‘Vice’ ล้มละลาย ‘BuzzFeed News’ ตายจาก ถอดบทเรียน‘สื่อใหม่’ ทำไมถึงไปไม่รอด…

นันทิยา วรเพชรายุทธ

ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 นี้ มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อต่างประเทศที่น่าจับตาและถอดบทเรียนมากางดูกันอย่างยิ่ง นั่นก็คือ "ความล้มเหลวของสื่อใหม่" ที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดของวงการสื่อใหม่ของโลกอย่าง "Vice Media" และ "BuzzFeed"

            เมื่อช่วงประมาณกว่าสิบปีก่อนในยุคที่วงการหนังสือพิมพ์กำลังล้มหายตายจาก แม้แต่การปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ก็ไม่ได้ช่วยรั้งผู้อ่านเอาไว้ได้มากนัก เพราะถูกมองว่าเป็น "สื่อเก่า" (traditional media) ที่เนื้อหาส่วนใหญ่ยังมีความคล้ายคลึงกับหนังสือพิมพ์ และไม่ได้มีไอเดียหรือลูกเล่นใหม่ ๆ มาดึงดูดกลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่มากนัก เมื่อเส้นแบ่งระหว่างความเป็น "ข่าว" กับ "คอนเทนต์" ยังถูกขีดคั่นอย่างชัดเจนอยู่สำหรับคนในวงการสื่อสารมวลชน

 

ในทางตรงกันข้าม บรรดาสื่อที่ถูกเรียกว่าเป็น "สื่อใหม่" (new media) กลับได้รับการยอมรับอย่างตื่นเต้นในยุคนั้นว่าเป็นอนาคตของวงการสื่อและข่าวยุคใหม่ ไม่ต่างอะไรกับบรรดาเทคสตาร์ตอัพสุดฮอตในซิลิคอนแวลลีย์ เพราะสามารถดึงดูดคนอ่านได้มากโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Vice อาจจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นแม็กกาซีนแนวพังก์ แต่ในเวลาต่อมาก็สามารถแตกไลน์ทำช่องข่าว Vice News และสร้างผลงานเป็นที่จดจำตั้งแต่การส่งนักข่าวไปรายงานสงคราม ISIS ในซีเรีย ไปจนถึงส่งเดนนิส รอดแมน ไปเกาหลีเหนือ จนช่วงที่พีกที่สุดในปี 2017 นั้นบริษัทเคยมีมูลค่าสูงถึง 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาแล้ว ในขณะที่ BuzzFeed ที่เริ่มต้นมาจากคอนเทนต์แนวหมาแมวและควิซคำถามเล่น ๆ ก็หันมาเอาจริงด้านข่าวกับ BuzzFeed News จนสามารถคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ได้ในปี 2013

แต่ในวันนี้สถานการณ์ของสื่อใหม่กลับเปลี่ยนไปแบบหนังคนละม้วน Vice ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายมาตรา 11 ส่วน BuzzFeed ต้องเลย์ออฟพนักงานไปหลายรอบรวมแล้วหลายร้อยคน และต้องปิดตัวธุรกิจข่าว BuzzFeed News ไปเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่วน Vox Media ต้องเลย์ออฟพนักงานรอบล่าสุดไป 7% ในขณะที่ Mashable ถูกขายกิจการไปก่อนใครตั้งแต่ปี 2017

เกิดอะไรขึ้นกับบรรดาสื่อใหม่ที่เคยเป็น Disruptor แห่งวงการข่าว ทำไมพวกเขาถึงไปไม่รอด?

ยุค "สตาร์ตอัปสื่อ" เบ่งบาน 

ความท้าทายร่วมของแวดวงคนทำข่าวไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ การหารายได้ สื่อส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะมีรายได้มาจากโฆษณาเป็นหลัก เพราะไม่ใช่ทุกรายที่จะประสบความสำเร็จเหมือนกับนิวยอร์กไทม์ (The New York Times) ซึ่งทำรายได้จากระบบสมัครสมัครสมาชิก หรือ subscription แซงหน้าการขายโฆษณาได้ และเมื่อสมรภูมิสื่อเปลี่ยนมาอยู่บนโลกออนไลน์ การแข่งขันดึงยอดโฆษณาดิจิทัลจึงถูกขับเคี่ยวกันอย่างหนักผ่านการวัดกันที่ยอดทราฟฟิก หรือยอดผู้เข้าชมผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งสื่อใหม่ที่ไม่ได้มุ่งเน้นทำข่าวเป็นหลักจึงมียอดทราฟฟิกที่สูงกว่า

