โลกแห่งคอนเทนต์ โตต่อเนื่อง แต่สร้างความเหลื่อมล้ำสูง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 18 หัวข้อ "แนวโน้มใหม่และเทคนิคในโลกคอนเทนต์- New Trend New Tech in Content Industries"  เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า  การจัดงานครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือขององค์กรวิชาการและองค์กรวิชาชีพที่เล็งเห็นการเลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วง 30 ปีที่ผ่านมาที่มีการดิสรัปชันเทคโนโลยีซึ่งอาจเป็นโอกาสใหม่ ประกอบกับปัญหาซ้อนจากสถานการณ์โควิดทำให้สังคมถูกบีบให้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น แต่ขณะนี้เราเริ่มกลับสู่สภาพปกติที่การเปลี่ยนแปลงคือความปกติ ซึ่งเราทุกองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสังคมในอนาคต  ทั้งนี้เทคโนโลยี ค่อยๆ ปรับตัวรับใช้มนุษย์ให้สะดวกยิ่งขึ้น  เทคโนโลยีคือ เครื่องมือ สิ่งสำคัญคือมนุษย์จะใช้เครื่องมือนั้นอย่างไร ถ้าเป็นบวกก็เป็นคุณประโยชน์ ถ้าเป็นทางลบจะเป็นภัยต่อสังคม เหนืออื่นใด คือ การให้ข้อมูลความรู้และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปาฐกถาหัวข้อ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะมีส่วนสนับสนุนคอนเทนต์อินดัสทรีอย่างไร” ว่า  เรามีหน้าที่ตามกฎหมาย คือ สนับสนุนสื่อที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ ส่งเสริมสื่อประเภทอื่นๆ ไม่ว่าสื่อดั้งเดิม สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อใหม่ สื่อออนไลน์ สื่อดิจิทัลต่างๆ 

คำว่า “ปลอดภัย” “สร้างสรรค์” เป็นสิ่งสำคัญ  ตามหลักการวารศาสตร์เราสามารถมองผู้รับสารได้หลายรูปแบบ เช่น ถ้าเรามองผู้รับสารเป็นผู้บริโภคก็ทำได้ เราก็จะสื่อสารเพื่อชักจูงให้คนสนใจซื้อสินค้าบริการของเรา แต่โจทย์ของกองทุนสื่อฯมองไปไกลกว่านั้น คือ  ผู้รับสารของเรา เป็นพลเมืองต่างจากผู้บริโภค พลเมืองหมายถึง เรามีหน้าที่ส่งข่าวสารเพื่อให้ผู้รับข้อมูลจากเราสามารถผลักดันพัฒนาแก้ปัญหาสังคมได้ เช่น ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าปัญหาฝุ่น เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ หลายคนแพ้อากาศ อากาศสะอาดจึงมีค่ามาก  ต่างจากปัญหาเชิงธุรกิจที่มีสินค้าบริการ ถ้าสื่อสารถูกใจผู้บริโภคก็จะขายได้ 

“เรามองถึงปัญหาของคนหมู่มาก ซึ่งถ้าองค์กรใดที่ไม่สามารถทำกำไรได้ หรือ ยากจะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ต้องใช้ความร่วมมือของพลเมืองมาผลักดัน เราก็หวังให้การสื่อสารที่สร้างสรรค์ช่วยสร้างองค์กรนั้น ทำสังคมน่าอยู่ ดี มีศีลธรรม  นี่คือ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างสังคมดีขึ้น มีคุณธรรมจริยธรรม อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”  ดร.ชำนาญ กล่าว 

