APEC 2022 Thailand ประชาชนได้อะไร ? ในมุมมอง-ทัศนะสื่อ

นับถอยหลังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แล้ว สำหรับการเป็นจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific  Economic Cooperation: APEC) ที่ใช้ชื่องาน APEC 2022 Thailand โดยมีธีมหลักในการจัดประชุมคือ  Open. Connect. Balance ซึ่งไฮไลท์สำคัญของการประชุมเอเปคครั้งนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพก็คือ การประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในช่วงวันที่  18 - 19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร  

       ทั้งนี้  APEC คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก  เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง โดย เอเปกมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ  1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า  53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

        สำหรับสื่อมวลชนไทย พบว่าสื่อ-นักข่าว-กองบรรณาธิการข่าวทุกสำนัก ต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมสำหรับการเสนอข่าวการประชุมเอเปคครั้งนี้อย่างมาก นักข่าวหลายคนที่เป็นนักข่าวที่เข้ามาสู่ถนนสายนี้ได้ไม่นาน พบว่าต่างรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำข่าวการประชุมระดับโลกครั้งนี้อย่างมากเพราะถือเป็นประสบการณ์การทำงานที่จะถูกบันทึกไว้ในการทำงานข่าวของตัวเอง   

        “ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” พูดคุยกับตัวแทนกองบรรณาธิการข่าวของสื่อสองสำนัก ที่รับผิดชอบโดยตรงกับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการประชุมเอเปค ที่จะมาให้มุมมอง-ทัศนะเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชน ในช่วงการประชุมเอเปคครั้งนี้ 

สื่อที่จะทำข่าวเอเปค ต้องเข้าใจว่าเอเปคคืออะไร ใครจะคุยอะไรกันบ้างในการประชุมเวทีต่างๆ มีการประชุมเวทีอะไรบ้าง และการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค...สื่อ-นักข่าวต้องรู้ว่าแต่ละประเทศเขาจะคุยอะไรกัน..สื่อต้องดูหน้างานว่าผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เข้าประชุม มี statement คำแถลงอะไรออกมา ตัวนักข่าวที่ไปทำข่าวที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ก็ต้องดูว่า จะมี press release อะไรหรือไม่ และตัวผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแต่ละประเทศจะมีอะไรสื่อสารออกมาบ้าง แล้วก็เลือกหยิบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรามานำเสนอ

          เริ่มที่ "ดร.อนุชา เจริญโพธิ์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์Bangkok Post"ที่เล่าให้เราฟังว่า ทางกองบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post  และเว็บไซด์ข่าว https://www.bangkokpost.comให้ความสำคัญและให้พื้นที่กับการนำเสนอข่าวการประชุมเอเปคเป็นอันดับต้นๆ ในการนำเสนอข่าวสาร เพราะเป็นการจัดประชุมระดับชาติและระดับโลก เป็นการจัดประชุมระดับสากลที่จะส่งผลต่อ21 เขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงประชาชนที่อยู่ใน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

        ทาง Bangkok Post ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการจัดประชุมเอเปคครั้งนี้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอื่นๆ รวมถึงภาคเศรษฐกิจ-นักธุรกิจต่างๆ โดยสิ่งที่เป็นข่าว ประเด็นข่าวเกี่ยวกับการประชุมเอเปค ทางBangkok Post ได้นำเสนอข่าวมาตลอด โดยนับตั้งแต่มีข่าวอย่างเป็นทางการว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ทาง Bangkok Post ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอดต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอีเวนต์ หรือข่าวที่เกี่ยวกับเอเปคที่ไหน ก็จะมีการส่งนักข่าว ไปทำข่าวทุกครั้ง รวมถึงรายงานพิเศษต่างๆ เกี่ยวกับการประชุมเอเปค 

       จนกระทั่งเมื่อใกล้เข้าสู่การจัดประชุมเอเปคเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาจนถึงช่วงวันที่ 18-20 พ.ย.ที่เป็นช่วงวันสุดท้ายของการประชุมเอเปค ทางBangkok Post นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเอเปคทุกวัน มีการเปิดพื้นที่ในการนำเสนอตลอด มีการทำคอลัมน์ข่าว รายงานพิเศษเกี่ยวกับเอเปค มีการใส่โลโก้การประชุมAPEC 2022 Thailand ไว้ในการนำเสนอตลอดทุกวัน 