ทว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่สื่อใหม่ต่างออกไปจากสื่อดั้งเดิมก็คือ พวกเขาเติบโตมาในยุคที่ "Startup" กำลังเบ่งบาน พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนควานหานายทุนหรือกู้เงินจากธนาคารเพื่อหาเงินมาดำเนินกิจการ และไม่ต้องพึ่งยอดขายโฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ไอเดียการทำคอนเทนต์แนวใหม่ที่ฉีกไปจากบริษัทสื่อเดิม ๆ ไประดมทุนกับบรรดากองทุน “Venture Capital” โดยตรงในช่วงทศวรรษ 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมเทคสตาร์ตอัปเบ่งบานนับสิบปี ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีการอัดฉีดสภาพคล่องท่วมตลาดการเงิน (หลังวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐ) 

บรรดาสตาร์ตอัปสื่อใหม่ที่รุกคอนเทนต์ดิจิทัลเต็มตัว มีไอเดียการทำคอนเทนต์ที่ทลายกรอบเดิม ๆ ของสำนักข่าว และสามารถสร้างยอดทราฟฟิกได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ จึงสามารถดึงดูดบรรดา VC ที่เชื่อว่าพวกเขากำลังลงทุนกับ “ดิสรัปเตอร์”ที่จะมาพลิกโฉมวงการสื่อในอนาคต จากข้อมูลโดยเว็บไซต์ Pitchbook และ Crunchbase พบว่า บรรดากองทุน VC ทยอยเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัปสื่ออย่างต่อเนื่องและขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ2010 นำโดย Vice Media ที่เฉพาะปี 2014 เพียงปีเดียวก็คว้าสองดีลลงทุนใหญ่รวม 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนกับสตาร์ตอัปสื่อในสหรัฐอเมริกาในปีนั้น ส่วน BuzzFeed คว้าสองดีลลงทุนรวม 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 - 2016 และ VoxMedia ได้ไป 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเสี้ยวหนึ่งในการระดมทุนหลายรอบของสตาร์ตอัปสื่อในสหรัฐฯ

แต่ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสื่อใหม่เหมือนกัน ทว่าเส้นทางการต่อสู้ ความสำเร็จ และความล้มเหลวของ Vice กับ BuzzFeed ซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่ดังที่สุดในยุคนั้น กลับแตกต่างกันออกไปคนละด้าน และสะท้อนว่าไม่มีอะไรง่ายสักด้านเดียวสำหรับคนทำสื่อ

Vice Media: จากธุรกิจสื่อ 2 แสนล้านสู่วันที่ยื่นล้มละลาย

Vice Media ไม่ได้เป็นสื่อที่ทำข่าวมาตั้งแต่ต้น แต่เริ่มมาจากการเป็นนิตยสารแนวอัลเทอร์เนทีฟพังก์ในแคนาดา เมื่อปี 1994 ในชื่อเดิมว่า Voice of Montreal ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Vice ในปี 1996 ต่อมาเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นจนอิ่มตัวจึงขยายตลาดไปในสหรัฐอเมริกาซึ่งกลายเป็นตลาดหลักที่สำคัญที่สุดมาจนถึงวันนี้ การมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นนิตยสารวัยรุ่นหัวขบถนี่เองที่ทำให้ Vice เข้าใจคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า รู้ว่าคนรุ่นใหม่อยากรู้เรื่องแนวไหน ต้องทำคอนเทนต์ออกมาอย่างไร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าหัวใจสำคัญที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็น Vice มากที่สุดก็คือคำว่า “Youth” หรือคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นแกนหลักที่กำหนดทิศทางการทำงานทั้งหมดและอนาคตของ Vice 

