่านั้น fact คืออะไร ไม่มีใครรู้ โดยที่คนก็มีการเผยแพร่ข้อมูลออกไปเยอะแยะ มันก็เลยยิ่งทวีความวุ่นวาย ทวีความขุ่นข้องหมองใจ ทำให้อารมณ์คนครุกรุ่น  

          ดังนั้น หัวใจสำคัญของการสื่อสารในภาวะวิกฤตคือ fact และ single massage

          -ก็คือเห็นว่ารัฐบาล หรือศบค. ควรบอกประชาชนด้วยข้อเท็จจริงแบบตรงๆ ไปเลยในเรื่อง การบริหารจัดการวัคซีน?

          ใช่ ต้องเป็นลักษณะแบบนั้น เช่นต้องบอกว่าประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อใด การจัดสรรวัคซีนเป็นอย่างไร สถานการณ์เรื่องวัคซีนเป็นอย่างไร

           เพราะหากมีการถ่ายทอดข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่แม้จะทำให้การฉีดวัคซีนต้องเว้นระยะไปช่วงหนึ่ง ขอให้รอสักระยะ วัคซีนกำลังทยอยมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังบริหารจัดการเรื่องวัคซีนอยู่  แต่ประชาชนก็จะเข้าใจ เพราะประชาชนทุกคนต่างอยู่บน fact กันมาตลอด แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกคน กำลังตั้งคำถามกันว่า มันเกิดอะไรขึ้น แล้วอันไหนคือชุดความจริงที่เราจะเชื่อได้ ซึ่งมันส่งผลต่อความเชื่อมั่น

          -ด้วยความเป็นระบบราชการ ที่ไม่ยืดหยุ่น มีสายงานการบังคับบัญชาหลายขั้นตอน มีผลหรือไม่ ทำให้การสื่อสารในภาวะวิกฤต เลยมีปัญหา ?

          โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องของโครงสร้างองค์กร ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องของกระบวนการความรู้ ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสื่อสารในภาวะวิกฤต ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเจอกับภาวะวิกฤต ที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤต หน่วยงานของภาคเอกชนเองเขาอาจมีข้อได้เปรียบในเรื่องของความคล่องตัว แต่ก็เห็นว่า หากจะสื่อสารในภาวะวิกฤต หากเราอิงกับกระบวนการ แล้วเราเห็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเรา forecast แล้วว่า หากเกิดวิกฤตแบบนี้ แล้วผลที่จะเกิดขึ้นตามมากับเราและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรา ถ้าเราเห็นแบบนี้ ก็คิดว่าเรื่องของโครงสร้าง(ระบบราชการ) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะก็สามารถที่จะฟอร์มทีมที่เป็นลักษณะแบบ วอร์รูมหรือทีมที่สามารถจะสื่อสารได้เร็ว และมีประสิทธิภาพ ก็เชื่อว่าก็สามารถทำได้ ซึ่งpart นี้งานหลังบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

          ในสภาวะวิกฤต ส่วนตัวมองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสารอย่างเดียว แต่สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานกันไปคือการบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการภายในที่ทุกอย่างต้องไม่ซับซ้อน เพราะวิกฤตมันซับซ้อนมากพอแล้ว ดังนั้นกระบวนการทำงานทุกอย่างควรต้องมีความคล่องตัว

          -ช่วงที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ ระบบการให้ข้อมูลข่าวสารช่วงวิกฤตโควิด จะยึดข้อมูลการแถลงจากศบค.เป็นหลัก แต่ช่วงหลังหลายหน่วยงานที่รวมถึงรวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เองด้วย จนบางครั้งเกิดปัญหา ในเชิงการสื่อสารในสภาวะวิกฤต หลักควรเป็นอย่างไร ควรให้ศบค.เป็นเซนเตอร์หลักไปเลยที่เดียวหรือไม่?