     โดยการแบ่งงานของกองบรรณาธิการข่าวทางBangkok Post หลักๆ จะให้นักข่าว-กองบก.ที่ดูแลงานข่าวเกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหลักในการติดตามทำข่าว เพราะการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคครั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมทั้งหมดส่วนใหญ่ก็จะมาจากกระทรวงการต่างประเทศ กับทางฝ่ายทำเนียบรัฐบาล ทางกองบก.ทางBangkok Post จึงให้นักข่าว-กองบก.ที่ดูกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวยืนหลักในการดูข่าวภาพรวมการประชุมเอเปค เช่นหากมีงานข่าวอะไรที่เกี่ยวข้องกับเอเปค เขาก็จะแจ้งมายังกองบก. เพื่อให้กองบก.พิจารณา ขณะที่ในส่วนของกองบก.ก็จะดูว่ามีงานเกี่ยวกับเอเปคในส่วนอื่นๆ อะไรบ้าง ที่น่าสนใจที่ควรส่งคนไปทำข่าว ขณะเดียวกัน นักข่าวสายอื่นๆ เช่นสายตำรวจ สายเศรษฐกิจ ก็ต้องร่วมมือกันในการติดตามทำข่าวการประชุมเอเปคครั้งนี้เช่นกัน เพราะขอบข่าวการประชุมเอเปค จะคาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายองคาพยพ หรือแม้กระทั่งข่าวในมุมอื่นๆเช่น เสียงสะท้อนเยาวชนต่อการประชุมเอเปคแบบนี้ สายสังคม ก็ต้องทำข่าวขึ้นมานำเสนอ ทำให้กองบก.ต้องมาช่วยกันในการทำข่าวการประชุมเอเปคครั้งนี้ 

                  "ดร.อนุชา-บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post "บอกว่าที่ผ่านมา การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการประชุมเอเปค นอกเหนือจากข่าวปกติแล้ว ทาง ทางBangkok Post  ก็มีการทำรายงานพิเศษประกอบหลายคอนเทนต์มาก โดยในส่วนนี้จะแยกเป็นสองส่วนคือ ในส่วนของตัวหนังสือพิมพ์Bangkok Post กับส่วนของเว็บไซด์ข่าว-สื่อออนไลน์ Bangkok Post 

      โดยในส่วนของออนไลน์ www.bangkokpost.com จะเน้นการนำเสนอในรูปแบบของ micro size ที่เป็นเรื่องย่อยๆ เน้นโฟกัสรายประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับเอเปค เรื่องทุกอย่างจะอยู่ใน micro size ตรงนี้หมด

       ตรงนี้ผมก็มีส่วนร่วมในการทำเช่นกัน โดยได้ให้ข้อมูล data ที่เกี่ยวกับเอเปค อย่างเช่น เอเปคปีนี้ ใช้ธีมว่าอะไร เปิดกว้าง-สร้างสัมพันธ์-เชื่อมโยงสู่สมดุล Open. Connect. Balance แบบนี้เป็นต้น หรือการจัดประชุมครั้งนี้ ทางรัฐบาลมีการจัดเตรียมของที่ระลึกสำหรับให้กับผู้นำและผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปคอะไรบ้าง หรือการให้ข้อมูลพื้นฐานเช่น เอเปคคืออะไร ข้อมูลทุกอย่างจะอยู่ใน micro size อันนี้ และทุกวันเรื่องราวเกี่ยวกับเอเปคที่เป็นข่าว ก็จะถูกนำเสนอไว้ใน micro size อันนี้ ดังนั้นคนอ่านหรือคนที่อยากรู้เรื่องเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพก็สามารถเข้าไปติดตามได้ที่www.bangkokpost.comจะมีคอนเทนต์หลายแง่มุม แล้ว search เข้าไปก็จะมีข่าวเอเปครวมไว้ในเซคชั่น APEC 2022 

    โดยในส่วนของการทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับ APEC 2022 Thailand ทางกองบก.bangkokpostมีการทำมาแล้วหลายเรื่องเยอะมาก อย่างเท่าที่จำได้เช่นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เราก็ทำscoop พิเศษ สัมภาษณ์ประชาชนทั่่วไปบนท้องถนนเลยว่า"คุณคิดว่า การประชุมเอเปค ครั้งนี้ให้ประโยชน์อย่างไรกับคนไทยบ้าง" หรือ"ประชาชนรู้ความสำคัญของเขตเศรษฐกิจเอเปค มากน้อยขนาดไหน" 

       ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็มีเช่น การให้นักข่าวของเราไปสัมภาษณ์ นายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัยในการจัดประชุมเอเปครวมถึงเรื่องการจัดระบบการจราจนในช่วงการประชุมเอเปค ครั้งนี้คือ พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รองผบ.ตร. เพื่อสัมภาษณ์ภาพรวมการรักษาความปลอดภัยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มาร่วมประชุม ตลอดจนการสัมภาษณ์การเตรียมความพร้อมและภาพรวมในการจัดประชุมเอเปคในส่วนของรัฐบาลเช่น การสัมภาษณ์พิเศษ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล ที่ได้ให้ข้อมูลต่างๆ เช่นการจัดนิทรรศการต่างๆ เพื่อรองรับการประชุมเอเปคเช่นการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องของ BCG  (Bio-Circular-Green  Economy)ที่เป็นธีมที่ประเทศไทยจะฉายภาพในช่วงการประชุมเอเปคว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจแบบBCG เพื่อสร้างเศรษฐกิจสมดุลให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม

        ขณะที่ business section ของกองบก. ก็มีการสัมภาษณ์นักธุรกิจ ภาคธุรกิจ เพราะการจัดประชุมเอเปค จะมีหลายเวที เช่นเวทีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคช่วง 18-19 พ.ย.ที่จะถึงนี้ แต่ว่าก่อนหน้านั้นเรื่อยมา ก็มีการจัดประชุมหลายเวทีอาทิการประชุมรัฐมนตรีเอเปค หรือการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ตั้งแต่ 15-16 พ.ย. หรือการจัดประชุม CEO Summit ที่เป็นการประชุมนักธุรกิจที่เป็นตัวแทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ที่มีการพูดคุยเรื่องข้อเสนอ ไอเดียต่างๆ มาพูดคุยในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโควิดฯ เพื่อส่งต่อความเห็นดังกล่าวในเวทีประชุมผู้นำเอเปค 18-19 พ.ย.นี้ ในส่วนนี้นักข่าว-กองบก.โต๊ะเศรษฐกิจ ก็จะทำออกมา 

         เมื่อถามถึงว่าเท่าที่ติดตาม มอนิเตอร์ การนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศ สำนักข่าวต่างประเทศ มีการให้ความสนใจหรือนำเสนอข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคของไทยครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน "ดร.อนุชา -บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post "บอกว่า เท่าที่เห็น สื่อต่างประเทศเขารู้ว่าไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ โดยเท่าที่ดูการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศผ่านเว็บไซด์ข่าวต่างๆ ก็พบว่าสื่อต่างประเทศก็นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวการจัดประชุมตามที่มีการให้ข่าวอย่างเป็นทางการเช่นการแถลงข่าวการจัดประชุมเอเปคในโอกาสต่างๆ โดยนำเสนอในรูปแบบของการรายงานข่าวประจำวันต่างๆ แต่ในเรื่องของการนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ การลงลึกในแต่ละประเด็นก็พอเห็นมีอยู่บ้าง โดยจากที่กระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลว่ามีสื่อลงทะเบียนเพื่อจะทำข่าวการประชุมเอเปคครั้งนี้มีสื่อต่างประเทศมากกว่าสองพันคน ก็ถือว่าเยอะ เรียกได้ว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากสื่อต่างประเทศและสื่อไทย ก็แสดงว่าสื่อต่างประเทศให้ความสำคัญกับเวทีประชุมเอเปคครั้งนี้ที่ถือเป็นเวทีการประชุมใหญ่ที่สำคัญระดับนานาชาติ

        "ดร.อนุชา"ให้มุมมองหลังเราถามว่าสื่อมวลชนควรต้องโฟกัสหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมเอเปคครั้งนี้ก่อนทำข่าวประชุมเอเปคในประเด็นใดบ้าง โดยบอกว่า ในภาพรวมแล้วการประชุมเอเปค ที่จริงๆ มีหลายเวทีเพราะมีตั้งแต่ 14 พ.ย.เป็นต้นมา เช่นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปครอบสุดท้าย ช่วง 15-16 พ.ย. รวมถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีการค้าเศรษฐกิจเอเปคด้วย ในวันที่ 17 พ.ย. และจบที่ไฮไลท์คือการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 18-19 พ.ย.