คอนเทนต์ต้องตรงกับเทสต์ของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ประเด็น ภาพ แสง สี การเล่าเรื่อง ซึ่ง Vice มุ่งเป้าไปที่คอนเทนต์ในรูปแบบ “วิดีโอ” เป็นหลักมาตั้งแต่ปี 2006 จนถึงยุคตั้งธุรกิจข่าว Vice News ขึ้นมาโดยเฉพาะในปี 2013 มีจุดเด่นที่การแหกกรอบวารสารศาสตร์ดั้งเดิมที่อาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลัก และเน้นใช้วิธีการทำข่าวสไตล์ “Gonzo Journalism” หรือการที่ตัวนักข่าวเองจะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องราวเองด้วย และรายงานออกมาโดยผ่านความคิดและมุมมองความรู้สึกของตัวนักข่าวในขณะที่เรื่องราวกำลังเกิดขึ้น เพื่อให้คนดูรู้สึกเหมือนกับว่าได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นมากขึ้น คอนเทนต์วิดีโอของ Vice ที่ออกมาจึงไม่ใช่การรายงานข่าวความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่เป็นแค่ข่าวทั่วไป แต่เป็นการเสนอและจัดแจงให้ เดนนิส ร็อดแมน อดีตนักบาสเก็ตบอลชื่อดังแห่ง Chicago Bulls ทีมโปรดของประธานาธิบดี คิมจองอึน ไปยังเกาหลีเหนือ ทั้งเพื่อผสานไมตรีและได้สกู๊ปข่าวพิเศษแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ซึ่งสกู๊ปรูปแบบนี้ก็สร้างยอดวิวมหาศาลมากกว่า 10 ล้านวิวไปแล้วบน Youtube หรือเป็นการส่งนักข่าวไปฝังตัวกับกลุ่มกบฎ ISIS ในซีเรียและอิรักเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในมุมของอีกฝั่งแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

แม้ว่าเทียบในแง่ยอดทราฟฟิกแล้ว Vice จะไม่ได้เป็นผู้นำของกลุ่มสื่อใหม่เมื่อเทียบกับBuzzFeed แต่การที่มียอดรีชในกลุ่มคนรุ่นใหม่สูงด้วยกลุ่มอายุ 18-24 ปี จำนวน 35% และวัย 25-34 ปี จำนวน 41% พร้อมยอดการเข้าชมต่อเดือน 7.34 ล้านวิวในสหรัฐ และ 135 ล้านวิวทั่วโลก (จากข้อมูลของบริษัทในปี 2016) พร้อมตัวตนอันจัดจ้านที่เล่าเรื่องด้วยสไตล์กอนโซ ผสานผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง เชน สมิธ ที่นอกจากจะเป็นนักข่าวเองในหลายงานแล้ว ก็ยังเป็นเซลส์แมนชั้นยอดที่สามารถทำให้คนเชื่อว่า นี่คือสื่อใหม่ที่ดึงคนดูรุ่นใหม่ได้และเป็นอนาคตของวงการสื่อ มี Media value สูงกว่าสื่อใหม่รายอื่นที่ทำคอนเทนต์เบาสมองกว่า จึงทำให้ Vice ดึงดูดเงินลงทุนได้มากที่สุดในบรรดาสื่อใหม่ แม้แต่เจ้าพ่อสื่ออย่าง รูเพิร์ต เมอร์ด็อก แห่งค่ายฟ็อกซ์ หรือ 21th Century Fox ก็ยังเป็นคนแรก ๆ ที่เข้ามาลงทุนกับ Vice ในปี 2013 ด้วยเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะตามมาด้วยกองทุน VC อีกหลายรายโดยเฉพาะบริษัทสื่อชื่อดังอย่าง Walt Disney ที่เข้ามาทั้งลงทุนตรงและลงทุนผ่านบริษัทอื่นรวมเป็นเงินกว่า 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งดิสนีย์ถึงขั้นเกือบจะเข้าซื้อกิจการมาแล้ว และในการระดมทุนรอบล่าสุดที่ได้ไปอีก 450 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 จากกองทุน TPG Capital ก็ทำให้มูลค่าของบริษัทพุ่งขึ้นไปแตะ 5,700 ล้านดอลลาร์ หรือสูงที่สุดในกลุ่มสื่อใหม่ด้วยกัน 

“แล้วทำไมถึงไปไม่รอด?” แม้จะมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่กรณีของ Vice อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุหลัก ๆ ก็คือ การที่บริษัทไม่สามารถแปลงยอดทราฟฟิกให้เป็นเงินได้ และการที่ถูกทุนวอลสตรีตเข้ามาสปอยล์ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งในภายหลังเมื่อไม่ทำเงิน 

การเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัปสื่อของบรรดากองทุน VC นั้นมาพร้อมกับเงินมหาศาลบนความคาดหวังที่สูง โดยเฉพาะ Vice ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อใหม่มูลค่าถึงเกือบ 2 แสนล้านบาท และมีค่าโฆษณาที่แพงเกินหน้าใครเพื่อน เพราะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูเท่ แพง และทันสมัยตอบโจทย์วัยรุ่นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถแปลงทราฟฟิกเป็นเงินได้อย่างที่คาดหวัง โดยเฉพาะในธุรกิจ Vice TV หรือ Viceland ที่เรตติ้งออกมาน้อยกว่าที่คาด สวนทางกับค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูง ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า แม้แต่ Vice ที่อ้างตัวว่าเป็นสื่อใหม่ครองยอดรีชในกลุ่มวัยรุ่น ก็ยังไม่สามารถเปิดตลาดทีวีของวัยรุ่น ไม่สามารถทำให้วัยรุ่นหันมาดูทีวีได้ ทำให้บริษัทพลาดเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้มาหลายครั้งและประสบภาวะขาดทุนมาหลายปี ประกอบกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปในยุค Tiktok ครองเมือง โซเชียลมีเดียเปลี่ยนทิศไม่เป็นมิตรกับสำนักข่าว ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มมีปัญหาในยุคเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้เม็ดเงินโฆษณาเหือดแห้งลงและเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัปสื่อก็เหือดหาย สุดท้ายนักลงทุนและเจ้าหนี้ก็ปฏิเสธที่จะเพิ่มทุนรอบใหม่ และจบลงที่ Vice ต้องเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ในศาลล้มละลายเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเป็นที่คาดว่าจะถูกขายไปในราคาประมาณ 300 – 400 ล้านดอลลาร์ ให้กับกลุ่มทุนใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้    

ปิดตัว “BuzzFeed News” กับการหมดยุคพึ่งพา “เฟซบุ๊ก”  

หากหัวใจหลักที่สะท้อนตัวตนของ Vice คือคนรุ่นใหม่ หัวใจหลักที่สะท้อนตัวตนของ BuzzFeed ก็คือ “ไวรัล” และ “โซเชียลมีเดีย” โดยกรณีของ BuzzFeed น่าจะใกล้เคียงกับการต่อสู้ของสื่อในยุคโซเชียลมีเดียมากกว่า เพราะไม่ได้แตกไลน์ขยายไปยังธุรกิจทีวีเหมือนกับ Vice แต่มุ่งมั่นกับตลาดคอนเทนต์ดิจิทัลเป็นหลัก โดยจุดเริ่มต้นจริง ๆ ของ BuzzFeed ก็คือโปรเจกต์ทดลองในปี 2006 ที่แตกย่อยมาจากคนของเว็บไซต์ข่าว Huffington Post เพื่อค้นหาว่าจะมีอะไรได้บ้างที่กลายเป็น “ไวรัล” ได้ในอินเตอร์เน็ต

สิ่งที่ตอบโจทย์ก็คือ คอนเทนต์บันเทิงเบาสมองทั้งหลายที่กลายเป็นทั้งภาพจำของ BuzzFeed และเป็นความสำเร็จที่สุดของสื่อใหม่ในแง่ของยอดทราฟฟิก ในยุคหนึ่ง BuzzFeed เคยทำให้คนติดการเสพคอนเทนต์วิดีโอแมว, ควิซคำถาม, Tasty, The Try Guys และคอนเทนต์ประเภท “Listicle” หรือบทความที่ย่อยข้อมูลต่าง ๆ ออกมาเป็นข้อ ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย เหมาะกับผู้อ่านยุคใหม่ที่ไม่ชอบเรื่องยาวและสามารถแชร์ต่อได้ทันที เช่น คอนเทนต์ประเภท “10 ประเทศในฝัน…” หรือ “5 เหตุผลที่ห้ามพลาด…” ก่อนที่บริษัทจะค่อย ๆ เติบโตและขยายเข้าสู่เนื้อหาข่าวที่มีความจริงจังมากขึ้น จนนำไปสู่การจัดตั้ง BuzzFeed News แยกขึ้นมาโดยเฉพาะในปี 2011 เน้นข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนตั้งแต่การเมืองจนถึงประเด็นสังคม จนสามารถคว้ารางวัลใหญ่ในสายข่าวอย่างพูลิตเซอร์มาได้ในปี 2020

