สถานการณ์สื่อมวลชนไทยในรอบปี 2565: ปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน

สื่อมวลชนไทยในปี 2565 นับว่า เป็นปีที่มีการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่บริบทใหม่ๆ หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นในด้านเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม รวมถึงความปลอดภัยในการรายงานข่าว

บรรยากาศ ‘เซนเซอร์ตัวเอง’ ยังคงอยู่

หากมองในภาพรวม สามารถกล่าวได้ว่าเสรีภาพในการรายงานข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ดังที่เห็นได้จากสถานะของประเทศไทยในการจัดอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลกขององค์กร “ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” (RSF) ประจำปี 2565 โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 115 ของโลก ขยับขึ้นจากลำดับที่ 137 ในปีก่อน เป็นต้น

แต่ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเชิงลึกด้านสิทธิเสรีภาพในวงการสื่อมวลชนไทยยังคงฝังตัวอยู่ เป็นบรรยากาศที่สื่อเกือบทุกแห่งต้องอยู่ร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้สื่อไม่สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อย่างเต็มที่ อาทิ อิทธิพลของกลุ่มทุนหรือผู้สนับสนุนรายใหญ่ หรือปัจจัยด้านกฎหมายเช่น กฎหมายอาญาว่าด้วยหมิ่นประมาท กฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ใช้กับสื่อโดยตรงเสมอไป แต่ก็มีส่วนในการสร้างบรรยากาศ “เซนเซอร์ตัวเอง” บ้างในบางสถานการณ์ ดังเช่นในหลายๆปีที่ผ่านมา 

หลากหลายปมถกเถียง ‘จริยธรรมสื่อ’

ตลอดปี 2565 สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามในประเด็น “จริยธรรม” ทั้งจากสาธารณชน และจากคนในวงการสื่อด้วยกันเอง โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่ละเมิดจริยธรรมสื่อเช่น กรณี “การจัดฉากการรายงานข่าวหลวงปู่แสง” การเสียชีวิตของ “คุณแตงโม” ข่าวเชิงงมงาย-ไสยศาสตร์ ไปจนถึงการละเลยจริยธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในวงการสื่อ เป็นโจทย์สำคัญขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้และกำกับดูแลกันเองได้อย่างไร

ประเด็นปัญหาเรื่องจริยธรรมสื่อและการกำกับดูแลกันเอง ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” เมื่อช่วงต้นปีนี้ ซึ่งทำให้เกิดวิวาทะครั้งใหญ่ในวงการสื่อ โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้การกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า อาจสุ่มเสี่ยงเปิดช่องทางให้รัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อ โดยเฉพาะในช่วงของการพิจารณากฎหมายในขั้นตอนของรัฐสถา สะท้อนถึงการถกเถียงในเรื่องการแก้ปัญหาจริยธรรมสื่อมวลชนที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง 

โศกนาฏกรรมฆ่าหมู่ เขย่าสังคม-วงการสื่อ

เหตุการณ์สังหารหมู่ 36 ศพที่ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก ณ จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นทั้งโศกนาฏกรรมที่สร้างความหดหู่ให้กับสังคม และเป็นทั้งตัวกระตุ้นให้คนทำงานสื่อมวลชนต้องหันมาทบทวนบทบาทของตนเองว่า จะรายงานเหตุการณ์ในลักษณะนี้อย่างไรให้อยู่ในกรอบจริยธรรม ไม่ทำร้ายจิตใจผู้เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์มากกว่าโทษต่อสาธารณชน 

หลังเหตุการณ์สลดดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงได้เสนอทางออกไว้มากมาย เช่น หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการเลียนแบบ และหาสมดุลระหว่างการเคารพสิทธิส่วนบุคคลกับการบอกเล่าเรื่องราวของผู้สูญเสีย รวมถึงการช่วยกันแสวงหาทางออกให้กับสังคมในระยะยาวด้วย ไม่ใช่เพียงแค่รายงานข่าวตามกระแสแบบไฟไหม้ฟางเพียงอย่างเดียว 

