“LGBTQ  เวลคัม ทู ไทยแลนด์ สู่ความหลากหลายทางเพศ”    

            “ไทยเป็นประเทศสังคมเปิดสำหรับการเป็นตัวเอง เรื่องความหลากหลายทางเพศ LGBTQ แต่ในระดับของกฎหมายกลับปิด ประเทศไทยเปลี่ยนคำนำหน้านามไม่ได้ แม้จะแปลงเพศแล้วก็ตาม ซึ่งตรงข้ามกับเกาหลีใต้ที่สังคมเขาปิด แต่การพิจารณาคดีค่อนข้างแฟร์ ”

            อรรถชัย หาดอ้าน บรรณาธิการข่าว SPRiNG” มีมุมมองถึง “สถานการณ์ LGBTQ ในโลกที่ก้าวหน้ากลับถดถอย” ใน รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ขอยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ เพราะไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศนั้น และผมทำวิจัยโดยโฟกัสเรื่อง “ซีรี่ย์วายกับอำนาจรัฐ” 

"ไทย-เกาหลี แนวคิด-วิธีปฏิบัติ ย้อนแย้งในตัวเอง"

            ตรงนี้ทำให้เห็นว่า “ไทยเป็นประเทศสังคมเปิดสำหรับการเป็นตัวเอง ความหลากหลายทางเพศ LGBTQ แต่ในระดับของกฎหมายกลับปิด  เปลี่ยนคำนำหน้านามไม่ได้ แม้ว่าจะแปลงเพศแล้วก็ตาม ซึ่งตรงข้ามกับเกาหลีที่สังคมเค้าปิด แต่การพิจารณาคดีค่อนข้างแฟร์ เราจะเห็นว่าความจริงแล้วรัฐใช้อำนาจ ที่จะเซฟให้สังคมคิดแบบไหนทำแบบไหนประมาณหนึ่ง”   

            จะเห็นว่าสิทธิของ LGBTQ ที่มากขึ้น หรือได้เปิดโอกาสมากขึ้นมาจาก ยุครัฐบาลเผด็จการมากกว่ารัฐบาลพลเรือน เพราะรัฐบาลพลเรือนรู้สึกว่าเขามาจาก การเลือกตั้งของประชาชน อาจจะไม่ต้องมีการต่อรอง กับการสร้างการยอมรับของประชาชน เท่ากับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

“เกย์อีโคโนมี่ในประเทศไทยเฟื่องฟูมาก สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์”

            อรรถชัย บอกว่า ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นยุคที่เกย์อีโคโนมี่เฟื่องฟู ผับบาร์เกย์ต่างๆร้านเหล้า หรืออุตสาหกรรมเกย์เฟื่องฟูมาก พอมาถึงในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นยุคที่มีการจัดประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ในประเทศไทย มีการจัดงาน LGBTQ เอ็กซ์โปรครั้งแรก มีซีรีย์วายเรื่องแรกโผล่ขึ้นมา หรือมีการผ่านพระราชบัญญัติความยั่งยืน เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาที่ไม่ใช่ของรัฐบาลพลเรือน

            มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมายืนยันว่า  การสร้างความยอมรับให้กับประชาชน และการสร้างความยอมรับ ให้กับประเทศอื่นๆทั่วโลกมองเห็นว่า ฉันเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย คุณสามารถมาเจรจาต่อรองค้าขายกับฉันได้ตามปกติ ฉันไม่ใช่เผด็จการเพราะว่าฉันให้สิทธิกับประชาชน ( LGBTQ ) หรือ Pink Watching คือ เอาสีชมพูมาล้างเรื่องอื่นๆ เช่น ล้างการละเมิดสิทธิมนุษยชน  หรือล้างเรื่องประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบ แต่เราให้สิทธิ์เล็กๆน้อยๆที่ให้ได้ง่ายก่อน 

            เพราะเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับ LGBTQ โตขึ้นเรื่อยๆ เป็นบุคคลที่มีกำลังซื้อ มีอำนาจในสังคม มีเงิน ถือทรัพย์สินค่อนข้างมากในสังคม และตลาดก็โตขึ้น ฉะนั้นถ้ารัฐบาลที่เป็นเผด็จการแล้วฉลาด จะไม่ทำแบบเผด็จการอื่นๆ ที่เราเห็นว่าเอาปืนไปจ่อประชาชน แต่ใช้ซอฟพาวเวอร์เบี่ยงเบนให้ยอมรับในตัวรัฐบาล 

"กระบวนการยุติธรรมเกาหลี พิจารณาคดีตามเหตุและผล ต่างจากไทย"

