“เปรียบเทียบกลยุทธ์พรรคการเมือง  โหมโรงเลือกตั้ง66 ” 

            “หากใครถือธงนำว่าจะฟื้นค่าครองชีพ  แบ่งเบาภาระประชาชน ก็น่าจะได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่ง  เพราะเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่สนามเลือกตั้ง  ประชาชนอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น  แต่เมื่อดูไปที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เปิดตัวมาตอนนี้  กลับไม่ตอบโจทย์แบบนั้นทั้งหมด” 

            “เสาวลักษณ์  วัฒนศิลป์ บรรณาธิการข่าวการเมือง ไทยพีบีเอส” วิเคราะห์ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงภาพรวมการหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ “ยุบสภา” ว่า  ทุกพรรคการเมืองตอนนี้โหมโรงแบบข่มขู่คู่ต่อสู้อย่างหนักหน่วง แต่ละพรรคปราศรัยกับมวลชนที่เป็นฐานเสียง สะท้อนถึงศักยภาพ และฐานเสียงของแต่ละพรรคการเมืองว่าเป็นอย่างไร

            “หลายคนเชื่อว่าช่วงโหมโรงหาเสียงแบบนี้ เป็นการเก็บข้อมูลในการตัดสินใจเลือกตั้ง จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี  ซึ่งคำพูดของคุณชวน หลีกภัย ที่โดนใจการทำงานในช่วงนี้ คือ ถ้าเราเลือกผู้แทนที่ไม่โกง รัฐบาลก็จะไม่โกงด้วย ตรงนี้สำคัญมากจะต้องเลือกส.ส. , เลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี , เลือกพรรคการเมืองโดยเฉพาะเลือกตั้งคราวนี้ ต้องใช้บัตร2ใบจึงต้องชั่งน้ำหนักมาก สำหรับตัวบุคคลและนโยบายพรรคการเมือง”

พรรคเพื่อไทยหาเสียงทรงพลังอันดับหนึ่ง

            ถ้าจัดอันดับการทรงพลังทางการเมือง ดูจากภาพรวมการหาเสียง น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยมากที่สุด แต่ก็ต้องไปดูเนื้อหาของการปราศรัย ดูนโยบายดูตัวบุคคลด้วย  รองลงมาที่ดูทรงพลังไม่น้อย น่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติของ “ลุงตู่ ลูกอีสาน หลานย่าโม” รวมถึงพรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐตามติดด้วยประชาธิปัตย์ก็ดูจะโหมโรงหนักเช่นกัน

            การตั้งเป้าของพรรคเพื่อไทย ว่าจะต้องแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็หวั่นๆอยู่ว่าจะได้มากกว่า 300 หรือ 375 เสียงขึ้นไปตามเป้าหรือไม่  เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องพึ่งสมาชิกวุฒิสภาดูจะเป็นเรื่องยากพอสมควร ถ้าดูศักยภาพตอนนี้ตัวบุคคลและนโยบาย ภาพที่สะท้อนออกมาถึงการทรงพลังทางการเมือง เพื่อไทยอาจจะเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง หลังการเลือกตั้งก็เป็นไปได้ ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะได้ 100 กว่าเสียงขึ้นไป เพราะดูคะแนนเลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ส.ส.มากที่สุด

            อันดับ 2 คือพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคอการเมืองบอกว่า2 พรรคนี้รวมกันแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 80 เสียง เห็นถึงการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของพลังประชารัฐ คือ แตกออกไปเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้ว่าจะเรียกกลับมาได้บ้างแต่ส.ส.กลับมาไม่หมด

            ส่วนพรรคภูมิใจไทยน่าจะเป็นอันดับ 3 นอกจากต้องรักษาฐานที่มั่นแล้ว น่าจะได้แต้มเพิ่มมากขึ้นทั้งภาคอีสานและภาคใต้  ซึ่งพื้นที่อีสานใต้ภูมิใจไทยต้องสู้เต็มที่ กับพรรคเพื่อไทยและน่าจะตีเพื่อไทยได้บางส่วน อาทิ ศรีสะเกษ , นครราชสีมา , อุบลราชธานี , อุดรธานี , ขอนแก่น และสกลนคร

            การเลือกตั้งปี 2562 ภูมิใจไทยได้ 50 กว่าคะแนน และช่วงหลังมีคนไหลเข้า-ออก คาดว่าน่าจะเห็นตัวเลข ส.ส.ถึง70 เสียง หากเก็บแต้มในสนามเลือกตั้งอีก  ก็น่าจะได้เพิ่มขึ้น แต่หลายคนสะท้อนว่าส.ส.ที่ย้ายค่าย  เมื่อผ่านการเลือกตั้งจะได้กลับมาเพียง 40%  จึงน่าคิดว่าภูมิใจไทย จะสู้ศึกตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน และจะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้จริงหรือไม่

            สำหรับนโยบายในการการหาเสียงพรรคภูมิใจไทย ต้องมุ่งไปที่เรื่องปากท้องประชาชนให้ชัดเจน อาจจะเรียกคะแนนเสียงได้  เพราะส่วนใหญ่ขณะนี้เห็นแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ยังไม่เห็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง

            ประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับ 4 สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากทั้งคนในพรรค และนอกพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับสภาพการเป็นพรรคต่ำ 100  ซึ่งเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า  หากได้คะแนนน้อยกว่าเดิม ก็อาจจะแสดงความรับผิดชอบ กับบทบาทหน้าที่ ซึ่งแหล่งข่าวและคอการเมืองของประชาธิปัตย์ประเมินว่ามากสุดน่าจะอยู่ที่ 60 เสียง ขณะที่บัญชีรายชื่อน่าจะอยู่ที่ 15-16 เสียง 

            “แม้วิดีโอที่ใช้หาเสียงจะดูฮึกเหิม มอตโต้ถึงใจประชาชน แต่การชูอดีต 3 หัวหน้าพรรค มาร่วมหาเสียงเพื่อฟื้นประชาธิปัตย์ เท่าที่ได้พูดคุยกับแหล่งข่าวภายในพรรค  บอกว่าไม่มีอยู่จริง ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่บอกว่า จุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ไม่เคยติดต่อมา  ดังนั้นประชาธิปัตย์ต้องสู้กันเอง ภายในพรรคให้มีเอกภาพชัดเจนก่อน จะไปสู้ศึกข้างนอก  ต้องรอดูท่าทีของประชาธิปัตย์อีกครั้ง  หลังพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ว่าอดีต 3หัวหน้าพรรค จะผนึกกำลังช่วยกันจริงหรือไม่ ขณะที่อภิสิทธิ์ต้องพิสูจน์ตัวเองกับบทบาทที่จะได้รับ  ว่าจะได้เข้ามาช่วยมากน้อยแค่ไหน และท่าทีนายจุรินทร์จะว่าอย่างไร

ผลโพล ไม่ใช่

            สำหรับผลโพลที่ออกมาในช่วงนี้ ระบุว่านางสาวแพรทองธาร ชินวัตรมาแรง  ต้องดูด้วยว่าใครเป็นคนทำโพล ,ใครเป็นคนตอบและตอบในสถานการณ์แบบไหน  เพราะหมายถึงกระแสการตัดสินใจของประชาชน ผ่านการสำรวจด้วย  ฉะนั้นโพลที่ออกมาตอนนี้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด  ต้องรอดูหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ลงสนามกันจริงจัง  จะเห็นตัวบุคคลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  รวมถึงนโยบายกับตัวผู้สมัครส.ส. จะเข้มข้นดึงใจประชาชน ให้ไปกากบาทในคูหาได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

            “หากใครถือธงนำว่าจะฟื้นค่าครองชีพ  แบ่งเบาภาระประชาชน ก็น่าจะได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่ง  เพราะเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่สนามเลือกตั้ง  ประชาชนอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น  แต่เมื่อดูไปที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เปิดตัวมาตอนนี้  กลับไม่ตอบโจทย์แบบนั้นทั้งหมด” 

            เช่น 2 ลุง ถือว่าสวนทางกับกระแส  เวลาที่บอกว่าวันนี้บ้านเมืองเราต้องก้าวไปข้างหน้า คนรุ่นใหม่ต้องเป็นหน้าเป็นตา  คนรุ่นใหม่ต้องกล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออก และเป็นผู้นำ แต่เรากำลังจะเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็น 2 ลุง มันใช่หรือไม่ เราต้องเลือกนายกรัฐมนตรี ที่อายุน้อยที่สุดในโลกหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องรอการแข่งขันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ว่าแต่ละฝ่ายจะงัดนโยบายตรงไหน มาดึงใจประชาชนได้มากกว่ากัน

เลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่า แต่ละฝ่าย จะงัดนโยบายใดมาดึงใจประชาชนได้มากกว่ากัน และต้องอิงกับฐานของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยว่า จะเป็นคนเจนเนอเรชั่นไหน เพราะหากจะดูแต่ละเจนเนอเรชั่นฐานกว้างที่สุดตอนนี้เป็น “Gen X - Gen Z” ซึ่งน่าจะกว้างในการตัดสินใจ แต่ถ้าดูจาก Gen X น่าจะทำให้ 2 ลุงมีฐานในการตัดสินใจเลือกมากพอสมควร และหากต้องสู้กันจริง ๆ คน Gen X น่าจะต้องเลือกอะไรที่เปลี่ยนแปลงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยตัวจริง หรือทำให้ชีวิตมีความหวังในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

"เสาวลักษณ์" ยังกล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอข่าวการเมืองในช่วงนี้ว่า จะต้องบาลานซ์ สมดุล ให้น้ำหนักเท่ากันทั้งสองฝ่าย ในแง่ของกิจกรรม และนโยบายพรรคการเมือง และอธิบายในเนื้อข่าวให้ชัดเจนด้วย

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น. โดย "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ร่วมกับ "คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​"