จากศึกในสนามรบ สู่สงครามข้อมูลข่าวสาร

การรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ มาพร้อมกับปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (IO) ที่ลุกลามมาถึงเนื้อหาข่าวที่สื่อมวลชนไทยรายงานด้วย ดังที่เห็นได้จากกรณีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสงครามในยูเครนที่มีลักษณะบิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการหยิบยกข้อมูลมาจากแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือโฆษณาชวนเชื่อ มาเผยแพร่ต่อโดยไม่ใช้วิจารณญาณหรือการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนของสื่อมวลชน

นอกจากสถานการณ์สงครามในยูเครนแล้ว การแพร่หลายของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ข่าวบิดเบือน (disinformation) หรือข่าวที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน ยังพบเห็นได้ในวงจรข่าวสารภายในประเทศเช่นกัน เป็นอีกหนึ่งภัยอันตรายที่สื่อต้องต่อสู้และเฝ้าระวังกันต่อไป 

เมื่อ ‘นักข่าว’ ถูก ‘นักเล่าข่าว’ เบียดบังพื้นที่

รายการ “เล่าข่าว” ในลักษณะ “ขยี้” เนื้อหาข่าวหรือ “โหน” กับกระแสที่เป็นดราม่าในสังคมออนไลน์แต่ละวัน ยังเป็นที่นิยมตลอดปี 2565 อย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่า รายการประเภทนี้มีประโยชน์สาธารณะมากน้อยเพียงใด และเนื้อหาที่นำเสนอนั้นเป็น “ข่าว” หรือเป็น “บันเทิง” กันแน่?

นอกจากนี้ การที่สำนักข่าวหลายแห่งเดินหน้าแข่งขันสร้างเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาจากรายการ “เล่าข่าว” อาจจะกลายเป็นการลดทอนการให้ความสำคัญและการลงทุนกับข่าวประเภท “สาระ” หรือ “เจาะลึก” ซึ่งมีประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า แต่อาจไม่นำมาซึ่งเรตติ้งเช่นเดียวกับรายการประเภทเล่าข่าวไม่ได้ จนสุดท้ายแล้วทำให้เกิดคำถามว่า สื่อมวลชนไทยในอนาคตจะมีที่ทางให้ “นักข่าว” ที่ต้องการรายงานข่าวสาระ หรือข่าวเชิงสืบสวนหรือไม่?

ปรากฏการณ์ ‘นักข่าวพลเมือง-สื่อขนาดเล็ก’

ขณะที่สื่อกระแสหลักและสื่อขนาดใหญ่กำลังประสบกับวิกฤติหลายๆด้าน ประชาชนจำนวนมากก็ยังมีความสนใจที่จะมีบทบาทเป็นสื่อมวลชนบ้าง กลายเป็นการเกิดขึ้นของ “นักข่าวพลเมือง” และสำนักข่าวขนาดเล็กในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อรุ่นใหม่ที่เน้นรายงานข่าวในภูมิภาค หรือประเด็นต่างๆ ที่สื่อกระแสหลักไม่นำเสนอ

ในด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดความกังวลใจว่า สื่อใหม่ๆเหล่านี้จะสามารถรักษาระดับมาตรฐานจริยธรรม การไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ความเป็นกลาง และระมัดระวังการใส่อารมณ์หรือความคิดเห็นเข้าไปในการนำเสนอข้อมูล ได้หรือไม่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ๆให้ผู้บริโภคข่าวสาร และช่วยให้เกิดการแข่งขันเชิงคุณภาพในอุตสาหกรรมสื่อไทยก็เป็นได้

ขอ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้สื่อ ตำรวจทำได้ไหม?

สมาคมนักข่าวฯ และองค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีการบาดเจ็บของสื่อภาคสนามหลายคนในเหตุชุมนุมเมื่อปี 2564 จึงได้ประสานงานและหารือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดปี 2565 เพื่อหา “พื้นที่ปลอดภัย” ให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่รายงานข้อมูลร่วมข่าวสารในสถานการณ์การชุมนุมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2565 กลับมีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนให้เห็นกันอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการชี้แจงจากทางตำรวจกับองค์กรวิชาชีพสื่อว่า ข้อเท็จจริงจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร และหน่วยงานผู้รับผิดชอบจะมีแนวทางในการป้องกันปัญหานี้อย่างไรในอนาคต