ดร.ชำนาญ กล่าวว่า  กองทุนสื่อฯ จัดสรรทุนปีละ 300 ล้านบาทให้กับองค์กรที่สนใจสามารถยื่นขอทุนได้ เราเปิดรับในเดือนตุลาคมทุกปี  ปัจจุบันเรามีกลไกศึกษาวิจัย  มีวารสารวิชาการ มีงานวิจัยเชิงวิชาการจำนวนมากสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของสื่อ  เช่น  ทำไมหมวด ด. ของเด็กเยาวชนจึงหายไปในสื่อโทรทัศน์ทั้งที่เป็นเงื่อนไขของใบอนุญาตของกสทช. ทำไมคำค้นหาติดอันดับของประเทศไทยในกูเกิลจึงเป็นเรื่องหวย  ค้นหาเลขเด็ด  สะท้อนว่า แผนพัฒนาชาติ 20 ปีของไทยที่บอกว่า เราจะเป็นประเทศมั่นคง ยั่งยืน ใช้พลังพลเมืองที่ตื่นรู้ ฉลาดนั้น แต่สุดท้ายเราก็ยังเชื่อว่าการซื้อหวยจะช่วยรวยทางลัดได้ ไม่เชื่อว่า การซื้อหวยทำให้คนหมู่มากจนลง 

ไทยยังโต 4.4 หมื่นล้านต่อปี 

สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อหา หรือ อุตสาหกรรมคอนเทนต์ในไทยที่กำลังเติบโต กองทุนสื่อฯ จะมีบทบาทส่งเสริมในส่วนไหนนั้น  ดร.ชำนาญ กล่าวว่า คอนเทนต์ปัจจุบันยังเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถตัดต่อไปยังแพลทฟอร์มต่างๆ ได้  เช่น ยูทูบ อินสตราแกรม ติ๊กต็อก ปัจจุบันมีงานวิจัยว่า ยุคมิลิเนียมค้นในยูทูบมากกว่ากูเกิลต่างจาก ยุคเจนเอ็กซ์เพราะคนยุคนี้ต้องการคำตอบที่มองเห็นภาพ เคลื่อนไหวได้  คอนเทนต์ปัจจุบันจึงมีความหลากหลาย และพัฒนาการเยอะมาก  

ปัจจุบันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ดิจิทัลเติบโตได้ดี หลายประเทศส่งเสริมสนับสนุนโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มั่งคั่งในภาพรวมคาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 9.5 ต่อปีจนถึงปี 2028 มูลค่า 27.73 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท   ขณะที่ในประเทศไทยประเมินว่า จะเติบโตถึงร้อยละ 4 ต่อปี และมีมูลค่า  44,983 ล้านบาทภายในปี 2025  ในสหรัฐอุตสาหกรรมคอนเท้นท์เป็นอุตสาหกรรมส่งออกอันดับ 3  ของประเทศ 

ดร.ชำนาญ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ  อุตสาหกรรมคอนเทนต์มีโอกาสสร้างรายได้สูงจริง แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำเช่นกัน โดยร้อยละ 19 ของผู้ผลิตเนื้อหาดิจิทัลทำอาชีพนี้เป็นหลัก สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐต่อปีจากข้อมูลในปี  2022  แต่พบว่าร้อยละ 47 ไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูตนเอง และถึงแม้ว่ากว่าร้อยละ 80 จะพึงพอใจต่องานที่ทำ เพราะสนุก  เป็นอิสระ เป็นเจ้านายตนเอง แต่กว่าร้อยละ 57 ของผู้ผลิตเนื้อหาดิจิทัลที่เป็นอาชีพหลัก มีรายได้ไม่มากกว่า งานแบบดั้งเดิม 

การสำรวจในปี 2023 ยังพบว่า อาชีพด้านเนื้อหาที่สร้างรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 1.รองประธานบริษัท (157,532 เหรียญสหรัฐต่อปี) 2. ผู้บริหารด้านความคิดสร้างสรรค์และจินตนำการ (154,062 เหรียญสหรัฐ ต่อปี ) 3.ผู้บริหารสตูดิโอ (147,403 เหรียญสหรัฐต่อปี ) 4. ผู้จัดการบริหารจัดคิวศิลปิน/ดารา (127,453 เหรียญสหรัฐต่อปี ) และ 5.ผู้อำนวยการผลิต (123,552 เหรียญสหรัฐต่อปี)  