      ...เพราะฉะนั้นสื่อที่จะทำข่าวเอเปค ก็ต้องเข้าใจว่าเอเปคคืออะไร ใครจะคุยอะไรกันบ้างในการประชุมเวทีต่างๆ มีการประชุมเวทีอะไรบ้าง และการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคช่วง 18-19 พ.ย. ที่ผู้นำหรือตัวแทน ที่เป็นระดับบิ๊กๆ ของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ที่จะมาประชุม ที่เมื่อมาแล้วก็ต้องมีการประชุมระหว่างประเทศเกิดขึ้น ประเด็นสำคัญคือสื่อ-นักข่าวต้องรู้ว่าแต่ละประเทศเขาจะคุยอะไรกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประเทศเล็กๆ ก็จะต้องขอคุยกับผู้นำประเทศใหญ่ๆ ในลักษณะการพบปะพูดคุยแบบทวิภาคี เพื่อที่จะสร้าง power หรือสร้างการ balance อะไรต่างๆ นักข่าวที่รับผิดชอบการทำข่าวในส่วนนี้ ก็ต้องติดตามว่าผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแต่ละประเทศที่มาร่วมประชุม เขามีประเด็นอะไรบ้างที่จะคุยกัน และเขาจะขอพูดคุยกับใครบ้าง เช่นประเทศไทยอาจจะขอหารือแบบทวิภาคีกับจีน ตรงนี้นักข่าวก็ต้องดูว่าจะคุยกันเรื่องอะไร พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีของไทยจะคุยกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน อย่างไรและคุยเรื่องอะไร นักข่าวก็ต้องไปดูหน้างานตรงนั้น โดยนักข่าวก็ต้องเตรียมคำถามที่เกี่ยวข้องกับการประชุม การหารือ และคำถามที่สื่ออยากรู้ที่อาจจะเป็นประเด็นของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง

     ....นอกจากนี้ สื่อต้องดูหน้างานว่าผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เข้าประชุม เขามีstatement คำแถลงอะไรออกมา ตัวนักข่าวที่ไปทำข่าวที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ก็ต้องดูว่า จะมีpress release อะไรหรือไม่ และตัวผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแต่ละประเทศจะมีอะไรสื่อสารออกมาบ้าง แล้วก็เลือกหยิบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรามานำเสนอ 

     "บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์Bangkok Post " ย้ำเรื่องการทำบ้านของสื่อมวลชนในการทำข่าวเอเปคว่า รายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมเอเปคว่ามีอะไรบ้าง เป็นเรื่องสำคัญที่นักข่าวต้องให้ความสำคัญ ต้องรู้เรื่องนี้ในการทำข่าวเอเปค อย่างในส่วนของที่ประเทศไทยชูเรื่องBCG Economy สื่อก็ควรรู้ว่า การที่ไทยเป็นประธานการประชุมเอเปค แล้วตัวนายกรัฐมนตรีของไทย จะมีแนวทางการหารือเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังโควิดฯ ที่ดูแล้วน่าจะมีประเด็นที่น่าสนใจเพราะหลังมีการปิดประเทศกันไป2-3 ปี จนทำให้การประชุมเวทีต่างๆ ผู้นำแต่ละประเทศไม่ได้ประชุมกันแบบon site meeting จึงน่าจะมีประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้อง เช่นเรื่องระบบสาธารณสุข ท่ามกลางความท้าทายของโลกยุคปัจจุบัน ที่จะมีการผลักดันให้แต่ละประเทศร่วมกันรับรองว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจแบบ BCG เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่สื่อน่าจะติดตามในการนำเสนอข่าว 

      ถามปิดท้ายว่าในมุมมองของสื่อ คิดว่าสิ่งที่ประเทศไทย คนไทยจะได้รับจาการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้คืออะไร ทัศนะจาก "บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post"เขาให้ความเห็นว่าถ้าการจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้นำที่มาร่วมประชุมได้รับการดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดีตลอดช่วงการเดินทางมาร่วมประชุมที่ประเทศไทย โดยไม่ได้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และผลการประชุมเอเปคมีประเด็นที่น่าสนใจออกมา ก็คิดว่าภาพบรรยากาศที่ออกมาหลังการประชุมเอเปค ก็จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างมากในประเทศไทย เพราะอย่าลืมว่า21 เขตเศรษฐกิจเอเปคล้วนมีความสำคัญ ที่หากการประชุมดำเนินไปด้วยดี ก็จะส่งเสริมเรื่องการลงทุนในประเทศไทยในทุกๆมิติตามมาในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนในบริบทของ BCG Economy ในประเทศไทย เพราะการที่นักลงทุนต่างชาติจะไปลงทุนในต่างประเทศ เขาก็ต้องดูความพร้อมของประเทศที่สนใจอยากเข้าไปลงทุน ที่ก็ต้องมีเรื่องของ ความมั่นคง ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของกลุ่มนักลงทุน 

                  "การประชุมเอเปคครั้งนี้ เปิดให้โลกได้รับรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ไทยมีอะไรบ้างที่สำคัญ แต่ก็อยากเห็นการประชุมครั้งนี้ ควรคุยกันในเรื่องที่ลงไปในระดับจุลภาค นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจในภาพใหญ่แล้ว ก็คือ อาจควรมีการคุยกันว่าแล้วประชาชนคนไทย รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อยู่ใน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคที่เป็นประชาชนทั่วไปในระดับย่อย เขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการประชุมเอเปค ก็อยากให้มีการนำเสนอออกมาให้คนเห็นอย่างเป็นรูปธรรม"บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ระบุตอนท้าย  

สื่อมวลชนควรจะ

ย่อยเรื่องให้คนเข้าใจได้ง่าย

“แม้เวทีประชุมเอเปค จะเป็นเรื่องมหภาค เวทีซึ่งภาคธุรกิจจะคุยกัน แต่สื่อมวลชนควรจะย่อยเรื่องให้คนเข้าใจได้ง่าย โดยอาจยกตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จว่าเขามีเทคนิคอย่างไร อย่างเช่น จีน เขามีวิธีการอย่างไรในการแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เพราะบางทีเนื้อหาที่ได้จากการประชุมเอเปคอาจไม่พอ อาจต้องมาขยายความเพิ่มเติมโดยมีกรณีเปรียบเทียบให้เห็น จะทำให้คนไทย คนที่รับสารได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม เพราะการประชุมแต่ละครั้ง ก็แน่นอนว่าจะต้องมีปฏิญญาร่วมต่างๆ แต่คนทั่วไป จะไม่ค่อยสนใจตรงนั้น แต่สนใจว่าแล้วเขาจะได้อะไรมากกว่า”           

ขณะที่”ชิบ จิตนิยม บรรณาธิการข่าวต่างประเทศเนชั่นทีวี”คนข่าวประสบการณ์สูง ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการนำเสนอข่าว-การวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศมาหลายปีให้ความเห็นว่าเรื่องของเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับการประชุมเอเปค เป็นเรื่องที่ในทางข่าวมีความน่าสนใจอยู่แล้ว โดยในส่วนของ เนชั่นทีวีจะเน้นเรื่องของความลึก และมีเรื่องของวิชาการที่ประชาชนทั่วไปอาจดูแค่ประเด็นว่าจะมีผลกระทบกับตัวเอง ทางเราก็พยายามหาประเด็นข่าวเกี่ยวกับเอเปคว่าจะมีเรื่องไหนที่มีผลกระทบโดยตรงที่ประชาชนสัมผัสได้ ซึ่งเราดูจากประเด็นต่างๆที่เป็นวาระการประชุมของเอเปคจากคู่มือที่กระทรวงการต่างประเทศให้มา พบว่าจะมีวาระการประชุมไม่ต่ำกว่า 50   วาระ เช่นเรื่องเกษตร การศึกษา สิทธิสตรี การประมง เรื่องธุรกิจSME เราก็พยายามที่จะไปเอาเนื้อหาที่มีผลกระทบกับคนมากที่สุดมานำเสนอ

