ผู้ว่าธปท.ชี้ไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งภายในและภายนอก ห่วงนโยบายประชานิยมกระทบงบประมาณ แนะเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี -ภูมิอากาศ
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” ในงานดินเนอร์ทอล์ค “Thai Journalists Association 64th Anniversary” โรงแรมอโนมาแกรนด์ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่า วันนี้นับเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศ ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเช่นกัน ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้ไปเราจะเลือกตั้งกันอีก แต่เรื่องสำคัญกว่าคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ท้าทาย
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก รายได้ต่อหัวเพิ่มจากประมาณ 140,000 บาทต่อปีในปี 2551 โตขึ้นร้อยละ 50 มาอยู่ที่ 220,000 บาทต่อปีในปี 2560 โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ โครงสร้างการส่งออกของพัฒนาไปพอสมควร จากที่เราเคยส่งออกเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 ปีที่แล้ว ขณะนี้ส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น ภาคการท่องเที่ยวเติบโตสูงมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงแค่ 15 ล้านคนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาเป็น 38 ล้านคนในปีที่ผ่านมา
อีกทั้งเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ก็นับว่ามีความเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านต่างประเทศ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มาก ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมที่ทำสัญญาซื้อไว้ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีที่แล้วเกินดุลถึง 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่าร้อยละ 7 ของ GDP ซึ่งเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันถึง 5 ปี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เรามีกันชนรองรับความผันผวนจากนอกประเทศที่นับวันจะรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานและความสามารถในการปรับตัวดีนั้น แต่มีสัญญาณหลายอย่างที่เราต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องศักยภาพของระบบเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อรายได้ คุณภาพชีวิตและความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว หากเรายังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไว้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันระบุปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ให้ชัดเจนและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง
รวมทั้ง แนวโน้มการดำเนินนโยบายประชานิยมที่หวังผลทางการเมืองในช่วงสั้นๆ ประมาณการฐานะการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลแสดงว่ารัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกประมาณ 12 ปี จึงจะเริ่มมีงบประมาณสมดุลได้ เรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะว่าวันนี้ต้องถือว่าระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับศักยภาพแล้ว แต่ฐานะการคลังของเรายังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุล ภูมิต้านทานด้านการคลังของเราอาจจะต่ำกว่าที่หลายคนคิดมาก การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐและการลดขนาดของภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้ว ภูมิต้านทานด้านการคลังที่เราหวังว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย จะกลายมาเป็นตัวปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต
ดร.วิรไท กล่าวว่า โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่ดีจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 มิติสำคัญ คือมิติแรก เศรษฐกิจจะต้องมีผลิตภาพ (Productivity) ดี และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มิติที่สอง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะต้องกระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนในวงกว้าง (Inclusivity) และมิติที่สาม เศรษฐกิจจะต้องมีภูมิต้านทาน (Immunity) ที่ดี ไม่มีจุดเปราะบางที่จะสร้างปัญหาหรือนำไปสู่วิกฤตได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติแรก คือ ด้านผลิตภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะกำหนดศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เราพบว่าผลิตภาพที่ทรงตัวนี้เกิดจากสาเหตุเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 4 เรื่องหลักๆ คือ 1.แรงงานจำนวนมากมีผลิตภาพต่ำ ขาดการพัฒนาและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้น 2.แรงงานไทยมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด 3. การลงทุนของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ และ 4.ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจากกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่มีจำนวนมากและล้าสมัย กฎระเบียบข้อบังคับเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สอง คือความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีปัญหาการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบไม่ทั่วถึงต่อเนื่องมานาน ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง มีสินทรัพย์สูง ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐขาดประสิทธิภาพและความสามารถที่จะทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างภาษี โครงสร้างการใช้จ่ายภาครัฐ หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาส
ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สาม คือภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจัดว่าค่อนข้างดี แต่ในระดับครัวเรือนนั้นถือว่ายังเปราะบางมากจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 77.8 ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับเรา ถ้าดูรายละเอียดจะพบว่าเรามีสัดส่วนหนี้เสียในระดับสูงด้วย และยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นจนถึงวัยใกล้เกษียณ
ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้อย่างจริงจังและรอบด้านเป็นความท้าทายสำคัญ ที่จะต้องร่วมกันมองให้ไกลและคิดร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน้อยใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (Climate change) และ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
“ความท้าทายเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยและการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ภายใต้การแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเติบโตได้ด้วยแรงส่งแบบเดิมๆ ของโลกยุคเก่าที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะถูกบั่นทอนได้อย่างรุนแรงถ้าเราไม่ร่วมกันปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยให้เตรียมรับกับโลกยุคใหม่ได้อย่างเท่าทันการที่เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” ดร.วิรไท กล่าว
ดร.วิรไท กล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องให้ความสำคัญกับอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและ SMEs 2. เร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทย 38 ล้านคนที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 3. ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร
บริษัท McKinsey ได้ประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีแรงงานทั่วโลกราวร้อยละ 14 ที่จะถูกเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ automation และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่ สัดส่วนนี้จะสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่แรงงานมีคุณภาพต่ำ และมีลักษณะงานซ้ำๆ ในกระบวนการผลิต ปัญหาทักษะแรงงานไทยที่ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้างจะทวีความรุนแรงและเห็นชัดมากขึ้นในโลกยุคใหม่ และยังส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่ต้องการแรงงานฝีมือที่เพิ่มขึ้นมาก
“ไม่มีทางลัดที่จะแก้ไขเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่เกิดผลข้างเคียงไปสู่เรื่องอื่น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างหลายอย่างที่มีมาแต่เดิม การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ย่อมก่อให้เกิดผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสานประโยชน์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปข้างหน้า เวลาที่เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปนี้” ดร.วิรไทกล่าว