          หลักก็ควรเป็นแบบนั้น เพราะศบค.คือลักษณะหน่วยงานแบบพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ อีกทั้งทีมงานโฆษกศบค. ที่มาถ่ายทอดสถานการณ์แต่ละวัน ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทีมโฆษกศบค. ทั้ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  หรือ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ทั้งสองคนก็มีศิลปะการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่น้ำเสียง คำพูด การอธิบาย ที่บอกตามตรงก็คือ ก็ช่วยลดความตึงเครียดด้วยศิลปะการถ่ายทอดของทั้งสองคน

           เพียงแต่ว่าระยะหลัง คิดว่ามันน่าจะเกิดจากการบริหารจัดการ มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน การไม่เห็นภาพเดียวกัน ของทีมงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีล่าสุดเรื่องของ"วัคซีน"ที่เป็นเรื่องซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ทำให้หน่วยงานที่เป็นด่านหน้าที่ต้องรับหน้ากับประชาชน ก็จะมีปฏิกิริยา react ออกมา ในลักษณะที่เขาเองก็ต้องปกป้องชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของหน่วยงานตัวเองเช่นกัน

          -ในอดีตที่อาจมีสภาวะวิกฤตในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างกรณีเหตุการณ์สึนามิ แต่ในอดีตยุคนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเลยไม่ซับซ้อนเหมือนยุคปัจจุบัน ที่เป็นยุคโซเชียลมีเดีย ตรงนี้ทำให้การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารยิ่งกว่ากว่าเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่?

          ก็ยาก แต่มันก็ท้าทายมากขึ้น และเป็นสถานการณ์ที่เราเลี่ยงไม่ได้

          ดังนั้น เมื่อเราทำงานสื่อสารในยุคนี้ สิ่งที่เราต้องรีบทำความเข้าใจและยอมรับเลยเพราะเมื่อเราใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ ทุกคนมีพื้นที่ มีเวทีในการแสดงความคิดเห็น โดยมีกลุ่มเพื่อน กลุ่มคนที่อยู่ในสังคมเสมือน บนสังคมโซเชียลมีเดียเขาก็พร้อมจะเข้ามาแสดงความคิดเห็นร่วมด้วย ก็ทำให้เมื่อเรามาเจอสภาวะวิกฤต และยิ่งเป็นวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน ทั้งเรื่องปัญหาปากท้อง ความปลอดภัยในเรื่องสุขภาพและการใช้ชีวิต ทุกคนก็พร้อมจะอินอยู่แล้ว เลยยิ่งทำให้การแสดงความคิดเห็น การแชร์ข่าวจริงหรือข่าวที่อาจเป็นข่าวเท็จ อะไรก็ไม่รู้ มันเกิดขึ้นอยู่แล้วและเกิดง่ายมาก

          คนที่ทำงานด้านการสื่อสารในองค์กรในยุคนี้โดยเฉพาะเมื่อต้องมาบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้คนแชร์สิ่งที่ถูกต้อง

          มันก็จะย้อนกลับมาว่าหัวใจสำคัญของการสื่อสารในภาวะวิกฤต fact คือสิ่งที่ดีที่สุด เราจะไปให้คนอื่นพูดแทนเราทำไม เพราะคนที่รู้ดีที่สุดคือตัวเรา และองค์กร เราจึงต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อเท็จจริงเพื่อให้คนแชร์ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ส่วนข้อเท็จจริงนั้น คนจะชอบหรือจะไม่ชอบ เป็นอีกเรื่อง เพราะเป็นสิทธิของเขา แต่ข้อมูลที่แชร์ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้  เรื่องอะไรที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ที่จะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่น ความไม่เข้าใจในสถานการณ์ภาครัฐ ก็ควรออกมาชี้แจง ออกมาแถลง อย่าปล่อยให้มันเลยเถิด

          ..เข้าใจดีว่าการสื่อสารในสภาวะวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่ทำงานจริง เขาก็อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การทำงานของเขา มันไม่ได้ง่ายแบบที่หลักการสื่อสารในภาวะวิกฤตว่าเอาไว้ แต่ทั้งนี้การบริหารจัดการสถานการณ์รวมถึงการสื่อสาร อย่างน้อยอยากให้คงหัวใจในเรื่องของ fact และ single massage เอาไว้ เพราะมันไม่ได้เกินศักยภาพที่จะทำได้ในเวลานี้ เพราะอย่างเรื่องเฟกนิวส์ ประชาชนหลายคนก็เริ่มรู้เท่าทันว่าเฟกนิวส์คืออะไร เขาเริ่มแยกแยะได้ เพราะเมื่อประชาชนเริ่มตั้งข้อสังเกตุ เขาก็จะมีการแสวงหาข้อมูลเป็นปกติอยู่แล้ว