ทว่าสิ่งที่ทำให้ยอดของ BuzzFeed เหนือกว่าสื่อใหม่รายอื่นไม่ได้เป็นเพราะเรื่องคอนเทนต์เท่านั้น แต่เป็นกลยุทธ์การผูกติดกับโซเชียลมีเดียที่มากและเร็วกว่าใคร หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการทำคอนเทนต์เพื่อโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ ซึ่งยอด Referral traffic ของ BuzzFeed หรือยอดเข้าชมเว็บไซต์ที่ผ่านมาจากทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค กูเกิล และทวิตเตอร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ทำให้ BuzzFeed ต้องคอยดำเนินการให้สอดคล้องไปตามนโยบายของโซเชียลมีเดียด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับโทนเนื้อหาให้มีคุณภาพมากขึ้น การเริ่มมุ่งเน้นคอนเทนต์วิดีโอสั้นแนวตั้ง และการเข้าร่วมโปรเจกต์ลงข่าวในเฟซบุ๊กโดยตรง ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนสำนักข่าวต่าง ๆ โดยที่เฟซบุ๊กจะให้สัดส่วนม็ดเงินโฆษณาออนไลน์มากถึง 70% และการที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโซเชียลมีเดียทำให้ BuzzFeed เป็นอีกหนึ่งสื่อใหม่ที่เนื้อหอมสำหรับกองทุน VC เช่นกัน อาทิ Andressen Horowitz ที่เข้าลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ ในปี 2014 และ NBC Universal ที่เข้าลงทุนครั้งละ 200 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 และ 2016 

แต่ถึงแม้ว่าการผูกติดกับโซเชียลมีเดียจะทำให้ BuzzFeed ได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อเทียบกับสื่ออื่น ๆ แต่ขณะเดียวกัน กลยุทธ์การยืมจมูกคนอื่นหายใจเช่นนี้ก็มีความเสี่ยงสูงไปพร้อมกันด้วย ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างเฟซบุ๊กกับสื่อก็เริ่มมาถึงจุดแตกหักในปี 2016 เมื่อเฟซบุ๊กประกาศเปลี่ยนอัลกอริธึมครั้งใหญ่ ลดการเข้าถึงข่าวสารและหันไปให้น้ำหนักโพสต์ของเพื่อนแทน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบกับสื่อทั้งหมด จากข้อมูลของ comScore พบว่ายอดการเข้าชมเว็บไซต์ของ BuzzFeed ลดลงจาก 79.3 ล้านคนต่อเดือนในเดือนตุลาคม 2015 เหลือเพียง 69.8 ล้านคนในปี 2017 และลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงในโลกโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบอย่างหนักถึงรายได้บริษัทด้วย ทำให้ BuzzFeed พลาดเป้าหมายรายได้ปี 2017 ที่เดิมตั้งไว้ 350 ล้านดอลลาร์ ไปถึงราว 15-20%จนส่งผลให้แผนการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธี SPAC ต้องล้มเหลวลง และใช้เวลานานขึ้นกว่าจะได้เข้ากระดานหุ้น Nasdaq นปลายปี 2021 โดยระดมทุนไปได้เพียง 16 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายระดมทุนในตลาดหุ้นเอาไว้ที่ 250 ล้านดอลลาร์ บริษัทเริ่มทยอยเลย์ออฟพนักงานมาตั้งแต่ปี 2017 จนกระทั่งตัดสินใจยุบฝ่ายข่าว BuzzFeed News ลงในเดือนเมษายนปีนี้

โจนาห์ เพเร็ตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง BuzzFeed ระบุถึงเหตุผลในการปิดตัวว่า เขา "ยอมรับช้าเกินไป" ว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำเงินได้จากข่าวออนไลน์ที่ถูกกุมชะตากรรมอยู่บนแพลตฟอร์มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และยิ่งเมื่อเผชิญสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยุบแผนกดังกล่าวลง เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ธุรกิจสื่อจากสถาบันพอยน์เตอร์ ริค เอ็ดมอนด์ส ที่ให้มุมมองกับเอเอฟพีว่า อาจจะหมดยุคของข่าวฟรีที่แลกกับยอดรีชเพื่อขายโฆษณาแล้ว

“ผมคิดว่าโมเดลข่าวฟรี ที่แลกกับยอดรีชการเข้าถึงแล้วเอาไปขายแอดโฆษณานั้น ไม่ได้ผลอย่างที่เราคาดหวังกันเอาไว้เสียแล้ว”