“มองยากว่าใครจะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ต้องดูระยะยาวกันไป แต่บรรยากาศการแข่งขันและกระแส คล้ายกับคราวที่ผ่านๆมา ยังสนุกเหมือนเดิม แต่ละทีมพยายามทำผลงาน ไปสู่ความสำเร็จให้ได้ แต่ปีนี้ทีมของชาติในเอเชียแข่งขันชนะ ทำให้คนตื่นตัวน่าจับตาเป็นพิเศษ ว่าผลงานชาวเอเชียไม่ได้เป็นรองใคร”
.
.
กระแสความนิยมกีฬาของคนไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ การแข่งขันวอลเลย์บอล รวมถึงฟุตบอล ซึ่งเป็น 1 ในกีฬายอดนิยมที่คนไทยชื่นชอบ “วิรวิชญ์ เจริญเชื้อ” บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว Main Stand และผู้ประกาศรายการ "ลุยสนามข่าวเย็น" ช่อง T Sports 7 ถ่ายทอดเรื่องราวของ ฟุตบอลโลก 2022 ผ่านมุมมองของสื่อมวลชนสายกีฬา ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า
“มองยากว่าใครจะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ต้องดูระยะยาวกันไป แต่บรรยากาศการแข่งขันและกระแส คล้ายกับคราวที่ผ่านๆมา ยังสนุกเหมือนเดิม แต่ละทีมพยายามทำผลงาน ไปสู่ความสำเร็จให้ได้ แต่ปีนี้ทีมของชาติในเอเชียแข่งขันชนะ ทำให้คนตื่นตัวน่าจับตาเป็นพิเศษ ว่าผลงานชาวเอเชียไม่ได้เป็นรองใคร ทำได้ยอดเยี่ยมมากๆ ในการแข่งขันนัดแรก”
คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ทำให้ฟุตบอลโลกคราวนี้ ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ไม่มีใครรู้ว่าซาอุดิอาระเบีย จะชนะอาร์เจนตินาได้ เพราะอาร์เจนตินาไม่เคยแพ้มา 3-6 เกมติดกัน ในช่วง 3-4 ปีแล้ว และญี่ปุ่นชนะเยอรมัน ที่เป็นแชมป์เก่าในปี 2004 ต่างจากการแข่งขันคราวก่อนๆ มีแต่ทีมชาติยุโรปและอเมริกาใต้ ที่ผลงานออกมาดี
ขณะที่กองเชียร์มีสีสันน่าจับตา คือ ซาอุดิอาระเบีย และญี่ปุ่น ทุกครั้งที่เข้าชมจะเห็นภาพ วัฒนธรรมกองเชียร์ชาวญี่ปุ่น ร่วมกันเก็บขยะและทำความสะอาด บริเวณอัฒจันทร์เชียร์ ทำให้เป็นภาพที่แฟนบอลประทับใจ แม้แต่สื่อต่างประเทศก็ยังชื่นชม
ในส่วนของประเทศไทย สำหรับการรับชมต้องย้อนไปที่การออกกฎระเบียบมัสต์ แฮฟ และมัสต์ แคร์รี่ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีเจตนารมณ์ให้คนไทย ได้ดูการถ่ายทอดสดกีฬาแมตใหญ่ ๆ แบบทั่วถึงและดูฟรี ซึ่งมีอยู่ 7 รายการ
ฟุตบอลโลกหนนี้ รัฐบาลมีกฎมัสต์ แฮฟ ว่าจะต้องนำการแข่งขัน มาให้ประชาชนได้ดู ทำให้ภาคเอกชนรอดูทีท่าของรัฐบาล ไม่มีใครกล้าลงขันเข้าไปเจรจาซื้อ โดยเฉพาะภาคเอกชน ทำให้ค่าลิขสิทธิ์สูงขึ้นกว่าเดิม แตกต่างจากชาติอาเซียนอื่นๆ เพราะรัฐเปิดโอกาสให้เอกชน ที่อยากจะซื้อลิขสิทธิ์สามารถซื้อได้เลย และทำการตลาดได้ทันที ให้ดูฟรีครบทุกแมตซ์ ส่วนจะหารายได้จากค่าสปอนเซอร์ ตรงนี้ได้คุ้มทุนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
บางประเทศซื้อลิขสิทธิ์ล่วงหน้า ถึง 8 ปี ขณะที่ประเทศไทย ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ในช่วงใกล้การแข่งขัน ส่วนการคำนวณค่าลิขสิทธิ์ ฟีฟ่าจะคำนวณจากภาคพื้นและการเข้าถึงของประชาชน เช่น อินโดนีเซียมีประชากร 100 กว่าล้านคน ลิขสิทธิ์จะแพงกว่าประเทศสิงคโปร์ ที่มีประชากรไม่เท่าอินโดนีเซีย