       “บรรณาธิการข่าวต่างประเทศเนชั่นทีวี”กล่าวว่าในช่วงใกล้ถึงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ทำให้เนชั่นทีวี มีการวางแผนการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเอเปคแบบเข้มข้น เช่นจะมีรายการที่แยกเฉพาะเกี่ยวกับเอเปค ในช่วงรายการเนชั่นทันโลก ที่เป็นข่าวต่างประเทศล้วนๆ ที่นำเสนอในช่วง 23.00-23.30 น. เราก็จะเกาะติดความเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับการประชุมเอเปค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสันการประชุม –การเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการจัดประชุมเอเปค ซึ่งความจริง ก่อนหน้านี้ เราก็มีการเกาะติดการเสนอข่าวเอเปคมาเป็นระยะ แต่จะเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ที่จะมีการประชุมเอเปค เช่นมีการรายงานสดจากศูนย์ประชุมสิริกิต์ มีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเท่าที่สามารถจะทำได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเว็บไซด์ข่าวภาษาอังกฤษในเครือคือ www.nationthailand.com ก็จะมีบทสัมภาษณ์บุคคลเช่นบุคคลจากภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเอเปค ที่จะทำให้คนไทยและคนต่างชาติ สามารถรับทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ ของการประชุมเอเปค โดยทางทีมงานกองบก.เนชั่นทีวีและกองบก.เว็บไซด์เนชั่นไทยแลนด์ฯ ก็มีการผนึกกำลังกันมาช่วยกันในช่วงนี้ จากเมื่อก่อนหน้านี้ ทีมทีวีก็ทำในส่วนของทีวี ฝ่ายออนไลน์ก็ทำของออนไลน์ไป แต่ตอนนี้ก็มีการรวมบุคลากรของสองกองบก.ดังกล่าวมาทำงานร่วมกันเพื่อทำข่าวแบบเจาะลึก เช่นการส่งทีมงานออกไปสัมภาษณ์ หรือไปร่วมเสวนาตามเวทีต่างๆ ที่เกี่ยวกับเอเปค 

       ...ที่ผ่านมา เราก็เกาะติดการทำข่าวเอเปคมาตลอด ไม่ว่าจะมีงานที่ไหนและใครจัดเช่น งานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ที่จัดขึ้น ทางทีมงาน ก็มีการส่งนักข่าวไปทำข่าวและเผยแพร่ข่าวสาร หรือการนำเสนอมุมมองของคนที่เกี่ยวข้องเช่น ความเห็นจากภาคนักธุรกิจต่อการประชุมเอเปค ก็มีการนำเสนอออกมาต่อเนื่องตลอดอยู่แล้ว

        “บรรณาธิการข่าวต่างประเทศเนชั่นทีวี”กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะถึงไฮไลท์การประชุมผู้นำเอเปคช่วง 18-19 พ.ย.นี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าปี 2565 ตลอดทั้งปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเวทีต่างๆของเอเปคมาตลอด ทั้งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี ที่มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเนชั่นทีวีทำข่าวการประชุมเอเปคมาต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศ ก็เคยร่วมพูดคุยทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน โดยมีการสอบถามความเห็นสื่อมวลชนว่าสนใจอยากทำข่าวเอเปคประเด็นไหน และมีข้อเสนอเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งสื่อก็ได้นำเสนอประเด็นที่สื่ออยากนำเสนอว่ามีประเด็นอะไรบ้าง

         ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายรัฐบาลไทย ที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะเช่นเรื่องสภาพภูมิอาการที่เปลี่ยนแปลง เรื่องของการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับเรื่องของสภาวะโลกร้อน มีการชูเรื่อง BCG ขึ้นมา โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  โดยจะมี Bangkok Goals on BCG | APEC ที่ถือว่าจะเป็นจุดเด่นของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ 

         นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องอื่นๆที่สื่อเคยนำเสนอเช่นเรื่อง SME ว่าการประชุมเอเปค สิ่งที่ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือเรื่อง SME รวมถึงเรื่องอื่นๆเช่น สิทธิของสตรี ซึ่งเวทีคู่ขนานต่างๆ ก็มีความเห็นตรงกันว่า ในเวทีคู่ขนาน โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจ-เศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะโดยหลักการทั่วไปอย่างที่ทราบคือ การประชุมเอเปคจะเป็นการประชุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ว่าทุกครั้ง เท่าที่ผมเคยทำข่าวการประชุมเอเปคมาไม่ว่าจะเป็นที่ไหน  มันจะหนีไม่พ้นที่จะมีเรื่องของการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องความขัดแย้งต่างๆ 

การประชุมเอเปคครั้งนี้ผมเชื่อว่า สิ่งที่เกี่ยวเนื่องที่อาจจะไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจเลย แต่อาจเป็นเรื่องของสถานการณ์ในยูเครน เหตุการณ์ที่มันรุนแรง เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องจีน-ไต้หวัน ก็ยังเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่ทั่วโลกก็ต้องหยิบยกเรื่องพวกนี้มาพูด ซึ่งปีนี้ ก็แรงมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เรื่องของผู้นำจีน ไต้หวัน เรื่องของเกาหลีเหนือ ผมว่าก็ยังเป็นประเด็นที่สื่อส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากกว่าที่จะเน้นเรื่องของเศรษฐกิจ ธุรกิจ เรื่องต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายหลักของเอเปค 

...มีตัวอย่างที่เกิดขึ้น อย่างการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของเอเปค เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมก็ไปทำข่าวเหมือนกัน ในครั้งนั้นเหตุการณ์ที่ยูเครนกำลังซีเรียสหนัก ผู้สื่อข่าวก็ไปดู ทำไมมีการwalk out สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ที่walk out ตอนที่รัฐมนตรีการค้าของรัสเซียขึ้นพูด เพราะฉะนั้นสื่อต่างชาติรวมถึงสื่อไทย ก็จะให้ความสนใจกับประเด็นพวกนี้มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ผมก็เคยถามคนที่เคยร่วมงานที่มาจากภาคเอกชน เขาก็บอกว่าไทยอาจอยู่ในภาวะที่ลำบากใจเล็กน้อย เพราะหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ก็ต้องใช้ความสามารถในการที่จะ ทำให้การประชุมเดินหน้าต่อไป แต่ผมเชื่อว่าจุดยืนของแต่ละประเทศ อย่าง สหรัฐอเมริกาต่อเรื่องของรัสเซีย และจีน เอาเข้าจริง มันก็อาจมีบรรยากาศที่อึมครึม

...ผมเคยคุยกับรัฐมนตรีการค้าของรัสเซีย เขาก็บอกว่า เขาก็เข้าใจ และไม่ได้โทษประเทศไทยว่าจัดการไม่ดี โดยมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของการแสดงจุดยืนท่าที แต่เขาพูดน่าสนใจว่า ควรจะดูว่าประโยชน์อะไรจากการประชุมนี้ที่คนที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ควรจะได้ เพราะหากไปติดชะงักกับเรื่องการเมือง แล้ว walk out มันก็เดินหน้าไม่ได้ แต่มันก็เป็นประเด็นที่ส่วนใหญ่จะจับจ้องกันตรงนี้มากกว่า แต่ว่าเรื่องสาระสำคัญต่างๆเช่นการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน การขจัดเงื่อนไขอัตราภาษีศุลกากร ต่างๆ เป็นเรื่องที่ผมว่าเป็นเชิงวิชาการ คนที่อยู่ในวงการธุรกิจเท่านั้นที่อาจให้ความสนใจอย่างจริงจัง 

“บรรณาธิการข่าวต่างประเทศเนชั่นทีวี”กล่าวต่อไปว่า มีการวิเคราะห์ว่า เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค เพราะการจัดประชุมเวทีต่างๆที่จัดมาแล้วหลายครั้งในปีนี้ ก็มีคณะผู้แทน-เจ้าหน้าที่ของ21 เขตเศรษฐกิจเอเปคที่มาร่วมประชุม ก็ทำให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศจากคนที่เดินทางมาร่วมประชุมได้จับจ่ายใช้สอย และในการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่จะมีขึ้นที่จะมีทั้งผู้นำ เจ้าหน้าที่ซึ่งติดตามมาร่วมประชุม ทำให้มีการใช้จ่ายต่างๆ เช่น การพักโรงแรม  เรื่องของอาหารการกิน การซื้อสินค้าต่างๆ ที่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ฉับพลันที่เราจะได้จากการประชุมเอเปค ส่วนผลประโยชน์ระยะยาว มองว่าตอนนี้ทั่วโลกกำลังต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อ การแก้ปัญหาจากวิกฤตโควิด การประชุมเอเปคจึงเป็นเวทีการประชุมที่ดีในการทำให้เรามีความหวังเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยอาจจะให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องที่เราเข้าใจถึงผลกระทบที่มันเกิดขึ้น

เมื่อถามถึงว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์การทำข่าวการประชุมระดับนานาชาติในเวทีใหญ่ๆมาหลายครั้ง คิดว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้ มีประเด็นที่สื่อควรโฟกัสเป็นพิเศษในการทำข่าวเอเปคครั้งนี้เรื่องใดบ้าง “บรรณาธิการข่าวต่างประเทศเนชั่นทีวี”ให้มุมมองว่า เป็นแนวโน้มที่น่ายินดีที่พบว่าเท่าที่ดูจากเพื่อนสื่อมวลชนด้วยกัน ก็มีบางสถานีข่าวโทรทัศน์ ที่เกาะติดการทำข่าวเอเปค มีการรายงานสดค่อนข้างเยอะ ซึ่งตอนนี้ ไม่ได้มีแค่สื่อโทรทัศน์ แต่ยังมีสื่อออนไลน์อีกจำนวนไม่น้อย ทำให้ดูแล้วเนื้อหาต่างๆ จะดีกว่าในอดีตเยอะ อย่างบทวิเคราะห์ต่างๆ ก็จะพบว่ามีการเขียนกันผ่านสื่อออนไลน์ให้เห็นจำนวนมาก ทั้งเว็บไซด์ เฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่พบว่าให้ความสนใจและนำเสนอเกี่ยวกับเอเปคค่อนข้างเยอะ และน่าจะทำได้เต็มที่เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลาการออกอากาศ 

สำหรับที่ถามว่าสื่อควรเน้นในประเด็นใดเป็นพิเศษ ตรงนี้ อยากบอกว่า ผมเคยอ่านบทวิเคราะห์ของนักวิชาการบางคน ที่บอกว่าเขตเศรษฐกิจเอเปค เป็นตลาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก มีประชากรรวมกันสามพันกว่าล้านคน คิดเป็นสามสิบแปดเปอร์เซนต์ของประชากรโลก ซึ่งหากพูดถึงเรื่องความยากจน มีข้อมูลชัดเจนว่า ตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตอนนั้นสมาชิกเอเปคทุกชาติ มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นขีดความยากจน มากกว่าสี่สิบเปอร์เซนต์ แต่พัฒนาการมาถึงตอนนี้เหลือแค่ประมาณ 1.8 เปอร์เซนต์เอง ที่ถือว่าอัตราความยากจนของประชาชนในเขตเศรษฐกิจเอเปค ลดลงไปอย่างน่าพอใจมาก 

สื่อมวลชนเราควรให้ความสนใจว่าทำไมกลุ่มเอเปค อย่างจีนที่เป็นประเทศใหญ่มาก สามารถขจัดความยากจนทำให้คนพ้นจากความยากจนได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะคนมักจะไปมองว่าเอเปคคือเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่มหภาค แต่จะทำอย่างไรให้คนเห็นว่าเอเปค ทำให้ธุรกิจ SME มีความหวัง จะไปช่องทางไหน ไม่ใช่พูดถึงแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ควรดูว่า SME จะได้ประโยชน์อะไร จากมุมมองวิสัยทัศน์ของซีอีโอ หรือภาครัฐแต่ละประเทศจะเปิดช่องทางอย่างไรให้กับประชาชน ให้ธุรกิจSMEต่างๆสร้างโอกาสการเติบโตได้ ซึ่งหากสื่อมวลชนไทย นำเสนอเรื่องตรงนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับคนไทยจริงๆ เช่นเรื่องการทำมาหากิน เรื่องของอุปสรรคการค้าอะไรที่เราควรต้องระวัง 

“แม้เวทีประชุมเอเปค จะเป็นเรื่องมหภาค เวทีซึ่งภาคธุรกิจจะคุยกัน แต่สื่อมวลชนควรจะย่อยเรื่องให้คนเข้าใจได้ง่าย โดยอาจยกตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จว่าเขามีเทคนิคอย่างไร อย่างเช่น จีน มีวิธีการอย่างไรในการแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เพราะบางทีเนื้อหาที่ได้จากการประชุมเอเปคอาจไม่พอ อาจต้องมาขยายความเพิ่มเติมโดยมีกรณีเปรียบเทียบให้เห็น จะทำให้คนไทย คนที่รับสารได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม เพราะการประชุมแต่ละครั้ง ก็แน่นอนว่าจะต้องมีปฏิญญาร่วมต่างๆ แต่คนทั่วไป จะไม่ค่อยสนใจตรงนั้น แต่สนใจว่าแล้วเขาจะได้อะไรมากกว่า” บรรณาธิการข่าวต่างประเทศเนชั่นทีวี ให้มุมมองไว้ 

ทั้งหมดคือความเห็น-ทัศนะของสองบรรณาธิการข่าวที่ให้มุมมองต่อการประชุมเอเปคในครั้งนี้ โดยเฉพาะการทำงานของสื่อในการทำข่าวเอเปค ที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนสำหรับสื่อสารมวลชนทุกคน