          ดังนั้น ณ เวลานี้ สิ่งที่อยากให้สร้าง-ประคองและรักษาเอาไว้ คือเรื่องของ fact และ single massage ก่อนที่บรรยากาศหรือสถานการณ์มันจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้น

          -คิดว่าการสื่อสารในสภาวะวิกฤตในช่วงโควิด ฯ ของภาครัฐ หรือศบค. ถือว่าสอบผ่านหรือไม่?

          จริงๆ จะว่าเป็นการสอบก็คงไม่ได้ เพราะมันคือการทำงานจริง ๆ เราก็ไม่รู้ว่าที่ผ่านมา เขาเจอความท้าทายหรือเจอกับอะไรบ้าง หรือว่าทำไมกระบวนการถึงออกมาแบบนี้ แต่ที่ผ่านมา การให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เราในฐานะนักวิชาการเราเห็นถึงความตั้งใจในการให้ข่าวสาร การผลิตสื่อต่างๆ ออกมา เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เราเห็นตรงนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้สื่อช่องทางไหน  แต่สุดท้ายแล้ว ก็คือต้องมีการสื่อสารข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง

วิกฤตโควิดฯ การสื่อสารยังสอบไม่ผ่าน

ปิดท้ายที่ทัศนะจากอดีตนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง"ดร.เสรี วงษ์มณฑา-ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ -นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ที่สอนเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤตด้วยเช่นกัน"

          โดยเมื่อเราถามความเห็นว่า การสื่อสารของศบค.กับประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง "ดร.เสรี-ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯตอบชัดๆว่า ยังเป็นการสื่อสารที่ยังไม่อยู่ในระดับที่จะให้สอบผ่าน นอกเหนือจากการแถลงข่าวของทีมโฆษกศบค. ทั้ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ โดยนอกเหนือจากการแถลงข่าวเพื่อรายงานสถานการณ์รายวันแล้ว ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ และในภาวะที่เรายังมีความขัดแย้ง ก็ต้องสู้กับเฟกนิวส์ สู้กับคนที่ให้ความคิดเห็นในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตราการของรัฐบาล -การจัดหาวัคซีน ตรงกันข้ามกันสามารถช่วงชิงพื้นที่ได้เยอะกว่า และมีส่วนในการสร้างความสับสนหรืออุปทานหมู่ได้ เพราะฉะนั้นการเข้าใจของรัฐบาลทั้งเรื่องมาตราการเยียวยา การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บ การกระจายวัคซีน สับสนอลม่านหมด เพราะขาดการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จากกระแสที่ออกมา เราสามารถอ่านความระหว่างบรรทัดได้ว่าน่าจะมีความขัดแย้งกันอยู่บ้างระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ดร.เสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด (ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.เสรี วงษ์มณฑา)

          ถามต่อไปว่า เป็นเพราะหน่วยงานต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามจะให้ข่าวด้วย ทั้งที่ก็มีศบค.อยู่แล้ว เลยเหมือนกับเป็นการแย่งซีนกันเองของหน่วยงานภาครัฐหรือไม่ "ดร.เสรี"ให้มุมมองว่า ก็ไม่ถึงกับเป็นการแย่งซีน เพียงแต่ต่างคนก็ต่างมี agenda มีวาระของตัวเอง ก็จะนำเสนอตามเรื่องราวของตัวเอง โดยเมื่อวาระที่มีอยู่ มันไม่สอดประสานกัน เลยทำให้เกิดปัญหา อย่างเช่น"กรุงเทพมหานคร"ก็มีวาระของเขาที่ต้องดูแลคนกรุงเทพมหานคร หรือกระทรวงแรงงาน ก็มีวาระที่เขาต้องดูแลคนที่ใช้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33 และกระทรวงสาธารณสุข ก็มีวาระที่ต้องดูแลภาพรวมทั้งหมด แต่ก็มีการไปฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ก็เลยมีเรื่องของกระทรวงคมนาคมเข้ามาร่วมวาระด้วย แล้วก็อาจจะมีนักการเมืองซึ่งไม่รู้ว่าพื้นที่ไหนบ้าง ที่ก็อาจจะมีวาระของเขา เมื่อต่างคนต่างมีวาระเลยไม่ใช่เรื่องของการพยายาม"หาแสง"เหมือนกับที่บางคนเขาเป็นกัน เพราะพวกนี้เขาไม่ต้องหาแสง เพราะเขามีแสงอยู่แล้ว แต่เขามีวาระ อย่างกทม.เขาก็ต้องพยายามทำให้กทม.ออกมาดีที่สุดเช่นเดียวกับกระทรวงแรงงาน ส่วน"หมอพร้อม"ต้องดูแลคนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อนกลุ่มอื่น