“อุตสาหกรรมนี้คนสร้างรายได้ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ แต่คือผู้บริหารบนยอดท็อปพีระมิดที่ยังมีรายได้สูง ดังนั้น ที่คนบอกว่าจะเลิกเรียนแล้วมาทำคอนเทนต์อย่างเดียวก็ต้องฟังข้อมูลนี้ด้วย”   รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าว 

ดร.ชำนาญ กล่าวว่า ในเชิงวัฒนธรรม อุตสาหกรรมคอนเทนต์ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความสนใจในวัฒนธรรมของประเทศ เช่น ความสำเร็จของ K-POP และ K-Drama ส่งผลให้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ได้รับความสนใจจากนักเรียนทั่วโลก โดยในสหรัฐฯ การเรียนภาษาเกาหลีเป็นภาษาที่สอง เติบโตสูงสุด ถึงร้อยละ38 ต่อปี (ค.ศ. 2023)  ในประเทศไทย การเรียนภาษาเกาหลีในระดับมหาวิทยาลัย เป็นอันดับที่ 2 รองจากภาษาจีนที่เป็นอันดับ 1 (ร้อยละ 39)  ตามด้วยภาษาญี่ปุ่น เป็นอันดับ 3 (ร้อยละ 18.9) และภาษาฝรั่งเศสเป็นอันดับ 4 (ร้อยละ 11.6) 

แผนกองทุนสื่อฯหนุนศักยภาพวิชาชีพ

ในส่วนของกองทุนสื่อฯ ในการดำเนินงานส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อและเนื้อหาในอนาคต  เรามองเห็นความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมวิชาชีพต่างๆ นอกจากทุกปี เรามีทุนจัดสรรให้ปีละ 300 ล้านบาท ในการผลิตสื่อต่างๆ  เรายังร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศอีกหลายหน่วยงานเพื่อสร้างอุตสาหกรรมคอนเทนต์  เราอยากร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาองค์กรสมาคมวิชาชีพ  อยากสนับสนุนการผลิตสื่อที่เฉพาะเจาะจง  หรือ สนับสนุนละคร ภาพยนตร์ที่สร้างผลกระทบมากกว่านี้  เราตั้งเป้าจะเอานักวิชาชีพที่มีความสามารถมารวมกัน รวมถึงนักผลิตสื่อชั้นนำเพื่อร่วมกันทำงาน เราอยากผลักดันให้มีบริการวันสต๊อปเซอร์วิสกับอุตสาหกรรมสื่อ  สิ่งสำคัญ คือ องค์กรสื่อยังต้องให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกันเอง

ดร.ชำนาญ กล่าวว่า ในอนาคต กองทุนสื่อฯ มีแผนงานคือ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขององค์กรที่เกี่ยวข้อง  เช่น  สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ อบรมพัฒนาศักยภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิตสื่อ เช่น พัฒนาภาพยนตร์ไปสู่เวทีโลก พัฒนานักเขียน ผู้เขียนบท ร่วมกับนักเขียน ผู้เขียนบทชั้นแนวหน้าของโลก พัฒนานักร้อง นักดนตรี นักเต้น ร่วมกับศิลปินนักร้อง หรือ ส่งเสริมให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการผลิตสื่อ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีอากรนำเข้าสำหรับอุปกรณ์ และเทคโนโลยีทันสมัยในการผลิตสื่อ ส่งเสริมตลาดรองสำหรับผลงานสื่อที่เผยแพร่ไปแล้วเพื่อให้มีรายได้กลับมายังศิลปิน ผู้ผลิตสื่อนั้นๆอย่างต่อเนื่อง  ส่งเสริมให้ศิลปินด้านสื่อ ผู้ผลิตสื่อ และแรงงานด้านสื่อ รวมตัวเป็นสหภาพ เพื่อกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพ