อำลา “The Nation” สู่ 48 ปีในความทรงจำ “สุทธิชัย หยุ่น”

 

อำลา "The Nation" สู่ 48 ปีในความทรงจำ "สุทธิชัย หยุ่น"

 

วันสุดท้ายแห่งหนังสือพิมพ์ "The Nation" ปิดตำนานหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 48 ปี เมื่อผู้บริหารชุดปัจจุบัน ประกาศยุติการพิมพ์ "The Nation" หยุดตีพิมพ์ไว้ที่ฉบับอำลา 28 มิ.ย.2562 จากปัญหาขาดทุน และเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบจากหนังสือพิมพ์ สู่แพลตฟอร์มเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษเต็มรูปแบบ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2514 หนังสือพิมพ์ The Nation ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรก ชื่อว่า "The Voice of The Nation" ในราคา 3 บาท โดยมี "สุทธิชัย หยุ่น" พร้อมด้วยม.ร.ว.หญิงสุนิดา กิติยากร และธรรมนูญ มหาเปารยะ เป็นแกนนำก่อตั้ง ภายหลังผู้บริหาร "บางกอกโพสต์" ตัดสินใจซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ "บางกอกเวิลด์" ซึ่ง "สุทธิชัย" มองเป็นการผูกขาดวงการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทย จึงประกาศขายหุ้นเพื่อระดมทุน จนได้เงินก้อนแรกมา 2 ล้านบาทไปก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรก ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ

จากนั้นเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ออกคำสั่งงดการจำหน่ายหนังสือพิมพ์และนิตยสารทุกชนิด รวมทั้ง "The Voice of The Nation" ด้วย "สุทธิชัย" จึงนำใบอนุญาตที่เคยทำสำรองไว้ก่อนหน้านั้น ออกหนังสือพิมพ์ใหม่ชื่อว่า "The Nation Review" จากนั้นในปี 2528 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อ "The Nation" จนถึงปัจจุบัน

"สุทธิชัย" ผู้ก่อตั้ง และอดีตบรรณาธิกา หนังสือพิมพ์ The Nation กล่าวไว้ในเพจ "Suthichai Yoon" ตอน "อดีต บก. The Nation ตั้งวงรำลึกจิตวิญญาณคนข่าว" ช่วงหนึ่งว่า เมื่อทราบข่าวว่า The Nation จะปิดตัวลงก็ใจหาย ทั้งที่รู้ว่าวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้น แต่อยากให้เกิดวันสุดท้ายที่มีความหมาย ในแง่ที่ว่าการส่งทอดจิตวิญญาณความเป็นคนข่าว จากสิ่งพิมพ์สู่ดิจิทัล โดยที่คนอ่านและคนเสพข่าวได้รับรู้ว่าความเป็น The Nation และมาตรฐานความเป็น The Nation น่าจะส่งต่อไปได้ คำเดียวเลยคือคำว่า "น่าเชื่อถือ ความเป็นมืออาชีพ" ช่วงหลังมีคนบอกว่าเป็นสถาบัน เป็นจุดสร้างคนในวงการนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์ The Nation นี่แหละ

"ตอนออกมาจากบางกอกโพสต์ตอนอายุ 24 เพื่อจะมาทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษโดยคนไทยเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจจากมุมมองของคนไทย คิดอย่างเดียวความมุ่งมั่นต้องทำให้ได้ เจ๊งไม่เจ๊งไม่อยู่ในสมองผมเลย แต่ขอให้เราได้ลอง อยากให้เป็นหนังสือพิมพ์ของประชาชน จากเดิมหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในนั้นมีฝรั่งพาดหัวข่าวทั้งนั้น บทนำก็ฝรั่งเขียน เนื้อหาข่าวฝรั่งก็ตัดสิน และสมัยนั้นถ้าไม่มีข่าวอะไรก็เอาข่าวสงครามเวียดนามจากเอพี รอยเตอร์ มาเป็นข่าวนำเฉยเลย เพราะว่าเขาไม่รอข่าวไทย จึงได้ไปพูดกับทุกคนว่าอยากให้เกิดหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่คนไทยเป็น Editor ที่เป็นอิสระ ตอนนั้นเป็นรัฐบาลปฏิวัติด้วย แต่คนเชื่อเรา"

 

"สุทธิชัย" ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ในบทนำหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับแรก 1 ก.ค.2514 คือ ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นนักเขียนภาษาอังกฤษของประเทศอันดับ 1 ในขณะนั้น เพราะจิตวิญญาณความเป็นคนไทยที่อยากจะทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในขณะนั้นไฟมันแรงมาก แล้วสังคมก็สนับสนุน ส่วนคนที่เขียนการ์ตูนให้คือ คุณประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งเป็นการ์ตูนนิสต์ที่ดังที่สุดในสมัยนั้น โดยคุณประยูรมาช่วยตั้งแต่ต้นเพราะเห็นด้วยว่าต้องทำหนังสือพิมพ์ ผมมองว่าในสังคมไทยเป็นปรากฏการณ์จริงๆ เพราะตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าคนไทยจะทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษได้ ผมเชื่อว่าการดำรงอยู่ของ The Nation มาตลอด มาจากสังคมไทยต้องการเห็นสื่อที่มีความเป็นมืออาชีพและอิสระ และการสร้างคนในรุ่นต่างๆ ได้สร้างคนให้สำนึกและตระหนักในความเป็นมืออาชีพ

"ผมบอกได้เลยว่าทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย The Nation มีส่วนสะท้อนอย่างตรงไปตรงมาตลอด เปิดมา 1971 (พ.ศ.2514) ก็มีเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ใกล้จะเกิด นักศึกษาก็มาประท้วงมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ถ้าจำได้ตอนนั้นทหารคุมเข้ม เข้มกว่าปัจจุบันอีก แล้วขยับอะไรไม่ได้โดยเฉพาะทีวี วิทยุ ไม่ต้องคิดเลย แต่เราเป็นหนังสือพิมพ์รุ่นนั้นก็พยายามเขียนข่าวตรงไปตรงมา และเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่นึกถึงประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ผมจำได้ว่านักข่าวเราไปประชุมกับนักศึกษา ก็ได้ข่าวเอ็กซ์คูลซีฟมาหลายครั้ง เพราะนักศึกษาเชื่อว่าคนข่าว Nation ต้องเรียกร้องประชาธิปไตย เราต้องต่อสู่เผด็จการ เราต้องโค่นล่มระบอบเผด็จการอย่างจริงจัง จึงมีข่าวเอ็กซ์คูลซีฟเป็นฉบับเดียวในช่วงนั้น"

"สุทธิชัย" ย้อนเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า ความเป็นรัฐบาลทหารไม่ค่อยอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ แต่บรรดาทูต บรรดานักธุรกิจต่างชาติ บรรดาปัญญาชน อ่าน The Nation ตอนนั้นไม่มีความกลัวว่าจะถูกจับเพราะเชื่อว่าการตัดสินใจทำ The Nation ต้องการสะท้อนให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าสามารถให้ประชาขนคนทั่วไปมีสิทธิมีเสียง ฉะนั้นจิตวิญญาณหัวใจคือว่า หนังสือพิมพ์ The Nation ออกมาต้องเป็นตัวแทนของเสียงนั้น การเขียนบทนำครั้งนั้นทุกคนในกองบรรณาธิการเห็นด้วยทั้งหมด อยู่ที่ใครจะลงมือเขียนเท่านั้น เพราะความเป็นนักข่าวมันทำให้เราจะต้องพูดในสิ่งที่ต้องพูดในขณะนั้น ในช่วงนักศึกษาออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อน 14 ต.ค.2516 The Nation ขึ้นบทนำ ข่าวพาดหัว ขึ้นรูปมาตลอด และเชื่อไหมว่าช่วงนั้น บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เราพูดคุยกันว่า เห้ย เราต้องรวมพลังกันนะ ถ้าเราเห็นด้วยว่าสิ่งที่นักศึกษาเรียกร้องถูกต้อง สื่อจะต้องจับมือกัน เพราะทีวี วิทยุเราพึ่งไม่ได้

"ผมจำได้เลยว่า การทำข่าวก่อนถึงวันที่ 14 ต.ค. และหลัง 14 ต.ค.2516 สื่อหลักๆ ที่เป็นหนังสือพิมพ์จับมือกันได้ผล ผมต้องพูดได้ว่า ถ้าหนังสือพิมพ์ไม่รวมตัวกัน แล้วอยู่ข้างนักศึกษา 14 ต.ค.2516 จะไม่เกิด"

"สุทธิชัย" บอกว่า วิจารณญาณของ The Nation คือต้องเป็นมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ต้องลังเลเรื่องแรงกดดัน หรือผลที่จะตามมา หน้าที่เราคือรายงานความจริงให้ประชาชน ตรงนี้คือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุด และในวันที่ 18 พ.ค.2535 ในเหตุการณ์พฤษภาปี 35 ผมเห็นคนวิ่งไปหาหนังสือพิมพ์ The Nation ที่ได้เสนอภาพตำรวจกำลังตีประชาชน น้ำตาผมไหลเลยนะ ว่าเราได้ทำหน้าที่แล้ว ส่วนอะไรจะตามมาก็เรื่องของเหตุการณ์ แต่เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว

"จากนั้น 2-3 วันตอนเราประชุมที่ชั้น 6 ในห้องผมของตึก Nation เก่า ก็มีบก.หลายคนนั่งกันอยู่ ตอนที่มีข่าวมาจากนักข่าวเราว่าตำรวจสันติบาลเซ็นต์คำสั่งปิดเราแล้ว และมีโทรศัพท์เข้ามาหาผม ก็รับสายก็มีคนพูดมาว่าผมเป็นผู้การสันติบาลนะ ขอให้คุณสุทธิชัยมาที่สันติบาลโดยด่วน มารับคำสั่งปิด ผมก็ถามกลับไปว่า Nation ทำอะไรผิด เขาบอกไม่ทราบแต่มารับคำสั่งเองก็แล้วกัน ผมก็บอกไปว่า คุณจะปิดหนังสือพิมพ์ผม คุณจะให้ผมไปรับคำสั่งประหารชีวิตผมเองเหรอ ? เขาก็นิ่งไปเลยนะ เขาคงงง เพราะปกติเจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องตอบว่า ครับๆๆ ผมก็บอกว่าไม่ได้หรอก คุณส่งมาแล้วกัน ผมไม่มีวันไปรับคำสั่งที่ประหารชีวิตผม และเราก็เดินหน้าต่อ แต่ในโมเมนต์นั้นมีแต่ตายกับตายเลยนะ เพราะเรารู้ว่าถ้าเราสู้กับรัฐบาลทหาร เราไม่มีทางชนะอยู่แล้ว แต่สำหรับเราที่นั่งประชุมอยู่ มันไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าเราต้องยืนหยัดอยู่ตรงนี้ ถ้าจะปิดเราถ้าจะจับเราก็พร้อม"

"สุทธิชัย" เล่าให้ฟังว่า ได้บอกทุกคนด้วยว่า Nation คือตักศิลาของความคิดเห็น และที่นี่เป็นที่ชุมนุมของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากที่สุด ที่นี่สร้างให้คนมีปัญญา และเถียงกันด้วยเหตุผล คนที่เคยคอลัมน์ที่เอามาลงมาจากทุกเฉดของการเมือง และเราก็ต้อนรับเพราะ Nation ประกาศตัวเองเป็นตลาดแห่งความคิดเสรี

"ชื่อเสียงที่เราสร้างอยู่ติดกับเราตลอดไป เราผ่านแรงกดดันที่ท้าทายความเป็นตัวของตัวเราเอง หรือถ้าทายหลักการจริยธรรมมาตลอด แล้วเราก็ไม่เคยลดมาตรฐานจนสันสุดท้าย ที่เราปักหลักอยู่ตรงนั้น วันนี้ที่เรามาคุยเพื่อจะบันทึกเอาไว้ว่าการก่อเกิดของ Nation เป็นอย่างไร ประสบการณ์ของเนชั่นในแวดวงสื่อของประเทศไทยผ่านมาจนถึงทุกวันนี้เป็นอย่างไร ก่อนที่ฉบับหนังสือพิมพ์กระดาษจะยุติลงต้องบันทึกไว้เพื่อคนที่อาจได้ยินบางส่วนของ Nation คนรุ่นต่อไปถ้าสนใจว่าครั้งหนึ่ง Journalist คืออะไรในประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่า Nation ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ว่าเราได้สร้างสถาบัน สังคมที่คนสามารถผ่านมาแล้วได้ฝึกฝน ได้ซึมซับแล้วนำไปปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุดมันเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงตำนาน"

"ผมหวังว่าจิตวิญญาณจะส่งต่อไปให้คนรุ่นใหม่ว่า ถ้าคุณต้องการจะเป็น Journalist ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระดาษ หรือสื่อดิจิทัล มันเหมือนกันคุณต้องซื่อสัตย์ต่อสาธารณะ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณต้องทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นและยึดหลักการ ท้ายที่สุดไม่มีอะไรกระทบความรู้สึกของตัวคุณได้ ถ้าคุณเชื่อในสิ่งเหล่านี้"

 

"สุทธิชัย" ทิ้งท้ายว่า ที่ผมจะเสียดายมากเป็นพิเศษคือความรู้สึกภูมิใจที่เราได้สกู๊ปหรือข่าวเอ็กซ์คูลซีฟแล้วตีพิมพ์ขึ้นหน้า 1 มีชื่อของเรา วันรุ่งขึ้นหยิบหนังสือพิมพ์ดูข่าวที่เราเขียน แต่ความรู้สึกแบบนั้นมันไม่มีแล้ว มันจึงยากที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนี้ไปรุ่นต่อไปเพราะเขาจะไม่เจอเลย แต่ความรู้สึกแบบนั้นสำหรับคนทำข่าวยุคหนึ่ง มันคือสุดยอดที่มาทดแทนเรื่องรายได้ไม่ดี เรื่องทำงานเหนื่อย การที่ตื่นเช้าข่าวที่เราเขียนได้ตีพิมพ์และมีผลต่อสังคม มันคือความรู้สึกสุดยอดที่หาอะไรมาทดแทนไม่ได้ และให้ Nation เป็นมรดกให้สังคมไทยตลอดไป