          ...เมื่อต่างคนต่างมีวาระเลยทำให้เรื่องการสื่อสาร หรือการกระจายวัคซีน การฉีดวัคซีน มันก็เลยไปตามวาระของแต่ละคน แล้ววาระเหล่านี้ปรากฏว่ามันไม่สอดประสานกัน เพราะเมื่อนำวัคซีนไปให้ที่หนึ่งเพิ่มขึ้น ทำให้วัคซีนจากอีกแหล่งหนึ่งก็จะได้น้อยลง มันก็เลยมีความสับสนอลม่าน แล้วก็ทำให้เกิดความไม่พอใจของคนที่ไม่ได้ตามที่สัญญา การสื่อสารจึงออกมาที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจและความขัดแย้ง เช่น การเลื่อนการฉีดวัคซีน แทนที่จะคุยกันว่าจะเลื่อนออกไป 3 วัน 7 วัน ก็ไปประกาศกับประชาชนว่าเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งที่การถูกเลื่อน การประกาศเลื่อน เป็นสิ่งที่คุยกันได้ เช่น คนที่ไปบอกให้เลื่อน ก็บอกได้ว่าขอเลื่อนไปก่อน 3 วัน 5 วัน แต่เมื่อไม่มีการบอกเวลาการเลื่อนให้ออกมาชัดเจน คนถูกเลื่อนก็โกรธเพราะไม่สามารถรองรับประชาชนที่จะมาฉีดวัคซีนได้ เพราะหน่วยงานตัวเองเป็นคนนัดประชาชนให้มาฉีด แล้วมีการเลื่อน ประชาชนก็ต้องด่าคนที่ไปนัด เลยต้องมีคำพูดว่าเลื่อนไม่มีกำหนดเพราะไม่มีวัคซีนมา อยากรู้อะไรให้ไปถาม รมว.สาธารณสุข เราอ่านแค่นี้เราก็รู้แล้วว่าทะเลาะกัน แต่กระทรวงสาธารณสุข ก็มาบอกว่า ส่งมอบไปแล้ว ไปจัดการกันอย่างไร แต่กทม.บอกว่าได้มาไม่พอเลยต้องเลื่อน ขนาดมานั่งแถลงด้วยกัน ยังขัดแย้งกันเลย แล้วจะไปหาอะไรกับการพูดคนละที

          "หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถทำงานแบบบูรณาการกัน ทำให้การสื่อสารในสภาวะวิกฤตเลยเต็มไปด้วยข้อความที่ขัดแย้งและสับสน แต่ตอนหลังก็มีการทบทวนปรับปรุงกันให้เห็นบ้างแล้วเพราะตอนนี้คงเข็ดหลาบแล้ว จะมีการบูรณาการกันมากขึ้น ความสับสนคงลดลง"

          ทั้งหมดคือความเห็น-เสียงสะท้อน ต่อเรื่องการสื่อสารในสภาวะวิกฤตที่มีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ศบค.-กระทรวงสาธารณสุข-กรุงเทพมหานครรวมถึงรัฐบาล โดยมีบริบทถึงเรื่องการให้มีการปรับรูปแบบการให้ข่าวสาร ข้อมูลกับประชาาชน เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลจากภาครัฐมากขึ้น ไม่ใช่การสื่อสารแบบทางเดียวแบบที่ผ่านมา