หากย้อนกลับไปปี 2014 บริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ช่วงนั้นก็มีการฟ้องร้องว่าความจริงแล้ว ควรจะได้ดูฟุตบอลโลกฟรีหรือไม่ ซึ่งบริษัทอาร์เอส มองว่าไม่ควรระบุตรงนี้ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจในขณะนั้น แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 ไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลหาผู้ร่วมลงขันได้ค่อนข้างเร็ว
สำหรับประโยชน์ในการชมฟุตบอลโลก อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในแง่ของความสนใจ และทำให้มีสีสันต่าง ๆ บางครั้งนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยในช่วงฟุตบอลโลก อาจทำให้ธุรกิจร้านอาหาร ที่มีการเปิดชมทำรายได้จำนวนมาก แต่ก็นำมาซึ่งคำถามของนักวิชาการบางท่าน ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ สู้นำเงินงบประมาณของรัฐ ไปดูแลปากท้องประชาชน หรือดูแลส่วนอื่นดีกว่าหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง
หากพิจารณาถึงสาเหตุที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย ทำไมประเทศไทย ต้องนำเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 คงต้องย้อนกลับไปที่การตั้งกฎมัสต์ แฮฟ และมัสต์ แคร์รี่ เมื่อมีกฎตรงนี้รัฐบาลจะต้องอุ้มเงิน ในการซื้อลิขสิทธิ์ มาให้คนไทย ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเงินภาษีของประชาชน ทั้งนี้ในการนำเงินมาสร้างความสุข ให้กับแฟนบอลชาวไทยได้ดูกันแบบฟรี ๆ ก็ถือว่าตอบโจทย์ แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชนทุกกลุ่ม
“ส่วนตัวผมมองว่า ถ้านำการถ่ายทอดแข่งขันฟุตบอลโลก ไปสู่กลไกทางธุรกิจ โดยที่ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วน ในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์เอง จะเป็นวิธีที่ทำให้มีช่องทางธุรกิจ ภาคเอกชนดำเนินการได้ง่ายขึ้นจะดีหรือไม่ และไม่เกิดคำถามว่า รัฐบาลนำเงินตรงนี้ไปใช้ เพื่อความสุขของประชาชนจริงหรือไม่”
เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ การรับชมทั้ง 64 คู่ เขาต้องจ่ายเงินเป็นแพคเกจทั้งหมด แพคเกจละ 1,000 กว่าบาท ก็มีคนยอมจ่ายเงินที่จะซื้อ หรือสิงคโปร์ดูฟรีแค่ 9 เกมเท่านั้น ส่วนแมตช์อื่นต้องจ่ายเงิน แม้แต่อินโดนีเซียที่ซื้อลิขสิทธิ์มา ในราคา 1,400 ล้านบาทแต่ไม่ได้ดูฟรีทั้งหมด ทั้งนี้ในเว็บไซต์ของฟีฟ่า เจ้าของลิขสิทธิ์ คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สิทธิ์ในการจัดสรรทุกอย่าง ดังนั้นเรื่องรับชมการแข่งขัน ประเทศไทยชมแบบลิขสิทธิ์อยู่แล้ว
สิ่งที่อยากฝากทิ้งท้าย คือ ชมและเชียร์นักเตะที่ชื่นชอบ ในการแข่งขันฟุตบอลโลก อย่างมีความสุขและสนุก อย่าเล่นการพนันและไม่ควรหัวร้อน ความจริงแล้วเราสามารถเรียนรู้จากการแข่งขัน นำไปเป็นกรณีศึกษา แล้วพัฒนาปรับใช้กับฟุตบอลไทยได้เช่นกัน