            อรรถชัย บอกว่า ถ้ามองภาพรวมของเกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชีย แต่ขณะเดียวกันมีเรื่องการปิดกั้นความหลากหลายทางเพศ หรืออคติในสังคมค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มของ LGBTQ , กลุ่มของคนชายขอบต่างๆ , การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ  เป็นต้น  ทั้งนี้บางคนอาจจะมองว่าสวนทางกับความเจริญ  แต่เราต้องแยกเป็น 2 เรื่องคือ เรื่องของกระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดีของศาล เกาหลีใต้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ค่อนข้างมาตรฐานสากลประมาณหนึ่ง สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศเขา 

            แม้เกาหลีใต้จะไม่อนุญาตให้สมรสคนเพศเดียวกัน แต่คนที่ผ่าตัดแปลงเพศจากประเทศอื่น แล้วกลับไปที่ประเทศเกาหลี สามารถยื่นฟ้องศาลแล้วชนะคดี เพื่อขอเปลี่ยนคำนำหน้านาม เป็นนางสาวได้สำเร็จมาแล้ว โดยพิจารณาไปตามเหตุและผล ซึ่งระดับกระบวนการยุติธรรมที่เกาหลีเสมอหน้า แต่ในทางกลับกันในระบบของกฎหมาย ไม่ได้พิจารณาไปตามเหตุและผลแบบนั้น แต่กฎหมายเป็นเรื่องของการเมือง การสร้างความนิยมของพรรคการเมือง หรือทำระเบียบสังคมให้คงอยู่ต่อไป ฉะนั้นการผ่านร่างกฎหมายลักษณะนี้จึงค่อนข้างยาก 

" 3 ปัจจัย ทำเกาหลีล้าหลังไทย เรื่องกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ"

            อรรถชัย บอกว่า กฎหมายคู่ชีวิตของไทย เกิดมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 - 2014  แต่กฎหมายของเกาหลีใต้ เกิดมาก่อนไทย คือ กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เรื่องนี้เคยเสนอโดยพรรคฝ่ายค้านของเกาหลี ซึ่งผ่านร่างและผ่านความคิดเห็นของภาคประชาชนประมาณปีค.ศ. 2011 หรือ 2012 ซึ่งเก่ากว่ากฎหมายคู่ชีวิตของไทย แต่วันนี้กฎหมายคู่ชีวิตของเรา พัฒนาไปถึงการสมรสเท่าเทียมแล้ว และผ่านวาระหนึ่งแล้ว 

            ในทางตรงข้ามแค่กฎหมาย ป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเพศในเกาหลีใต้ไม่เกิดขึ้น และกฎหมายเหล่านี้ถูกตีตกหลายครั้ง หรือที่มีข่าวว่าอาจจะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว สะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีใต้ยังมีวิธีคิดแบบนี้อยู่ ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าวิธีคิดเหล่านี้มาจาก ปัจจัย ประมาณ 3 อย่าง 

            อรรถชัย บอกว่า  1. เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม เพราะขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ที่ขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงหยุดยิงเท่านั้น แต่ความขัดแย้งยังไม่จบ คนยังต้องไปเกณฑ์ทหารอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นในภาวะสงคราม การสร้างวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม ต้องกระตุ้นความเป็นชาย การให้ความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ของลูกผู้ชาย ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่  2.ระบบครอบครัวของเกาหลีใต้ มีความคิดแบบขงจื๊อ คือ การปฏิบัติตามจารีตประเพณียังจำเป็น ครอบครัวจะกำหนดคุณค่าความเป็นลูกชาย และความเป็นลูกสาวหรือความเป็นสามีภรรยา

             3. ศาสนา คนเกาหลีใต้คนประมาณ 50% ไม่มีศาสนา แต่รองลงมา 40% นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งศาสนาคริสต์ในเกาหลีค่อนข้างแข็งแรง และพรรคการเมืองหลายพรรค ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนชาวคริสต์เป็นอย่างมาก มีอิทธิพลมากถึงขนาดว่า สมัยประธานาธิบดีมูนแจอิมเคยบอกว่า จะสนับสนุน LGBTQ กลุ่มศาสนาคริสต์ออกมาขยับบอกว่า ถ้าคุณไปสนับสนุน ฉันก็จะไม่โหวตให้คุณ ทำให้เขาต้องถอยออกมา  ขณะเดียวกันศาสนาคริสต์กระจายตัวทั่วประเทศ และเป็นชุมชนที่แข็งแรง  ฉะนั้นถ้าใครทำตัวเป็นมิตรกับ LGBTQ แสดงว่าเป็นบาป

"ภาคประชาสังคมเกาหลี  ช่วยอุดรูรั่วให้กลุ่ม LGBTQ"

            อรรถชัย ยกตัวอย่างว่า  เคยมีบาตรหลวงอวยพรให้คู่รัก LGBTQ ทุกวันนี้โดนคริสต์ศาสนสมาคมเกาหลี สั่งพักงานบาทหลวงคนดังกล่าว  ขณะเดียวกันผมทักไปบอกว่า โป๊บพูดว่าให้พระอวยพรแก่คู่รัก LGBTQ ได้แล้ว แต่สุดท้ายแกนนำส่วนใหญ่ในสังคมประเทศเกาหลี  ยังไม่ตระหนักว่าต้องให้ความสำคัญขนาดนั้น แต่ในนิกายอื่นๆยังคงจารีตประเพณีแบบเดิม เพื่อรักษาระเบียบของโครงสร้างชุมชนศาสนาคริสต์ ด้วยความเชื่อแบบนี้เช่นกัน

            ขณะที่บางคนซึ่งรับไม่ได้ก็ออกมาตั้งโบสถ์เอง คือ โบสถ์สีรุ้งเพื่ออวยพรให้คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ  ฉะนั้นถ้ามองตรงนี้ 3 ปัจจัยหลักที่ค่อนข้างแข็งแรง ดึงให้เกาหลียังคงอนุรักษ์ไว้ ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้กระจายตัวอยู่ใน ประเทศแถบเอเชียตะวันออก ยกเว้นไต้หวัน แต่ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ เกาหลีมีภาคประชาสังคมแข็งแรง ก็จะช่วยอุดรูรั่วโดยเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรณีที่ทหารแปลงเพศมาแล้วถูกปลดออกจากกองทัพ ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ หรือเพศที่สามถูกผลักออกมา จากชุมชนของศาสนาคริสต์ ก็มีภาคประชาสังคมคอยให้ความช่วยเหลือ แต่ระดับของกฎหมายและการบริหารประเทศ ไม่สามารถไปถึงได้เพราะอคติต่างๆเหล่านี้

"เปรียบซีรีย์วาย ยุครัฐบาลประยุทธ์ โต  300% แต่ประเภทหนังยังถูกจำกัด"

            อรรถชัย บอกว่า ขณะที่ประเทศไทย รูปแบบในการนำเสนอซีรีย์วายผ่านสื่อต่างๆ รัฐไม่ได้เข้ามาสั่งโดยตรงให้นำเสนอแบบไหน แต่ใช้วิธีทำให้เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด รูปลักษณ์ของซีรีย์วาย แม้ทุกคนจะบอกว่าเปิดกว้างมาก ในช่วงของพลเอกประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ซีรีย์วายเติบโตไปเลย 300% แต่ประเภทของซีรีย์วายยังมีการถูกจำกัดอยู่ดี เช่น กรณีซีรีย์วายเรื่อง นิทานพันดาว พระเอกเป็นทหารแต่สุดท้ายต้องแก้บทเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐทำให้เห็นว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้  

            ซีรีย์วายอยู่ในระบบเฉพาะโรงเรียน ในรั้วมหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงที่เด็กกำลังค้นหาตัวตน แสดงว่าโตขึ้นไปคุณอาจจะเป็นพ่อแม่ของสังคมได้ปกติ มีสามีภรรยามีลูกได้ตามปกติ แต่ช่วงที่ค้นหาตัวตนไม่เป็นไร จะเห็นซีรีย์วายของที่อยู่ในพื้นที่การศึกษา วัยเด็กวัยรุ่น แต่ถ้ามองไปในตัวละครซีรีย์วาย แทบจะไม่ต่างกับละครชายหญิงตามปกติ แค่เปลี่ยนนักแสดงเป็นชายชาย ยังมีลักษณะของเรื่องรักโรแมนติก , ต้องส่งเสริมคุณค่าผัวเดียวเมียเดียว ต้องมีสองขั้วชัดเจนทั้งตัวรับและตัวรุก 

            ขณะเดียวกันชายยังเป็นใหญ่อยู่ ส่วนตัวละครผู้หญิงจะกลายเป็นตัวตลก ตัวอิจฉา บ้างตัวทำให้เกิดความขัดแย้งบ้าง แต่ผู้ชายกลายเป็นชนชั้นนำในซีรี่ย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความจริงแล้ว แม้จะมีการพัฒนาสื่อต่างๆมากขึ้น แต่เรายังคงแนวคิดแบบเดิมๆคู่ครองแบบเดิมๆของไทยไว้ ผ่านการใช้อำนาจของรัฐ ทั้งโดยการสั่งการโดยตรงก็ดี การเลือกที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นไปก็ดี หรือการการใช้อำนาจโน้มนำให้เขาทำตามก็ดี

"พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านสภาวาระ 1 สะท้อนประเทศไทยเปิดกว้าง สู่สังคมเท่าเทียม - ผ่าตัดแปลงเพศของไทย จัดเป็นซอฟต์พาวเวอร์"

            ส่วนพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนั้น  อรรถชัย บอกว่า  ประเทศไทยค่อนข้างจะเปิดมากกว่าประเทศอื่นๆแถบเอเชียและเอเชียตะออกเฉียงใต้  โดยใช้แคมเปญว่า “อะเมซิ่งไทยแลนด์ไดเวอร์ซิตี้อะเมซิ่งอีสอะเมซิ่ง” ไปหากินกับความหลากหลายทางเพศ แต่เราไม่เคยให้สิทธิ์เขาเต็มๆ ดังนั้น 1.ต้องให้สิทธิ์ก่อน 2. ต้องมองว่าจุดแข็งของประเทศไทยคืออะไร 

            "ซอฟต์พาวเวอร์ไทยจริงๆ คือ การผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งไทยดีกว่าเกาหลีใต้ ไทยมีชื่อเสียงโด่งดังมาก เรื่องเซ็กซ์เวิร์กเกอร์และเซ็กซ์ทัวร์ก็ดังเหมือนกัน แต่เรายังไม่มีกฎหมายรองรับอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่มีกฎหมายรับรองเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ให้ถูกกฎหมายอย่างปลอดภัย ภายใต้การควบคุมของรัฐ และการรองรับโดยกฎหมาย" 

"ต่างชาตินิยมบินมาไทย ซื้อยาป้องกันติดเชื้อ HIV เหตุเข้าถึงง่าย แนะ รัฐโอเพ่นเต็มที่"

            อรรถชัย บอกว่า  ความเป็นประทศเปิดของไทย ทำให้คนเข้าถึงยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางทางเพศ เพราะเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่ต่างประเทศ อาทิ คนเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน หากเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาว ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย  5 -10 วัน มาตะเวนซื้อยานี้ให้ครบปี เพื่อไปใช้กินในประเทศ  ทำให้เกิดธุรกิจที่เรียกว่าเซ็กส์ทัวร์ ส่วนหนึ่งเพราะยาพวกนี้เข้าถึงง่าย 

            ความจริงแล้วถ้าเราส่งเสริมแบบเปิดไปเลย ไม่ใช่คิดแต่ว่า “ถ้าไม่ถามก็ไม่ต้องพูดนะแต่รู้กัน” ก็จะเป็นได้แค่เท่านี้ แต่ถ้าเราเปิดไปเลย เช่น มีกฎหมายรองรับการสมรสเท่าเทียม การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ  รองรับเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ขายบริการ ทั้งนี้ประเทศอเมริกาใต้เปิดโอกาสให้คนต่างชาติ เข้ามาจดทะเบียนสมสรกัน ตรงนี้จะยิ่งกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทย คนอยากมาเที่ยวอยากมาทานอาหาร  

"แนะ กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเวลคัมให้ไทยเป็นประเทศปลายทางที่ LGBTQ นิยมมาแต่งงาน"

            “ถ้าเราส่งเสริมว่าถ้าคุณรักกัน ประเทศไทยเวลคัมทุกคน เกย์เฟรนด์ลี่เดสซิเนชั่น มาแต่งงานกันที่ประเทศไทย จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้อีกเยอะมาก  แต่เราบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ บางอย่างเรารับไม่ได้แต่สุดท้ายก็เท่ากับว่าปิดกั้นโอกาส แล้วไม่มองจุดแข็งของตัวเอง สิ่งนี้คืองานวิจัยและนักวิชาการอีกหลายคนมอง เห็นตรงกันว่าประเทศไทยควรจะยอมรับ คือ ฐานและควรที่จะพัฒนาฐานเหล่านี้ เพราะซีรี่ย์วายของไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก เราเป็นฮับของซีรีย์วาย แข่งกับเวียดนามและไต้หวัน ประเทศไทยมีความโดดเด่นและหลากหลายมากกว่า แต่เรายังไม่ได้รับการส่งเสริมเปิดแบบ 100% เราทำแค่ด้านการตลาดการธุรกิจแต่เราไม่ทำด้านกฎหมาย

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5